พฤหัสบดี, 04 สิงหาคม 2005
หลังจากเรียนจบชั้นประถม เด็กชายฮูยัน และเด็กหญิงมิมปี ต้องลาออกจากโรงเรียน ด้วยเงื่อนไขบีบรัดของชีวิต เด็กชายฮูยันเป็นเด็กเรียนดี เรียบร้อย ช่างคิด และและมุ่งมั่นในสิ่งดีงาม แต่ฮูยันก็เป็นพี่ชายของ ดุนญา และ อาเครญา น้องอีกสองคนที่จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้ไปโรงเรียน และเป็นลูกของป๊ะ ผู้เป็นกรรมกรสถานีรถไฟ แม้ป๊ะจะทำงานหนัก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีเงินพอสำหรับเลี้ยงลูกทั้งสามได้ ดังนั้นแม้ว่าจะอยากไปเรียนหนังสือมากแค่ไหน ฮูยันก็ต้องเลือกทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เด็กอย่างเขาจะทำได้
เด็กหญิงมิมปี เป็นเด็กช่างพูด ช่างซักช่างถาม และเป็นลูกของแม่ค้าขายของชายแดน หลังจากเรียนจบประถม เธอตั้งใจจะออกไปค้าขาย ขึ้นล่องระหว่างเมืองใหญ่กับชายแดน ช่วยแม่ของเธอขายของ ฮูยันเรียนห้องเดียวกับมิมปี และทั้งคู่รู้จักกันเพราะแปลงดอกไม้ และไอติมหวานเย็นสีฟ้า ที่ฮูยันเอามาขายก่อนจะลาออก
หลังจากออกจากโรงเรียน ฮูยันพบมิมปีที่สถานีรถไฟ รถไฟพาเขาไปพบโลกแปลกใหม่ นำพาผู้คน และเรื่องเล่าใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต และรถไฟนี่เองที่พรากเอาบางสิ่งบางอย่างไปจากชีวิตของฮูยันเช่นกัน
บนเส้นทางรถไฟสายที่มุ่งสู่ชายแดน ความฝันของเด็ก ๆ เลื่อนไหล ไปพร้อมกับการเติบโต อันมีทั้งความสวยงาม และความเจ็บปวด ในนามของ-การมีชีวิต
หนังเรื่องนี้สร้างจากบทประพันธ์ของ นิพพาน ที่เขียนขึ้นในปี 2521 และได้รับรางวัลมากมายรวมทั้งกลายเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาอีกด้วย
หนังถูกสร้างขึนในปี 2528 โดยฝีมือของ ยุทธนา มุกดาสนิท เจ้าของผลงานอย่าง น้ำพุ, หลังคาแดง และวิถีคนกล้า ซึ่งกำกับหนังเรื่องนี้ออกมาอย่างซื่อตรงต่อบทประพันธ์ โดยแทบไม่มีการตัดทอน และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ดีการถ่ายทำในสถานที่จริงเกือบทั้งหมด การใช้นักแสดงหน้าใหม่ (ซึ่งเล่นกันอย่างขัดเขินจนเป็นธรรมชาติ) รวมไปถึงการได้รับบริการจากดารารุ่นใหญ่ฝีมือดีอย่าง สุเชาว์ พงษ์วิไล และ ดวงใจ หทัยกาญจน์ ดนตรีประกอบสวยงามฝีมือ อ.ดนู ฮุนตระกูล และคุณจำรัส เศวตาภรณ์ รวมไปถึง การเลือกใช้ภาษาภาพ ทำให้หนังไม่ได้ยิ่งหย่อนคุณค่าในความเป็นภาพยนตร์ลงไปเท่าใดนัก
หนังตั้งคำถามถึงชีวิตของผู้คนชายขอบโดยเฉพาะชีวิตของเด็ก ๆ ที่เกิดในรั้วรอบขอบชิดแห่งความยากจน ไม่ว่าเด็ก ๆ เหล่านั้ จะเกิดในศาสนาใด เป็นเด็กดีหรือเด็กร้าย มีการศึกษาหรือไม่ สิ่งที่แบ่งแยกผู้คนออกจากกันอย่าสากล และแสนเจ็บปวดคือ ความยากจนกับความมั่งมี
ภาพของฮูยัน และน้อง ๆ รวมไปถึงเด็ก ๆ ค้าข้าว (ซึ่งเคยมีอยู่จริง ๆ ในนามของกองทัพมด ก่อนที่จะล่มสลายไปพร้อม ๆ กับการค้าของหนีภาษีอย่างเป็นระบบของนายทุน) ความยากจน นำมาซึ่งความเจ็บป่วยของป๊ะ การไม่ได้เรียนต่อของฮูยัน ซึ่งถึงแม้จะหัวดีแค่ไหน โอกาสก็มีไม่พออยู่ดี
แต่หนังไม่ได้มุ่งเน้นเพียงฉายภาพชั่วร้ายของเงินเป็นใหญ่ เพราะที่หนังพูดถึงคือ การมีชีวตอยู่อย่างมีความฝัน และความดีงาม หนังให้โมงยามดี ๆ ของฮูยันกับมิมปี และกับเพื่อน ๆ ของเขาบนหลังคารถไฟ (หนังจับภาพเด็ก ๆ บนหลังคารถไฟในแสงแดดยามเย็นได้ทั้งสวยงามและเงียบเหงา) แม้เรื่องราวที่เกิดกับฮูยัน จะเป็นความยากลำบากของการมีชีวิต แต่ชีวิตใช่จะต้องพ่ายแพ้ให้กับความยากลำบากนั้นเสมอไป
ในขณะที่มิมปี (มีชื่อแปลว่าความฝัน) เป็นตัวแทนของความดีงามที่ยังคงหลงเหลือในโลก เธอชี้นำหนทางให้กับฮูยัน และคอยดูแลเขา เช่นเดียวกับอาเดล นาฆา และผองเพื่อน ในฉากหนึ่งนาฆาบอกกับเราว่า -นายอาจจะคิดว่าเราขี้ขลาด แต่นายก็รู้ว่าทุกคนบนนี้ไม่มีใครขี้ขลาดสักคน - เด็ก ๆ ค้าข้าวอาจถูกมองเป็นเด็กเกเรมากปัญหา แต่พวกเขาก็ล้วนทำไปด้วยเหตุผลของตนเองทั้งสิ้น
ภายใต้เรื่องเล่าของการยืนหยัดเพื่อความดีงาม หนังเปิดดวงตาของเราให้เหลียวมองเด็ก ๆ ของเราเองขณะที่เด็กคนหนึ่งอาจร่ำร้องหาวัตถุเครื่องเล่นชิ้นใหม่ เด็ก ๆ อีกจำนวนมากยังคงต้องขายไอติมกันกลางแดด เพื่อให้ได้มาซึ่งเสื้อนักเรียนใหม่สักตัว เรามีสิทธิที่จะเพิกเฉย ทำเหมือนว่าพวกเขาไม่เคยมีอยู่ หรือมองพวกเขาเป็นเพียงพวกขี้เกียจสันหลังยาวหรือ พวกชั่วช้าเบียดเบียนผู้อื่น
แต่ใช่หรือไม่ว่าภายใต้เรื่องราวเหล่านั้นพวกเข้าล้วนต่างมีชีวิต และมีเรื่องเล่าที่เป็นของตัวเอง
หนังไม่ได้พูดถึง ผีเสื้อและดอกไม้ เลย จนกระทั่งตอนท้ายเรื่องในงาน วันฮารี รายอ ผีเสื้อของมิมปี เด็กหญิงผู้มีชื่อแปลว่าความฝันจะต้องโบยบินไปได้แสนไกล และดอกไม้ของเด็กชายฮูยัน ผู้มีชื่อแปลว่าสายฝน คงจะผลิบานอย่างงดงาม เพราะแม้จะยากลำบาก แต่พวกเขาก็มีความฝัน และยังมีชีวิต
แสดงความคิดเห็น