Home » » ไทยถีบ

ไทยถีบ



  • Release Date: 12 เมษายน 2549
  • Director: พิสุทธิ์ แพร่แสงเอี่ยม
  • Starring: ธันญ์ ธนากร

เรื่องราวสุดอลเวงของสองจอมโจรหนุ่ม "คม วังหิน" และ "ใหญ่ ท่าเรือ" ที่บังเอิญเข้าไปพัวพันสร้างความโกลาหลให้กับวีรกรรมของกลุ่ม "ไทยถีบ" ผู้รักชาติ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

หนังเรื่องนี้ผูกเรื่องขึ้นใหม่ ไม่ยึดติดประวัติศาสตร์ ประชันดารา พระเอกหล่อ นางเอกสวย มีอรรถรสในทางแอ็คชั่น ตื่นเต้นเร้าใจ บู๊ระเบิดตูมตาม มีอารมณ์ขันให้หัวเราะ เรื่องราวไม่ซับซ้อน แต่ซ่อนเงื่อนแฝงกลโกงชวนให้ติดตาม

เมื่อวีรบุรุษโคจรมาเจอจอมโจร เมื่อคนรักชาติเจอคนเจ้าเล่ห์ บทสรุปจะลงเอยอย่างไร ?

สนุกแน่ พ่อแม่พี่น้องเอ๋ย

เปลี่ยนโจรเป็นวีรบุรุษ เปลี่ยน 18 มงกฎเป็นขบวนการกู้ชาติ

เนื้อเรื่องย่อ:

ด่วน!
ข่าวพระนคร พ.ศ.2468
ดังที่มีข่าวโจษขานไปทั่วตลาด ว่า บัดนี้ มีโจรพิลึกออกปล้นเงินคหบดีมีเงิน แล้วนำมาแจกจ่ายคนจน เพื่อแก้ความพิศวงของท่าน นักหนังสือพิมพ์ของเราจึงรุดไปสืบข่าวมาว่า โจรพิเรนทร์นายนั้น นามว่า “คม วังหิน” และชะรอยว่า มีมหาโจรแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา “ใหญ่ ท่าเรือ” ร่วมอยู่ด้วย
นักหนังสือพิมพ์ของเรายังแว่วข่าวลับมาอีกว่า ขณะนี้ “คม วังหิน” และ “ใหญ่ ท่าเรือ” กำลังตระเตรียมการปล้นครั้งใหญ่ นัยว่าเกี่ยวข้องกับ “ขบวนการไทยถีบ” ที่เปนกลุ่มคนไทยผู้ต่อต้านญี่ปุ่น และมักบุกปล้นญี่ปุ่นอยู่เนืองๆ โดยปฏิบัติการครั้งนี้ เรียกย่อๆ ว่า “ถีบ เพื่อชาติ”
อนึ่ง “คม วังหิน” นี้ มีใบหน้าหล่อเหลา คมคาย รูปร่างสันทัดดูไปละม้ายคล้าย “หมอก-ทศพร” ส่วน “ใหญ่ ท่าเรือ” ก็คมเข้ม ล่ำสันราวกับพระเอกหนัง “ธันญ์ ธนากร” ทำเอาสาวๆ ร้านรวงติดอกติดใจไปทั่ว
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทภาพยนตร์ไทยแห่งหนึ่ง ประกาศว่า สนใจจะจำลองเรื่องราวของจอมโจรสองหนุ่มนี้ มาผูกเปนเรื่อง สร้างเปนหนังเสียงและสีธรรมชาติ ให้เปนหนังดีมีคุณภาพ ให้ความสนุกสนานกับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งนักหนังสือพิมพ์ของเราจะรุดไปพูดคุยมารายงานข่าวในวันต่อไป
จบข่าว

เรื่องย่อขนาดยาว

พ.ศ. 2485 เมื่อกองทัพญี่ปุ่น รุกคืบเข้าสู่เอเชียอาคเนย์ เพื่อยึดครองพื้นที่ในการทำสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ประเทศไทยในเวลานั้นยินยอมให้กองทหารญี่ปุ่นใช้เส้นทางผ่านเพื่อลำเลียงกำลังพลและอาวุธ ยุทโธปกรณ์ไปยังเอเชียกลาง ท่ามกลางความขัดแย้งของคนในชาติบางกลุ่ม ซึ่งประกาศขอต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นทุกรูปแบบ

คม วังหิน (หมอก-ทศพร รถกิจ) จอมโจร 18 มงกุฏชื่อกระฉ่อน วางแผนปล้นครั้งใหญ่ โดยมีทองคำที่กองทัพญี่ปุ่นลำเลียงผ่านเส้นทางเดินรถไฟทางภาคใต้เป็นเดิมพัน เขาเดินหมากเคลื่อนไหวอย่างเงียบ ๆ ดึงเอาผู้คนหลากหลายวงการเข้ามาร่วมแผนการลับอันประกอบด้วย นักเลงคู่แค้นอย่าง ใหญ่ ท่าเรือ (ธันญ์ ธนากร), แหลม 18 อวน (สหัสชัย ชุมรุม) เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลในแถบพื้นที่ภาคใต้, นายพลสันต์ (สมเล็ก ศักดิกุล) นายทหารเจ้าเล่ห์ที่ไว้ใจไม่ได้

ขณะเดียวกัน โต ตีนหนัก (เทพ โพธิ์งาม) ผู้นำขบวนการไทยถีบ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันเป็นขบวนการใต้ดินต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ก็รู้เรื่องขบวนรถขนทองของญี่ปุ่น และวางแผนเตรียมขัดขวางการขนทองครั้งนี้

กลุ่มไทยถีบได้รับการร้องขอจากเสรีไทยกลุ่มหนึ่งให้ช่วยเหลือ ซีน่า (ซาร่า เล็กจ์) สายลับฝ่ายสัมพันธมิตรที่ถูกฝ่ายทหารญี่ปุ่นจับตัวไป โดยมี แพ็ตตี้ (อัมธิดา เงินเจริญ) สายลับสัมพันธมิตรอีกคนจะเข้ามาร่วมงานด้วย

การเคลื่อนไหวของท่านนายพลสันต์ กับสองจอมโจร ใหญ่และคม ในช่วงเวลาที่ขบวนรถไฟขนทองมูลค่ามหาศาลของญี่ปุ่นกำลังเดินทางผ่านเส้นทางประเทศไทยพอดิบพอดี ทำให้สายลับแพ็ตตี้เข้าใจผิดว่า ใหญ่และคมเป็นหัวหน้ากลุ่มไทยถีบ จึงเข้าติดต่อตามแผนการที่นัดเอาไว้กับกลุ่มไทยถีบ และเพื่อไม่ให้แผนปล้นทองของตัวเองเปิดเผยไป จอมโจรทั้งสองจึงตกกระไดพลอยโจน จำยอมร่วมทำงานกับสายลับแพ็ตตี้ ทั้ง ๆ ที่เวลาที่ขบวนรถไฟขนทองกำลังมาถึง และใกล้เข้ามาทุกขณะ

เมื่อโจรถูกเข้าใจผิดว่าเป็นวีรบุรุษ ทั้งฝ่ายวีรชนและจอมโจรต่างก็มีแผนการล้ำลึกอยู่ในมือ วีรกรรมระดับชาติกำลังจะเปลี่ยนเป็นความโกลาหล

เรื่องอลเวงระหว่างสองจอมโจรหนุ่มรูปหล่อ, กลุ่มไทยถีบผู้หาญกล้า, สายลับสาวสวยสองสาวรวมถึงท่านนายพลผู้ทรงอิทธิพล จะลงเอยอย่างไร

นักแสดง:

ธันญ์ ธนากร .... ใหญ่ ท่าเรือ 
ทศพร รถกิจ .... คม วังหิน 
สุเทพ โพธิ์งาม .... โต ตีนหนัก 
อัมธิดา เงินเจริญ .... แพ๊ตตี้ 
ซาร่า เล็กจ์ .... ซีน่า 
วรุฒ วรธรรม .... ยามาดะ 

วันที่เข้าฉาย: 12 เมษายน 2549

ทีมงานสร้าง : แอ็คชั่น คอเมดี้ (แนวภาพยนตร์) / อาร์ เอส ฟิล์ม (บริษัทผู้สร้างและจัดจำหน่าย) / นาคาเซีย (ผลิต-สร้างสรรค์) / เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์, สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ (อำนวยการสร้าง) / ชวลิต พงศ์ไชยยง, กิตติพิชญ์ ธำรงวินิจฉัย (ควบคุมงานสร้าง) / วิภาพร พงศ์ไชยยง (ดูแลการผลิต) / พิสุทธิ์ แพร่แสงเอี่ยม (กำกับภาพยนตร์) / สิทธิพงษ์ มัตตะนาวี, ภารดี ภูปรัสสานนทน์, สริยา พรหมน้อย, จรินทร์ ศิริบุตร, วรพจน์ เงินบำรุง (ผู้ช่วยกำกับภาพยนตร์) / ศุภชัย สิทธิอำพรพรรณ (บทภาพยนตร์) / ธีระวัฒน์ รุจินธรรม, วรรธนะ วันชูเพลา (กำกับภาพ) / กสิ แฟงรอด (ออกแบบงานสร้าง) / ครรชิต ตรีสุวรรณ, ธนาศักดิ์ ล่ำชัยประเสริฐ (กำกับศิลป์) / ธำรงรัตน์ วานิชสมบัติ, นัดดนัย นักตะเฆ่, ธารา คงสา (ผู้ช่วยกำกับศิลป์) / ปิยะดา วรระภิญโญ (ควบคุมความต่อเนื่อง) / ศุภสิทธิ์ ธูปเทียนทอง (สถานที่) / สรายุทธ สุพรศิลปะชัย (ลำดับภาพ) / กันตนาฟิล์มแล็บ (ฟิล์มแล็บ) / ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา (บันทึกเสียง) / ไจแอนท์ เวฟ (ดนตรีประกอบ) / สราวุธ คงช่วย (ตัดต่อเสียง) / นุสรา สุวรรณหงษ์ (ซาวด์เอฟเฟ็คต์) / สุนิตย์ อัศวินิกุล, พรรนิภา กบิลลิกกะวานิชย์ (ผสมเสียง) / ธนพงศ์ บุญยะชัย (ผู้ช่วยผสมเสียง) / ปรารถนา จันทร์กล่ำ (ออกแบบเครื่องแต่งกาย) / ปัญชลี ปิ่นทอง, เมธานี เกษมณี (ควบคุมเครื่องแต่งกาย) / ยุทธนา สนธิ (แต่งหน้า)

นำแสดงโดย : ทศพร รถกิจ, ธันญ์ ธนากร, อัมธิดา เงินเจริญ, ซาร่า เล็กจ์, เทพ โพธิ์งาม, สมเล็ก ศักดิกุล, เชษฐวุฒิ วัชรคุณ, สหัสชัย ชุมรุม, วรุฒ วรธรรม, สุธีรัชธ์ ชาญนุกูล (บุ๋มบิ๋ม สามโทน), ไมเคิล เวลส์ช, ลิขิต ทองนาค, ฉันทนา กิติยาพันธ์, โก๊ะตี๋ อารามบอย, เด่น ดอกประดู่, เจี๊ยบ เชิญยิ้ม, บอล เชิญยิ้ม, เอ เชิญยิ้ม

มุมมองผู้กำกับภาพยนตร์ : พิสุทธิ์ แพร่แสงเอี่ยม

...จากแรงบันดาลใจ เรื่องของสองจอมโจรคู่หูที่เข้ามาป่วนวีรกรรมของกลุ่มวีรชนผู้รักชาติ ผูกเรื่องเป็นภาพยนตร์ไทย บู๊สนุก ดูเพลินมีอารมณ์ขัน หักมุม ซึ่งผู้กำกับภาพยนตร์ ป๊อก-พิสุทธิ์ แพร่แสงเอี่ยม กล่าวถึงแนวคิดที่มาของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า

..."ไทยถีบ" เป็นเรื่องของโจรที่ตั้งใจจะมาปล้น แต่สถานการณ์กลับอลเวงเมื่อมีคนไปเข้าใจว่า พวกเขาเป็นวีรบุรุษไทยถีบเข้า มันก็เลยตกกระไดพลอยโจน

...เราตีความว่า กลุ่มไทยถีบ ก็คือกลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันต่อต้านญี่ปุ่น ไม่ให้รุกรานเข้าประเทศไทยในยุคนั้น ซึ่งการต่อต้านก็คิดและทำกันแบบชาวบ้านเลยคือ ขโมยของ ขโมยข้าวสารญี่ปุ่นด้วยวิธีการดักถีบเสบียง ถีบข้าวสาร อาหารแห้ง ให้ตกจากขบวนรถไฟของกองทัพญี่ปุ่นเพื่อตัดกำลัง เพราะไทยถีบไม่ใช่ทหารมืออาชีพ ในขณะที่ฝ่ายโจรในเรื่องนี้ ก็เป็นโจรจริง ๆ ตั้งใจมาปล้นโดยเฉพาะ เมื่อสองฝ่ายมาเจอกัน คนเจ้าเล่ห์มาเจอคนรักชาติ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป

...หนังอย่าง "ไทยถีบ" ไม่ได้มาสูตรพระเอกต้องกู้ชาติ ผู้ร้ายต้องขายชาติ ตัวละครในไทยถีบมันต่างฝ่ายต่างมีวัตถุประสงค์ของมัน พวกมันทำเพื่อตัวมันเอง แต่บังเอิญมาเจอกัน

...เราตั้งใจอยากให้เป็นหนังสนุก มีสีสัน มีอารมณ์ขันด้วย ไม่ใช่หนังประวัติศาสตร์เป็นทางการ เราแค่หยิบยืมยุคสมัยมาเป็นฉากหลัง และเรื่องราวที่บันทึกไว้แล้วมาเสริมแต่ง เอาบรรยากาศมาใช้สร้างตัวละครใส่ เขียนขึ้นมาใหม่หมดเลย แต่ความที่เรารู้สึกว่า ยุคนั้นมันมีเสน่ห์ เราก็อยากทำให้เป็นหนังพีเรียดย้อนยุค มีสีสัน อารมณ์แบบหนังคู่หูขำ หักเหลี่ยม กลโกง อารมณ์แบบหนังไทยสมัยก่อนนิด ๆ แต่ถ่ายทอดด้วยการถ่ายทำยุคใหม่ ดนตรีใหม่ อยากให้เป็นหนังที่มีกลิ่นอายหนังไทย แต่มีอารมณ์สนุก สดใหม่ในตัวด้วย

ประวัติผู้กำกับ : พิสุทธิ์ แพร่แสงเอี่ยม (ป๊อก)

เกิด 23 มกราคม 2514 / การศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ / ผลงาน ลูกผู้ชายหัวใจไม่พายเรือ (2538), ผีสามบาท ตอนน้ำมันพราย และท่อนแขนนางรำ (2544), พันธุ์ร็อคหน้าย่น (2546), ไทยถีบ (2549)

 


คาแร็คเตอร์นักแสดง

คม วังหิน (หมอก-ทศพร รถกิจ) - ยอดนักโจรกรรมรูปงามแห่งพระนครบางกอก จอมวางแผน ฉลาดเป็นกรด เจ้าสำอาง ชอบใส่สูทขาว แต่งตัวเนี้ยบหัวจรดเท้า แต่ถึงจะเจ้าเล่ห์แสนกลขนาดไหน คมก็มียังจุดอ่อนอยู่ตรงที่ใจอ่อนและอ่อนไหว ขี้สงสาร โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ และสาวสวย

"คม วังหิน เป็นโจรตัวจริงนี่แหละครับ มาเพื่อปล้นแท้ ๆ เลย เพียงแต่คมไม่นิยมใช้กำลัง คมใช้ความคิดเป็นหลัก ความยากของบทคม คือ ต้องแสดงให้นิ่งจริง ๆ ทั้งท่าทางและสายตา การแสดงต้องเล่นให้ลึก รู้สถานการณ์ตลอดเวลา เพราะคมจะเป็นคนคุมสถานการณ์ได้ ไม่ว่าจะเข้าฉากกับใคร ต้องมองตาคู่สนทนาให้อยู่ เพราะคมเป็นคนที่ปิดบังอะไรไว้หลายอย่าง แต่คมก็เป็นตัวละครที่มีความเป็นคนอยู่ด้วย ถึงจะฉลาด เจ้าเล่ห์ จอมวางแผนขนาดไหน ก็แอบอ่อนไหว แอบหวาน มีอารมณ์สงสาร เห็นใจอยู่เหมือนกัน ผมว่า ตรงนี้ทำให้คมเป็นตัวละครที่น่าสนใจขึ้น เพราะพอเราแสดงไปถึงจุดหนึ่ง เราจะรู้สึกได้ว่า ตัวละครตัวนี้ยังมีความเป็นคนอยู่ด้วย เล่นแล้วก็เขินเหมือนกัน น่ารักดี ถึงบอกว่า ตัวคมยังมีความเป็นคนอยู่"

ทศพร รถกิจ - พระเอกหนุ่มมาแรงที่น่าจับตา ด้วยบทบาทที่ผ่านมาในหนังหลากหลายแนว ทั้ง ตลก บู๊ แอ็คชั่น บุคลิกหน้าตาหล่อเหลา ดูเรียบร้อย แต่แววตาฉลาดทันคน แฝงความดื้อรั้นไว้ลึก ๆ ทำให้หมอกเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับบท "คม วังหิน" จอมโจรนักวางแผน ที่ทำทุกอย่างเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์

เกิด 8 ธ.ค. 2523 / การศึกษา ศึกษาอยู่ ชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ / ผลงาน ผีหัวขาด 2 (2547), คนหอนขี้เรื้อนในคืนเดือนเสี้ยว (2548), เสือภูเขา (2548), ไทยถีบ (2549)


ใหญ่ ท่าเรือ (ธันญ์ ธนากร) - นักเลงหนุ่มรูปหล่อแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขาลุยตัวจริง คู่แค้นตลอดกาลของคมวังหิน เพราะความแค้นที่มีกับคม วังหิน เมื่อครั้งก่อนที่คมทำให้ใหญ่ต้องมาติดคุก ใหญ่จึงไม่รีรอที่จะรับงานตามล่าตัวคมมาให้นายพลสันต์

"ใหญ่ ท่าเรือ เป็นคนตรงบู๊ ๆ ลุย ๆ โผงผาง พูดจาโวยวายดุดัน ตัดสินใจครั้งเดียวแล้วลุยเลย ตรงกันข้ามกับ คม วังหิน ที่จะนิ่ง ๆ แต่ใหญ่เป็นตัววิ่งชน ในบทของใหญ่กับคม จะหักล้างกันอยู่ตลอด เป็น 2 คน 2 มุมที่ต่างกันมาเจอกัน มาเฉือนกัน คมจะออกนิ่ง ใหญ่จะลุย การทำงานเรื่องนี้ประทับใจมาก ทั้งสถานที่ถ่ายทำ เพื่อนร่วมงาน ได้เล่นกับป๋าเทพ พี่บ๊วย เหนื่อยนะต้องกลั้นตัวเองไม่ให้หัวเราะ เขาจะมีมุขตลอดจนบางครั้งเราก็ตามไม่ทัน พวกเขาตลกธรรมชาติมาก 'ไทยถีบ' เป็นเรื่องแรกที่ร่วมงานกับหมอก จากไม่สนิทกัน เดี๋ยวนี้สนิทกันมาก ตอนแรกผมว่า เขาเป็นคนกวน ๆ ซึ่งก็กวนจริง ๆ แต่กวนแบบสร้างความสนุกให้ผู้คน พูดถึงนางเอก มันก็เป็นธรรมดาครับ ที่นางเอกเล่นกับผมก็ต้องหลงเสน่ห์ผมเป็นธรรมดา ล้อเล่นครับ คือ ฉากขำ ๆ เขิน ๆ ก็มีครับ ผมเล่นตามบทบาทไป จริง ๆ แล้วผมก็เขินนะ แต่จะให้แสดงออกว่า เขิน น้อง ๆ ที่แสดงด้วยจะยิ่งเขินมาก ก็เลยทำเป็นเฉย ๆ ผมว่า 'ไทยถีบ' เป็นหนังที่สนุกนะ มีหลากหลายอารมณ์ มีความลงตัวในหลายๆ มุมทำให้คนดูเห็นว่า ระหว่างคนแต่ละคนมันมีแง่มุมที่แตกต่างกัน"

ธันญ์ ธนากร - สำหรับนักแสดงคนอื่น การแสดงฉากวิ่งฝ่าระเบิด หรือดำน้ำ อาจเป็นเรื่องยาก แต่สำหรับธันญ์ ธนากรที่ผ่านหนังใหญ่อย่าง ตะลุมพุก-มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน, ผีเสื้อสมุทร มาแล้ว ธันญ์บอกว่า "ไทยถีบ" เป็นหนังที่ถ่ายทำสบายที่สุด กับบท "ใหญ่ ท่าเรือ" นักเลงเลือดร้อน มุทะลุ คู่ปรับของ คม วังหิน นับเป็นการประชันฝีมือด้านการแสดงครั้งแรกกับเพื่อนซี้นอกจอ อย่าง หมอก - ทศพร ที่ธันญ์ บอกว่า ความหล่อยอมให้หมอก แต่ความอึด ธันญ์ ชนะขาด

เกิด 17 มีนาคม 2523 / ผลงาน ตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน (2545), ผีเสื้อสมุทร (2549), ไทยถีบ (2549)


สายลับซีน่า (ซาร่า เล็กจ์) - สายลับสาวลูกครึ่งจากฝ่ายสัมพันธมิตร ถูกส่งเข้ามาปฎิบัติการในเอเชีย แต่กลับถูกทหารญี่ปุ่นจับตัวได้ เก่งกล้าสามารถทุกอย่าง แต่มีเหตุให้ต้องมาอ่อนแอ ตอนเจอ คม วังหิน อยู่เรื่อย

"ซาร่า รับบทเป็นซีน่าสายลับ ที่ถูกส่งมาสืบราชการ ซีน่าจะเป็นผู้หญิงบู๊ ๆ ลุย ๆ ไม่ห่วงสวย เป็นคนที่เป็นห่วงเพื่อน แต่แอบมีสนใจคมนิด ๆ แต่ไม่ถึงกับรัก เพราะว่าคมเขาเป็นคนเจ้าชู้ทำให้เรามีแอบเขิน การถ่ายทำ 'ไทยถีบ' ค่อนข้างหนัก สถานที่ถ่ายทำจะย้อนยุค บรรยากาศคลาสสิค หรือไม่ก็ไปอยู่ในป่าต่างจังหวัดไปเลย ของซาร่าจะอยู่ในโกดัง ร้อน ฝุ่นเยอะ หน้ามอมตลอดเวลา แต่ซาร่าชอบที่ได้ไปถ่ายในต่างจังหวัด อย่างที่ อ. ตะกั่วป่า เห็นทีมงานเซ็ตฉากที่นั่นด้วย ดูยิ่งใหญ่มากในความรู้สึกซาร่า สถานที่ถ่ายทำเรื่องนี้เหมือนได้เที่ยวไปในตัว 'ไทยถีบ' เป็นหนังสนุก เพลิดเพลิน ดูได้เรื่อย ๆ มีมุขตลอดเข้ามาแทรก การทำงานของซาร่าในเรื่องนี้ถึงจะเหนื่อย แต่ก็สนุกประทับใจมาก"

ซาร่า เล็กจ์ - นักแสดงสาวที่มักได้รับบทสาวเก่ง จากบทนักธรณีวิทยาสาวเก่ง ในภาพยนตร์ "ปักษาวายุ" มาครั้งนี้ ซาร่า เล็กจ์ ก็ยังได้บทเป็นสายลับที่ต้องอาศัยทักษะการบู๊ ผาดโผนไม่น้อย ซึ่งน้องซาร่าก็พิสูจน์ความอึด แกร่ง จนสอบผ่านมาได้อย่างดี แต่ใน "ไทยถีบ" น้องซาร่ายังมีบทแอบหวาน แอบกุ๊กกิ๊กให้ชายหนุ่มหัวใจตึกตั๊กอีกด้วย

อายุ 22 ปี / การศึกษา ศึกษาอยู่ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) / ผลงาน ปักษาวายุ (2545), ไทยถีบ (2549)


สายลับแพ็ตตี้ (น้ำ-อัมธิดา เงินเจริญ) - สวยคม บาดตา แต่ฝีมือต่อสู้ไม่แพ้ชายอกสามศอก แพ็ตตี้สายลับฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ปลอมตัวเป็นนักร้องในไนท์คลับ ทำเอาหนุ่มไทยลูกทุ่งอย่าง ใหญ่ ท่าเรือ ที่ว่าห้าว ขาลุย เห็นแล้วเคลิ้ม

"น้ำรับบทเป็นสายลับต่างประเทศ ชื่อ แพ็ตตี้ เข้ามาเมืองไทยเพื่อช่วยเพื่อนสายลับที่โดนทหารญี่ปุ่นจับตัวไป ได้แต่งตัวเป็นสาวโบราณย้อนยุค ได้เล่นบู๊เยอะมาก ฝึกขึ้นสลิง เรียนคิวบู๊ มีฉากใหญ่ ๆ ให้เแสดง โดยส่วนตัวน้ำอยากเล่นบทบู๊มาก พอได้มาเล่นก็สนุก แต่เหนื่อยมาก ต้องใส่สลิง บู๊ทั้งวัน วิ่งกระโดดหลบกระสุน วิ่งตีลังกา หันมาจับปืนยิง ขึ้นสลิงไปเตะ กระโดดผาดโผนวันเดียวเลย 6 โมงเช้า ถึง 6 โมงเช้าอีกวัน กลับไปบ้านตัวเขียวเคล็ดขัดยอกไปทั้งตัว หนังเรื่องนี้ทุกคนตั้งใจกันเต็มที่น้ำอยากให้เป็นหนังที่ดูแล้วพอออกมาก็รู้สึกแฮปปี้สนุก เพราะว่าเป็นหนังที่มีอารมณ์ หลาย ๆ อย่างมีทั้งแอ็คชั่น ทั้งคอเมดี้ แอบซึ้ง แอบเศร้า"

อัมธิดา เงินเจริญ - สาวสวยหน้าคมนัยน์ตาแขก ผ่านผลงานแสดงภาพยนตร์ "หมอเจ็บ" มาแล้ว กลับมาสู่จอภาพยนตร์ครั้งนี้ น้ำพลิกบทบาทจากสาวเรียบร้อยมาเป็น "แพ็ตตี้" สายลับสาวเซ็กซี่ ที่ปลอมตัวเข้ามาสืบข่าวในช่วงสงครามโลก เพื่อช่วยเหลือ สายลับคู่หูอีกคนคือ ซีน่า ซึ่งแสดงโดย ซาร่า เล็กจ์

เกิด 29 กันยายน 2525 / การศึกษา ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกริก / ผลงาน หมอเจ็บ (2545), ไทยถีบ (2549)


โต ตีนหนัก (เทพ โพธิ์งาม) - หัวหน้ากลุ่มขบวนการไทยถีบ "โต ตีนหนัก" ต่อสู้ญี่ปุ่นที่เข้ามารุกรานประเทศ ด้วยกลยุทธแบบบ้าน ๆ คือ ดักถีบเสบียง ถีบข้าวสาร อาหารแห้ง จากขบวนรถไฟของกองทัพญี่ปุ่นที่แล่นผ่านเพื่อตัดกำลังกองทัพญี่ปุ่น ชื่อเสียงของ "โต ตีนหนัก" ขจรขจายไปไกลว่า เป็นหัวหน้ากลุ่มใต้ดินที่ปฏิบัติการต่อต้านญี่ปุ่นมือฉมัง

"หนังเรื่องนี้ ป๋าตั้งใจเล่นออกจริงจังนะ เล่นตามบทที่เขียนมาเลย เล่นเอาจริง แต่ป๊อกผู้กำกับฯ เขาก็ดี เป็นผู้กำกับที่ฟังความเห็นนักแสดง เขาก็ปล่อยให้เราเล่นหลายช่วงเหมือนกัน อย่างตอนแรกเขาก็จะให้เราพูดภาษากลางนี่แหละ แต่ป๋าว่า เรื่องมันเกิดภาคใต้ ป๋าก็พอพูดใต้ได้ ภาษาใต้ก็เลยใส่ไป มันก็ดีนะ ตลกดี มุขร้องเพลงภาษาญี่ปุ่น เหมือนผู้กำกับฯ เขาเลือกแล้วว่า เป็นมุขประจำตัวป๋า"

เทพ โพธิ์งาม - หนึ่งในสุดยอดนักแสดงตลกของไทย ผู้คนทั้งวงการเรียกกันว่า "ป๋า" ฝากผลงานไว้นับไม่ถ้วน โดย เฉพาะบทบาทในจอภาพยนตร์สร้างความฮือฮาใน "มือปืน / โลก / พระ / จัน" และ "พยัคฆ์ร้ายส่ายหน้า" ป๋าเทพเป็นส่วนผสมที่ลงตัวทั้งอารมณ์ขันและบทบาทที่จริงจัง "ไทยถีบ" เป็นผลงานล่าสุดรับบทเป็น "โต ตีนหนัก" ผู้นำกลุ่มไทยถีบที่หาญกล้า แต่มีความซื่ออยู่ในตัว

ผลงาน เทพบุตรต๊ะติ๊งโหน่ง (2520), เท่งป๊ะต๊ะติ๊งโหน่ง (2521), รักเธอเท่าช้าง (2521), ใต้ฟ้าสีคราม (2521), ปล้น บ้า ๆ บวมส์ ๆ (2522), โทนทุ่งกระทิง (2522), สมิงบ้านไร่ (2522), คู่โจร (2523), แก่นกะลาสี (2524), เจ๊จ๋าเจ๊ (2524), ผู้ใหญ่อ้วน กำนันผอม (2524), หนูอยากเป็นทหาร (2525), มือปืน / โลก / พระ / จัน (2544), พันธุ์ร็อกหน้าย่น (2546), เดอะโกร๋น ก๊วน กวน ผี (2547), พยัคฆ์ร้ายส่ายหน้า (2548)


นายพลสันต์ (สมเล็ก ศักดิกุล) - ท่านนายพลสันต์ ผู้ทรงอิทธิพลแห่งพระนครบางกอก จอมโวยวาย สั่งคำเดียวเป็นต้องได้ ไม่ได้กลัวเมียเลยแม้แต่น้อย แต่แค้นใจที่ถูก คม วังหิน เข้ามาลูบคม ฉกสร้อยเพชรไปจากคอคุณหญิงภริยาได้ ก็เลยเปิดศึกล่าหัว คม วังหิน มาให้ได้ โดยหารู้ไม่ว่า กำลังเจอกับจอมโจรฝีมือเหนือชั้นกว่า

"รับบทเป็น นายพลสันต์ นามสกุล ดานเสีย เป็นนายพลโลภมาก หวังอยากได้ทองญี่ปุ่น พยายามใช้เล่ห์เหลี่ยม จะหักเหลี่ยมกันระหว่างนายคม กับนายพล ต่างฝ่ายก็ต่างจะชิงทองของญี่ปุ่น หักเหลี่ยมกันไปมา นายพลมีอิทธิพล แต่โดนนายคมมาลูบคมถึงในบ้าน เลยต้องตามเช็ดกันตลอดทั้งเรื่อง บทนายพลสันต์ เป็นแนวโวยวาย โมโหใช้อำนาจ ระหว่างแสดง 'ไทยถีบ' พี่ก็นึกสรรหานึกคำพูด ช่วงไหนมีเหตุการณ์อะไร พี่ก็เอามาใส่ คิดสด ๆ เดี๋ยวนั้น เล่นได้ทุกครั้ง เพราะมันมีเหตุการณ์เยอะแยะไปหมด เรารู้เรื่องว่าเกิดอะไรขึ้นเราก็หยอดไป ทำงานสนุกดีเรื่องนี้ โลเคชั่นค่อนข้างโหด มาก ตอนนั้นลุ้นกันมากหนังเรื่องนี้มันน่าจะเป็นอะไรสักอย่าง เวลาไปถ่ายนะ แต่มันก็รอดมาหมด ที่ประทับใจอีกอย่าง คือ 'ไทยถีบ' เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมงานกับหมอก ป๊อก และได้เข้าฉากกับป๋าเทพ"

สมเล็ก ศักดิกุล - นักแสดงสมทบจอมเก๋าคุ้นหน้าคุ้นตา ปรากฏตัวในหนังไทยดัง ๆ มานับไม่ถ้วน ด้วยมาดกวน ๆ ไม่เหมือนใคร น้ำเสียงลีลายียวน บทพูดเฉียบคมที่มาจากการแสดงสด ๆ หน้ากล้องของพี่สมเล็ก ทำให้พี่สมเล็กเป็นจอมขโมยซีนที่คนดูหนังจดจำได้อย่างดี ในฐานะนักแสดง พี่สมเล็กยังร่วมงานกับผู้กำกับฯ เด่น ๆ ของไทยมาแล้วหลายราย ล่าสุด การมาร่วมแสดงในบทนายพลสันต์ ตัวแปรสำคัญของ "ไทยถีบ" จึงเป็นการสร้างสีสันได้ไม่น้อย

อายุ 52 ปี / การศึกษา ปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / ผลงาน มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544), 15 ค่ำเดือน 11 (2545), บุปผาราตรี (2546), โหมโรง (2547), หลวงพี่เท่ง (2548), ไทยถีบ (2549)

 

เบื้องหลังงานสร้าง

...เพื่อให้บรรยากาศหนัง "ไทยถีบ" ตรงตามจินตนาการของ ป๊อก-พิสุทธิ์ แพร่แสงเอี่ยม ผู้กำกับภาพยนตร์ องค์ประกอบศิลป์ของหนังจึงต้องให้ความสำคัญ ซึ่งเป็นผลงานของทีมงานผู้ออกแบบฝีมือดี กสิ แฟงรอด ร่วมด้วย ผู้กำกับศิลป์ ครรชิต ตรีสุวรรณ , ธนาศักดิ์ ล่ำชัยประเสริฐ

"ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงเวลาที่มีเสน่ห์ ผู้คนแต่งตัวสวย ออกจากบ้านมาดูละครเวที แต่ 'ไทยถีบ' ไม่ได้อิงประวัติศาสตร์เป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว ความสมจริงไม่ต้องเต็มร้อย แต่อยากให้ได้อารมณ์ยุคสมัยนั้น" ผู้กำกับฯ กล่าวถึงการกำหนดแนวทางออกแบบศิลป์

"บรรยากาศในเรื่องสถานที่ เสื้อผ้าหน้าผม ยุคสมัยก็พยายามให้ใกล้เคียง ให้รู้สึกสมจริง แต่ไม่อยากให้เป๊ะนะ เพราะเราไม่ได้อิงประวัติศาสตร์อย่างจริงจังที่ต้องตรงเป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว อยากให้ 'ไทยถีบ' ดูเป็นการ์ตูนนิด ๆ ความสมจริงมันไม่ต้องร้อยก็ได้ คนยุคนั้นอาจจะไม่ใส่หมวกทรงนี้หรอก แต่ผมรู้สึกว่า ใส่หมวกอันนี้แล้วขำดี อารมณ์ตรงกับหนังเราก็จะให้ใส่ เพราะหนังเรื่องนี้ไม่อิงประวัติศาสตร์ เอฟเฟ็คต์ต่าง ๆ การใช้ไฟ การถ่ายทำ เพลงประกอบ เราพยายามทำให้ทันสมัยหมดเลย"

ผู้กำกับศิลป์ ครรชิต ตรีสุวรรณ กล่าวถึงแนวทางออกแบบงานสร้างว่า

"แนวทางคือ ต้องดูสมยุคสมัย แต่ดูสมจริงเป็นของใหม่ในยุคนั้น ไม่ใช่หนังพีเรียดแบบเก่าแบบโบราณ และความที่หนังออกตลกด้วยนิด ๆ เราก็จะออกแบบศิลป์ให้มีสีสันสดใสด้วย แต่ละอย่างเราก็ต้องพยายามให้มันมีสีสันตัดกันมาก สีแดงเยอะ เหลืองสด ๆ เขียวสว่าง บรรยากาศมันค่อนข้างหลากหลาย เพราะมีทั้งฉากแอ็คชั่น และสถานที่ที่ดูเป็นทางการ หลายฉากต้องการบรรยากาศหรูหรา แต่เป็นหรูหราแบบหวือหวานิด ๆ อย่างฉากไนท์คลับ, โรงหนังเฉลิมกรุง, งานปาร์ตี้

การทำงาน ของฝ่ายออกแบบงานสร้าง เราก็รีเสิร์ชข้อมูล ค้นหาบรรยากาศยุคสมัยนั้น อ้างอิงจากตามหนังสือ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ พยายามให้ดูสมจริง ความที่เป็นหนังพีเรียด ทุกอย่างหายากอยู่แล้ว เพราะทุกวันนี้ สถานที่หรือของสมัยใหม่ต่าง ๆ มันเยอะ เราก็คือ พยายามหาสถานที่ ๆ มันมีของสมัยใหม่ให้น้อยที่สุด แล้วทีมงานก็ไปเดินเท้าเคลียร์เลย เอาของสมัยใหม่ออกให้หมดเท่าที่ทำได้ อย่างฉากระเบิดเมืองที่ตะกั่วป่า กล้องถ่ายสุดลูกหูลูกตา ยาวทั้งถนน เราก็ต้องเคลียร์ทั้งถนนเลย"

...สิ่งที่ขาดไม่ได้ใน "ไทยถีบ" คือ รถไฟโบราณ กสิ แฟงรอด ผู้ออกแบบงานศิลป์ เล่าว่า "หารถไฟเก่าเข้าฉากนี่ยากมาก แพงมาก เพราะแค่หารถเก่าธรรมดาเข้าฉากก็ยากอยู่แล้ว แต่นี่รถไฟ แล้วต้องเป็นรถไฟเก่าที่ยังวิ่งได้ด้วย ก็ติดต่อขอทางการรถไฟ แล้วไปได้ที่พิพิธภัณฑ์การรถไฟยังมีรถไฟอยู่ตรงกับยุคนั้น โดยทางเราก็มาปรับแต่ง เปลี่ยนสีรถไฟ เปลี่ยนพวกตัวเลข ตัวหนังสือสมัยใหม่ ให้เป็นตัวยุคเก่า การเคลื่อนย้ายรถไฟมาเข้าฉาก ประสานงานติดต่อยากมาก เพราะต้องหาสถานที่ถ่ายทำ รางรถไฟที่มีรถไฟผ่านน้อย เพื่อเราจะได้มีเวลาในการถ่ายหนัง การเคลื่อนย้ายรถไฟก็ทำได้ยาก ต้องให้ทางการรถไฟลากมาให้ พอจะถ่ายจริงก็ใช้ติดเครื่องวิ่งเอง ถือว่าแพงมากสำหรับการถ่ายทำฉากรถไฟ"

...เพื่อให้บรรยากาศหนังตรงตามจินตนาการของผู้กำกับภาพยนตร์ การค้นหาสถานที่ถ่ายทำทั่วประเทศไทยจึงเกิดขึ้น เส้นทางรถไฟกาญจนบุรี, สระบุรี, พังงา ตะกั่วป่า, ตลาดสุพรรณบุรีนครปฐม, สังขละบุรี แล้วก็มีฉากเซ็ตขึ้นมาอีกเยอะมาก รวมทั้งหยิบยกเอาสถานที่ร่วมสมัยในยุคนั้นมาเป็นฉากหลัง อาทิ ศาลาเฉลิมกรุง, พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม ฯลฯ

"โลเคชั่นที่เรามองหาคือ สิ่งที่หนังสงครามโลกของไทยไม่ค่อยใช้ ไม่ซ้ำ พอดีเราได้คนหาโลเคชั่นที่ทำการบ้านได้เยอะ พวกนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นในเมืองไทยนี่แหละ แต่มันก็เป็นมุมมองเฉพาะที่เราพยายามเลือกไม่ให้ซ้ำ ๆ กับทั่ว ๆ ไป เป็นมุมมองที่เราคิดว่า มันควรจะเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะฉากป่า เราก็เลือกป่ายาง ป่าปาล์ม หรือ ฉากรถไฟซึ่งมีเยอะมาก"

...นอกจากฉากรถไฟแล้ว "ไทยถีบ" ยังจำลองเอาฉากเครื่องบินทิ้งระเบิดขึ้นมา ซึ่งทีมงานยกกองไปถ่ายทำกันถึง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ผู้กำกับภาพยนตร์ ป๊อก-พิสุทธิ์ เล่าถึงการทำงานฉากใหญ่นี้ว่า

"เป็นฉากที่เกิดจากการร่วมมือกันจริง ๆ รู้สึกขอบคุณชาวบ้านที่ตะกั่วป่า ตำรวจ ทีมงานและนักแสดงที่น่ารักมาก ๆ ฉากนี้ยากเพราะเป็นการสร้างภาพที่มุมกว้าง และเราต้องการระเบิดที่เห็นจริง ๆ ระเบิดแบบกำแพงทะลุ แล้วไม่ใช่สตันท์ด้วยนะ ระเบิดจริง ซึ่งเราได้ทีมเอฟเฟ็คต์ มือดีสุดแล้วได้เอฟเฟ็คต์ระเบิดที่ปลอดภัย แต่ภาพเหมือนจริงที่สุดแล้ว หนังเราก็เลยระเบิดเต็ม ๆ เลย ฉากนั้นคือ ปิดเมืองตะกั่วป่าถ่ายทำกันเลย ใช้เวลาถ่ายทั้งหมด 7 สัปดาห์ ถนนตรงนั้นคือ กลางเมืองตะกั่วป่าเลย เป็นจุดประวัติศาสตร์ สภาพสถาปัตยกรรม บ้านเรือนเป็นยุคนั้นของแท้เลย แล้วก็ตึกภายในโรงแรมที่เราไปถ่ายก็เป็นตึกโบราณจริง ๆ ของที่นั่น เหมือนได้บรรยากาศยุคนั้น ตัวประกอบเข้าฉาก 300-400 คน ทั้งชาวบ้านจริงด้วย ชาวบ้านน่ารักมากเลย ร้านรวงในเมืองก็ปิดเพื่อให้เราถ่ายหนังกัน" 

Share this article :

แสดงความคิดเห็น