ผู้กำกับ :
สันติ แต้พานิช
คำโปรย : "เรื่องจริงของชีวิตคนอีสาน ทำได้ทุกอย่าง"
"หนึ่งปี ไม่มีบท ของจริง เรียลลิตี้ฟิล์มเรื่องแรกของไทย"
เนื้อเรื่องย่อ: ภาพยนตร์ที่ นำเสนอในรูปแบบสารคดี-ชีวิต เรียลลิตี้ ฟิล์ม เล่าถึงชีวิตคนอีสาน 5 คน ที่มีความแตกต่างทั้งด้านวิถีชีวิตและจุดมุ่งหมายโดยสิ้นเชิง ทุกคนต้องเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯด้วยความจำเป็น ได้แก่ พรศักดิ์ ส่องแสง นักร้องหมอลำชื่อดังคนแรกของเมืองไทยที่เล่นคอนเสิร์ตมาแล้วทั่วโลก จุดมุ่งหมายคือเรื่องที่เรียบง่ายสำหรับเขา คนต่อมาคือ เหลือเฟือ มกจ๊ก นักแสดงตลกแรงงานอีสานที่อยู่ในกรุงเทพฯ คือกระจกสะท้อนตัวเองก่อนใช้นามสกุล “มกจ๊ก” คนที่สามคือ แมน หัวปลา อดีตพนักงานโบกรถที่ใส่ชุดเป็นสัตว์น้ำเชิญชวนลูกค้าหน้าร้านอาหาร ป.กุ้งเผา กับอาชีพใหม่ที่อยากมุ่งไปนั่นคือ “ตลกคาเฟ่” คนที่สี่คือ เนตร อินทรีเหล็ก สตั๊นท์แมนที่ใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงทุกวินาทีเพื่อเป็นหนทางนำไปสู่ “จา พนม 2” คนสุดท้ายคือ พี่อ้อย สิงห์นักขับ แท็กซี่อารมณ์ดีที่เพื่อนร่วมทางมักแปลกหน้าอยู่เสมอเส้นทางกลับบ้านคือถนนที่ไกลที่สุด
นักแสดง:
พรศักดิ์ ส่องแสง | ||
เหลือเฟือย ม๊กจ๊ก |
วันที่เข้าฉาย: 21 กรกฎาคม 2548
หายไปนานสำหรับข่าวของโครงการ ยักษ์เล็ก โครงการที่มุ่งหมายจะปั้นคนรุ่นใหม่เข้าสู่วงการภาพยนตร์เมืองไทย ด้วยความร่วมมือกันระหว่าง บริษัท สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล , บา แรม ยู โดยมี ปรัชญา ปิ่นแก้ว และ ยุทธนา บุญอ้อม เป็นคนช่วยกันดูแล ในเบื้องต้นตอนนั้นมีหนังสามเรื่องที่ได้รับการสนับสนุนและผู้กำกับก็ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น เรื่องแรก คน ผี ปีศาจ ผู้กำกับคือ มะเดี่ยว หรือ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ซึ่งก็ได้แสดงฝีมือไปแล้วและไม่ให้ผิดหวังเสียด้วย ส่วนเรื่องที่สอง Bangkok Traffic หนังที่บอกว่าใช้ผู้กำกับเปลืองสุด ถึงตอนนี้ก็เงียบหายไป ไม่รู้ไปถึงไหนแล้ว และสุดท้ายของโครงการก็คือ เสือร้องไห้ ของ สันติ แต่พานิช ที่ใช้เวลาทำเกือบ 2 ปี กว่าจะเสร็จเรียบร้อย โดยมีกำหนดเข้าฉาย 21 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ (ถ้าไม่โดนเลื่อนซะก่อน)
จะว่าไปแล้ว สันติ แต่พานิช ประกาศตัวไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า เสือร้องไห้ จะนำเสนอความมหัศจรรย์ของคนอีสาน ที่มีความสามารถหลายรูปแบบ และสามารถปรับตัวได้ทุกสภาพอย่างที่หลายคนคิดไม่ถึง ซึ่งเราสามารถเห็นคนอีสารเป็นได้ทั้งลูกเรือประมง เป็นจับกัง นักร้อง กุ๊กอาหารญี่ปุ่น หรือแม้กระทั้ง พระเอกงิ้ว โดยแนวทางของหนังนั้น จะนำเสนอแบบ Reality Film คือเห็นอย่างไรก็ถ่ายมันออกมาอย่างนั้น ต้องลงไปคลุกคลีกับตัวละครที่เลือก พยายามเก็บภาพชีวิตเหล่านั้น มาร้อยต่อกันให้เป็นสารคดีที่น่าสนใจ ด้านการทำงานนั้นก็มีปัญหาเยอะเหมือนกัน เริ่มตั้งแต่การออกค้นหาชาวอีสานที่เข้ามาทำงานอยู่ในกรุงเทพ (ไม่น่ายากนะ...ดูได้จากปริมาณของร้านส้มต่ำซะก่อน) เลือกคนที่มีความน่าสนใจ ปัญหาอยู่ที่จะเลือกใคร อาชีพอะไร เพื่อที่จะได้เรื่องราวที่น่าสนใจที่สุด เมื่อเจอแล้วก็จะต้องติดตามถ่ายทำการดำเนินชีวิตของตัวละครเหล่านั้นในทุกด้าน ทั้งการงาน ความรัก ความฝัน ความเจ็บปวด และเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่ไม่อาจคาดเดาได้
จากความพยายามเก็บข้อมูลค้นหาอยู่นาน ทำให้ในที่สุด สันติ ตกลงที่จะเลือกถ่ายทอดเรื่องราวความหวัง ความฝัน และความจริงของชีวิต 5 เสือของเขา ซึ่งประกอบไปด้วย ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร พรศักดิ์ ส่องแสง, เหลือเฟือ ม๊กจ๊ก , แมนหัวปลา , เนตรอินทรีเหล็ก และ พี่อ้อยสิงห์นักขับ ส่วนอะไรเป็นเหตุผลให้ สันติ เลือกถ่ายทอดชีวิตคนทั้ง 5 นั้น เขาให้เหตุผลในการเลือกแต่ละคนไว้ว่า
พรศักดิ์ ส่องแสง เป็นนักร้องเลือดอีสานที่ดังมาก ดังขนาดไหนนะเหรอ เอาเป็นว่าไม่มีใครไม่รู้จักเพลง สาวจันทร์กั้งโกบ ไม่เฉพาะเมืองไทยนะแต่เรียกว่าทั่วโลกเลยก็ได้มั้ง เป็นนักร้องหมอลำคนแรกของเมืองไทยที่ไปตระเวนเล่นคอนเสริต์มาแล้วทั่วโลก ดังเทียบเท่า เบิร์ด เลย แถมเคยเล่นคอนเสริต์เดียวกันมาแล้วด้วย แต่แล้วข่าวคราวของเขาก็ค่อยๆ หายไป ไม่มีใครรู้ว่าตอนนี้ พรศักดิ์ อยู่ไหนทำอะไร คนรวยขนาดเขาใช้ชีวิตอยู่ยังไงในสังคม ตอนไปถ่ายเราก็เริ่มรู้จักพี่เขามากขึ้น รู้เลยว่า เขาเคยอยู่ในจุดที่สูงสุดมากมาแล้ว ไปมาแล้วเกือบรอบโลก รวยมาก แต่ตอนนี้ไม่ต้องการอะไรเลย ต้องการแค่อยู่บ้านกับครอบครัว ไปร้องเพลงตามที่คนเชิญ ชีวิตมีความสุข เป็นคนที่มีสีสันมาก ชีวิตผ่านอะไรมาเยอะ ถือว่าโชคดีมากที่ได้เจอเขา
เหลือเฟือ ม๊กจ๊ก เป็นอีกคนที่มีชีวิตที่น่าสนใจ เขาเป็นคนที่เหมือนเป็นตัวแทนคนอีสานอีกคนที่ประสบความสำเร็จ เป็นนักแสดงตลกคาเฟ่อันดับต้นๆ ของเมืองไทย การเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ครั้งแรกก็เหมือนกับคนอืสานคนอื่นๆ เคยล้มลุกคลุกคลานอยู่ในเมืองหลายต่อหลายครั้ง เป็นชีวิตตลกที่ไม่ตลก แม้วันนี้จะมีชื่อเสียง แต่ก็ยังสามารถยกมือปาดน้ำตาได้ทุกครั้งที่หวนระลึกถึงความลำบากของอดีต
แมนหัวปลา เห็นเขาครั้งแรกก็สะดุดตามากเพราะดูแล้วรู้สึกว่าเป็น “ คนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ” แมนอดีตพนักงานในที่จอดรถของร้านอาหาร ปอกุ้งเผา หน้าที่ใส่หัวปลาแต่งตัวประหลาดยืนโบกรถร่วมกับสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ หน้าร้านอาหาร เชิญชวนลูกค้าเข้าร้าน จุดมุ่งหมายเดียวที่ทำให้เขาทิ้งแผ่นดินอีสานมา คือ แม่ แต่ทำไปทำมาการใส่หัวปลาเต้นไปมาเรียกแขก ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เขาจึงคิดหาทางอื่น ซึ่งสิ่งที่คิดได้ถัดมาก็คือ อาชีพตลก ความหวังครั้งใหญ่ที่เขาคิดว่ามันจะนำเขาไปสู่จุดมุ่งหมายได้เร็วขึ้น การถ่ายทอดชีวิตของ แมนหัวปลา เป็นเสมือนการถ่ายทอดรูปแบบชีวิตที่ต้องดิ้นรนหาหนทางฝ่าฟันไปข้างหน้าเพียงลำพัง
เนตรอินทรีเหล็ก อีกหนึ่งผู้ล่าฝันที่พยายามผลักดันตัวเองเข้าสู่วงการมายา ด้วยความหวังที่จะเดินตามรอย จา พนม ต้นแบบฮีโร่ของชาวอีสาน เขาฝึกฝนร่างกายให้เก่งเพราะหวังว่าจะเป็นฮีโร่นักบู๊คนต่อไป แต่เขาคิดว่าทางที่จะทำให้เก่งเท่าพระเอกนั้น ต้องเริ่มจากเป็นตัวแทนพระเอกซะก่อน ไม่ว่าเบื้องหน้าพระเอกจะต้องกระโดดตึก โดนเตะ คางแตก ไฟลวก ล้วนเป็นภารกิจของ เนตร ในอาชีพ สตั้นแมน ทั้งสิ้น เขาต้องเล่นเสี่ยงอันตรายทุกอย่างแลกกับเงินไม่ถึง 1 % ของค่าตัวพระเอก จนบางครั้งความเจ็บปวดของบาดแผล มันก็บาดลึกเข้าไปสู่หัวใจ และไหลออกมาจากดวงตาของชาย ผู้มีร่างกายแข็งแกร่งและมีศิลปะการต่อสู้รอบด้านอย่างเขาเหมือนกัน เราเลือกนำเสนอชีวิตของ เนตร เพราะเขาเป็นคนจิตใจดี มีความฝันที่บริสุทธิ์มาก พยายามเลียนแบบ จา พนม โดยจะซื้อวีซีดีทั้งของ พันนา , เฉินหลง , จา พนม มาดูตลอด เรียนรู้แบบถูก ๆ ผิด ๆ ปัจจุบันตัวเองอยู่ที่ทีมสตั้นท์ ไม่ได้มีงานมีเงิน แต่ฝันอยู่ตลอดเวลา ในหนังก็จะนำเสนออีกมุมของโลก สตั้นท์แมน ว่าจริงๆ มันเป็นอย่างไร มันไม่ได้น่าดูเหมือนกับโชว์ เขาไม่ได้เก่งกันทุกคน แต่ทุกคนต้องมาเสี่ยง จะมีภาพให้เห็นว่า คนที่เป็นสตั้นท์ก่อนขึ้นเวที ก็ต้องไหว้พระ สวดมนต์ จริง ๆ แล้วพวกเขาก็ไม่ได้กล้าบ้าบิ่นขนาดนั้น
สุดท้ายที่ พี่อ้อยสิงห์นักขับ หญิงแกร่งคนเดียวของเรื่องที่พาความสุขเดินทางไปบนถนนที่แสนกว้างใหญ่ของมหานครเพียงลำพัง มีเพียงผู้โดยสารกับเสียงวิทยุเท่านั้นเป็นเพื่อน แม้ว่าจะขับรถไปกลับจากถนนนี้สู่อีกถนนนึงเป็นประจำ แต่สิ่งที่ยังทำไม่ได้อย่างสม่ำเสมอเท่า ก็ดูเหมือนจะเป็นการกลับไปสู่บ้านเกิดที่พ่อแม่รอคอยอยู่ ทางกลับบ้านของพี่เขาดูเหมือนจะยาวไกลกว่าบ้านใครหลายๆ คน เขาต้องขับรถทุกวันตามความฝันของตนเองโดยไม่รู้ว่ามันจะสิ้นสุด ที่ถนนสายไหน หรือเมื่อไหร่ มีเพียงความรู้สึกที่ว่าตราบใดที่ พี่อ้อย ห่างออกจากพวงมาลัยหน้ารถนั่นเท่ากับว่าพี่อ้อยห่างบ้านออกไปทุกที จริงๆ แล้วกว่าจะเจอ พี่อ้อย เราหามาหลายคนลองนั่งรถไปเรื่อยๆ แต่มาสะดุดใจที่คนนี้ เขาจะกวนๆ ชีวิตเขาคือสีสันของเรื่อง มันจะได้ยิ้มกันก็ตรงนี้แหละ พี่เต็ด เองก็จะชอบชีวิตคนนี้มาก พี่อ้อย อารมณ์ดีพูดจาไพเราะ จริงๆ แล้วก็ทุกคนในเรื่องจะเป็นคนที่พูดจาดีหมดนะ
นั่นคือทั้ง 5 เสือร้องไห้ ซึ่ง สันติ ถือว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของเหล่าพี่น้องชาวอีสารส่วนหนึ่ง ที่จะสื่อให้คนทั้งโลกเห็นว่าแท้จริงแล้วตัวตนของ คนอีสาน มีความหมายอย่างไรกับสังคม ทุกชีวิตที่เลือกมาจะถูกเก็บรายละเอียดแบบของจริงไม่มีเตี้ยม ไม่มีการท่องบท จัดแสง จัดฉาก หรือกำกับการแสดงใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ผู้กำกับเองก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าในแต่ละวันจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตทั้ง 5 และเมื่อมาถึงวันนี้ สันติ บอกว่าเวลา 1 ปีในการเก็บภาพชีวิต กับเทปกว่า 300 ม้วน นับเป็นการทำงานที่คุ้มค่า ทำให้เขา และจะทำให้ทุกคนที่ได้ดู เสือร้องไห้ เข้าใจในความเป็นคน และคนอีสานมากยิ่งขึ้น
เสือร้องไห้ : จิตวิญญาณพลัดถิ่น ที่เดินทางมาเยียวยาในเมืองสวรรค์ เพื่อจะค้นพบเพียงหยาดน้ำตา
เขียนโดย Real Obelisk
พฤหัสบดี, 21 กรกฎาคม 2005
เป็นหนังที่ตั้งชื่อตัวเองว่า เรียลลิตี้ ฟิล์ม แต่ "เสือร้องไห้" ไม่มีอะไรแปลกใหม่ไปกว่าสารคดี "คน ค้น ฅน" ไม่มีอะไรที่เกินจะคาดเดาเรื่องราวต่อไม่ได้
เพราะเป็นสิ่งที่เรา ๆ รับรู้กันดีอยู่ว่ามันมีเสือร้องไห้หลายตัว ในสังคมเมืองกรุง มีลูกอีสาน มีคนผู้ละทิ้งถิ่นเกิด เอาจอบเสียมที่ขุดไร่พลิกดิน มาขุดคุ้ยหาโอกาสในเมืองหลวงมากมาย ประเด็นเรื่องนี้จึงไม่ได้น่าตื่นตระหนกตกใจ แต่บางทีเราน่าจะได้ตระหนักคิดกับภาวะการณ์ร่ำร้องไห้ครั้งนี้
ในขณะที่คนที่มีโอกาสทางฐานะเกื้อหนุนเป็นทุนชีวิตให้สุขสบายแล้ว มักจะมองหาสิ่งที่เรียกขานว่า "ความฝัน" ถามตอบกับตัวเองว่า "อะไรคือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต" ปัจเจกบุคคลรุ่นใหม่ล้วนเน้นให้ความสำคัญกับ "ความเป็นตัวของตัวเอง", "ชีวิตอิสระ ไร้กรอบ ไร้กฏเกณฑ์" บ้างมีสิ่งที่แสวงหาโดยอุดมการณ์คือ "การสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสังคม" และมากมายก้อนความฝันของผู้คนที่ลอยล่องในห้วงความคิด เมื่อกิจกรรมชีวิตมันพ้นเลยเส้นขีดแบ่งจากการหาอะไรยัดใส่กระเพาะ นัยว่าพอท้องมันไม่เดือดร้อน ชีวิตมันไม่ขัดสน คำว่า "ความฝัน" มันจะมีบทบาทต่อการใช้ชีวิตที่สุด เป็นตัวกำหนดบรรทัดฐานของตนเองว่า กิจวัตรประจำวันต้องเป็นไปอย่างไร
คนที่เข้ามาอาศัยแบ่งพื้นที่หายใจในเขตกรุงเทพมหานคร เดินทางหลั่งไหลมาจากทุกภาค ทุกจังหวัดของประเทศ ด้วยเพราะประเทศไทยคือกรุงเทพ มหานครแห่งทวยเทพเทวดา มีพรทิพย์ประทานให้ อยากเป็นอยู่สูงส่งอย่างเทวดา ก็เลยเข้ามา ขอทำอะไรก็ได้ให้มี "เงิน" ให้ "รวย" ให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัดได้ "มีหน้ามีตา" ซึ่งครั้งหนึ่งสังคมทางภาคเหนือมีลูกสาวจำนวนมากทดแทนบุญคุณความกตัญญูต่อผู้ให้กำเนิด ด้วยการใช้ความเป็นเพศหญิงเข้าแลกราคากับราคะผู้ชาย นับหนึ่ง นับสิบ นับร้อย ในขณะที่คนทางบ้านกำลังชื่นชมยินดีกับรถคันใหม่ บ้านหลังใหญ่ เปิดเครื่องเสียงลำโพงดังกระหึ่มกลบเสียงสะอื้น น้ำตามันไร้น้ำยาจะเรียกร้องใด ๆ จากสิทธิของความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง
พี่ที่เคารพคนหนึ่งบอกว่า เรื่องพรรณนี้มันเป็นปัญหาในระดับนโยบายของรัฐ ที่จะกระจาย แบ่งอำนาจการบริหารการจัดการอย่างไร ในแต่ละพื้นที่ให้คนในแต่ละจังหวัด มีโอกาส ไม่ต้องถ่อร่างมาถึงกรุงเทพฯ เมืองเทวดา แต่ผู้เขียนกลับคิดว่า คนต่างหากที่ทำให้คนต้องเป็นเหยื่อของบรรดาวัตถุประดามี ไม่ว่าจะด้วย "คน" ที่อยู่ในตัวเขา หรือคนที่อยู่รอบข้างที่เป็นความดันอากาศกดให้เห็นว่า วัตถุมันยิ่งใหญ่กว่าใจมนุษย์
หลายต่อหลายครั้งบทเรียนของน้ำตาได้มาด้วยความทุกข์ยาก และอับอายมากเกินกว่าจะกล้าแบกตัวเองซมซานกลับไปซบอกอุ่นของครอบครัว ทั้งที่ปรารถนาทุกขณะจิตที่ดิ้นรนเหนื่อยล้า และหลายคนที่กลับไป "บ้าน" แล้วพบว่ามาเมื่อวันที่สายเกินไป คนที่หวังว่าจะได้อยู่เห็นการประสบความสำเร็จในการ "มี" กลับไม่รอชมผลงานของตน คนผู้จากไป เขาก็ละทิ้งไปง่าย ๆ แค่เพียงดับสลายไปพร้อมกับควันไฟ ไปพร้อมกับการ "ไม่มี" สิ่งที่เราออกตามหามาต่อเติมชีวิตให้ครบสมบูรณ์นั้น มันไม่ได้รั้งอายุขัยของชีวิตให้คงอยู่ได้นาน ระหว่างทางของเวลาแห่งการเสาะหานั้น ได้ริดรอนบั่นทอนเส้นสายใยความสัมพันธ์อันงดงามระหว่างคนกับคนไป ต่างฝ่ายต่างอาศัยกินอยู่บนความโดดเดี่ยว อ้างว้าง เหงาใจ และสุดท้าย เมื่อจากไปชั่วนิรันดร์พร้อมกับไม่ได้คำตอบจากตัวเองว่า ค้นหาเพียงเพื่ออะไร
ที่เขียนนี่ ไม่ได้เป็นพวกอนุรักษ์นิยม พวกย้อนศร ปฏิเสธความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ที่เข้ามาเยือนโลกพร้อมเครื่องจักรกลไกในระบบงานอุตสาหกรรม ไม่ได้ขัดขืนต่อการยอมรับโลกแห่งความเจริญที่ผสมอัตราส่วนมหาศาลปนเปกับผู้คน อย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้ เติบใหญ่ พบพาน ละทิ้งจากลาหลายสิ่งอย่าง เข้าสู่วัยทำงาน และทำงาน เพื่อเข้าสู่โลกสังคมวัตถุที่สนองตอบแทนความตรากตรำของเรา ด้วยการให้ความสุข ความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต แต่สักเท่าไหร่ถึงจะหยุด ถึงจะนิ่งได้ แล้วรู้สึกได้ว่า น้ำตามันไหลอาบนองหน้ามานานแค่ไหนแล้ว
เมื่อรากของสังคมวัตถุที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นมาจากรอยขดในกบาล สร้างมากับมือ มันเย้ายวนให้คนหลงใหล ปล่อยให้มันแทงรากฝังสถิตเข้าแทนที่ในหัวใจ ยอมรื้อถอนรากโคนความเป็นมนุษย์ เราก็จะยังคงได้พบเห็นเสือร้องไห้ ควายร้องไห้ อยู่ร่ำไป
เสือร้องไห้ : นักสู้คนเศร้า
เขียนโดย เจ้าชายน้อยพฤหัสบดี, 11 สิงหาคม 2005
ชีวิตแ ม่ ง! บัดซบ...แมน หัวปลา รำพึงประโยคนี้ออกมาครั้งหนึ่ง
...และนั่นดูเหมือนจะเป็นคำพูดแทน คนทุกคนที่อยู่ในสารคดีเรื่องนี้
...สารคดี –เสือร้องไห้- เล่าเรื่องของชีวิตบรรดาลูกอีสานที่เข้าเมืองมาหา-ชีวตที่ดีกว่า-ในกรุงเทพฯ เพื่อจะพบว่าบางทีมันอาจไม่มีอยู่จริง
...หนังติดตามชีวิตของ แมน หัวปลา เด็กหนุ่มที่เข้ามาเป็นคนโบกรถในร้านอาหารซีฟู้ดและชีวิตระหกระเหินของเขา จากคนงานชั้นล่างไปเป็นเด็กเก็บของในคณะตลก ถูกทดสอบความเข้มแข็งของชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า
...หรือ เนตร ผู้ผันตัวเองจากการเป็นกุ๊ก เขาบอกแม่ว่ามาเป็นดารา ทั้งๆที่ที่จริงมาเป็นสตันท์แมน เจ็บแทนคนอื่น และเป็นตัวประกอบอดทนในหนังเรื่องต่าง ๆ
...หรือ พี่อ้อย คนขับรถแท็กซี่ ผู้มีความใฝ่ฝันเพียงอยากขับรถบรรทุก
...หรือ พรศักดิ์ ส่องแสง นักร้องดังผู้ผ่านทั้งช่วงชีวิตรุ่งโรจน์และโรยรามาแล้ว
...และงานสารคดีผีมือ สันติ แต้พานิช อาจเฝ้าติดตามชีวิตของคนชั้นล่างที่ไม่ได้เป็นคนประสบความสำเร็จใด ๆ
...ชีวิตเล็ก ๆ ที่ดิ้นรนอย่างเงียบเชียบหนักหน่วง เพียงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าทั้งสำหรับตัวเองและครอบครัว ในโลกใบที่เขาไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่ได้กระทั่งเป็นส่วนหนึ่ง
...หนังใช้ตัวเอกหลัก ๆ สามตัว ในฐานะของคนยากจน รู้น้อย และไม่สามารถไปได้ไกลในโลกที่ถูกขับเคลื่อนโดยทุนและระบบการศึกษาบูด ๆ เบี้ยว ๆ
...ชีวิตของแมน, เนตร และพี่อ้อย เป็นเพียงแรงงานที่ถูกมองอย่างไร้ค่า
...ภาพผ่านของผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่เราไม่เคยแม้จะใส่ใจเหลียวมอง ราวกับว่าไม่เคยมีอยู่
พรศักดิ์ ส่องแสง
...หนังแทรกชีวิตของตัวเอกทั้งสามด้วยการสัมภาษณ์ พรศักดิ์ ส่องแสง นักร้องเพลงลูกทุ่งผู้เคยโด่งดังในอดีต เคยเล่นดนตรีมาแล้วทั่วโลก และเคยร่วงโรยสู่จุดจากพรากของชื่อเสียง
...พรศักดิ์ไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับ เนตร แมน หรือ พี่อ้อย
...แต่เขาอยู่ในฐานะผู้เคยแผ้วถางทางมาก่อน เรียนรู้สุขทุกข์มาก่อน
...แววตาโชนประกายยามพูดถึงความสำเร็จในอดีต และเงียบเชียบเจ็บปวดยามพูดถึงอนาคต
...พรศักดิ์ทำหน้าที่สรุป ที่มา และที่ที่จะไปของบรรดาผู้ดิ้นรนทั้งหลาย
...เมื่อเขาเฝ้าฝันถึงการกลับบ้านเกิด (ขณะถูกสัมภาษณ์ในห้องของโรงแรมม่านรูด) และพูดถึงสังคมที่ –สวมมงกุฏ-เข้าหากัน
...บางครั้งความสำเร็จไม่ได้มีแต่ด้านสวยงาม
...ในช่วงท้ายหนังอาจดูราวกับจบลงอย่างสวยงามเมื่อทุกคนได้เป็นอย่างที่อยากเป็น
...แต่ใช่หรือไม่ที่มันแลกมาด้วยการสูญเสียแม่ของแมน, การสูญเสียเพื่อนของเนตร
...ภาพความสูญเสีย เอาเข้าจริงมีขนาดใหญ่โตและส่งผลกระทบมากกว่าความสำเร็จของพวกเขา
...ความสำเร็จเพียงเล็กน้อยอาจเป็นเพียงแค่น้ำหล่อเลี้ยงให้พวกเขามีชีวิตสืบต่อ เพื่อก้าวข้ามความเจ็บปวดนั้น
เพลงลูกทุ่งร่วมสมัย
...หนังเรื่องนี้โดดเด่นด้วยการเลือกใช้เพลงลูกทุ่งร่วมสมัยเป็นหัวใจหลักในการเดินเรื่อง
...บางเพลงบอกเล่าชีวิตเปลี่ยวเหงา บางเพลงบอกถึงการกลับบ้าน บางเพลงเล่าถึงความรักหักพัง
...ตัวเอกเกือบทั้งหมดชอบร้องเพลง เพื่อคลายความทุกข์เศร้า
...และทุกเพลงที่หนังเลือกมา ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นเพลง ๆ หนึ่ง แต่ยังสะท้อนถึงชีวิตของพวกเขาได้จริงจนเจ็บอีกด้วย
...และนี่คือหน้าที่และอำนาจที่เพลงลูกทุ่งมีต่อสังคมไทยมาตลอด
...และเพลง –คิดถึงพี่ไหม- เพลงเก่าแก่ของศรคีรี ศรีประจวบ ซึ่งถูกเลือกมาเป็นเพลงปิดระหว่างการกลับบ้านของพวกเขา ไม่ได้มีความหมายแค่ชายหนุ่มร้องให้หญิงคนรัก
...ภาพท้องฟ้าที่เปิดกว้าง (ขณะที่ตลอดเรื่องภาพท้องฟ้ามักถูกปิดกั้นตลอดเวลา และเนื้อหาเพลงที่พูดถึงความคิดถึงของคนไกล ทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงที่เศร้าหมองและสวยงามอย่างร้ายกาจ (สารภาพว่าผมน้ำตาซึมใส่เพลงนี้เป็นคำรบสอง หลังจาก มนต์รักทรานซิสเตอร์ เคยเลือกเพลงนี้มาบีบหัวใจผมก่อนหน้านี้)
บ้านที่กลับไม่ได้และหน้าต่างที่เล็กแคบ
...หนังเล่าถึงตัวละครผู้ดิ้นรนในเมืองหลวง
...คิดถึงบ้านทุกลมหายใจแต่ไม่อาจกลับไปได้
...เพราะการล่าถอยกลับบ้านของพวกเขา ไม่ได้มีความหมายแค่การกลับไปพักผ่อนชั่วครู่ชั่วยาม
...แต่มันหมายถึงความล้มเหลวของการต่อสู้
...แมนบอกว่า อายเขาที่ไม่มีเงิน มันไม่ได้หมายความอย่างง่ายเพียงแค่ว่าเรื่องของการเห็นแก่เงิน แต่มันหมายรวมเอาถึงศักดิ์ศรีของนักสู้อีกด้วย เมื่อจากไปก็ไม่ควรหวนกลับจนกว่าจะประสบชัยชนะ
...และในทุกการเล่าเรื่องกล้องมักแพนภาพไปยังบานหน้าต่าง
...ในห้องของแมนมีเสื้อผ้าแขวนติดราวลูกกรง ในห้องของพรศักดิ์มีม่านเก่าแก่ขาดวิ่น นอกกระจกรถพี่อ้อยท้องฟ้าบนถนนกรุงเทพฯ ถูกซ้อนทับด้วยทางด่วนยกระดับ ปิดฟ้าสีส้มจนหมองเศร้า
...บานหน้าต่างคือทางออกสู่อิสรภาพของการมีชีวิต ทางออกนั้นก็ช่างเล็กแคบและเจ็บปวดเกินกว่าจะก้าวพ้นได้โดยง่าย
...ขณะเรามองดูชีวิตของพวกเขา มีคำถามผุดขึ้นในใจว่าทำไมเพวกเขาถึงต้องมาที่นี่ ทำไมพวกเขาจึงไม่อยู่-บ้านเกิด- ของตัวเอง
...เพื่อความร่ำรวย เพื่อชื่อเสียงหน้าตา เพื่อเงิน เป็นเหตุผลง่าย ๆ ที่อาจมีคมมากพอจะบาดทุกผู้คน
...เพราะลึกลงไปภายใต้เหตุผลเหล่านั้น ซ่อนนัยยะทางการเมืองหลายประการเอาไว้
...ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งว่า ที่แท้นี่อาจเป็นภาพความบิดเบี้ยวของโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยระบบทุน
...เราอาจไม่ได้เห็นบ้านเกิดของพวกเขา แต่เราเองคงรับรู้อยู่เต็มอกว่าทุกข์เข็ญ แร้นแค้นของชนบทเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และไม่ได้รับการแก้ไขใด ๆ นอกจากการกระทำซ้ำซ้อนโดยรัฐ
...นอกเหนือไปจากภาพของคนเล็ก ๆ สามสี่คนในหนัง เราเห็นตัวอย่างได้ทั้งจากเรื่องของยายไฮ หญิงชราผู้หวงแผ่นดิน และถูกกระทำซ้ำซ้อนจากการจัดการของรัฐ จนลูกหลานต้องแตกกระสานซ่านเซ็นเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง
...หากการพัฒนาประเทศมีอยู่จริง มันก็ไม่ได้กระทำการอื่นใดนอกจากพรากลูกหลานออกจากบรรพบุรุษ ออกจากแผ่นดินเกิด และส่งพวกเขามาอ้างว้างเปลี่ยวเหงากลางเมืองใหญ่ กลายเป็นส่วนเกินที่คนเมืองรังเกียจ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาคือผู้รับภาระสิ่งที่คนเมืองไม่ยอมทำ
...ว่ากันว่า การจัดระบบการศึกษาอาจเป็นปัญหาใหญ่โต แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ได้ฆ่าตัดตอนลูกหลานของเกษตรกร ด้วยการส่งพวกเขาเข้าสู่ระบบการศึกษา ที่แปรรูปให้เด็ก ๆ กลายเป็นผลผลิตสำหรับรองรับงานอุตสาหกรรมในฐานะลูกจ้าง ในโรงเรียนไม่มีการสอนให้เด็ก ๆ รู้ว่าพ่อแม่ของพวกเขากระทำสิ่งใด ชุมชนของเขาเป็นเช่นไร หากแต่ได้หลอมละลายความคิดของพวกเขาหลายคน เมื่อหลุดพ้นจากระบบการศึกษาก็กลายเป็นคนเมืองสมบูรณ์แบบที่ไม่อาจกลับคืนเรือนของตนได้
...ผมไม่รู้ว่าที่ผมคิดขณะดูมันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ มันเป็นอคติต่อระบบทุน และเป็นการขวางโลกที่กำลังพัฒนาหรือเปล่า
...ชีวิตของเนตร แมน พี่อ้อย อาจเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวในความพยายามพัฒนาที่ปล่อยให้ประชาชนต้องดิ้นรนกันอย่างยากลำบาก
...หรือมันอาจเป็นแค่ภาพผ่านของผู้คนที่ต่างดิ้นรนเพื่อความฝันของตน เป็นคนที่แค่อยากได้อยากมีเช่นคนทั่วไป
...บางทีคำตอบอาจอยู่ในสายลมก็เป็นได้
ท้องฟ้าที่เปิดกว้าง เรือนชานอันอบอุ่น
...หากใครได้ดู คนค้นฅน ตอนสงกรานต์ของลูกอีสาน ซึ่งเป็นตอนที่สะท้อนภาพสังคมไทยได้ดีที่สุดตอนหนึ่ง คงพอเข้าใจ
...ความสำเร็จของนักสู้ ไม่ได้อยู่ที่ความร่ำรวยหรือการมีชื่อเสียงดอก
...มันอาจเพียงคือการกลับคืนแผ่นดินมาตุภูมิ และได้กราบเท้าบุพการีขณะที่ท่านยังมีลมหายใจ ก็เป็นได้
FOOTNOTE
...คารวะคุณสันติ แต้พานิช มาตรงนี้หนึ่งจอกครับ ที่ทำหนังเรื่องนี้ออกมา
...โดยส่วนตัวปีนี้เป็นปีที่ผมชอบหนังไทยหลายเรื่อง เพราะในที่สุดหนังไทย ก็พูดถึงเรื่องที่ควรพูดเสียที เรื่องของผู้คนที่เป็นเจ้าของประเทศตัวจริง เรื่องของคนทุกข์
...นับจนถึงตอนนี้ –เฉิ่ม- ยังเป็นหนังที่ผมชอบที่สุดในรอบปีครับ โดยมี มหา'ลัยเหมืองแร่ และ เสือร้องไห้ ตามมาไม่ไกลนัก.
แสดงความคิดเห็น