Home » » ทวิภพ พ.ศ. 2547

ทวิภพ พ.ศ. 2547

 


ทวิภพ


ชื่อภาษาอังกฤษ The Siam Renaissance

มณีจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษระดับ 6 สาขาประวัติศาสตร์ ประจำกงศุลไทยนครปารีส ถูกเรียกตัวด่วนในคืนนั้น ในฐานะตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับประเทศสยาม อันเป็นที่มาของบันทึกนั้น วัวอิยา ถูกจัด ระดับความสำคัญเพียง “นิยายไร้สาระ” แต่ในความคิดของ มณีจันทร์ มันเป็นสิ่งที่น่าค้นหา …เธอได้ล่วงล้ำเข้าไปในดินแดนแห่งความลับที่ถูกกำหนดไว้จากบันทึกนี้ ดินแดนที่เธอไม่เชื่อว่าเป็นจริงเมื่อแยกจากโลกปัจจุบัน ..หญิง สาวต้องกลับประเทศไทยด้วยเหตุผลบางประการ

ที่บ้านเกิดในเมืองไทย มณีจันทร์ สับสนและแยกแยะไม่ออกว่า ตัวเธออยู่ในความเป็นจริงอันใด.. “วันนี้คืออดีตของพรุ่งนี้ ? หรือ วันนี้คืออนาคตของเมื่อวาน ?” “มณีจันทร์” จะอยู่ในตำแหน่งไหนของตัวเธอเอง หลายครั้งที่เธอคิดอยู่เสมอว่า เธอเป็นต้นเหตุของบันทึกเสียเองหรือไม่ ? และการเดินทางครั้งใหม่ของ มณีจันทร์ ก็เริ่มขึ้น

นักแสดง:

ฟลอเรนซ์ วนิดา เฟเวอร์ .... มณีจันทร์ 
รังสิโรจน์ พันธุ์เพ็ง .... หลวงอัครเทพวรากร 
พิเศก อินทรครรชิต .... หลวงราชไมตรี 
นิรุตต์ ศิริจรรยา .... พ่อของมณีจันทร์ 

ความยาว: 130 นาที
ระบบถ่ายทำ: ฟิล์ม 35 มม., สี
วันที่เข้าฉาย: 27 กุมภาพันธ์ 2547

ตัวอย่างภาพยนตร์ ทวิภพ 2547

"มาริยองจะสมรัก แผ่นดินจะสูญสิ้น มาริยองจะสูญเสีย แผ่นดินจะสมดุล"

 


ดูหนังไทย "ทวิภพ" ในต่างแดน สุขใจจัง 

เขียนโดย Tempting Heart      
อังคาร, 12 เมษายน 2005

เสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา (2-3 เม.ย.) ที่นิวยอร์กมีเทศกาลหนังไทยครับงานเทศกาลหนังไทยที่โน่นเขาจัดกันไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ถึง 4 เมษายน

มีหนังไทยหลาย ๆ เรื่องมาฉาย อย่างเช่น แฟนฉัน, ทวิภพ, สยิว, คืนไร้เงา, หัวใจทรนง (The Adventures of Iron Pussy), โอเคเบตง และนางนาก ซึ่งมีฉายเรื่องละรอบเท่านั้นเอง เป็นงานที่จัดโดยมูลนิธิหนังไทยของที่นี่ร่วมกับการบินไทย และจัดฉายในโรงฉายหนังเอเชีย ImaginAsia หลายเรื่องคงจะถูกนำมาฉายหลังจากเทศกาลนี้ ซึ่งถือเป็นรอบเปิดตัวหนัง (premiere) ส่วนหนังไทยเรื่องอื่น ๆ ที่ฉายอยู่ในโรงอื่น ๆ ที่นี่ตอนนี้ก็มี องค์บาก, Beautiful Boxer และสัตว์ประหลาด (ที่เอามาฉายซ้ำหลังจากที่เคยฉายใน New York Film Festival ไปแล้ว)

ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปดูทวิภพ (The Siam Renaissance/Tawiphop) เพราะทราบมาว่าจะเป็นเวอร์ชั่น director's cut แบบที่ไม่เหมือน commercial version ที่เคยดู คือจะเป็น เวอร์ชั่นเต็ม ๆ 2 ชั่วโมง 30 นาที ก็เลยอยากดูเพราะว่าชอบหนังเรื่องนี้มากครับ เคยดูในโรงที่เมืองไทยมาแล้ว 2 รอบ อยากดูเวอร์ชั่นเต็มๆ แต่ว่าหาดูไม่ได้ครับ อีกเรื่องหนึ่งที่อยากดูก็คือ หัวใจทรนง (The Adventures of Iron Pussy) ครับ เพราะว่าอยู่ที่นี่ช่วงที่หนังเข้าที่เมืองไทย เลยไม่ได้ดู ซื้อดีวีดีมาแล้ว แต่อยากดูในโรงครับ เห็นว่าเป็นหนังที่สนุกมาก ๆ ทีเดียว

แต่ปรากฎว่ารอบฉายเรื่องแรกตอนบ่ายสอง ส่วนเรื่องหลังตอน 2 ทุ่มครึ่ง

วันเสาร์ฝนตกทั้งวันเลยครับ แต่ด้วยความอยากดูหนังไทยมากเหลือเกิน เลยต้องออกไปดูจนได้ เสียดายว่าเรื่องหลัง หัวใจทรนง ไม่ได้ออกไปดู เพราะว่าพอกลับเข้ามาหอแล้วก็ขี้เกียจออกไปอีกรอบ เพราะตอนค่ำฝนก็ยังตกหนักอยู่ แล้วก็ไม่อยากกลับค่ำ ๆ ด้วยครับ เลยได้ดูเรื่องแรกคือ เรื่อง ทวิภพ เรื่องเดียวครับ

ทวิภพ การเดินทางครั้งใหม่ของมณีจันทร์ (The Siam Renaissance)

"เมื่อวันเวลาเคลื่อนมาพบกัน ทวิภพอาจทำให้ใครบางคนได้มาพบกัน และขณะเดียวกันก็อาจทำให้ใครบางคนต้องพรากจากกันตลอดไป"

หลังจากที่ได้ดูหนังเรื่อง ทวิภพ ปรากฎว่าหนังที่เอามาฉายในงานกลายเป็น commercial version ปกติ 90 กว่านาที เสียดายจังครับ เพราะอยากดูเวอร์ชั่นเต็มๆ พอหนังจบก็มี discussion โดยผู้กำกับมูลนิธิหนังไทยของที่นี่ น่าสนใจดีครับ ฝรั่งให้ความสนใจหนังเรื่องนี้และซักถามมากมาย ตอนแรกคิดว่าฝรั่งดูหนังเรื่องนี้แล้วอาจจะไม่เข้าใจ เพราะการลำดับเรื่องราวของหนังที่ไม่ได้เล่าเรื่องตรง ๆไปเรื่อย ๆ แต่เป็นหนังที่เล่าและลำดับเรื่องราวตัดสลับไปมา และเรื่องราวการปรากฎตัวของแม่มณีจันทร์ตามที่ต่าง ๆ ในเวลาเดียวกัน แต่ปรากฎว่าฝรั่งดูแล้วก็เข้าใจนะครับ ฝรั่งเข้าใจงาน abstract ของหนังชิ้นนี้ และดูจะชื่นชมกับหนังไทยของเรามาก ๆ ทีเดียวครับ

ผมชอบหนังเรื่องนี้มาก ๆ นะครับ ดูแล้วกระตุ้นความรู้สึกรักและชื่นชมในประเทศของเราดีจัง มีคำพูดหลาย ๆ ตอนกระตุ้นความรู้สึกของเราให้นึกถึงและคิดถึงประเทศไทย ความพยายามในการเปรียบเทียบความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยในปัจจุบัน การยอมรับความเจริญจากชาวตะวันตก โดยที่ขาดความตระหนักถึงชาติบ้านเมืองของเราเอง การพยายามกระตุ้นความรู้สึกให้นึกถึงชาติบ้านเมืองของเรา เช่นว่า "ปัจจุบันบ้านเมืองเรามีทั้งรถ มีทั้งไฟฟ้า มีทุก ๆ อย่าง แต่เรากลับชื่นชมในวัฒนธรรมของฝรั่ง กินอยู่อย่างฝรั่ง" , "ปัจจุบันบ้านเมืองเรามีหนังสือให้หาอ่านกันอย่างสะดวกสบาย มีร้านหนังสือเต็มไปหมด แต่เด็กไทยเราอ่านหนังสือปีละ 6 บรรทัด" ฟังแล้วมันสะกิดและกระทบใจเราลึก ๆ ดีจังครับ รวมทั้ง Theme เนื้อหาความรักโรแมนติกที่ต้องมาควบคู่กับความรักชาติ ดูแล้วชอบจริง ๆ ครับ

นอกจากนั้นก็ชอบ idea ของหนังเกี่ยวกับละติจูดที่ 0 องศา แล้วก็หอไอเฟิลที่ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งหนึ่งเป็นของอังกฤษ อีกฝั่งหนึ่งเป็นของฝรั่งเศส idea ดีและเก๋มาก ๆ เลยครับ รวมทั้งตอนที่นางเอกกลับมาแล้วเห็นคนใช้พูดภาษาฝรั่งเศส เห็นหอไอเฟิลที่ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชอบจริง ๆ เลยครับ ในแง่ของเรื่องการเล่าลำดับเรื่องราวของหนังเรื่องนี้ ผมก็ชอบนะ ผมชอบ idea ของหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องการเดินทางย้อนเวลาไปมาในอดีตนะครับ ผมว่าทวิภพแบบนี้แหละที่เป็นทวิภพจริง ๆ เวลามันซ้อนเหลื่อมกันได้ ไม่ต้องมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ไม่ต้องมีกระจกก็เดินข้ามภพได้ถ้าใจคนเราใฝ่ฝันถึงสิ่ง ๆ นั้น ผมว่ามันเก๋ดีนะครับ ชอบภาพขณะที่นางเอกสับสนเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ขณะที่กำลังข้ามภพไปมา ผมว่าภาพของหนังสวยและดูตื่นตาตื่นใจมาก ๆ ครับ เป็นหนังไทยที่ประทับใจมาก ๆ และอยู่ในอันดับหนังในใจของผมตลอดกาลครับสำหรับหนังเรื่องนี้

ฝรั่งดูหนังเรื่องนี้แล้ว เกิดคำถามมากมายพอสมควร เช่นว่า ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงใช้เพลงเป็นเพลงออกแนวตะวันตก ทั้ง ๆ ที่เป็นหนังแนวย้อนประวัติศาสตร์ไทยในอดีต หรือเกี่ยวกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของหนังเกี่ยวกับดินแดนและอาณาเขตของเราที่เราเคยบอกว่าประเทศไทยเราไม่เคยเสียดินแดนให้กับใครมาก่อน แล้วก็มีฝรั่งสงสัยเกี่ยวกับว่า ทำไมหนังไทยถึงเน้นความสามารถของผู้หญิงที่เหมือนเป็นผู้นำ เหมือนเป็นตัวจักรสำคัญที่ผลักดันเรื่องราวในประวัติศาสตร์ อย่างเช่นเรื่องทวิภพนี้ หรืออย่างเรื่องสุริโยไท บทบาทของผู้หญิงเด่นกว่าบทบาทผู้ชาย ดูแล้วฝรั่งสนใจและชื่นชมหนังไทยของเรามากทีเดียวครับ แต่ผมเองก็รู้สึกกลัว ๆ กับความรู้สึกของฝรั่งในการดูหนังเรื่องนี้อยู่เหมือนกันกับเรื่องราวในหนังที่หลาย ๆ ตอนอาจจะไม่ค่อยชื่นชมชาวต่างชาติเท่าไหร่ เหมือนกับว่าเป็นการบังคับ (force) ประเทศเราเกี่ยวกับดินแดนและอาณาเขตอยู่กลาย ๆ เช่นว่า ฝรั่งมันเอาปืนมาจ่อที่หน้าบ้านเรา อะไรแบบนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าฝรั่งดูเรื่องนี้แล้วจะรู้สึกอย่างไรบ้างนะครับ

เสียดายแต่ว่าตั้งใจจะดูเวอร์ชั่นเต็มๆ แต่ไม่ได้ดู เพราะหนังเรื่องนี้คงมีหลายเวอร์ชั่นเหลือเกิน issue ของหนังที่ถูกตัดออกไปเกี่ยวกับแหม่ม Anna คงเป็น issue ที่เป็น controversy พอสมควร แต่พอได้ดูได้รอบที่ 3 ที่นี่ ผมเองกลับรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วถึงหนังจะไม่มีเรื่องราวของแหม่ม Anna แต่ก็ดูเหมือนว่าหนังก็มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเองอยู่แล้ว การเพิ่มเรื่องราวของแหม่ม Anna อาจจะทำให้หนังสมบูรณ์มากขึ้นในแง่เรื่องราวและตัวละครประวัติศาสตร์ แต่อาจจะไม่ได้ focus ในประเด็นสำคัญของหนัง คือเหมือนเนื้อหาของหนังอาจจะยิ่งกระจายไปยังประเด็นรายละเอียดอื่น ๆ มากขึ้น โดยส่วนตัวผมเอง ก็เลยรู้สึกว่าชอบหนังเรื่องนี้แม้จะเป็น commercial version ก็ตามที เพราะคิดว่าหนังใน version นี้ก็มีความสมบูรณ์ในตัวมันเองอยู่แล้ว ผมเองได้ซื้อ DVD ที่มี deleted scenes มาแล้วล่ะครับ แต่ว่าก็ยังไม่ได้ดูเลยครับ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าในโอกาสต่อ ๆ ไปจะมีโอกาสดูเวอร์ชั่นเต็ม ๆ หรือ director's cut ของหนังเรื่องนี้หรือเปล่า

เวลาได้ดูหนังไทยตอนอยู่ต่างบ้านต่างเมืองนี่ ทำให้รู้สึกอบอุ่น อิ่มเอมใจและสุขใจดีเหลือเกินครับ ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ก็ได้ดูหนังไทยที่นี่ไปพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น โอเคเบตง, สุดเสน่หา (Blissfully Yours), สัตว์ประหลาด (Tropical Malady : premiere ในงาน New York International Film Festival เมื่อปลายปีที่แล้ว) หรือแม้แต่หนังเอเชียหลาย ๆ เรื่องที่ได้ดูในโรงที่นี่ อย่าง Hero (ซึ่งเคยดูตอนอยู่เมืองไทยแล้วก็มาดูซ้ำอีก) หรือ House of Flying Daggers ที่ฉาย premiere ในงาน New York International Film Festival ตอนปลายปีที่แล้วเช่นกัน ก็ได้มีโอกาสเจอตัวจริง ๆ ของผู้กำกับจางอี้โหมวและจางซิยี่ที่มาโปรโมทหนังเรื่องนี้ด้วยตัวเอง และตอนฉายจริงทั่วอเมริกา ก็ได้ไปดูอีกรอบหนึ่งครับ

คงคล้าย ๆ กับว่า คุณค่าหรือความชื่นชมหรือความรักในความเป็นไทย จะได้นึกถึงมาก ๆ ก็คงเป็นตอนที่อยู่ต่างบ้านต่างเมืองนี่แหละ พอได้เห็นความแตกต่างของวัฒนธรรม และนิสัยใจคอของคนตะวันออกและตะวันตก เลยทำให้สุขใจเวลาได้ดูหนังไทยหรือหนังเอเชียที่นี่ อืม หรือมันเหมือนกับว่ามันเป็น variant หนึ่งของอาการคิดถึงบ้านคิดถึงเมืองไทยของผมด้วยหรือเปล่านะครับเนี่ย (555) เวลาดูหนังไทยหรือหนังเอเชียที่นี่ มีความรู้สึกว่าเหมือนเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นตัวตนของเราด้วย ทำให้เรารู้สึกอยู่เสมอว่า เราภูมิใจและรักในความเป็นคนไทยหรือคนเอเชียหรือคนตะวันออกนะ

นี่แหละคือหนังของเรา รู้สึกภูมิใจครับ ก็เราเป็นคนไทยนี่นา คนไทยก็ต้องดูหนังไทย หนังไทยก็ทำให้คนไทยดู คนไทยทำหนังไทย คนไทยดูหนังไทย สุขใจจังครับ

"มาริยองจะสมรัก แผ่นดินจะสูญสิ้น มาริยองจะสูญเสีย แผ่นดินจะสมดุล"

 

Deleted Scenes ในดีวีดีหนัง ทวิภพ

Deleted Scenes 1: โรงพิมพ์ที่บ้านหมอบรัดเลย์

เห็นวิธีการพิมพ์หนังสือพิมพ์ Bangkok Recorder พิมพ์เสร็จหมอบรัดเลย์ตรวจดูความเรียบร้อยของงาน

Deleted Scenes 2: ฉากเปิดตัวแหม่ม แอนนา ลีโอโนแวนส์ ที่ตลาด

แหม่มแอนนากำลังเลือกหยิบ ถามแม่ค้าถึงผลไม้ "ผลไม้อะไร ?" มณีจันทร์โผล่มาเห็นแหม่มแอนนา ก็ให้สงสัยตะหงิด ๆ ใจว่าแหม่มที่ไหนมาเดินตลาดแถวนี้ เลยช่วยอธิบายว่ามันคือ "ทับทิม" แล้วย้อนถามชื่อแหม่ม พอแหม่มกำลังจะตอบชื่อ ก็พอดีนังม้วนมาตามแม่มณี – ขัดจังหวะเสีย แหม่มแอนนามองตามมณีจันทร์ อ้าปากค้าง "ทับทิม" ฉากนี้บอกง่าย ๆ โต้ง ๆ ชัด ๆ ว่า "ทับทิม" ก็คือมณีจันทร์ = เป็นเพียงนิยาย

หมายเหตุ - หญิงสาวชื่อ "ทับทิม" ปรากฏชื่อในหนังสือเล่มที่ 2 ที่เขียนโดย แหม่ม แอนนา ลีโอโนแวนส์

Deleted Scenes 3: Anna's Interview / Anna VS มณีจันทร์

มณีจันทร์เห็นแอนนายืนอยู่คนเดียว ด้วยความสงสัยของคนดูบวกกับความปากกล้าของหนัง จึงโพล่งออกมาทางมณีให้ได้เอื้อนเอ่ยถามแหม่ม "เธอคือแหม่มแอนนาใช่ไหม" มณีจันทร์เฝ้าถามเหตุใดแหม่มจึงเป็นคนช่างโกหก ท่าทางแอนนาไม่เข้าใจคำถาม แต่ก็จำมณีจันทร์ได้ว่า คือหญิงสาว "ทับทิม" คนนั้น แหม่มแอนนาจึงเล่าว่าทำไมตนเองจึงมาที่นี่ "ฉันชื่อแอนนา ลีโอโนแวนส์ ฉันมาจากแดนไกล ได้ยินกิตติศัพท์เจ้าชายแห่งตะวันออก แต่ก็ต้องมาพบสิ่งไม่ดีในประเทศนี้ อย่างความเชื่อเก่าโบราณ ภูตผีปีศาจ ความล้าหลังทางอารยะ"

มณีจันทร์ย้อนกลับ "อ่ะ อ่ะ ก็ถ้ามันไม่ดี เยี่ยงนั้น แล้วทำไมไม่ไปจากที่นี่ซะล่ะ แม่แหม่ม"

แอนนาตาเป็นประกาย "เพราะชั้นยังมีความหวังว่าสักวันดินแดนแห่งนี้ มันจะเปลี่ยนแปลงในยุคของท่าน"

จบที่ภาพวาดฝาผนัง ท่าเรือ – แอนนามาทางเรือ ไม่ได้มาทางเครื่องบิน

หมายเหตุ – ฉากนี้พยายามผูกรวมภาพ มณีจันทร์ กับ แหม่มแอนนา ว่าทั้งสองต่างก็มีที่มา "มาจากแดนไกล" คือแม้ว่ามณีจันทร์จะมาจากอนาคตที่ไกลออกไป แต่ทั้งสองคนมาจากความคิดตะวันตก เป็นสายตาของพลเมืองแห่งความเจริญสมัยใหม่ที่มองสยาม

Deleted Scenes 4: Anna's Dream Mode

เห็นกองบรรดาหนังสือ “Scarlet Letter”, “Beauty and the Beast”, “ Cinderella” ในห้องสีน้ำเงินของแหม่มแอนนา ให้เห็นภาพความเป็นนักอ่าน นักคิด และนักฝัน พร้อม ๆ กับที่เราได้เห็นแหม่มเอาชุดสวยมาโชว์ พร้อมกับพร่ำบอกความใฝ่ฝันกับมณีจันทร์ว่า ซักวันหนึ่งตัวแอนนาเองจะต้องได้ใส่ชุดปานเจ้าหญิง เหล่านี้ (แต่เป็นร่างกายมณีจันทร์นั่นเอง ที่ได้สวมใส่ชุดกระโปรงฟูฟ่องนั้นไปงานเลี้ยง -แอนนาคิดฝัน - มณีจันทร์ทำ)

คำพูดของแหม่มแอนนาที่ว่า ความสุขมักจะอยู่ห่างไกลเสมอ แต่จริง ๆ แล้วมันอยู่ที่บ้าน – เป็นการบอกเตือนตัวเองและมณีจันทร์พร้อมกัน

มณีจันทร์ คิดเสมอ "พ่อไม่รักฉัน แม่ไม่รักฉัน ฉันเลยถูกส่งไปฝรั่งเศส เพื่อที่จไม่ต้องเป็นลูกรักของใคร" แต่ท้ายที่สุดแล้ว ที่บ้าน แม้นาทีที่ไร้เสียงพูดใด ๆ แค่เพียงมือแผ่วของแม่ที่ลูบผมเบา ๆ ก็ทำให้มณีรู้สัมผัสถึงความรัก ความสุข ที่เฝ้ารอว่า มันไม่เคยอยู่ห่างไกล

แหม่มแอนนาพูดถึงตัวเองเชิงเป็น Angle / ซาเวียร์ บันทึกเรื่องมณีจันทร์โดยเรียกชื่อว่า มารียอง( มารี-แองเจิ้ล marie – angle ) / พ่อ - "บันทึกกล่าวไว้ถึงทางเลือกของเทพธิดา"

แหม่มแอนนาพูดถึงตัวเอง เปรียบเป็น Cinderella กับ Barbarian ครั้งหนึ่งมณีจันทร์พูดกับกุลวรางค์ ในมุมเช่นเดียวกับสายตาของแหม่มแอนนา "แม้ในสายตาของเรา พวกเขาจะเป็นชาวเถื่อน"

หลุยส์ ลูกชาย ของแหม่มแอนนา โผล่มาทำหน้าเศร้า "กุหลาบตาย" จะเห็นได้ว่า กลีบกุหลาบโปรยปรายตอนมณีจันทร์ประชุม / หลวงอัครเทพวรากร "ข้าจะซับน้ำตาให้กุหลาบ" / พ่อกับแม่กอดกัน "ทำให้เหมือนเกิดใหม่เลยนะ คุณมาลิดาของผม" กลีบกุหลาบร่วงโปรยปราย "เกิดใหม่ = Re –Born" ซึ่งนั่นก็เท่ากับ ความหมายของ Renaissance การฟื้นฟู การเกิดใหม่ - แม่หลั่งน้ำพุทธมนต์ พร้อมกุหลาบ เพื่อมณีจันทร์

แหม่มแอนนามองภาพ Cinderella "นี่แหละ คือห้องครูสอนภาษาอังกฤษหลวง" มณีจันทร์มองตามสายตาแหม่มแอนนา พลันเกิด Special Effect On The Floor การเปลี่ยนฉากแบบละครเวที แหม่มแอนนายังพูดไม่หยุด ขณะที่กล้องหมุน 180 องศา จากห้องแหม่มแอนนา ครั้นพอหันกลับไป กลายเป็นพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย

Deleted Scenes 5: Harem – at – the – gate

เมื่อก้าวข้ามพ้นประตูที่รูปปั้นหุ่นจีนเฝ้าอารักขานั้น เราจะเข้าสู่อาณาบริเวณพระราชฐานชั้นใน มาเถอะแม่มณี

ฤาแหม่มแอนนา อยากมีเพื่อน? เธอเห็นกลุ่มหญิงสาวหลายคนวิ่งกรูมารุมล้อม แย่งกันพูดคุยกับเธอ แล้วแหม่มแอนนาก็ได้ตื่น ๆ กับเสียง Et cetera Et cetera Et cetera

แหม่มแอนนาเดินเข้าไป - ตัดเป็นมณีจันทร์ ภาพที่เห็นจึงเป็นการมองแทนสายตาผู้เจริญแล้วทางอารยธรรมที่มองสิ่งที่ยังไม่มีการเกิดอารยธรรม ผู้คน นางสนม เจ้าจอม ล้วนเป็นสตรีเพศต่างประกอบกิจการงาน บ้างทำขนม อบผ้า ร้อยดอกไม้ ว่ากันไป

แหม่มแอนนา"พาไปแนะนำเพื่อนชั้นคนหนึ่ง" “Hidden Perfume” ที่ตำหนักของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น (เจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร – ที่ร้องเพลง Dixie ที่งานเลี้ยงกงสุล)

เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น เป็นหญิงที่ต้องการพูดภาษาแห่งอนาคต (ภาษาอังกฤษ), เป็นนักอ่านและนักคิดซึ่งมีจิตใจที่มุ่งมั่นในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ – "ลุกขึ้นเถอะ แม่มณี ที่นี่ไม่มีทาส", "ชั้นอยากเป็นคนดี เหมือนคนเขียนหนังสือเล่มนี้" (หนังสือUncle Tom ‘s Cabin - หนังสือที่จุดชนวนให้อเมริกาเลิกทาส) เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นกล่าวชื่นชมมณีจันทร์ "เจ้ากล้ามากเลยนะที่เข้ามาที่นี่ แต่สำหรับฉันคงกล้ามากกว่า 100 เท่าที่จะออกไปจากที่นี่"

อีกครั้งหนึ่งที่ย้ำประโยค ”No Place like home “ แต่ครานี้มาจาก เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น

เมื่อมณีจันทร์ถาม "คุณจอม ไม่เคยออกจากที่นี่เลยหรือคะ", "แล้วมีอะไรที่เราต้องใช้ความกล้า 100 เท่า"

ไม่มีคำตอบจากประโยคนี้ แต่ Deleted Scenes 7 จะเป็นคำตอบของทั้งหมด "คุณแหม่มเป็นความฝันของฉัน"

หมายเหตุ

– ใน “The King and I” คำว่า Et cetera ก็คือ etc.(อื่นๆ)

– ”No Place like home “ – เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น, แหม่มแอนนา (จากประโยคหนัง”The Wizard of Oz” – การพบโลกเก่าในอีกมิติหนึ่งของมณีจันทร์)

– เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ชื่นชอบหนังสือ Uncle Tom ‘s Cabin โดยเขียนลงชื่อแทนตน ในจดหมายถึงแหม่มแอนนา ว่า Harriete Beacher Stowe Sonklin

Deleted Scenes 6:

เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นที่บอกว่าตัวเอง "เกิดมาในโลกเก่ากับโลกใหม" กำลังเคาะเครื่องดนตรีเล่น ๆ เพลิน ๆ ( ลูท lute-คล้าย ๆ พิณ) แหม่มแอนนาทักว่า เขาไม่ให้เคาะโบราณเขาถือ เดี๋ยวจะโชคร้าย

โชค – ดวงไม่ดี

Deleted Scenes 7: Home Sweet Home

แหม่มแอนนากับลูกชายชื่อนายหลุยส์ กำลังเช็คข้าวของอย่างโดดเดี่ยว กำลังจะขึ้นเรือกลับอังกฤษ มณีจันทร์มาล่ำลาด้วยความใจหาย เธอบอกสองแม่ลูกว่า สักวันหลุยส์จะได้กลับมาอีก, แหม่มแอนนาแย้งว่า หลุยส์ไม่กลับมาหรอก มีเสียงเพลงของการจากบ้านจากลา Home Sweet Home แว่วลอยมา

หญิงติดตาม 2 คน ยืนเล่นไวโอลิน และขลุ่ย ใส่บู้ทอย่างฝรั่ง

เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นในเสลี่ยง กำลังเล่น lute และเคาะ lute อย่างจงใจ (เคาะ lute อย่างจงใจ - การกล้าท้าทาย กล้าขัดขืนเรื่องของดวง โชคชะตาลิขิต ไม่ยอมให้เจ้าชะตามาขีดเขียนชีวิต)

"แล้วมีอะไรที่เราต้องใช้ความกล้า 100 เท่า" นี่คือคำตอบที่ออกมาจากการกระทำของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น

การลักลอบออกจากพระราชฐานชั้นในเพื่อมาส่งแหม่มแอนนา "ต้องใช้ความกล้า 100 เท่า" ใช้ในวันนี้ที่มาส่ง มาล่ำลา เพื่อน-ฮีโร่-ความฝัน ที่ชื่อ แหม่มแอนนา

เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นมองแหม่มแอนนาเป็นฮีโร่ "คุณแหม่มเป็นความฝันของฉัน"

แหม่มแอนนามองเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น เป็นความฝันที่สร้างขึ้นมาได้สำเร็จ (การเปลี่ยนทัศนะความคิด) "หลุยส์ นี่คือความฝันเดียวที่เป็นจริง ของแม่"

แหม่มแอนนาและเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ต่างเป็นความฝันของกันและกัน

หมายเหตุ

– ภายหลัง หลุยส์ เข้ามาทำธุรกิจเรื่องไม้ ทางภาคเหนือของประเทศไทย ,ก่อตั้งบริษัท บอร์เนียว ประเทศไทย, มีส่วนร่วมในการบูรณะเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร

- มีการใช้เพลง Home Sweet Home ใน The King and I

 

Share this article :

แสดงความคิดเห็น