กำหนดฉาย : 15 มิถุนายน 2549
ทีมงานสร้าง : ดราม่า (แนวภาพยนตร์) / สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล (บริษัทผู้จัดจำหน่าย) / รัชดา พิคเจอร์ (บริษัทดำเนินงานสร้าง) / อำนวย อ้นแดง (อำนวยการสร้าง) / สุรชาติ สมบัติเจริญ, วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสิน (ควบคุมงานสร้าง) / เอก ติกฤษณเลิศ (ดำเนินงานสร้าง) / พิศาล อัครเศรณี (ผู้กำกับภาพยนตร์) / พิศาล อัครเศรณี (บทภาพยนตร์) / ปรีชา ชื่นชม (กำกับภาพ) / มานพ เจนจรัสกุล (ลำดับภาพ) / จิตนาถ วัชรเสถียร (เพลง-ดนตรีประกอบ) / จตุพร สกุลเหลืองอร่าม (กำกับศิลป์) / สหรัฐ พุ่มผาสุก (ออกแบบเครื่องแต่งกาย) / นรวิชญ์ เสื้อวิจิตร (แต่งหน้า) / วินีย์ บุญเลิศ (ทำผม) / เจนศักดิ์ ศรีสุข (ภาพนิ่ง)
นำแสดงโดย : อารยา อริยะวัฒนา, วชรกรณ์ ไวยศิลป์, นิรุตติ์ ศิริจรรยา, สุมลรัตน์ วัฒนาเศลารัตต์, โก๊ะตี๋ อารามบอย, เหี่ยวฟ้า, ปิยะ เศวตพิกุล, อำพล รัตน์วงศ์ ฯลฯ
การกลับมาอีกครั้งของ “สมหญิง ดาวราย”
กับ “ตำนานรักแห่งศักดิ์ศรีของเพศที่สาม”
โดยผู้กำกับรุ่นเก๋า
“พิศาล อัครเศรณี”
ที่บรรจงถ่ายทอด “บ่วงรักชาวสีม่วง”
อันลือลั่นในอดีต...ให้โด่งดังอีกครา
เพื่อเป็นบทพิสูจน์ให้ทุกเพศเรียนรู้ว่า
บนเส้นทางสีม่วงของเพศที่สาม
ยากหารักแท้ครองใจ...อย่างนั้นหรือ ???
บทเพลงชีวิตรักต้องห้าม...ที่ทุกคนต้องร่วมบรรเลง
เรื่องย่อ
..."สมหญิง ดาวราย" สาวประเภทสองที่ได้รับการยกย่องให้เป็นนักแสดงคาบาเร่ต์ดาวเด่นของทิฟฟานี่โชว์ที่พัทยา เนื่องจากเธอเพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติที่มากกว่า "นางโชว์" คนหนึ่งพึงจะมี ไม่ว่าจะเป็นหน้าตาท่าทาง กิริยามารยาทที่เป็นกุลสตรีทุกด้าน รวมถึงลีลาการแสดงในรูปแบบต่าง ๆ ที่ออกมาจากจิตวิญญาณอย่างแท้จริง
...สมหญิงมีเจตนารมณ์อันฝังแน่นว่า "ความรัก" จะไม่มีวันเกิดขึ้นกับจิตใจของเธอเป็นอันขาด เพราะตัวอย่างชีวิตรักของเพศที่สามสอนให้สมหญิงได้เรียนรู้ว่า "ไม่มีรักแท้สำหรับเพศสีม่วง" นอกเสียจากความเจ็บปวดขื่นขมและผิดหวังเพียงอย่างเดียว
...เฉกเช่นชีวิตรักของ "ประเทือง" (ซ้อเทือง) กะเทยรุ่นใหญ่ เจ้าของทิฟฟานี่โชว์ ที่แม้จะสมบูรณ์พูนพร้อมไปเสียทุกอย่าง แต่ก็ยังไม่วายต้องทุรนทุรายเกือบตายเพราะความรัก เมื่อ "บดินทร์" นักร้องหนุ่มหน้าม่าน ที่ซ้อเทืองเลี้ยงไว้ผละหนีจากอกช้ำ ๆ หลังจากได้กอบโกยทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาปรารถนาแล้ว
..."บุญเติม" นักร้องหนุ่มหน้าม่านคนใหม่ของทิฟฟานี่โชว์ ได้รับการต้อนรับจากคนดูและเพื่อนร่วมคณะเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสมหญิงที่เห็นแววความสามารถของบุญเติม และเป็นผู้ชักชวนให้มาทำงานนี้
...สมหญิงได้ให้ความช่วยเหลือทุกอย่างแก่บุญเติมอดีตช่างซ่อมรถด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง เพราะเห็นว่าบุญเติมต้องทำงานส่งเสียตัวเองเรียนด้วย เป็นเหตุให้ซ้อเทืองและเพื่อนนางโชว์เริ่มซุบซิบกันว่า บุญเติมได้เข้ามาทำลาย "เขื่อนกั้นหัวใจ" ของสมหญิงลงแล้ว
...แต่แล้วเมื่อแม่อันเป็นที่รักและจุดยึดเหนี่ยวจิตใจของสมหญิงต้องมาเสียชีวิตลงอย่างไม่คาดคิด แหล่งพักพิงหัวใจที่บอบช้ำของสมหญิงจึงอยู่ที่บุญเติมเรื่อยมา จนสุดท้ายสมหญิงแยกไม่ออกว่าหัวใจของตัวเองนั้นหลงรักบุญเติมมากน้อยเพียงใด วันเวลาผ่านไปก็ยิ่งทำให้บุญเติมกับสมหญิงคือ เงาตามตัวของกันและกัน
...แต่แทนที่เพื่อน ๆ นางโชว์จะดีใจไปกับสมหญิง ทุกคนกลับให้ความเป็นห่วง โดยเฉพาะซ้อเทืองที่เป็นห่วงสมหญิงมากกว่าใคร เพราะจากสมหญิงที่เคยร่าเริงคบหาสมาคมกับเพื่อน ๆ กลับกลายเป็นสมหญิงที่เฝ้ารอนับวันเวลาอย่างไร้จุดหมาย เมื่อบุญเติมต้องไปเรียนหรือไปค้างกับเพื่อน ๆ นักศึกษาที่กรุงเทพฯ
...ในวันนั้น แม้ว่าสมหญิงจะภาวนาให้มันเป็นเพียงฝันร้าย แต่มันก็คือความจริง...ความจริงอันแสนเจ็บปวด เมื่อบุญเติมเกี่ยวก้อย "อรทัย" น้องสาวสุดที่รักของสมหญิง มาสารภาพกับเธอว่า ทั้งสองมีความรักแท้ต่อกันและต้องการที่จะเดินทางไปเรียนหนังสือที่เมืองนอกด้วยกัน
...สมหญิงเจ็บปวดรวดร้าว และต้องจำยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นต่อหน้าอย่างสุดแสนทรมาน เธอจะมีชีวิตอยู่ในโลกมืดนี้ต่อไปได้อย่างไร
...และแล้ว "บทเพลงชีวิตบทสุดท้าย" ของ "สมหญิง ดาวราย" ก็ค่อย ๆ บรรเลงขึ้น…
รายละเอียดงานสร้าง
...เคยสร้างความซาบซึ้งใจให้กับผู้ชมทั่วประเทศกันมาแล้วกับต้นฉบับเมื่อกว่า 20 ปีก่อน มาปีนี้ภาพยนตร์เรื่อง “เพลงสุดท้าย” มาพร้อมรูปโฉมใหม่ที่ยังคงเนื้อหาสาระและบทเรียนชีวิตสอนใจมนุษย์ทุกเพศอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
...เอ่ยชื่อ “พิศาล อัครเศรณี” ทุกคนย่อมรู้จักกันดีในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์-ละครชื่อดังที่คว่ำหวอดอยู่ในวงการมานานกว่า 30 ปี ทั้งงานด้านการกำกับและการแสดงอันมีสีสันและเอกลักษณ์ “ตบจูบ” ที่ทุกคนยอมรับเป็นอย่างดี
...ผู้กำกับรุ่นเก๋าผู้นี้ถือเป็นผู้กำกับรุ่นบุกเบิกอีกคนของวงการภาพยนตร์ไทย ที่ฝากผลงานไว้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น วิวาห์จำแลง (2531), พิศวาสซาตาน (2529), อุ้งมือมาร (2529), หัวใจเถื่อน (2528), ไฟรักอสูร (2526), นางแมวป่า (2525), ดวงตาววรรค์ (2525) ฯลฯ
...และเรื่องที่ทุกจำกันได้ไม่ลืมก็คือ “เพลงสุดท้าย” (2528) ภาพยนตร์ที่ฉีกกระแสของคนดูในยุค 20 ปีก่อน และทำให้กะเทยที่ชื่อ “สมหญิง ดาวราย” นักแสดงโชว์คาบาเร่ต์ ที่ทิฟฟานี่ พัทยา โด่งดังทั่วบ้านทั่วเมือง
...วันนี้ผู้กำกับคนเดิม
ได้นำบทประพันธ์ที่เขารักกลับมาสร้างใหม่อีกครั้ง ภายใต้ทุนสร้างกว่า 20
ล้านบาท โดยปรับแต่งบทภาพยนตร์ให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน
งานสร้างที่พิถีพิถันมากขึ้น
ร่วมถึงทีมนักแสดงใหม่-เก่าที่ให้การแสดงซึ่งผู้ชมจะต้องอินไปกับบทบาทของพวกเขาด้วยอย่างแน่นอน
“การที่ผมนำกลับมาสร้างใหม่อีกครั้ง ผมอยากจะให้คนดูมองเพศที่ 3 หรือกลุ่มคนที่เรียกพวกนี้ว่า ‘กะเทย’ ให้ลึกซึ้ง ไม่อยากให้มองแค่ผิวเผินเท่านั้น ‘เพลงสุดท้าย’ เป็นภาพยนตร์ที่ผมเคยทำมา แต่การนำกลับมาคราวนี้ ผมก็นำมาปรับบทใหม่ ครั้งนั้นต้องยอมรับว่าเป็นภาพยนตร์ที่ทำไว้ค่อนข้างดี คนดูก็ประทับใจ การนำมาสร้างใหม่ผมก็คิดว่าจะต้องทำให้ดีกว่าเดิม
กับหลาย ๆ เสียงที่ถามผมว่า มุมมองภาพยนตร์ตอนนี้ค่อนข้างเปลี่ยนไปเยอะ ดังนั้นการหยิบเรื่องราวกะเทยมาสร้าง จะต้องมีการระวังอะไรมั้ย ผมบอกเลยว่า ไม่มี ผมกลับอยากบอกว่าผมจะทำแบบเจาะผู้ชายที่เกิดมาเป็นอย่างนี้ จะอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างไร บางครั้งเราจะเห็นบางครอบครัวไม่ยอมรับ เราก็จะสะท้อนออกมาให้เห็น
ส่วนเรื่องภาพที่ออกมา ถามว่ากลัวจะถูกเซ็นเซอร์มั้ย
ตรงนี้ผมก็อยากให้ทุกฝ่ายยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมจริง ๆ ที่หลาย ๆ
คนก็เห็น และผมก็จะทำภาพยนตร์ออกมาให้เป็นภาพนั้น คือ เป็นจริง ๆ
ของกะเทยที่มีอยู่ในสังคม เพราะเราสร้างตามสังคมที่เป็นจริง
ฉะนั้นผมถึงไม่ค่อยห่วงเรื่องเซ็นเซอร์นี้ซักเท่าไหร่”
“เรื่องที่มีคนหลายคนต่อต้านกะเทยออกมาผ่านสื่อนั้น
ตรงนี้ผมมองว่า ภาพกะเทยที่ออกมา ส่วนใหญ่ถูกแต่งขึ้น ทั้งวี้ดว้าย
แต่งตัวบ้าบอ จ้องเขมือบผู้ชาย ฯลฯ เพราะเขาต้องการขายภาพแบบนั้น
แต่ผิดกับผมที่นำเสนอภาพออกมาสะท้อนความเป็นจริง
บอกเลยใครดูหนังเรื่องนี้จะต้องรักกะเทยมากขึ้น
แต่ในเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้นฉากเลิฟซีน เราไม่ทำภาพออกมาหวือหวามาก
โดยเราจะใช้เทคนิคภาพยนตร์เข้าช่วย เช่น เทคนิคภาพ เทคนิคการถ่ายทำ
มุมกล้อง เพลง ความรู้สึก อารมณ์ ต้องยอมรับว่า ค่อนข้างพิถีพิถันพอสมควร
และเราจะไม่สื่อออกไปแบบหยาบ ๆ แน่นอน ก็ต้องบอกว่ามีมากพอควร
จะไม่ชัดเจนโจ๋งครึ่ม แต่จะชัดเจนตรงความรู้สึก”
...ด้านการคัดเลือกนักแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้กำกับฯ ได้เผยว่า “ส่วนนักแสดงนั้น ต้องบอกเลยว่ายากมากที่จะหาคนที่เหมาะจริง ๆ คัดเลือกอยู่นานพอสมควร สำหรับคนที่จะมารับบท ‘สมหญิง ดาวราย’ เราได้ แอม (อารยา อริยะวัฒนา)
สาวประเภท 2 ตัวจริงมาเล่น ซึ่งบทนี้ต้องบอกว่าเหมาะกับเขามาก ๆ
เพราะทางทีมงานไปเจอแอมที่แถวคอกวัว เขาเดินอยู่กับเพื่อน
ทีมงานก็เรียกแอมเข้ามาแคสต์ มีสาวประเภท 2 มาแคสต์กันหลายร้อยคน จนเหลือ 4
คน บอกเลยว่าตัดสินใจเลือกยากมาก เพราะทุกคนโดดเด่นเหมือนกันหมด
สวยเหมือนผู้หญิงจริง ๆ แต่ผมสะดุดแอมตรงที่เขามีตาที่เศร้า
ซึ่งต่างจากคนอื่น ก็เลยเลือกเขา
ส่วนบท ‘บุญเติม’ ก็ได้ แอร์ (วชรกรณ์ ไวยศิลป์) หนุ่มแฮ็คส์มารับบทนี้ ส่วนน้องสาวของสมหญิง ก็ได้ ปีใหม่ (สุมนรัตน์ วัฒนาเศลารัตน์) และได้เพื่อน ๆ นักแสดงชั้นดีอย่าง นิรุตติ์ ศิริจรรยา, นพพล โกมารชุน, สรพงษ์ ชาตรี ฯลฯ
มาร่วมสร้างเข้มข้นให้กับหนัง อย่างหนิง (นิรุตติ์) นี่ต้องยกให้เค้าเลย
กับการพลิกบทบาทมาเล่นเป็นกะเทยครั้งแรก เค้าเต็มร้อยทุกอย่าง
ทุ่มเทเต็มที่ นอกนั้นเป็นนักแสดงหน้าใหม่ทั้งหมด
ผมทั้งซ้อมทั้งสอนแอ็คติ้งทุกคนอยู่นานร่วมสองเดือนก่อนจะเปิดกล้อง
จนทุกคนแสดงออกมาได้ดีอย่างที่ผมต้องบอกได้เลยว่า
ทึ่งในความทุ่มเทความสามารถของเด็กยุคนี้
ที่รับรองว่าคนดูไม่ผิดหวังแน่นอน”
...อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นเสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เรื่องอื่นไม่มี นั่นก็คือ บทเพลง “เพลงสุดท้าย” ที่มีเนื้อหาและท่วงทำนองที่กินใจ จนเรียกได้ว่าฮิตมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้เลยทีเดียว ซึ่งผู้กำกับฯ กล่าวทิ้งท้ายในเรื่องนี้ว่า
“อย่างเรื่องเพลงประกอบนี่ เราแต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่แน่นอนว่าในหนังเวอร์ชั่นใหม่นี้ ผู้ชมยังคงจะได้ยินได้ฟังเพลงฮิตมาทุกยุคทุกสมัยอย่าง ‘เพลงสุดท้าย’ ที่เราเอามาเรียบเรียงดนตรีใหม่โดยให้ คุณคณาคำ อภิรดี ร้องในเวอร์ชั่นใหม่นี้ ซึ่งในสมัยก่อนต้นฉบับ คุณสุดา ชื่นบาน เค้าร้องไว้ดีมากแล้ว แต่เราก็อยากให้ดีมากไปกว่านั้นและทันสมัยขึ้นไปอีก เราเลยนำมาทำในแบบวงออร์เคสตร้าเลย ซึ่งจะอยู่ในฉากสุดท้ายของเรื่องที่เป็นฉากโชว์ที่ยิ่งใหญ่อลังการมาก ทั้งในด้านของเพลง, นักร้องก็ร้องได้ดีมาก และผู้ที่สวมบทบาทตรงนี้ก็ดีเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นภาพที่ถูกถ่ายทอดออกมาจึงมีคุณค่าเป็นอย่างมาก”
ทางด้านโปรดิวเซอร์รุ่นใหญ่ “เอก ติกฤษณเลิศ” ที่ได้หวนกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมอีกครั้งเช่นกัน ด้วยวันเวลาที่ผ่านไปกว่าสองทศวรรษ “เพลงสุดท้าย”
ถูกนำมากลับมาสร้างใหม่ด้วยงบโปรดักชั่นกว่า 20 ล้านบาท
และใช้เวลาถ่ายทำนานกว่า 4 เดือนเพื่อความสมบูรณ์แบบ
เขากล่าวถึงการทำงานครั้งใหม่นี้ว่า
“ในครั้งนี้หนักหนาพอสมควร แตกต่างจากเวอร์ชั่นเก่าเมื่อ 20 ปีก่อนลิบลับ แม้ว่าจะมีผู้กำกับคนเดียวกันคือ ‘พิศาล อัครเศรณี’
ก็ตาม คือยุคนั้นคนยังไม่ยอมรับกะเทย เกย์
หรือผู้ชายสีม่วงเท่าในยุคปัจจุบัน
คุณพิศาลจึงนำบทเก่ามาแก้ไขปรับปรุงใหม่ให้เหมาะกับยุคสมัยมากขึ้น
ประกอบกับการลงทุนสร้างภาพยนตร์ในปัจจุบันนี้ แข่งขันกันสูงมากขึ้น
จะทำอย่างไรให้ทุกคนเชื่อและยอมรับในตัวงาน ก็ต้องมีบทภาพยนตร์ที่ร่วมสมัย
วิธีการเล่าเรื่องการนำเสนอก็ต้องแตกต่างจากเดิม
ซึ่งพอได้อ่านบทครั้งนี้แล้วรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของเวอร์ชั่นนี้
ไม่เหมือนเก่า มีความแปลกใหม่มานำเสนอมากกว่าของเก่า
โดยเวอร์ชั่นใหม่นี้จะเน้นย้ำและสะท้อนภาพสังคมของผู้ชายสีม่วงทั้งเรื่อง”
“การคัดเลือกนักแสดงก็ค่อนข้างยาก
มีกะเทยสาวประเภทสองมาสมัครเป็นร้อยกว่าจะได้ คุณแอม (อารยา อริยะวัฒนา)
มารับบทนี้ต้องคัดเลือกอยู่นาน สาเหตุที่คุณพิศาลเลือกน้องแอม
ด้วยเหตุผลเดียวก็คือ ดวงตาที่เศร้า แฝงด้วยบุคลิกที่ดูนุ่มนวล
และรอยยิ้มของเขาที่บ่งบอกถึงความเป็น ‘สมหญิง ดาวราย’ ใน
พ.ศ. นี้ รวมไปถึงการปรับบททอมในสมัยก่อนที่คุณอ้อย (จิระวดี อิศรางกูร ณ
อยุธยา) เคยแสดงไว้ เปลี่ยนมาเป็นเกย์แทน เป็นรักระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย
ก็ทำให้เนื้อหามีความเข้มข้นเข้ากับยุคสมัยนี้”
“การถ่ายทำภาพยนตร์แบบนี้
ไม่ง่าย เพราะนำเสนอชีวิตของสาวประเภท เกย์ กะเทยทั้งเรื่อง
จะทำยังไงให้คนเชื่อว่า นี่คือภาพยนตร์ชีวิตของกะเทยจริง ๆ
นั่นเป็นจุดยากที่จะทำให้คนดูเชื่อ คุณพิศาลจึงตั้งใจเต็มที่กับงานชิ้นนี้
รวมไปถึงการเซ็ทฉากโชว์ของแต่ละซีน ต้องใช้งบลงทุนมหาศาล
เมื่อก่อนเราใช้สถานที่โลเกชั่นได้โดยไม่ต้องเสียเงิน
แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เมื่อก่อนคนให้การสนับสนุนภาพยนตร์ไทย
แต่ปัจจุบันทุกอย่างเป็นเงินเป็นทอง
อย่างสถานที่หลักของเราที่ต้องใช้ถ่ายทำอย่าง ทิฟฟานี่ พัทยา
เค้าเองก็ลงทุนเยอะ จะต้องให้โชว์ของเขาเสร็จเสียก่อน
เราถึงจะใช้พื้นที่ได้ ค่าใช้จ่ายแต่ละคืนหมดเงินไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาท ถ่าย
10 วันหมดเงิน 3 ล้านบาท รวม ๆ
แล้วต้นทุนในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ประมาณ 20 กว่าล้านบาท
ยังไม่รวมค่าโฆษณา”
“สมัยนี้จะทำงานหลอกคนดูไม่ได้
อย่างฉากเวทีทิฟฟานี่ ใช้ตัวประกอบจริง ๆ
ต้องถ่ายฉากตอนโชว์ก็ต้องใช้คนดูนั่งจริง ๆ
ถ่ายกล้องผ่านเวทีระหว่างคนดูกับคนโชว์ แต่ละวันใช้ตัวประกอบไม่ต่ำกว่า 600
คน ค่าใช้จ่ายเยอะมาก เพลงหนึ่งใช้เวลา 2-3 คืนกว่าจะถ่ายเสร็จ
อย่างที่บอกเราจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อทิฟฟานี่เค้าเลิกแสดงแล้ว
เป็นอะไรที่สิ้นเปลืองสุด ๆ แต่เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์ที่สุด
เราก็ต้องยอมเทงบให้ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฉาก เสื้อผ้า
ทุกอย่างเราดีไซน์เพื่อให้งานออกมายิ่งใหญ่ คุ้มค่าที่จะเข้ามาชม”
“แต่ก็ยังมีสิ่งที่หนักใจไม่แพ้กันนั่นคือ
รายได้ของภาพยนตร์ที่จะตอบสนองกลับมา
ภาพยนตร์เรื่องนี้จะแตกต่างจากงานทั่ว ๆ ไป เนื้อหาที่นำเสนอไป
มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ถ้าออกฉายแล้วฟีดแบ็คบวกก็โอเค
ปัจจุบันนี้ทุกคนยอมรับกะเทยหมดแล้ว กะเทยคือกะเทย คือตัวของเขา
จะไปบังคับเค้าเป็นผู้ชายไม่ได้หรอก
สำคัญที่สุดคือทำตัวเป็นคนดีให้สังคมยอมรับนั่นต่างหาก”
“ผมเชื่อว่าเกย์
กะเทยในบ้านเราทำความดีทุกคน ไม่เคยทำตัวเสียหาย
ไม่ค่อยมีข่าวว่ากะเทยไปจี้ปล้นเค้า มันเป็นส่วนน้อยมากด้วยซ้ำ
ชีวิตของกะเทยเชื่อได้เลยว่า ทำอย่างไรให้เป็นคนดี กตัญญู
กะเทยทุกคนก็ประสบความสำเร็จกันทุกคน เราก็ช่วยกันสร้างสรรค์ให้ทุก ๆ
ชีวิตดีขึ้น กะเทยไม่ได้น่ารังเกียจ เกิดเป็นคนต้องทำดีทุกคน
เรื่องนี้เป็นชีวิตของเกย์ กะเทยล้วนๆ
ที่ผมหวังว่าทุกคนจะประทับใจกับงานชิ้นนี้
มันเป็นผลงานชิ้นเอกอีกเรื่องหนึ่งของผู้กำกับที่ชื่อ พิศาล อัครเศรณี”
คาแร็คเตอร์นักแสดง
- สมหญิง ดาวราย (รับบทโดย แอม-อารยา อริยะวัฒนา) – นางโชว์ดาวเด่นของทิฟฟานี่โชว์ เป็นคนที่งามทั้งกายและใจ เป็นที่รักของเพื่อนร่วมคณะ ซึ่งจริง ๆ แล้วสมหญิงเป็นคุณหนูในครอบครัวฐานะดี แต่พ่อซึ่งมีหน้ามีตาทางสังคมรับไม่ได้กับลูกผิดเพศคนนี้ถึงขนาดตัดพ่อตัดลูก ทำให้สมหญิงต้องระเห็จออกไปสู้ชีวิตด้วยตัวคนเดียว ก่อนที่จะพบกับบุญเติม เด็กหนุ่มในอู่ซ่อมรถ จนเกิดเป็นความผูกพันกันขึ้น และหักเหไปสู่การตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตของเธอ
“แอมไม่อยากให้มองว่า
หนังเรื่องนี้เป็นหนังของสาวประเภทสอง เป็นหนังเกย์ หนังตุ๊ด จริง ๆ แล้ว
อยากจะให้ชายจริงหญิงแท้ไปดูเรื่องนี้ แล้วจะรู้ว่า
เราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ต้องการความรัก ความเข้าใจ
มันอาจจะเป็นเรื่องเดิม ๆ ที่เราเคยพูดกันมาตลอดว่า
เราแค่ต้องการความเข้าใจ อยากให้รู้ว่ามีเราอยู่บนโลกนี้นะ
เราอยากให้รู้ว่า เราแค่เลือกเกิดไม่ได้เท่านั้นเอง
ส่วนเพศที่สามที่เข้าไปดู
ก็อยากให้ดูการดำเนินชีวิตของตัวละครเป็นอุทธาหรณ์ว่า
ชีวิตมันมีอะไรอีกตั้งเยอะแยะมากมาย มากกว่าแค่เรื่องความรัก อกหัก
แล้วก็ฆ่าตัวตาย แอมถือว่า สมหญิง ดาวราย
เป็นบทเรียนที่จะสอนให้เรารู้จักรักตัวเองให้มากขึ้นค่ะ”
...แอม – อารยา อริยะวัฒนา เกิดเมื่อวันที่ 18 ส.ค.
(ปัจจุบันอายุ 22 ปี) จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สาขาโฆษณา
เป็นพรีเซ็นเตอร์ โรงพยาบาลยันฮี ก่อนเข้ามาแสดงหนังเรื่องนี้
...ด้วยบุคลิก รูปร่างหน้าตาที่เหมาะสม รวมถึงการแสดงที่เข้าถึงจิตใจตัวละครได้เป็นอย่างดี ทำให้เธอได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาแสดงหนังเป็นเรื่องแรก ซึ่งเธอทุ่มเทเต็มที่ทั้งกายและใจ จนถึงขนาดยอมให้ผู้กำกับฯ ตบหน้าเพื่อให้เข้าถึงอารมณ์ทางการแสดงในฉากนั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
- บุญเติม (แอร์-วชรกรณ์ ไวยศิลป์) –
เด็กหนุ่มหน้าตาดี ทะเล้นขี้เล่น
ที่ใฝ่หาสิ่งดีดีมาเติมเต็มส่วนที่ขาดไปในชีวิต
บุญเติมเป็นเด็กอู่ซ่อมรถที่ชีวิตพลิกผันไปเมื่อมาเจอกับสมหญิงซึ่งเป็นผู้ชักนำให้เขาเข้ามาเป็นนักร้องหน้าม่านของทิฟฟานี่โชว์
ก่อนที่เขาจะมารู้จักน้องสาวของสมหญิง
จนเกิดเป็นเรื่องรักสามเส้าขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“โดยนิสัยส่วนตัวของผมกับตัวละครที่เล่นจะค่อนข้างคล้ายกันนะครับ
คือจะเป็นคนสบาย ๆ ง่าย ๆ อะไรก็ได้ มีอารมณ์ขัน ขี้เล่น
แต่ที่ต่างกันเลยก็คือ
ชีวตจริงผมยังไม่ค่อยได้สัมผัสกับสาวประเภทสองซักเท่าไหร่ (หัวเราะ)
ถ้าพูดถึงการแสดงหนังเรื่องแรก มันยากแน่นอนอยู่แล้วล่ะครับ
แต่ก็ได้ผู้กำกับและนักแสดงคนอื่น ๆ ช่วยเหลืออยู่ตลอด ก็เลยโอเคขึ้นครับ”
...ปิแอร์
– วชรกรณ์ ไวยศิลป์ เกิดเมื่อ 15 ส.ค. (ปัจจุบันอายุ 22 ปี)
กำลังศึกษาอยู่ปี 3 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
สาขาวิทยุ-โทรทัศน์
เขาก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการประกวดหนุ่มแฮคเมื่อปี 2002
ก่อนที่จะได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก
ซึ่งเขาตั้งใจแสดงอย่างเต็มที่ และไม่มีอิดออด แม้จะต้องแสดงฉากนู้ด (เล็ก
ๆ) ด้วยก็ตาม
- ประเทือง (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) –
เจ้าของทิฟฟานี่โชว์ เป็นกะเทยปากร้ายใจดี รักลูกน้องและเพื่อนฝูง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวสมหญิง ดาวราย ที่ซ้อเทืองรักเหมือนลูกเหมือนหลาน
แต่ซ้อเทืองก็เหมือนกะเทยรุ่นใหญ่ทั่วไปที่มักจะผิดหวังในเรื่องความรักจากเด็กหนุ่มที่เลี้ยงไว้
“บทนี้เป็นบทที่ท้าทายสำหรับผมนะ
เพราะไม่เคยเล่นมาก่อน และผมก็อยากลองเล่นอะไรใหม่ ๆ ด้วย
ผมถือว่าการแสดงเป็นอาชีพ ต้องเล่นได้ทุกบท ถ้าไม่ขัดกับวัฒนธรรมและศีลธรรม
โดยส่วนตัว ผมไม่มีความเห็นหรืออคติต่อคนเพศนี้นะครับ
เพราะทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราได้เกิดขึ้นมาในโลกใบเดียวกันแล้ว
เราก็แค่ทำตัวให้ดีต่อสังคมเท่านั้นเอง”
...นิรุตติ์ ศิริจรรยา เกิดเมื่อวันที่ 2 พ.ค.
(ปัจจุบันอายุ 59 ปี)
นักแสดงรุ่นเก๋าที่เข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการชักนำของเทิ่ง สติเฟื่อง
และภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขาแสดงคือเรื่อง “ดาร์บี้” หลังจากนั้นก็สั่งสมฝีมือทางด้านการแสดงด้วยภาพยนตร์กว่าร้อยเรื่อง
...ล่าสุด เขาทำให้ผู้ชมต้องอึ้ง ทึ่ง เสียว ด้วยการพลิกคาแร็คเตอร์แบบสุดเหวี่ยงกับบท “ซ้อเทือง” เจ้าของทิฟฟานี่โชว์ ที่แม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก แต่ก็ยังไม่วายทุรนทุรายกับความรัก เฉกเช่นกะเทยรุ่นใหญ่ทั่ว ๆ ไป
- อรทัย (ปีใหม่-สุมนต์รัตน์ วัฒนาเศลารัตต์)
– น้องสาวสุดที่รักของสมหญิง เป็นคุณหนูที่ค่อนข้างสปอยล์ เอาแต่ใจ
เชื่อมั่นในตัวเองสูง อรทัยเข้ามาพัวพันกับชีวิตของสมหญิงและบุญเติม
จนกลายเป็นตัวแปรสำคัญของโศกนาฏกรรมรักสามเส้าอย่างไม่คาดฝัน
“ใหม่เชื่อว่า หลาย ๆ คน
ยังไม่เข้าใจว่าสาวประเภทสองหรือคนประเภทนี้เป็นคนแบบไหน มีชีวิตยังไง
เค้าจะเหมือนกับเรามั้ย เค้าจะเชื่อในสิ่งเดียวกับเรามั้ย
หนังเรื่องนี้จะทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า คนประเภทนี้ก็เป็นคนเหมือนกับเรา
มีสังคมเหมือนกัน มีจิตใจและความรู้สึกไม่ต่างอะไรกับผู้หญิงอย่างเราเลย”
...ปีใหม่ – สุมนต์รัตน์ วัฒนาเศลารัตต์ เกิดเมื่อวันที่
28 พ.ย. (ปัจจุบันอายุ 21 ปี) กำลังศึกษาอยู่ ปี 3 มหาวิทยาลัยเอแบค
สาขาบริหารธุรกิจ
...เริ่มเป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์เรื่อง “รับน้องสยองขวัญ” ก่อนจะพลิกบทบาทมาแสดงบทดราม่าในเรื่องนี้ ที่เธอถือเป็นการพัฒนาด้านการแสดงอีกก้าวหนึ่ง เพราะได้แสดงอารมณ์ของตัวละครที่เธอได้รับอย่างเต็มที่ รวมถึงได้แสดงกับนักแสดงรุ่นใหญ่หลาย ๆ คนที่เธอถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีทีเดียว
นักแสดง:
พิศาล อัครเศรณี บันทึก “เพลงสุดท้าย: ตำนานรักของเพศที่สาม”
“สมหญิง ดาวราย”
ชื่อนี้ได้สร้างให้เกิดตำนานของความรักอย่างลือลั่นมาแล้ว เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน
“เพศสีม่วง”
ยืนหยัดท้าทายอยู่กับโลกใบนี้ได้อย่างไร
...ทั้งผิดเพศ…
...ทั้งไร้รักแท้…
บทพิสูจน์อย่างลึกถึงแก่น กลับมาปรากฏอีกครั้ง
เด่นชัดเต็มอิ่มในทุกแง่มุม ตีแผ่หัวใจร้าวช้ำให้โลกได้รู้
แม้จะเวียนว่ายอยู่ในเงามืด แต่ศักดิ์ศรีและความหยิ่งทรนงก็หาคลายลงไม่
ทั้งวันนี้และวันข้างหน้า “เพลงสุดท้าย” คือ บทเรียนสอนใจ
“สมหญิง ดาวราย”
เกิดมาแล้วชีวิตก็ต้องสู้ ทั้งแรงกดดันและขวากหนาม สังคมข้างหน้าจากโลกใบนี้
หนทางของเธอมิได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ
เธอผิดหรือที่เกิดมาจากความสับสนของพรหม
...ร่างชายแต่หัวใจหญิง...
จะมีใครเล่าที่เธอจะพักพิงพึ่งพาได้
ว้าเหว่เงียบเหงาเมื่อคิด
อ้างว้างโดดเดี่ยวเมื่อก้าวเดิน
ชอกช้ำอดสูเมื่อร่ำร้องเรียกหา...รักแท้
“หยาดมาแล้วอย่าช้ำโศก พลอยคนทั้งโลกร้องไห้
หยาดเพชรหยาดละอองผ่องใส แม้อยู่ในความมืดมน”
ฉากสุดท้ายของเพลงสุดท้าย จะฝังแน่นอยู่กับคุณไปนานแสนนาน
เพราะเพลงสุดท้ายในครั้งนี้
เต็มอิ่มกับเนื้อหาความเป็นจริง
เต็มอิ่มกับบทเพลงที่สรรค์สร้างมาโดยเฉพาะ
และเต็มอิ่มประทับใจกับ "สมหญิง ดาวราย"
ผู้ซึ่งจะเป็นต้นแบบสอนใจแก่ “เพศที่สาม” ทั้งปัจจุบันและอนาคต
แสดงความคิดเห็น