Home » » ข้าวเหนียวหมูปิ้ง

ข้าวเหนียวหมูปิ้ง



ผู้กำกับ : ศิวาภรณ์ พงษ์สุวรรณ

คำโปรย : จะสุขหรือทุกข์ขนาดไหน เพื่อนก็ไม่มีวันจะทิ้งกัน

กำหนดขาย : 12 มกราคม 2549

ทีมปิ้งหมู-นึ่งข้าวเหนียว : ดราม่า-คอเมดี้ (ประเภทภาพยนตร์) / สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล (สร้างและจัดจำหน่าย) / สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ (อำนวยการสร้าง) / ปรัชญา ปิ่นแก้ว, สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์ (ควบคุมงานสร้าง) / ศิวาภรณ์ พงษ์สุวรรณ (กำกับ-เขียนบท) / สมโภชน์ สลักทอง (กำกับศิลป์) / เดชา ศรีมันตะ (กำกับภาพ) / ศิวาภรณ์ พงษ์สุวรรณ, ธนาคม ชราปธีป (ลำดับภาพ) / เกษมสันต์ พรหมสุภา, วัชรินทร เฟื่องชูนุช (ดนตรีประกอบ) / เกษมสันต์ พรหมสุภา, ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ, เฉลิมชาติ เจริญดียิ่ง (ออกแบบเสียง) / เกษมสันต์ พรหมสุภา, วัชรินทร เฟื่องชูนุช (เพลงประกอบ) /

เรื่องราวมิตรภาพของเด็กหญิงวัย 8 ขวบกับเจ้า Dog ตัวจิ๋ว หนีบลูกซึ้งส่งเสียงโฮ่ง โฮ่ง เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากคุณ กะเทาะสายใยแห่งมิตรภาพความรู้สึก ที่ครั้งหนึ่งเด็ก ๆ ทุกคนเคยมีให้กับเพื่อนแท้ 4 ขา

...สำหรับ "ข้าวเหนียว" (เกรซ นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ) แล้ว การที่จู่ ๆ แม่บี (นุ่น สินิทธา บุณยศักดิ์) ก็เอาข้าวเหนียวมาฝากไว้ที่บ้านญาติ ๆ ไม่ทันตั้งตัว ข้าวเหนียวอดน้อยใจแม่บีไม่ได้ จริง ๆ นะ ถึงแม้ว่าในบ้านหลังใหม่จะมีญาติ ๆ ของแม่อยู่กันตั้งหลายคน ไม่ว่าจะเป็นยายอุ่น (มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา), ป้าเกด (เนาวรัตน์ ซื่อสัตย์), อาเปี๊ยก (เปี๊ยกดีเจสยาม) แต่ทำไมนะ ข้าวเหนียวยังรู้สึกเหงาอยู่เลย ก็คงมีน้าเล็ก (กาละแมร์ พัชรศรี เบญจมาศ) นี่แหละ ที่ข้าวเหนียวรู้สึกสนิทหน่อย อาจจะเป็นเพราะน้าเล็กแกคงรู้ว่าข้าวเหนียวเหงาและอดคิดถึงแม่ไม่ได้นั่นเอง

...เหมือนอย่างเคย วันนี้ข้าวเหนียวโดดเรียนอีกแล้ว ข้าวเหนียวเดินเรื่อยเปื่อยไปแถวสยามเห็นคนซื้อหมูปิ้ง แต่ที่น่าแปลกใจมีเจ้าหมาน้อยตัวสีน้ำตาลท่าทางมันดูน่าสงสารเหมือนข้าวเหนียวเลย มันคงหิวนะ เห็น ส่งเสียงร้องขอกินหมูปิ้งจากคนขายและคนซื้อที่ยืนอยู่ ดู ๆ ไปข้าวเหนียวว่าหน้าตามันตลกดี ปากมอม ๆ สีดำ ท่าทางน่ารักจัง คิดแล้วก็อยากเป็นเพื่อนกับมัน

...ข้าวเหนียวเลยตัดสินใจอุ้มมันใส่กระเป๋าเอากลับไปบ้านด้วยดีกว่า อย่างน้อยถึงมันไม่มีใครมันก็ยังมีข้าวเหนียว เอางี้นะ ข้าวเหนียวจะตั้งชื่อมันว่า "หมูปิ้ง"..."ข้าวเหนียวกับหมูปิ้ง" ฟังดูน่ารักดี

...แต่ไม่ใช่ว่าข้าวเหนียวจะเลี้ยงหมูปิ้งได้ง่าย ๆ นะ เพราะน้าเล็กเคยบอกว่าที่บ้านคับแคบ แล้วยายอุ่นเองก็แพ้ขนหมาด้วย คงเลี้ยงหมาไม่ได้ ยังไงก็ตามข้าวเหนียวจะไม่มีวันทิ้งหมูปิ้ง ข้าวเหนียวตัดสินใจเอามันขึ้นไปเลี้ยงบนดาดฟ้าดีกว่า เวลาหมูปิ้งส่งเสียงจะได้ไม่มีใครรู้ และทุก ๆ วันข้าวเหนียวก็จะเอาหมูปิ้งใส่กระเป๋าไปโรงเรียนด้วยกัน อีกอย่างข้าวเหนียวไม่อยากให้หมูปิ้งอยู่คนเดียว เพราะแถวบ้านชอบมีพวกจับหมามาด้อม ๆ มอง ๆ ด้วย

...แต่แล้ววันหนึ่งฝนตกหนักมาก หมูปิ้งที่อยู่บนดาดฟ้าเลยไม่สบาย ข้าวเหนียวตัดสินใจทุบกระปุกพี่หมูเอาเงินพาหมูปิ้งไปหาหมอ

...หลังจากนั้นที่บ้านก็รู้กันว่าข้าวเหนียวแอบเลี้ยงหมูปิ้ง น้าเล็กบอกว่ายายอุ่นแพ้ขนหมา จะเอาหมูปิ้งไปปล่อย แต่ข้าวเหนียวขอร้องไว้ว่ารอให้มันหายจากไข้ก่อนได้ไหมน้าเล็ก

...แม่บีจ๋า ข้าวเหนียวคิดถึงแม่บีจัง เมื่อไรแม่บีจะกลับมา น้าเล็กจะเอาหมูปิ้งไปปล่อยไหมเนี่ย

...ติดตามเรื่องราวความผูกพันและการผจญภัยของข้าวเหนียวกับหมูปิ้ง ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น เพราะยังมี เขาดิน (แจ๊ค แฟนฉัน), คุณนายสายป่าน (ดารุณี กฤตบุญญาลัย) ที่รักหมาทุกตัวบนโลกใบนี้ รวมทั้งแก๊งค์ขายพวงมาลัย เราเชื่อว่ารับรองคุณจะประทับใจและซาบซึ้งไปกับข้าวเหนียวหมูปิ้ง

นักแสดง:

นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ .... ข้าวเหนียว 

พัชรศรี เบญจมาศ .... น้าเล็ก 

เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์ .... เขาดิน 

ดารุณี กฤตบุญญาลัย .... คุณนายสายป่าน 

เนาวรัตน์ ซื่อสัตย์ .... ป้าเกด 

มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา .... ยายอุ่น 

สินิทธา บุณยศักดิ์ .... บี 

ณัฐวุฒิ ศรีหมอก  

พรหมพร ยูวะเวส  


วันที่เข้าฉาย: 12 มกราคม 2549


กว่าจะมาเป็น "ข้าวเหนียวหมูปิ้ง" (Production Note)

...ปาฏิหาริย์หรือความมหัศจรรย์มักเกิดขึ้นได้เสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนแผ่นฟิล์ม และมันได้เกิดขึ้นแล้วกับ "ข้าวเหนียวหมูปิ้ง" ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดในแนวดราม่าซาบซึ้งใจจากสหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล ที่ถ่ายทอดความผูกผันระหว่างเด็กหญิงวัย 8 ขวบกับเจ้าลูกสุนัขที่ชื่นชอบในการกินหมูปิ้งเป็นชีวิตจิตใจ กล่าวได้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่เราจะได้สัมผัสกับภาพยนตร์ไทยที่ถ่ายทอดความผูกผันระหว่างเด็กกับสุนัข โดยหยิบเอาเรื่องราวจริงของสุนัขมาขึ้นจอ คงต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะมีใครสักคนลุกขึ้นมาสร้างหนังที่มีตัวเอกเป็นเด็กและสุนัข

...และแน่นอนว่าคงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับวงการภาพยนตร์ไทย อย่างที่รู้กันว่า "สัตว์ เด็ก เอฟเฟ็คต์ สลิง" ถือว่าเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับผู้สร้างและผู้กำกับ นำมาซึ่งปัญหา108 ประการในการถ่ายทำ เพราะการกำกับสุนัขไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบ้านเรายังไม่มีตัวเลือกที่เป็น "นักแสดงสุนัข" รวมไปถึง "โรงเรียนฝึกสุนัขเพื่อนำมาเล่นหนังโดยเฉพาะ" มากนัก กอปรกับผู้กำกับที่จะเข้าใจธรรมชาติและรับมือกับโจทย์ที่เป็นนักแสดง 4 ขา ที่ไม่เพียงอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ภาษาไทยภาษาอังกฤษยิ่งไม่ได้ใหญ่เลย ครั้นจะไปนึกถึงวิธีการกำกับ เพื่อที่จะสื่อสารให้ เจ้า Dog เล่นกับกล้อง หรือถ่ายทอดแง่มุมความรู้สึกทางอารมณ์ให้คนดูจับต้องได้ละก็เลิกคิดได้เลย และเมื่อนึกถึงการถ่ายทำด้วยฟิล์มภาพยนตร์ที่จะต้องบันทึกภาพให้เกิดเป็นเรื่องราวจะต้องใช้จำนวนฟิล์มากมายมหาศาลขนาดไหน

"เราใช้ฟิล์มไปทั้งหมดประมาณ 413 ม้วน ซึ่งถามว่าเยอะไหม เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ทั่วไป ก็ถือว่าระดับปกติ แต่สำหรับหนังเด็กและหมา ตอนแรกเราคาดการณ์ว่าต้องมากกว่านี้แน่ ๆ ดังนั้นนี่จึงถือว่าต่ำกว่าปกติสำหรับหนังหมาและเด็ก ซึ่งก็คงต้องขอบคุณหมาและเด็กที่ไม่กินฟิล์มมากนัก"



...คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครสักคนจะลุกขึ้นมากำกับ ถ้าไม่เข้าใจในโจทย์ที่จะทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านี่คือหนังเรื่องแรกในชีวิต "ศิวาภรณ์ พงษ์สุวรรณ" ผู้กำกับหญิงที่คลุกคลีและคร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์มานับ 10 ปี โดยเริ่มต้นจากการเป็น 1 ในทีมเขียนบทภาพยนตร์อย่าง "โลกทั้งใบให้นายคนเดียว" และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์อย่าง สยิว, FAKE โกหกทั้งเพ, เอ็กซ์แมนแฟนพันธุ์เอ็กซ์, เฉิ่ม, เดอะ สเปิร์ม ในฐานะโปรดิวเซอร์พูดถึงงานกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกในชีวิตซึ่งหยิบเอาเรื่องราวความผูกพันระหว่างตัวเองกับสุนัขบางส่วนในชีวิตจริงมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์

"หลังจากโปรดิวซ์หนังมา 4-5 เรื่อง ก็เริ่มนึกถึงเรื่องที่เรามีในใจและอยากจะสร้างค่ะ ความจริงมีอยู่หลายเรื่อง แต่เลือกเรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องแรกและอยากทำที่สุดออกมาก่อน ก็คือ 'ข้าวเหนียวหมูปิ้ง' ไม่ใช่เพราะเป็นหนังเด็ก แต่เพราะมีหมาเล่น คือเป็นคนชอบหมาอยู่แล้ว ที่บ้านแม่เลี้ยงหมา 13 ตัวและแมวอีก 2 ตัว สมัยก่อนก็เคยอยากจะทำหนังหมา คือทั้งเรื่องมีแต่หมาและเป็นเรื่องของหมาล้วน ๆ มีคนเล่นด้วยนะ แต่ไม่เห็นหน้า จนกระทั่งได้มีโอกาสเสนอพี่ปรัช (ปรัชญา ปิ่นแก้ว) และเสี่ยเจียง (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) โดยได้แรงบันดาลใจจากบางส่วนในชีวิตจริงของเราที่เคยผูกผันกับหมาข้างถนนที่เราเคยพบที่สยามสแควร์เพมื่อ 5-6 ปีก่อน ก็เรียกมันว่า 'ขาว' ทุกครั้งที่เจอก็จะให้อาหารมัน ตั้งแต่เป็นหมาสาวสวยกระทั่งมันนมยาน มีลูก หน้าตาก็ทรุดโทรม แต่ไม่เคยเห็นลูกมันเลยนะ คิดว่ามันคงออกลูกมาแล้วตายหมดแล้ว แล้วเจ้าขาวก็ฉลาด น่ารักมาก เห็นมาหลายครั้ง เลยอุ้มกลับบ้านกับน้องชายซะเลย เอาขึ้นแท็กซี่ไป พอถึงบ้าน มันก็กระวนกระวายไม่อยากอยู่บ้าน พยายามจะหนีออกจากบ้านทุกวัน เราก็นึกว่ามันคงคิดถึงบ้านมัน ที่นี่ไม่ใช่ พอวันที่ 3 มันหนีได้สำเร็จแล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย ไปดูแถวบ้านก็ไม่พบ

...กระทั่งอีก 7 วันต่อมา พบมันนอนอยู่ตรงบันไดสะพานลอยรถไฟฟ้าหรือแถวหน้าลิโด้นี่ล่ะ รู้สึกตกใจมาก เพราะไม่รู้ว่ามันเดินทางกลับมาได้อย่างไร จากฝั่งธน จรัญสนิทวงศ์มาถึงสยามแสควร์ แล้วมันไม่ได้นั่งดูกระจกเลยนะ มันรู้ทางได้ไงไม่รู้ เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก พอมันเห็นเรามันก็กระโดดกอดเรา จากนั้นมันก็เดินไปเรื่อย ๆ เราเลยเดินตามมันไปฝั่งตรงข้ามคือ ข้าง ๆ พิซซ่าฮัทสยามเซ็นเตอร์สมัยก่อน ตรงนั้นจะมีศาลพระภูมิ มีสวนหย่อม มีบ่อบัวเล็ก ๆ และมีลูกวัยกระทงของขาว 3 คัว ซึ่งหย่านมแล้วค่ะ แต่มันก็ยังรักลูกของมันอยู่ และที่มันกลับมาก็เพราะลูกของมันนั่นเองค่ะ ตอนนั้นรู้สึกอึ้งไปเลย แต่ต่อมา ขาวก็ออกลูกมาอีก 1 คอก อยู่ใต้ถุนบันไดสยามฯ ตอนที่มันออกลูกใหม่ ๆ มันแทบจะไม่กล้าห่างจากลูกของมัน จะหากินทีก็ต้องรีบกลับมา อันนี้สังเกตดูค่ะ พอเวลาเราผ่านไปแถวนั้น เราก็จะเอาข้าวใส่ถุงไปให้มันค่ะ เพราะเห็นว่ามันห่วงลูกไม่กล้าไปไกล ต่อมาขาวก็หายไป ลูก ๆ ของมันคอกแรกก็ค่อย ๆ หายไปทีละตัว อาจจะป่วยตายไป หรือได้รับอุบัติเหตุ จนเหลือแค่ 'ด่าง' เพียงตัวเดียว เวลาเจอด่างก็จะทัก และก็เอาอาหารให้มันบ้าง เมื่อก่อนมันจะนอนอยู่ประจำที่หน้าร้าน โอบองแปง สยามดิสฯ ยามจะไล่มันตลอด ตอนหลังเลยอุ้มด่างกลับบ้านค่ะ และอีก 4 ปีต่อมา ด่างก็ได้เล่นหนังเรื่อง 'ข้าวเหนียวหมูปิ้ง' รับบทของแม่มันเองค่ะ สรุปว่าหนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของหมา!"


.เพื่อถ่ายทอดภาพเหตุการณ์เรื่องราวต่าง ๆ จากจินตนาการและความคิดของผู้กำกับที่เกิดจากแรงบันดาลใจในความผูกผันที่มีต่อเจ้าเพื่อนแท้ 4 ขา ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง "ข้าวเหนียวหมูปิ้ง" มีตัวละครที่เป็นสุนัขซึ่งผ่านการคัดเลือกจากมือของผู้กำกับโดยตรง

"นักแสดงหมาในเรื่องทั้งหมดที่เป็นตัวเด่นมี 3 ตัวค่ะ คือ ด่าง แสดงเป็นแม่ของหมูปิ้ง, หมูปิ้ง แสดงเป็นหมูปิ้งตอนเด็ก, สิงโต แสดงเป็นหมูปิ้งตอนโตหรืออเล็กซ์ค่ะ เราใช้หมาของตัวเองมาเล่นหมดเลยค่ะ อันนี้ไม่ต้องแคสติ้งเลย เพราะคิดไว้แต่แรกแล้ว ว่าจะใช้พวกเขา อย่างเช่น ที่เลือก 'ด่าง' มาเล่น เพราะว่ามันเป็นเรื่องจริงของแม่เขาเอง ส่วน 'สิงโต' ที่จะเล่นเป็นพระเอกคือ หมูปิ้ง นี่ สิงโตเขาจะมีความหล่อและมีมาดพระเอกอยู่แล้ว จะนิ่ง ๆ คูล ๆ ซึ่งการที่เราใช้หมาของเราเองจึงกล่าวได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบที่จะทำให้เรารู้จักตัวตนของนักแสดงหมาได้ดีที่สุด เข้าใจคาแร็คเตอร์ของเขา รู้ว่าจะถ่ายทอดเสน่ห์ของเขาอย่างไร รู้ว่าเขาจะมีปฏิกิริยากับสิ่งใดบ้าง ส่วนลูกหมาที่เล่นเป็นหมูปิ้งตอนเด็กนั้น ทีมงานเราไปตระเวนหากันหลายที่ค่ะ ทั้งจุดที่ขายสุนัขและหมาวัด หมาข้างถนนทั่วไป เราหากันมานาน ตอนที่ได้หมูปิ้งเด็กมา เขาเป็นลูกหมาวัดค่ะ มีชื่อด้วย ชื่อ สิงโต เหมือนกับพระเอกตอนโตเลย แต่พอเราเอามาเลี้ยงที่กอง เราก็เปลี่ยนชื่อเป็น หมูปิ้ง เพื่อให้เขาคุ้นกับชื่อ ซึ่งพอเราได้มาแล้ว จะถ่ายทำเลยก็ไม่ได้ ต้องดูอาการสัก 4-5 วันว่าป่วยมั้ย เป็นโรคลำไส้หรือเปล่า และมีนิสัยอย่างไร เพื่อจะได้กำกับได้ถูก ซึ่งหมูปิ้งก็เป็นหมาที่เกิดมาเพื่อเป็นนักแสดงโดยแท้ เพราะว่าแสดงได้ถูกอกถูกใจทีมงานมาก เก่งมาก ฉลาดมาก 3 วัน ก็รู้แล้วว่าตัวเองชื่อ หมูปิ้ง

...และที่สำคัญหมูปิ้งมีหน้าตาเหมือนกับสิงโต(พระเอก)ตอนเด็กมากถึง 90 % ค่ะ หมาที่มาเล่นหนังเรื่องนี้ ก็เป็นหมาไทยพันทางที่เก็บมาจากข้างถนน ซึ่งมันมีบุคลิกและคาแร็คเตอร์ที่น่าสนใจมาก อย่างเช่น 'ด่าง' ก็จะเป็นหมาที่มีหน้าตาแบบที่เราเรียกว่า 'หน้าดราม่า' ค่ะ คือหน้าตาเธอจะน่าสงสารได้ใจเอามาก ๆ และพอเล่นหนังก็เล่นได้ดีจนพวกเราทึ่งกันเป็นแถว จากที่กังวลว่ามันจะเล่นได้ไหม จะถ่ายทำยากไหม ปรากฏว่ามันเล่นได้ค่ะ วันแรกอาจจะไม่ดีนัก แต่พอวันที่สอง เหมือนมันรู้แล้วว่า 'มันกำลังเล่นหนังอยู่' มันไม่รู้หรอกค่ะว่าหนังคืออะไร แต่เราคิดว่ามันรู้ว่าสิ่งที่มันกำลังทำอยู่นี้ ไม่ใช่ชีวิตปกติค่ะ เพราะต้องทำซ้ำหลายหนมาก บางครั้งตอนเช้าทำไม่ได้ แต่ตอนบ่ายทำได้แล้ว หรือว่าวันนี้ทำไม่ได้ อีกหนึ่งอาทิตย์มันก็สามารถทำได้ แล้วบางวันมันไม่เข้าใจคำสั่ง แต่เราก็รู้สึกว่ามันพยายามจะสื่อสารกับเราค่ะ อันนี้เราไม่ได้รู้สึกคนเดียว มีอีกหลายคนก็รู้สึกเช่นเดียวกับเราค่ะ" 

ขนาดนักแสดงยังต้องมีการฝึกการทำ workshop แล้วอย่างนักแสดงสุนัขจะต้องมีการฝึกไหม ศิวาภรณ์ให้คำตอบได้อย่างน่าคิดที่ว่า

"เราว่าหมาไม่เหมือนกับคน กับนักแสดงคนเรายังพูดรู้เรื่อง อธิบายให้เขาเข้าใจได้ แต่อย่างหมานี่ เราต้องเอาตัวเข้าแลก ต้องเข้าใจเขา และก็ถ่ายทอดสิ่งที่เขาเป็นออกมาให้ได้ ถ้ารู้จักนิสัยเขา เข้าใจเขา มันก็ง่ายขึ้น สำหรับด่างและสิงโตจะส่งไปฝึกที่ ด็อกกี้ดู (DOGGIE DOO) แยกกันฝึก ด่างฝึกก่อนแสดงประมาณ 2 เดือนครึ่ง ที่ต้องฝึกเป็นพิเศษก็คือ ให้ด่างคาบถุงใส่อาหารตามที่บทเขียนเอาไว้ นอกนั้นอย่างอื่นก็ให้มันเล่นตามฟีล ของมันค่ะ

...ส่วนบทของ สิงโต ซึ่งเล่นเป็นหมูปิ้งตอนโต จะยากกว่า เพราะว่าต้องเข้าบทกับคนเยอะ แล้วก็ต้องมี reaction ที่พิเศษและจำเป็นต่อการเล่าเรื่องเยอะมาก ซึ่งยากกว่ามาก และต่างจากด่าง ที่จะแค่วิ่ง ๆ เดิน ๆ ทำหน้าเศร้าไปวัน ๆ ส่วนสิงโตส่งไปฝึกประมาณ 3 เดือนค่ะ ในส่วนของสิงโต เวลาถ่ายทำก็จะมีครูฝึกสุนัขมาออกคำสั่งด้วยค่ะ แต่สำหรับลูกหมานี่ฝึกไม่ได้นะคะ ต้องถ่ายทำตามที่เขาเป็น แล้วเขาจะมีชั่วโมงมหัศจรรย์คือ ตั้งแต่ตีสี่ถึง 8 โมงเช้าจะตื่นมาวิ่งตลอด พอสัก 9 โมงจะเริ่มแบตหมด ชักง่วงแล้ว ไม่เดิน จะนิ่ง ๆ แล้วก็หลับไปเลย แล้วลูกหมานี่เวลานอนจะปลุกไม่ตื่น จะโลว์แบตแล้ว หมดสภาพโดยปริยาย บางวันพอเราจะถ่ายฉากเล่น เขากลับง่วง ก็ต้องเปลี่ยนเป็นฉากนอน ฉากป่วยค่ะ พอเราจะถ่ายฉากนอนแต่เขาตื่น ก็ต้องปรับเป็นฉากที่หมูปิ้งกับข้าวเหนียวเล่นด้วยกัน อะไรแบบนี้ น้องเกรซก็มึนไปเลยค่ะ นอกจากตากล้องและทีมงานจะต้องเปลี่ยนมุม เปลี่ยนเซ็ตแล้ว นักแสดงยังต้องไปเปลี่ยนชุดมาใหม่ด้วยค่ะ

...ดังนั้นฉากนอน ฉากกินนี่ หมูปิ้งถนัดมาก! กว่าจะออกมาเป็นภาพอย่างที่เห็นนี่ก็ต้องช่วยกันหลายฝ่ายค่ะ เพราะต้องช่วยกันหลอกล่อหมาสุดฤทธิ์ คนละไม้ คนละมือ วิธีถ่ายมันในเรื่องนี้ก็คือ เราสร้างสถานการณ์แล้วให้เขาเล่นตามฟีลของเขา เขียนบทไว้คร่าว ๆ แต่ไม่ถึงกับบอกว่า ต้องหันหน้ามาทำอารมณ์ความรู้สึกหรือทำอะไรพิสดาร ไม่ใช่ นั่นมันเกินไป ทำไม่ได้หรอก ถึงทำได้ มันก็จะออกมาแห้ง ๆ แข็ง ๆ คือทำตามคำสั่ง แต่ไม่มีความรู้สึก มันจะดูหลอก ๆ ไม่จริง แต่ด้วยคาแร็คเตอร์ของนักแสดงหมาที่เราเลือกมา จะทำให้มันแสดงออกมาให้เห็นในหนังอย่างนั้นอยู่แล้วค่ะ เพราะเรารู้จักมันค่ะ

...ส่วนฉากที่ยากที่สุด และเป็นฉากที่กังวลที่สุดในหนังก็คือ ฉากที่พระเอกจะต้องวิ่งข้ามสี่แยกพระรามเก้า สี่แยกใหญ่ที่ตัดกับเส้นเอกมัยน่ะค่ะ เป็นฉากใหญ่ที่สุดในหนัง เพราะเราต้องปิดถนนระหว่างถ่ายทำด้วย แล้วสี่แยกนั้นใหญ่มาก รถเยอะ แถมบางทียังมีรถลักไก่คือด้วย บางทีฝ่าไฟแดง แซงกัน น่ากลัวมาก ขนาดข้ามถนนยังงงกับไฟแดงเลย ก็กลัวผิดคิวแล้วเกิดอุบัติเหตุค่ะ เราจะไม่ถ่ายจนกว่าจะมั่นใจว่าถ่ายได้แล้ว หมาทำได้แน่ เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นจริง ๆ มันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับหมา แต่อาจจะเกิดขึ้นกับคนก็ได้ ซึ่งก่อนถ่ายทำ เราก็คุยกับคุณโจ้ ครูฝึกของด็อกกี้ดู ว่าจะฝึกกันอย่างไร

...สรุปคือ มีการฝึกวิ่งระยะไกลโดยใช้สายจูงยาวที่รร. และควรจะมาฝึกสถานที่จริงด้วย เพื่อให้รู้ไลน์ของการวิ่ง ว่าจะวิ่งไปทางทิศไหน แต่การมาฝึกในสถานทิ่จริงมันยาก เพราะรถวิ่งตลอดเวลา วันแรกที่มาทดลองฝึก เป็นเช้าวันพุธปรากฏว่ารถเยอะมาก ทั้งที่เป็นตอนตี 5 เราก็คิดว่ารถจะน้อย แถมยังมีอุบัติเหตุต่อหน้าเลย ไม่ฝึกแล้วกลับบ้านเลย จากนั้นก็กลับมาฝึกวันเสาร์-อาทิตย์อีก 3 ครั้ง ก็เริ่มถ่ายจริง ซึ่งวันถ่ายจริงพอเทคที่ 2 ก็ทำได้ค่ะ ปลื้มมาก อยากจะลงไปกราบมันเลย แต่เราก็ถ่ายต่ออีก 7 เทคนะคะ เผื่อเอาไว้ ปรากฏว่าเทคที่ดีที่สุดน่ะมีครั้งเดียว วันนั้นเราถ่าย 2 กล้องด้วย ภาพที่ออกมาก็โอเคมาก เท่มากเลย"



ซึ่งนอกจากเรื่องราวที่น่าสนใจที่เป็นเรื่องจริงของผู้กำกับที่เกี่ยวกับความผูกผันที่มีต่อสุนัขแล้ว อีกหนึ่งแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิดเป็นหนังเรื่อง "ข้าวเหนียวหมูปิ้ง" ที่จะมองข้ามไม่ได้เลยก็คือ อีกหนึ่งเรื่องราวคู่ขนานที่เดินเรื่องควบคู่กันไปซึ่งเป็นกระจกสะท้อนถึงน้ำหนักของสิ่งที่เรียกว่า "มิตรภาพ" อันนำไปสู่ความหมายของคำว่า "เพื่อนแท" ที่ต่างเติมเต็มซึ่งกันและกัน

"สำหรับเรื่องราวของ 'ข้าวเหนียวหมูปิ้ง' เป็นการพูดถึงมิตรภาพความรักความผูกพันระหว่าง เด็กผู้หญิงอายุ 8 ขวบที่แม่มาฝากไว้ที่บ้านญาติ ด้วยความเหงาและไม่สนิทกับใครในบ้าน ทำให้ตัวเด็กได้ไปเจอหมาจรจัดตัวหนึ่ง ก็เลยตัดสินใจเก็บมาเลี้ยง เมื่อเด็กกับหมาที่ถูกทอดทิ้งมาเจอกัน ก็เหมือนเติมเต็มกัน ผูกพันรักใคร่จนเกิดเป็นมิตรภาพ ซึ่งเรามีพล็อตเรื่องนี้มา 3 ปีแล้ว ก็เขียนโครงคร่าว ๆ ไว้ ยังไม่ได้ทำเป็นบท กระทั่งได้เจอน้องเกรซ (นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ) เห็นน้องเกรซเหน็บลูกหมาไว้ที่รักแร้มันชื่อ เจ้าบอส เป็นพันธุ์ปอมเมอเรเนียน แล้วเดินไปเดินมา รู้สึกประทับใจมาก เพราะไม่เคยเห็นเด็กที่ไหนเหน็บหมา คนนี้เลิศมาก คิดได้ไง ปกติจะมีแต่อุ้มลูกหมากันใช่ไหมคะ ก็ถ้าหนังเราได้สร้าง ก็อยากจะได้น้องเกรซมาเล่นเป็น ข้าวเหนียว เด็กผู้หญิงที่มีหมาชื่อ หมูปิ้ง เป็นเพื่อน แต่ในเรื่องนี้ น้องเกรซ ไม่สามารถเหน็บ หมูปิ้ง ที่รักแร้ได้นะคะ เพราะว่าตัวมันอ้วนมาก เหน็บไม่ไหว"

...และแน่นอนว่าการทำงานกับน้องเกรซ นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ ที่ผ่านบทดราม่าหนัก ๆ มาแล้วจาก "เอ๋อเหรอ" ก็ไม่ได้ทำให้ผู้กำกับใหม่อย่างศิวาภรณ์ต้องหนักใจ แต่กลับกลายเป็นว่างานทุกอย่างออกมาได้อย่างราบรื่นจนลืมไปว่า หนังเรื่องนี้มีข้อห้ามในบรรดากฎเหล็กของคนทำหนังถึง 2 ข้อจาก 4 ข้อที่ว่า สัตว์ เด็ก เอฟเฟ็คต์ สลิง

"รู้สึกว่าโชคดีที่เป็นเขา เพราะเหมือนเขาทำฝันเราให้เป็นจริง คือไม่รู้ว่าเด็กคนอื่นเป็นไง แต่เด็ก 8 ขวบ (ตอนที่ถ่ายทำ) พูดจารู้เรื่อง ตั้งใจทำงาน มีความรับผิดชอบมากน่ะ คงไม่เป็นกันทุกคน เราทำงานกับเกรซเหมือนเราทำงานกับผู้ใหญ่นะ เพราะว่าระบบการทำงานไม่ต่างกันเลย ในความเห็นของผู้กำกับนะคะ เกรซเป็นเด็กมหัศจรรย์มากค่ะ ไม่เคยบ่นเลย แล้วก็ตั้งใจทำงานมาก ๆ ตั้งใจเรียนด้วย ไม่ยอมขาดเรียนเด็ดขาด

...ดังนั้นเราจึงถ่ายเกรซได้เฉพาะเสาร์อาทิตย์เท่านั้น ซึ่งเกรซก็จะมากองแต่เช้า แล้วก็ถ่ายกันจนเย็น บางวันเราอาจจะเกินไปถึง 3 ทุ่ม แต่เกรซก็ไม่เคยบ่น บางวันอากาศร้อนมาก เกรซปวดหัว แต่ไม่เคยงอแงเลยค่ะ แล้วบางทีถ่ายตอนเย็นแล้วบนดาดฟ้า แต่พื้นดาดฟ้ายังร้อนอยู่ เกรซก็ยอมเล่นแต่โดยดีค่ะ อดทนค่ะ อดทน อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งนะคะ ถึงสปิริตในการทำงานของเกรซ บางครั้งถ่ายทำบนดาดฟ้า เกรซจะบ่นว่า พี่เปิ้ลเกรซปวดหัว แดดมันร้อน แค่นั้นเอง แต่ไม่งอแงเลย ตอนช่วงหลังของการทำงานก็จะมีเด็กอายุรุ่น ๆ เกรซ เล่นด้วยอีกหลายคน แต่ไม่มีใครสู้เกรซได้เลย ในแง่ของการทำงานและสปิริตในการแสดง คือมันน่าประหลาดใจมาก ที่เด็กอายุ 8 ขวบจะเข้าใจเรื่องการถ่ายหนัง การทำงาน การรู้จักเกรงใจทีมงานได้มากขนาดนี้ เด็กบางคนแบบว่าอายุมากกว่าเกรซ 2 ปี แต่ถ่ายไปสักพัก ช่วงบ่าย ๆ เริ่มแล้ว พี่ ๆ ขา หนูขอไปนอนก่อนได้มั้ยคะ ง่วงแล้ว อะไรแบบนี้ งงไปเลยค่ะ" 

ใครเป็นใครใน "ข้าวเหนียวหมูปิ้ง"

น้องเกรซ - ด.ญ. นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ (ข้าวเหนียว) - เด็กหญิงหน้าตาน่ารักวัย 8 ขวบ อารมณ์ดี ขี้เล่น ถูกแม่นำมาฝากเลี้ยงไว้ที่บ้านญาติ ถึงแม้ว่าจะน้อยใจแม่ แต่ข้าวเหนียวก็ไม่เคยทำตัวมีปัญหา ถึงแม้จะสนิทกับน้าเล็กที่สุด แต่ก็คงไม่มีสิ่งใดแทนความเหงาและว้าเหว่ที่เกิดขึ้นในความรู้สึกได้ จนกระทั่งข้าวเหนียว ได้เจอกับ "หมูปิ้ง" หมาน้อยที่ใช้ชีวิตเพียงลำพังเช่นกัน มิตรภาพที่สวยงามระหว่าง ข้าวเหนียวกับหมูปิ้งจึงเริ่มต้นขึ้น โดยที่ข้าวเหนียวเองตั้งใจว่าจะเลี้ยงดูหมูปิ้งเป็นอย่างดีไม่ให้เหมือนกับที่คนอื่นเลี้ยงดูเธอแบบทิ้งขว้าง

"คือหนังเรื่องนี้ไม่เคยเจอปัญหาจากการกำกับเด็กหรือสัตว์เลยค่ะ มันราบรื่นมาก ๆ จนน่าประหลาดใจ ไม่เคยสร้างปัญหาในการถ่ายทำให้แก่ทีมงานเลย และก็ไม่เคยกินฟิล์มด้วยค่ะ ถ่ายง่ายมาก พอเจอเกรซเราก็เลยติด คิดว่าเด็ก 8 ขวบคงพูดรู้เรื่องเหมือนกันหมด...ต่อมาเราต้องถ่ายฉากที่มีเด็ก 8 ขวบเหมือนกันเป็นตัวประกอบ แล้วน้องเขาเล่นไม่ได้เลย คือเราลืมนึกไปเลย เราควรจะเรียกมาเช็คก่อน ดูตัวก่อน แต่เกรซทำให้เราเสียนิสัย...เพราะคิดว่าทุกคนเป็นเหมือนเกรซหมด" (หัวเราะ)


 แจ๊ค - เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์ (เขาดิน) - เด็กชายวัย 14 ปี ปากเสีย ขี้เล่น แต่จิตใจดี ขายพวงมาลัยหาเลี้ยงยายและตัวเองอยู่ที่สี่แยกพระรามเก้า เอ็นดูและรักข้าวเหนียวเหมือนน้องสาว แม้ว่าจะเพิ่งรู้จักกันก็ตาม

"ตอนที่เขียนบทให้กาละแมร์เล่น พอเริ่มแคสติ้งถึงได้นึกถึงแจ๊คขึ้นมา เพราะว่าเวลาที่แคสติ้งเราก็ต้องคิดถึงดาราแม่เหล็กบวกกับความเหมาะสมของบท ทีนี้พอคิดว่าน่าจะเป็นแจ๊ค แฟนฉัน ก็ต้องเช็คอายุและหน้าตาก่อน ตอนนั้นยังไม่แน่ใจว่าแจ๊คโตเกินไปหรือเปล่า เพราะว่าเขาดินต้องอายุประมาณ 14 ปี ยังไม่เป็นวัยรุ่นดีนัก ก็โทรไปถามคุณบอล หนึ่งในผู้กำกับแฟนฉัน ซึ่งเป็นคนข้างบ้านของแจ๊คที่สระบุรี ว่าตอนนี้แจ๊คเป็นอย่างไรบ้าง โตหรือยัง คุณบอลบอกว่า 'มันก็โตแล้วพี่ แต่ยังดูเป็นเด็กอยู่' พอเรียกมาดู ก็โอเค ยังใช้ได้ และอีกอย่างหนึ่งบทนี้ก็ต้องใช้ความเป็นมืออาชีพของการแสดงที่ต้องลื่นไหลพอสมควร แล้วแจ๊คก็ทำได้ดีมาก บทที่เราเขียนพอแจ๊คเล่นปั๊บมันจะเติมอารมณ์ เติมจังหวะและมุขทางสีหน้าเข้าไปเอง ซึ่งได้อรรถรสมาก ซึ่งแจ๊คก็มอบการแสดงที่สุดยอดไว้ทุกครั้ง ไม่ผิดหวังจริง ๆ ค่ะ แล้วเวลาที่แจ๊คเล่นกับเกรซ เกรซก็จะสนุกไปด้วย แล้วก็เดี๋ยวนี้แจ๊คอาจจะโตแล้วเพราะเวลาที่เล่นเข้ากลุ่มกับเด็ก แจ๊คจะบ่นว่า โอ๊ย ปวดหัว ทนเด็กไม่ได้ ฟังเสียงเด็กจ๊อกแจ๊ก จอแจ แล้วจะบ้าตาย นั่นแสดงว่าเริ่มจะเป็นหนุ่มแล้ว หรือไม่ก็พยายามจะเป็นหนุ่มนั่นเอง"

นุ่น - สินิทธา บุณยศักดิ์ (บี) - หญิงสาววัย 26 ปี เป็นผู้หญิงสวย หน้าตาดี แต่มีความอ่อนไหวและเปราะบางทางอารมณ์ จากวัยของข้าวเหนียว ซึ่งอายุ 8 ขวบ ทำให้คาดเดาได้ว่า บีน่าจะมีลูกตั้งแต่ยังสาวมาก และด้วยความที่เธอยังสวยและสาว ทำให้เดาได้ไม่ยากว่า หลังจากที่นำข้าวเหนียวมาฝากไว้กับบ้านญาติแล้ว บีน่าจะมีครอบครัวใหม่หรือแฟนใหม่ได้ทันที

"นุ่นเป็นนักแสดงที่เจ๋งมาก อยากร่วมงานด้วยมานานแล้ว โดยเฉพาะหลังจากที่ดู 'เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล' ซึ่งการแสดงของนุ่นละเอียดและน่าประทับใจมาก สำหรับ 'ข้าวเหนียวหมูปิ้ง' แม้บทนุ่นจะน้อยนิด แต่ว่าสปิริตของนุ่นมหาศาล พออธิบายว่าบทแม่ของข้าวเหนียวต้องการนักแสดงสาวระดับแถวหน้ามารับบท ไม่ใช่แค่ตัวประกอบ เพราะแม้บทจะน้อยแต่ต้องการพลังและน้ำหนักของบทนี้ให้มากที่สุด เพื่อผลของเรื่องราวในหนัง นุ่นก็เข้าใจดีและตกลงใจรับแสดง ด้วยการคุยเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นเอง"


กาละแมร์ - พัชรศรี เบญจมาศ(น้าเล็ก) - สาววัย 30 ต้น เป็นสาวขายตรง และขายสินค้าให้กับคนรู้จักในย่านละแวกบ้าน ว่าง ๆ ชอบเล่นไพ่ ซื้อล็อตเตอรี่ เป็นคนสนุกสนาน ปากร้ายใจดี ตลก ชอบพูดอะไรขำขำ แต่บางทีคนอื่นเขาก็ไม่ขำด้วย ลึก ๆ เป็นคนจิตใจดี แต่ด้วยความที่เป็นคนช่างพูดเล่น ทำให้คาดไม่ถึงว่าคนอื่นจะคิดเป็นจริงเป็นจัง

"บทน้าเล็กเราได้กาละแมร์มาเล่นตอนเริ่มทำบทเขียนตัวละครนี้ขึ้นมา ตอนเขียนก็นึกเลยว่าจะเอาใครมาเล่นดี อาจจะมีไอเดียเพิ่มเติม หน้าของกาละแมร์ก็ลอยเข้ามาในหัว เคยดูกาละแมร์บ้างในทีวี ตอนเขียนนี่ยังไม่รู้ด้วยว่าเขาดังมากแล้ว แค่เคยเห็นผ่าน ๆ ตา เพราะเราก็ไม่ค่อยได้ดูทีวีค่ะ เราจำได้ว่าคาแร็คเตอร์เขาตลก น่ารักดี แล้วก็หน้าไม่ช้ำด้วย ถ้าจะเอามาเล่นบทน้าสาวเจ้าเสน่ห์ ขำ ๆ ตลก ๆ ก็เลยมีเขาไว้ในใจ ตอนเช้าก็จะดูกาละแมร์ ส่วนกลางคืนก็นั่งเขียนบท อะไรแบบนี้เลยค่ะ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นคนอื่นเล่นเลยนะ คิดเป็นกาละแมร์อย่างเดียว ตอนไปคุยกับกาละแมร์ก็บอกแบบนี้เลย ฉันเขียนบทนี้ให้เธอเล่นเท่านั้น และก็บอกเลยว่าถ้าไม่เล่น ต้องคิดให้ด้วยนะ ว่าจะให้ใครเล่นแทน ส่วนบทสนทนาก็บอกเขาไปว่า อยากจะปรับคำพูดยังไงก็ได้ แต่ขอให้อยู่ในไลน์ของเรื่อง ซึ่งก็พอเดาได้ว่า สไตล์กาละแมร์เวลาพูดจะเป็นอย่างไร เพราะตอนคุยกันจะบอกเขาว่า อยากได้น้าเล็กแบบที่เป็นกาละแมร์น่ะ"

คุณยายมารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา (ยายอุ่น) - แม่ของน้าเล็กและป้าจันทร์ เป็นยายดุ ๆ ในบ้าน แต่ก็รักลูกรักหลาน น่าเสียดายที่ยายแพ้ขนหมา

"ตอนแรกไม่ได้นึกถึงคุณยายมารศรีเลย เพราะบทของยายก็ไม่เยอะมาก อาจจะเป็นใครก็ได้ แต่พอทีมงานเสนอชื่อขึ้นมาก็รู้สึกสนใจ เราก็ให้ทีมงานไปเช็คแกว่า แกสุขภาพเป็นอย่างไร ยังทำงานไหวมั้ย เพราะว่าแกก็ห่างหายจากวงการมาสักพัก ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพหรือเปล่า ซึ่งพอเอารายชื่อของครอบครัวนี้มาประกอบกันเข้า ก็รู้สึกว่าตัวละครมีความหนาแน่นมาก รู้สึกปึ้ก ๆ อย่างไรไม่รู้ค่ะ ก็เป็นภาพรวมของนักแสดงที่ดูดีมาก ๆ แล้วคุณยายมารศรีก็เป็นมืออาชีพอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาทางด้านการแสดงแน่นอน แกก็จะสามารถเติมบทเองได้ ถ้ารู้สึกว่าบทไม่เข้าปาก หรือว่ามันมีช่องว่างมากเกินไป ก็เลยหายห่วงค่ะ สบายมาก ผู้กำกับแทบไม่ต้องทำอะไรเลย"


พี่แหม่ม - เนาวรัตน์ ซื่อสัตย์ (ป้าเกด) - ป้าของข้าวเหนียว มีลูกสาว 1 คน ท่าทางดุ ๆ ดูแสบ ๆ ปากร้ายนิด ๆ ชอบมองคนอื่นในแง่ร้าย แต่ลึก ๆ แล้วไม่มีได้ร้ายขนาดนั้น

"แกน่ารักมาก มาแจมหนังเรื่องนี้แบบตั้งใจมากเลย ตอนแรกบทของป้าไม่ได้มองดาราคนไหนไว้เลย เพราะบทไม่มากนัก บังเอิญเราได้ดูพี่แหม่มไปออกรายการถึงลูกถึงคนพอดี รู้สึกว่าโอ้โห พี่เขาหายไปนาน แต่ยังมีบารมีของดาราใหญ่อยู่เลย แล้วก็สวยมากด้วย ส่วนพี่แหม่มก็ดีใจหาย แล้วพอเราเชิญพี่แหม่มมาแคสต์แกก็ยอมมา ก็บอกแกไปว่า พี่คะ บทอาจจะไม่เยอะนัก ไม่รู้จะเหมาะกับพี่หรือเปล่า ดังนั้นเราอาจจะต้องคุยกันก่อน ศึกษากันก่อนนิดหนึ่ง ซึ่งแกก็น่ารักมาก บอกว่าไม่เป็นไร ถ้าไม่เหมาะก็ไม่เป็นไร เข้าใจดีเรื่องการแคสติ้ง ปรากฏว่าพอได้คุยกันก็โอเคเลยค่ะ แล้วก็ส่งบทให้แกอ่าน ตอนหลังได้คุยกันอีกที แกก็บอกว่า อ่านแล้วชอบมาก น้ำตาไหลเลย เรื่องราวบางส่วนในหนังเหมือนกับสิ่งที่แกเคยเจอมา คือแบบว่าลูกสาวแอบเอามามาเลี้ยงที่บ้าน อะไรทำนองนั้น พอได้ร่วมงานกันก็รู้สึกแฮ้ปปี้มาก เพราะว่าพี่เขาสปิริตยอดเยี่ยม ถึงจะเป็นรุ่นใหญ่แต่ก็เป็นรุ่นใหญ่แบบอบอุ่นค่ะ มีน้ำใจ น่ารักดีกับน้อง ๆ ทีมงานรุ่นลูกรุ่นหลาน แล้วก็รู้สึกภูมิใจมากที่ได้เป็นเรื่องแรกของแกในรอบ 30 ปีค่ะที่กลับมาเล่นหนังอีกครั้ง แล้วก็ยังหวังว่าจะได้ร่วมงานกับพี่แหม่มอีกค่ะ ถ้ามีโอกาส เราสัญญากันไว้ มีพี่แหม่มมาเติมก็ทำให้ตัวละครของครอบครัวนี้มีสีสันมากขึ้น"

พี่ดา - ดารุณี กฤตบุญญาลัย (คุณนายสายป่าน) - เป็นหญิงวัยกลางคนร่างท้วม หน้าตาและท่าทางใจดี เป็นคนรักสุนัขมาก และเลี้ยงไว้หลายตัว โดยมี 'อเล็กซ์' เป็นสุนัขตัวโปรดของคุณนาย

"แกบอกว่าอ่านบทแล้วชอบมาก น้ำตาซึมเลย มีบางส่วนที่คล้ายกับชีวิตจริงของแกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความผูกผันกับเด็กขายพวงมาลัยที่สี่แยกพระราม 9 ซึ่งเหมือนกับเหตุการณ์ในเรื่องเลย แก เป็นนักแสดงทุ่มเทให้กับการแสดงอย่างมากค่ะ แกจะบอกว่าจะให้ทำอะไรก็บอก เต็มที่เลย ไม่ต้องเกรงใจ และที่สำคัญพี่ดาเป็นคนที่รักหมาด้วยค่ะ ที่บ้านก็จะมีหมาหลายตัว บทคุณนายสายป่านก็เป็นบทคนรักหมา สำหรับวันแรกที่ถ่ายกับพี่ดา แกก็สร้างความประทับใจให้กับผู้กำกับไว้เลยค่ะ คือเป็นฉากที่ต้องก้มลงไปเก็บลูกหมาออกมาจากใต้ท้องรถ ก็จะเป็นฉากตลก ๆ ค่ะ เราก็บอกพี่ดาประมาณหนึ่ง คือจริง ๆ อยากได้มากกว่านั้นแต่เกรงใจแก แต่แกเสนอออกมาว่า เอางี้มั้ย แบบว่าพี่ดาจะมุดเข้าไปลึก ๆ แล้วออกมาผมไปติดใต้ท้องรถ ออกมากระเซอะกระเซิงเลย เราก็ยิ้มเลยสิ อยากจะบอกว่าแบบนั้นแหละค่ะ ที่อยากได้ แต่พอเล่นจริงไม่ขำแล้วนะ โหดมาก เพราะว่าแกมุดเข้าไปหลายรอบมาก แล้วพื้นถนนตอนนั้นหน้าร้อนด้วย แถมยังเป็นเวลาบ่ายโมง แขนกับลำตัวแกจะต้องทาบกับพื้นซึ่งร้อนจี๋เลยค่ะ ออกมานี่แขนถลอกเลยค่ะ ทีมงานแบบว่าเกรงใจมาก ผู้ช่วยพี่หันมาบอกพี่ว่า พี่เทคเดียวเถอะ สงสารพี่ดา เราก็มาเช็คภาพกันที่มอนิเตอร์ คือภาพออกมาดีมาก แต่ตามธรรมเนียมนะคะ พี่ไม่เคยถ่ายอะไรเทคเดียว เพราะว่าอุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้ พี่จะถ่ายสำรองไว้อีกเทคเสมอ ดังนั้นจึงต้องจำใจโหด ขอพี่ดาอีกหนึ่งเทค ซึ่งพี่ดาก็ใจดีมาก จัดให้ ก็เป็นการแสดงที่เยี่ยมมากค่ะ สปิริตดีมาก พี่ดีใจที่ได้ร่วมงานกับนักแสดงตั้งใจทำงานแบบนี้ แล้วทุกคนที่พี่เจอในหนังเรื่องนี้ก็เป็นแบบนี้หมดเลยค่ะ"

วิญญู จันทร์เจ้า (ยายเจือ) - ยายของเขาดิน ที่เลี้ยงดูเขาดินมาตามลำพัง หาเลี้ยงชีพด้วยการร้อยพวงมาลัย แล้วให้เขาดินเดินขายอยู่ที่สี่แยกพระรามเก้า ยายเจือก็ใจดีเหมือนยายทั่วไป ไม่รังเกียจที่ข้าวเหนียวมาอยู่บ้านด้วย

"พอได้ชื่อว่า ถ้าเป็นยายของแจ๊คต้องเจ็บพอกัน เพราะบทยายเจือที่หาเลี้ยงแจ๊คเพียงลำพังด้วยการร้อยพวงมาลัย จะต้องมีบทที่ยายหลานต้องโต้ตอบกัน ต้องทันกัน ถ้าได้นักแสดงที่ไม่ถึงบทบาท จะดูไม่สมจริง ซึ่งการได้ป้าวิญญูมาถือว่าใช่เลย เพราะบทนี้ต้องการนักแสดงที่มีทักษะมาก ๆ แล้วป้าวิญญูเองตลอดชีวิตแกผ่านการบ่มเพาะความสามารถการแสดงมาอย่างแท้จริง เพราะถ้ายังจำกันได้สมัยการรายการ 'รวมดาวสาวสยาม' ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นรายการวาไรตี้ที่ถ่ายทอดสด เพราะฉะนั้นความสามารถในการแสดง ลิเก หรือละครป้าวิญญูแกเจ๋งจริง ๆ"


...นอกจากนี้ ก็จะมีนักแสดงรับเชิญระดับฝีมือกันอีกหลายคนมาร่วมกันสร้างสีสันให้กับ "ข้าวเหนียวหมูปิ้ง" ซึ่งกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนคุ้นเคยที่เคยร่วมงานกันกับผู้กำกับในผลงานก่อนหน้า

"พี่เปี๊ยก ดีเจสยาม นี่เป็น guest เจ้าประจำของหนังเราไปแล้ว เพราะแกเริ่มมาแจมเล่นสนุก ๆ ตั้งแต่ เอ็กซ์แมน, เดอะ สเปิร์ม มาจนถึง ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ซึ่งมีบทมากขึ้นอีกนิด แถมคราวนี้ไม่ตลกแล้ว ออกจะใจร้ายด้วยซ้ำ สันติ แต้พานิช และ ทวีวัฒน์ วันทา มารับบทเป็น 'คนจับหมา' คุณสันตินี่ก่อนเข้าฉาก ต้องไปเวิร์คช็อปกับ เจ้าวิกกี้ หมาของคนจับหมาที่จะเดินทางไปด้วยตลอด เพื่อให้ทั้งสองสนิทสนมกัน สันติต้องมาเจอวิกกี้อยู่ 2-3 วัน แล้ววิกกี้เป็นหมาช่างจูบ แต่ปรากฏว่าตอนถ่ายวิกกี้ไม่จูบเลย สันติต้องลงทุนเอาอาหารหมาทาหน้าตัวเองก็แล้ว วิกกี้ก็ไม่จูบ สุดท้ายสันติต้องลงทุนจูบปากวิกกี้ก่อน เรียกว่าเป็นคนที่ช่างทุ่มเทให้การแสดงอย่างมาก ฟักกลิ้ง ฮีโร่ หรือ คุณณัฐวุฒิ ศรีหมอก รับบท 'คนขายหมูปิ้ง' ส่วนตัวก็ค่อนข้างจะคุ้นเคยกับฟักกลิ้งอยู่แล้ว เป็นแฟนเพลงของเขาด้วย เลยชวนมาเล่นเรื่อง 'เดอะ สเปิร์ม' คิดว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะชวนฟักกลิ้งมาเล่นหนังต่อ เพราะว่าเขาเล่นเก่งมากกว่าที่คิดไว้เยอะ"

...รวมถึง พรหมพร ยูวะเวส พิธีกรสาวเก่งอีกคนหนึ่งที่โดดเด่นทางหน้าจอทีวีที่มาร่วมงานกักับผู้กำกับเป็นครั้งแรก

"จริง ๆ แล้วบท 'เพื่อนคุณนายสายป่าน' ในหนังที่ต้องมาเล่นเป็นเพื่อนของ พี่ดา ยังไม่รู้ว่าจะให้ใครมาเล่น รู้แต่ว่าน่าจะเป็นไฮโซด้วยกันนี่แหละ คนธรรมดาเล่นบทไฮโซคงไม่มีทางเหมือน ก็ลองถาม ๆ พี่ดาดู พี่ดาก็แนะนำว่าสนใจ เอิ๊ก มั้ย เราก็ชอบเอิ๊กอยู่แล้ว ตอนที่เขาเล่น 'ตะลุมพุก' ก็ชอบมาก คิดว่าอยากจะร่วมงานกันสักเรื่องหนึ่ง พอติดต่อไปทางเอิ๊ก เอิ๊กก็ตอบตกลงทันทีค่ะ เอิ๊กก็เล่นได้เนียนมาก บทสนทนาที่เราเขียนไปเป็นเพียงไกด์แล้วเราก็ลองปรับเปลี่ยน ซ้อมกันดูจนกว่าจะเข้าที่แล้วถึงถ่ายค่ะ เอิ๊กก็เล่นเป็นเอิ๊กนี่ล่ะค่ะ"

...และสิ่งหนึ่งที่ทำให้การทำงานในภาพยนตร์เรื่อง "ข้าวเหนียวหมูปิ้ง" ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ จนคาดว่าน่าจะกระทบใจความรู้สึกคนดูโดยเฉพาะคนที่มีความรักความผูกพันกับสุนัข นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าผู้กำกับ นักแสดง ทีมงานของภาพยนตร์ทุกคนล้วนต่างมีประสบการณ์แห่งความทรงจำร่วมพิเศษอยู่ที่อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ทุกคนล้วนเคยมี "เพื่อนแท้ 4 ขา" กันมาแทบทั้งสิ้น

"นอกจากพี่ ที่ชีวิตจริงผูกพันกับขาวกับด่างแล้ว น้องเกรซเองชีวิตจริงก็เคยมีความทรงจำกับหมาตัวหนึ่งที่ชื่อว่าไอ้เขียว ที่เกรซเคยเจออยู่ที่สยามเกือบปี และทุกครั้งที่เจอก็ซื้อหมูปิ้งให้มัน หรืออย่างพี่ดา เองตลอดทั้งชีวิตเลี้ยงหมามาตลอด และเป็นคนรักหมามากมีความทรงจำผูกพันกับหมาเยอะมาก รวมไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สี่แยกพระรามเก้าเกี่ยวกับเด็กขายพวงมาลัย ในขณะที่พี่แหม่มเองก็เคยมีประสบการณ์ที่ว่าลูกสาวอยากเลี้ยงสุนัขซึ่งคล้ายกับตัวละครข้าวเหนียว หรือแม้แต่นุ่นเองชีวิตจริงนุ่นก็รักสุนัขมาก ๆ เลี้ยงไว้ 2 ตัว พี่เชื่อว่าความผูกพันเหล่านี้น่าจะส่งผลดีกับตัวหนังและกระทบความรู้สึกของทุกคนที่รักสุนัขและมีสุนัขเป็นเพื่อน"



Share this article :

แสดงความคิดเห็น