ชายกลาง โศกนาฏกรรมในจังหวะแทงโก้" ที่ รัชดาลัย เธียเตอร์
อำนวยการผลิตโดย "ประภาส ชลศรานนท์"
กำกับการแสดงโดย "ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม หรือ สังข์ 108 มงกุฏ
นำแสดงโดย อุดม แต้พานิช, นิรุตติ์ ศิริจรรยา, พรชิตา ณ สงขลา, ศรีริต้า เจนเซ่น และ นิธิ สมุทรโครจร
เรื่องมีอยู่ว่า
ย้อนกลับไปเมื่อปีพุทธศักราช 2546 กลุ่มนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำละครเวทีประจำปีของคณะเรื่อง "ปริศนา" ซี่งเป็นละครย้อนยุคที่ว่าด้วยชีวิตของนักเขียนไส้แห้งผู้ยึดมั่นในงานเขียน แนวแสงสว่างที่ปลายถ้ำ แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาจำเป็นต้องหันเหแนวทางในการเขียนไปสู่นิยาย พาฝันอันมีตัวละครเอกชื่อ ปริศนา
ละครเวทีแบบไทย ๆ ที่จับคาแรกเตอร์ตัวละครในนวนิยายไทยมายำรวมกับเรื่องนี้สร้างความประทับใจ ให้กับผู้ชมอย่างมาก ทั้งมุขตลกที่ยิงกราดกันอย่างไม่บันยะบันยัง บทละครที่โดดเด่นด้วยการผูกโยงเรื่องอย่างสลับซับซ้อน เทคนิควิธีการเล่าซึ่งไม่เคยถูกนำมาใช้กับละครเวทีมาก่อน และความซึ้งที่ถึงขั้นน้ำตาร่วง "ปริศนา" ได้รัลคำชมอย่างมากจากทั้งนักวิจารณ์และผู้ชม จนกลายเป็นอีกหนึ่งละครเวทีเรื่องที่ดีและน่าจดจำของวงการละครเวทีไทย
3 ปีกว่าผ่านไปละครเวทีเรื่อง "ปริศนา" นำกลับมาทำใหม่อีกครั้งอย่างเต็มรูปแบบโดยทีมงานมืออาชีพ มีอุดม แต้พานิช มาแสดงนำ มีธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม (สังข์ 108 มงกุฏ) จากโต๊ะกลม มากำกับ และมีประภาส ชลศรานนท์ จากเวิร์คพอยท์ มาเป็นโปรดิวเซอร์ ดูแลภาพรวมของละครเวทีเรื่องนี้ทั้งหมด และ "ปริศนา ในตอนนั้น ถูกปรับชื่อเป็น "ชายกลาง" โศกนาฎกรรมในจังหวะแทงโก้ ในตอนนี้.....
ผู้อำนวยการผลิต
ประภาส ชลศรานนท์ นักคิดและนักเขียน ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานหลากหลายรูป แบบไม่ว่า จะเป็นการแต่งเพลง เขียนหนังสือ หรือสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์คุณภาพมากมาย ได้กล่าวถึงสาเหตุที่นำละครเวทีเรื่อง ปริศนา มาสร้างใหม่ในชื่อ "ชายกลาง" ว่า
"ความคิด.....ผมชอบความคิดของละครเรื่องนี้
ความคิดแรกที่ชอบก็คือ แก่นของเรื่อง ละครเรื่องนี้พูดถึงชีวิตของมนุษย์ที่มีสองโลกเสมอ ซึ่งมันตรงกับทุกยุคทุกสมัย ชีวิตจริงกับชีวิตในจินตนาการ แล้วละครเรื่องนี้ก็เอาความคิดเรื่องชีวิตในโลกสองโลกมาทำได้อย่างเซ็กซี่ มาก นั่นคือตัวละครแต่ละตัวมีโลกสองโลก แล้วสองโลกของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันเสียด้วย บางคนสวยงาม บางคนแอบซ่อน บางคนรุนแรง
ความคิดที่สองที่ผมชอบในละครเรื่องนี้ก็คือ ความคิดในการนำเสนอ ละครเรื่องนี้เป็นละครตลกแน่นอน แต่เป็นตลกอย่างที่เขาเรียกกันว่าตลกร้าย
หัวเราะกันท้องแข็งแทบทุกคนละครับ ละครถาปัดขึ้นชื่อเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจก็คือในขณะที่ท้องแข็งอยู่นี่บางทีก็อาจจะมีอะไรเป็นเสี้ยน ๆ ขม ๆ ตามมาให้สะท้อนใจอยู่ทีละนิดทีละหน่อยโดยตลอด
นอกจากความเป็นตลกร้ายแล้ว ความคิดในการดำเนินเรื่องก็น่าสนใจมาก มันมีความเหนือจริงกับความสมจริงสลับไปสลับมา ถ้าเป็นรูปวาดก็ต้องบอกว่าสีจัดจ้านดีแท้ สิ่งที่คนดูจะได้รับกลับไปนั้นแน่นอนความสนุกแบบละครถาปัด ที่ทำให้คนดูหัวเราะคงมีอยู่อย่างครบถ้วน ผมค่อนข้างมั่นใจผู้กำกับสังข์และทีมโต๊ะกลม ยิ่งได้แรงบวกจากนักแสดงอาชีพทีมนี้ผมคิดว่ามันจะได้ส่วนผสมของละครเวทีที่ ลงตัวเรื่องหนึ่งทีเดียว ส่วนของแถมที่คนดูจะได้รับกลับไปนอกจากความสนุกก็คือ การได้กลับมาคำนึงถึงชีวิตตัวเองในขณะที่กำลังหัวเราะค้างอยู่ "
ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม (สังข์ 108 มงกุฏ)
ผู้กำกับ
สังข์ 108 มงกุฏ ผู้กำกับอารมณ์ดีของละครเวทีเรื่องนี้ ได้บอกเล่าถึงสิ่งที่คาดว่าคนดูจะได้รับกลับไป นอกจากเสียงหัวเราะและความสนุกสนานหลังจากดู "ชายกลาง" ว่า
"เป็นเรื่องการให้คุณค่าของอะไรบางอย่าง สิ่งที่เราคิดว่าไม่มีคุณค่าสำหรับเรา อาจมีค่ามากสำหรับคนอื่น การตีค่าอะไรบางอย่างเราไม่ควรใช้หลักเกณฑ์ของเราเป็นมาตรฐาน แก่นเรื่องนี้พูดถึงการค้นพบคุณค่าของสิ่งที่เขาเกลียด นักเขียนคนนี้ไม่ชอบนิยายน้ำเน่าแล้ว เขาก็ค้นพบว่าสิ่งที่เขาเกลียดมันก็มีแง่มุมที่ดีที่ทำให้คนอื่นมีความสุข
นิยายน้ำเน่าดูว่าเป็นสิ่งที่ไร้สาระไม่มีประโยชน์อะไรกับใคร แต่จริง ๆ แล้วมันก็มีคุณค่าในตัวของมันเองมากด้วย ละครเวทีเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่สะท้อนภาพของยุคนี้ แต่เราเล่าผ่านยุคอดีตซึ่งยุคนั้นยังไม่มีคำว่าน้ำเน่าด้วยนะ แต่เราก็ใส่เข้าไปเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ตอนนั้นที่นิยายแบบนี้ออกมาใหม่ ๆ มันก็ไม่น้ำเน่านะ แต่พอมันทำแล้วทำอีก หลัง ๆ เราถึงมาเรียกว่า น้ำเน่า หรือว่าจริง ๆ แล้วขีวิตเราก็มีแค่นั้น เลยเขียนกันอยู่แต่แบบนี้"
เรื่องย่อชายกลาง
สมชาย (อุดม แต้พานิช) นักเขียนไส้แห้ง ผู้พยายามสร้างงานเขียนที่แปลกและแตกต่าง เพื่อยกระดับสติปัญญาคนอ่าน เขารังเกียจนิยายแนวพาฝันเพราะว่ามันไม่สร้างสรรค์ และ "น้ำเน่า" ตรงกันข้ามกับพรหมพรภรณี (พรชิตา ณ สงขลา) ภรรยาของเขา ซึ่งเป็นลูกสาวผู้ดีมีสกุล ที่ยอมหนีมาใช้ชีวิตคู่กับนักเขียนไส้แห้ง เพราะเชื่อมั่นในความรัก เธอชื่นชอบนิยายแนวพาฝันมาก ไม่ต่างอะไรจากผู้คนส่วนมากในสังคมยุคนั้น
แม้ว่าบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) จะให้โอกาสพิมพ์งานเขียนที่แปลกและแตกต่างของสมชายมาโดยตลอด แต่มันก็ไม่เคยขายได้เลย ฐานะของสมชายจึงแย่ลงเรื่อย ๆ ในที่สุดบรรณาธิการสำนักพิมพ์ก็บังคับให้สมชายเขียนนิยายเรื่องใหม่ในแนวพา ฝัน สมชายตัดสินใจเขียนนิยายเรื่องที่น้ำเน่าที่สุด รวบรวมเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ ตัวละครทุกตัวที่มีในนิยายน้ำเน่าเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น พระเอกผู้สูงศักดิ์ (นิธิ สมุทรโคจร) นางเอกผู้ต่ำต้อย (ศรีริต้า เจนเซ่น) ตัวอิจฉาริษยาออกนอกหน้า (อัฐมา ชีวนิชพันธ์) หม่อมแม่ผู้ให้ท้าย (พิมพ์แข กุญชร ณ อยุธยา) และเรื่องราวเกี่ยวกับมรดกพินัยกรรม
นิยายเรื่องนี้ได้รับความสนใจอย่างมากตั้งแต่ตอนแรกที่พิมพ์ออกวางขาย จนสมชายต้องรีบเขียนตอนต่อ ๆ มาโดยเร็ว แต่ยิ่งเขียนออกมามากเท่าไหร่ สมชายก็ยิ่งรู้สึกว่าเขาได้ทรยศต่ออุดมการณ์เดิมของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น เรื่องราวดำเนินไปโดยแบ่งเป็นโลกชีวิตจริงของสมชาย สลับกับโลกในฝั่งของนิยายเรื่องที่สมชายเขียนขึ้นซึ่งเต็มไปด้วยความสุข ความสวยงาม และความเพ้อฝัน
แต่แล้วเรื่องราวที่ไม่คาดฝันก็ได้เกิดขึ้นกับโลกทั้ง 2 ใบ....
บทนำ นี่คือสถานแห่ง.....
องก์ที่ 1
ฉาก 1 โลกคือละคร
ฉาก 2 ทุกตอนต้องแสดง ทุกคนเป็นไป
ฉาก 3 พรหมลิขิตบันดาลชักพา ดลให้มาพบกันทันใด
ฉาก 4 เงิน เงิน เงิน ผู้คนบูชา
ฉาก 5 หากเป็นหนี้แล้ว ขอให้เป็นหนี้รักเถิด
ฉาก 6 หากฉันเพ่งมอง ตาเธอให้ลึกหน่อย
ฉาก 7 อย่าเห็นฉันเป็นสนามอารมณ์
ฉาก 8 สุขกันเถิดเรา เศร้าไปทำไม
องก์ที่ 2
ฉาก 9 รักเหมือนโคถึกที่คึกพิโรธ
ฉาก 10 เจ็บแค้นเคืองโกรธ โทษฉันไย
ฉาก 11 รักเอย จริงหรือที่ว่าหวาน
ฉาก 12 ยับในทรวงเขาล้วงอก
ฉาก 13 ฆ่าฉัน ฆ่าฉัน ให้ตายดีกว่า
ฉาก 14 บทบาทบางตอนชีวิตยอกย้อนยับเยิน
ฉาก 15 วันใดขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก
ฉาก 16 ขอพบพานพิศวาส ทุกชาติไป
โลกคือละคร
อุดม แต้พานิช
รับบท สมชาย นักเขียนไส้แห้ง
นักเขียนจน ๆ กินอุดมการณ์เป็นอาหาร
รังเกียจนิยายแนวพาฝัน
จุดมุ่งหมายสูงสุดคือ ยกระดับจิตใจผู้คนด้วยงานเขียนเชิงปรัชญา
"เหตุผลหนึ่งที่ผมอยากเล่นเรื่องนี้ก็เพราะตอนดู"ปริศนา"
มันตลกมากยิงมุขกันตู้ม ๆ ๆ ไม่ทันได้โงหัวน่ะ รู้จักนักมวยชื่อปาเกียว
หรือเปล่า มันบุกแบบนั้นเลย ตู้ม ๆ ๆ จบองก์แรก มาอีกแล้ว ตู้ม ๆ ๆ
จบสวยด้วยน็อคเลย ผมชอบคาแรกเตอร์ตัวละครในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น
หม่อมแม่ ตัวอิจฉา ที่เอาคาแรกเตอร์ในละครไทยมาล้อเลียน เสียดสี
มันล้อเลียนละครน้ำเน่าได้ขำมาก สุดท้ายเรื่องน้ำเน่าก็คือชีวิตจริง
ของเรานี่แหละในบางส่วนบางมุม เรียกว่าเป็นน้ำเน่าซ้อนน้ำเน่า"
นิรุตติ์ ศิริจรรยา
รับบท บ.ก.วิทิต
เจ้าของสำนักพิมพ์ที่พิมพ์แต่นิยายแนวพาฝัน เน้นยอดขายเป็นอันดับแรก
เป็นคนที่คอยมาบงการชีวิตของสมชายให้ทำโน้นทำนี่ จุดหมายสูงสุดคือ
ต้องการให้สมชายเขียนแนวพาฝันเหมือนคนอื่นบ้าง จะได้ขายดี
"สมัยที่ผมเข้ามาเล่นละครใหม่ ๆ เมื่อประมาณปี 2514 ก็เป็น
การแสดงกับกล้องโทรทัศน์ 3 ตัว กับผู้ชมที่อยู่ในห้องส่งบ้าง แล้วก็เล่นกันสด ๆ
ก็รุ้สึกว่ามีอารมณ์คล้ายละครเวทีเหมือนกัน มาได้แสดงละครเวทีจริง ๆ ครั้งแรก
ตอนเปิดศูนย์วัฒนธรรมฯ เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วครับผม "ชายกลาง"
นี่ก็เป็นการกลับมาเล่นละครเวทีอีกครั้งของผม"
ศรีริต้า เจนเซ่น
รับบท ปริศนา
นางเอกในนวนิยานที่สมชายเขียน หญิงสาวนักเรียนนอก แก่นเซี้ยว
น่ารัก ไม่กลัวใคร จุดมุ่งหมายสูงสุดคือ ต้องการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าท่านชาย
ไม่ใช่คนดีอย่างที่ทุกคนเห็น เธอจะได้ไม่ต้องแต่งงานกับท่านชาย
"ริต้าไม่เคยเล่นละครเวทีมาก่อนค่ะ ถือว่ายากมาก ๆ มันยากเรื่องจังหวะ
เรื่องเสียงที่ต้องดังมาก ๆ และชัดถ้อยชัดคำ ก็ต้องมาฝึกเรื่องเสียงเป็นพิเศษ บทที่ริต้าได้รับก็เป็นผู้หญิงแก่นแก้ว กล้าเถียง เป็นนักเรียนนอก ไม่ไกลตัวเกินไป
แต่บางฉากเราต้องเสียดสีตัวละครที่เราเคยเล่นมาด้วย เป็นบทนางเอกที่ไม่ปกตินะคะ (หัวเราะ)
ทุกประเทศชอบบริโภคนิยายน้ำเน่านะคะ ชอบความโศกเศร้าทุกข์ระทม
มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ริต้าคิดว่ามันอยู่ที่ทัศนคติของผู้บริโภคค่ะ อย่างเราดูแล้วยังชอบ ที่ได้ปล่อยอารมณ์ ได้ร้องไห้ตามตัวละคร มันทำให้เราลืมชีวิตจริงไปชั่วขณะค่ะ"
พรชิตา ณ สงขลา
รับบท พรหมพรภรณี (เมียนักเขียน)
หญิงสาวแสนดีจากครอบครัวคหบดี บูชาความรักสุดหัวใจ
ถูกตัดจากกองมรดกเพราะหนีมาอยู่กินกับนักเขียนจน ๆ
จุดมุ่งหมายสูงสุดคือ อยู่กับสามีอย่างมีความสุข
"พอรู้ว่าเรื่องนี้จะได้เล่นกับพี่โต้ต เล่นกับอาหนิง แล้วเคยเป็นละครถาปัดมาก่อน ก็คิดว่าน่าเล่นมาก ๆ ค่ะ เคยไปดูละครถาปัดแล้วชอบ อีกอย่างนึงคือ การแสดงละครเวทีเลยเหมือนเป็นครูของเบนซ์มาก ๆ เพราะมันคือการฝึกฝนการแสดงชั้นดี ที่ทำให้เรามีพลังมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้น เพราะมันต้องเล่นทีเดียวจบ ไดยไม่มีคำว่าเทคหรือคัท คุณจะผิด คุณก็ต้องแก้ไขสถานการณ์เอาเอง
มันคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นเฉพาะหน้า คนดูแต่ละรอบก็ไม่เหมือนกัน เราเล่นเองแต่ละรอบก็ไม่เหมือนเดิม นี่แหละคือเสน่ห์ของละครเวที ที่หาไม่ได้จากการเล่นหนังหรือละครทีวีทั่วไป มันทำให้เราต้องตั้งใจต้องมานั่งทบทวนว่าทำไมวันนี้เล่นแล้วคนดูมัน ไม่ขำเลย รอบหน้าจะทำยังไงให้มันขำกว่านี้ มันต้องมีวิธีต่าง ๆ เพื่อที่จะรู้ว่า เราต้องทำอะไรต่อไป เบนซ์ว่าตัวละครหลาย ๆ ตัวที่เราเคยเจอหรือเคยเล่นมันเหมือนชีวิตจริงของหลาย ๆ คนนะ บางทีชีวิตจริงน้ำเน่ากว่าในละครก็มีค่ะ
นิธิ สมุทรโคจร
รับบทท่านชาย
พระเอกในนิยายที่สมชายเขียน หล่อ ซื่อ จนเหมือนโง่
จุดมุ่งหมายสูงสุดคือ ตามหาความรักที่แท้จริงจากหญิงสาวผู้ไม่ได้หวัง
ในทรัพย์ศฤงคารจากตัวเขา
"ผมว่าไม่มีอะไรน้ำเน่า คนเป็นคนตัดสินเองว่าอะไรน้ำเน่า"
เนื้อเพลง
เพลง ดั่งนิยาย
เนื้อร้อง ชัชวาล วิศวบำรุงชัย
ทำนอง ชัชวาล วิศวบำรุงชัย
ขับร้อง (เบน) ชลาทิศ ตันติวุฒิ
หากเปรียบชีวิตเป็นดังนิยาย
เรื่องราวหลากหลายนั้นใครกำหนดมา
ให้สุขให้ทุกข์คงเป็นลิขิตจากฟ้า
ให้วันเวลาหมุนไป
หากชีวิตฉันเป็นดั่งนิยายเรื่องหนึ่ง
ไม่อยากแสดงถึงตอนสุดท้าย
เมื่อในวันนี้ฉันไม่มีเธอข้างกาย
ต้องอยู่เดียวดาย อย่างนี้
ได้โปรดเถิดฟ้า เมตตาฉันที ได้ไหม
แม้รู้ว่าฉันไม่อาจ จะดึงเธอไว้
ให้โอกาสฉัน แค่เพียงเศษวินาทีสุดท้าย
จะกอดเธอไว้แนบกาย ก่อนจะสายไป
เพลง โลกใบนั้น
เนื้อร้อง ประภาส ชลศรานนท์
ทำนอง ประภาส ชลศรานนท์
ขับร้อง (เบนซ์) พรชิตา ณ สงขลา
หนึ่งชีวิต หนึ่งมนุษย์
หนึ่งความขมขื่นเท่านั้น
ความจริงจึงเหยียดเย้ยหยัน
เพราะมองมันซ้ำซากเวียนวน
ตั้งคำถาม กับความเหงา
ไม่มีเสียงตอบสักหน
จึงยอมปลอมแปลงตัวตน
เขียนนิยายไว้กล่อมตัวเอง สร้างโลกใหม่
ที่มีเจ้าหญิงและเจ้าชาย
มีผุ้ร้ายและมีเรื่องราว
ที่รายล้อมด้วยรักและความสุขสม
เกิดตัวตนในโลกนิยาย
เพื่อเพียงคลายจากความทุกข์ตรม
ที่ขื่นขมและจ่อมจมในโลกอีกใบ
โลกใบนี้ โลกใบนั้น
สับวันหมุนเปลี่ยนเวียนไป
ชีวิตเราอยู่ตรงไหน
เหลือเพียงใจจะเลือกมองเอง ฝันหรือจริง
นักแสดง
รายชื่อนักแสดงละครเวที "ชายกลาง"
ตัวละคร นักแสดง
สมชาย (โน้ต) อุดม แต้พานิช
พรหมพรภรณี (เบนซ์) พรชิตา ณ สงขลา
บ.ก. วิทิต (หนิง) นิรุตติ์ ศิริจรรยา
ภักดี (รุ่นพี่นักเขียน) (บ๊อบบี้) นิมิตร ลักษมีพงศ์
ปริศนา (ริต้า) ศรีริต้า เจนเซ่น
ท่านชาย (จํอบ) นิธิ สมุทรโคจร
หม่อมชุลี (แม่มาหยารัศมี) (ป๋อง) พิมพ์แข กุญชร ณ อยุธยา
มาหยารัศมี (โบวี่) อัฐมา ชีวนิชพันธ์
แม่ช้อย (แม่ปริศนา) (เม้าท์) สุดา ชื่นบาน
อนงค์ (พี่สาวปริศนา) (ดี้) ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ
แม่นม (เต่า) อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา
พิศาล (อาร์ม) ธาตรี จิตรพลี
สยุมภู (เอส) นภัส ขวัญเมือง
ธงชัย (คนขับรถ) (ป้อม) นฤพร เสาวนิตย์
เพียงฟ้า (คนใช้ฝ่ายดี) (อร) อรุณี พาสุข
ผกา (คนใช้ฝ่ายร้าย) ภัฎฎารินธ์ อิงคุลานนท์
สุดใจ (พี่ข้างบ้านสมชาย) (แอม) อลิสา กฤษณยรรยง
ชายกลาง (ฉาก intro) นักร้องในงานวันเกิด (เซฟ) ศุภวัฒน์ หิรัญธนวิวัฒน์
ทนายความ (เสริม) ภูริน อัศวรัตน์
ผู้ช่วยทนายความ (ท็อป) กิตติฑัตย์ โควหกุล
Ensemble (alphabetical order)
หญิงเล็ก (ฉาก intro) /ชาวบ้าน/ชาววัง/ ชญานุช อรรฒจิรัตฐิกาล
คนใช้ฝ่ายร้าย
หม่อมแม่ (ฉาก intro) /ชาวบ้าน/ชาววัง/ ชัญชนา อรรฆจิรัตฐิกาล
คนใช้ฝ่ายดี
ชาวบ้าน/ชาววัง/คนใช้ฝ่ายดี ธันยพร มหาดิลกรัตน์
ชาวบ้าน/ชาววัง/คนใช้ฝ่ายร้าย นภาลัย แซ่แต้
ชาวบ้าน/ชาววัง/คนใช้ฝ่ายร้าย พนมเรขา โพธิติก
ชาวบ้าน/ชาววัง/คนใช้ฝ่ายดี วงวรา ตรรกบุตร
ชาวบ้าน/ชาววัง/คนใช้ฝ่ายร้าย วริษฐา เจริญชัยกรณ์
พจมาน(ฉาก intro)/ชาวบ้าน/ชาววัง ฤชุภา สมโสภา (กอบัว)
คนใช้ฝ่ายดี
ชาวบ้าน/ชาววัง ไกรชยะ เขียวพันธ์ (ยะ)
ชายน้อย (ฉาก intro) ชาวบ้าน/ชาววัง จักรพันธ์ ตัณฑะสุวรรณะ
ชาวบ้าน/ชาววัง ชวลิต นาเมืองรักษ์ (แป๊ะ)
ชาวบ้าน/ชาววัง ธวัชชัย (บิว)
ชาวบ้าน/ชาววัง พัชรวีร์ ปิ่นทอง (เต้ย)
ทนายความ (ฉากintro) ชาวบ้าน/ชาววัง ศักรินทร์ ศรีม่วง (เต้ย)
ชาวบ้าน/ชาววัง ศุภฤกษ์ เสถียร (เบสท์)
ชาวบ้าน/ชาววัง สถิตย์ เจนเลื่อย (ต้อง)
จากคำให้การของผู้กระทำ (กำกับ) ชายกลาง
ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม
จากจุดเริ่มขอ่งรักแรกย้อนกลับไป
5 ปีที่แล้ว ที่ผู้ชายคนนี้ได้สบตากับสาว
งามนามว่า "ปริศนา" และเพราะรักนั้น
แสนยิ่งใหญ่จนเขาไม่อาจเก็บเธอไว้ได้
อีก.....5 ปีถัดมาเขาจึงนำเธอขึ้นมาเฉือน
เอ๊ย..ลงมือหยิบเธอขึ้นมาและแปรสภาพ
เธอกลายเป็น "ชายกลาง" เสียอย่างนั้น!!!
"ผมเป็นรุ่นพี่ที่กลับไปคณะสถาปัตย์ (จุฬา) เพื่อช่วยน้อง ๆ ทำละครเวทีเสมอ ผมชอบบรรยากาศของมัน เครียดแต่สนุกมาก พอละครรอบสุดท้ายเสร็จ เหมือนของรักหายไปโดยไม่มีทางกลับมาอีกแล้ว เราจึงโหยหาว่าเมื่อไรจะได้ทำละครเวทีอีก แต่พอจบออกมาก็ไม่มีอีกแล้ว ผมจึงกลับไปช่วยน้อง ๆ เสมอ เพราะอยากอยู่ในบรรยากาศแบบนั้นอีก
"ส่วน "ปริศนา" เป็นละครเวทีที่ผมกลับไปช่วยน้อง ๆ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่แก่ที่สุด แล้วน้องรุ่นนี้เป็นรุ่นที่น่ารัก เปิดรับทุกอย่าง ด้วยบทของเขาค่อนข้างดีอยู่แล้ว ผมแค่เข้าไปช่วยดูว่าเล่นแบบนี้สนุกหรือยัง แบบนี้ดีไหม ซึ่งทีแรกทำกันยังดูไม่ออกเลยว่าจะดีขนาดนี้ พอพี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) มาดูแล้วชอบ แกบอกว่าน่าจะทำให้เป็นละครใหญ่ ๆ ไปเลย ก็นำไปพัฒนากันต่อ"
คำว่าพัฒนากันต่อนี้มีทั้งทำเป็นบทภาพยนตร์แต่อาจจะดูงงงวยเกินไป เพราะเป็นพล็อตที่ช้อนทับกันระหว่างชีวิตผู้เขียนนิยายและชีวิตของตัวละครใน นิยาย หรือเพราะสาเหตุใดก็แล้วแต่ โครงการนี้จึงต้องพับไว้ก่อน....
สุดท้ายสิ่งที่เป็นคู่กันแล้วก็ไม่แคล้วกัน "ปริศนา" ย่อมเหมาะกับการเป็นละครเวทียังวันยังค่ำ แต่ครั้งนี้เธอได้ย้ายสถานจากบ้านทรายทอง สู่ใต้ร่มชายคาเคหาสน์หลังใหม่ใหญ่กว่าเดิมนามว่า"เวิร์คพอยท์" โดยมีประภาศ ชลศรานนท์ เป็นโปรดิวเซอร์ดูภาพรวมทั้งหมดให้อีกด้วย
ตอนนี้บริษัทของผม (บริษัทโต๊ะกลม-ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์มาก่อน เช่น รายการทีวีเบลอ เบลอ) มาเป็นบริษัทลูกของเวิร์คพอยท์ เป้าหมายคือการทำละครเวทีเป็นอาชีพ อย่างน้อยปีละเรื่อง เพราะตอนนี้เรามีโอกาสได้ทำในสิ่งที่เราคิดไว้แต่แรกแล้ว คือทำละครเวทีเป็นอาชีพ เราเห็นคุณบอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) ปูทางไว้ดีมากแล้วมีแฟนประจำ เราก็ต้องเริ่มสร้างแฟนของเราบ้าง"
เมื่อวันนี้ "ปริศนา" แปลงโฉมกลายเป็น "ชายกลาง" และถือได้ว่าเป็นละครเวทีเต็มรูปแบบเรื่องแรกของพวกเขาแล้วนั้น สิ่งที่ผู้กำกับคนนี้อยากจะบอกแก่ผู้ชมที่สุดคือ....
"เป็นเรื่องการให้คุณค่าอะไรบางอย่าง อย่างนิยายน้ำเน่าดูว่าเป็นสิ่งไร้สาระ ไม่มีประโยชน์อะไรกับใคร แต่จริง ๆ แล้วมันมีคุณค่าในตัวเอง ถ้าเปรียบกับละครน้ำเน่า ที่พี่ป้าน้าอาดูกันอยู่ อาจมีบางคนรู้สึกว่าอี๋ แต่สิ่งที่เราร้องอี๋ คนส่วนใหญ่ชื่นชมมาก และสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราทำไม่ได้อย่างเขาเสียด้วย นี่แหละคือคุณค่าของเขา ซึ่งละครเวทีเรื่องนี้มันเป็นเรื่องสะท้อนภาพของยุคนี้แต่เล่าผ่าน ยุคอดีตซึ่งยังไม่มีคำว่าน้ำเน่าด้วย หรือว่าจริง ๆ แล้วชีวิตก็มีอยู่แค่นั้น เลยเขียนอยู่แต่แบบนี้ก็ได้"
แล้วไม่ว่าจะเป็น "ปริศนา" "ชายกลาง" "พจมาน" หรือ
"ดาวพระศุกร์" ก็ยังต้องก้าวเดินต่อไปในหนทางที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า "น้ำเน่า" แต่อย่างที่ผู้กำกับคนนี้บอกไว้ สิ่งเหล่านี้อาจมีคุณค่าและไม่แน่ว่าชีวิตของเราก็อาจน้ำเน่า สุขเศร้า ไม่แพ้กัน สมกับคำสร้อยที่โปรดิวเซอร์อย่าง คุณประภาสต่อท้ายให้ละครเวทีเรื่องนี้ว่า "โศกนาฎกรรมในจังหวะแทงโก้" ก็เป็นได้
แสดงความคิดเห็น