Home » » รับน้องสยองขวัญ

รับน้องสยองขวัญ

 

  • Release Date: 10 พฤศจิกายน 2548
  • Director: ภาคภูมิ วงษ์จินดา
  • Producer: สหมงคลฟิล์ม

 


รับน้องสยองขวัญ

"รับน้องปีนี้จะมีคนตายซักกี่คน.."
"บางสิ่ง...บางอย่าง อยากให้พวกเขาตาย"
"งานรับน้องไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับทุกคน"




คุณเคยได้ยินเรื่องราวสยองขวัญเกี่ยวกับ การรับน้องบ้างหรือไม่ ??

ถ้าไม่เคย ลองเขยิบเข้ามาใกล้ๆ......พวกเราจะเล่าให้ฟัง

เนื้อเรื่องย่อ: รุ่นพี่คณะนิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง พารุ่นน้องกว่า 30 ชีวิต ไปรับน้องนอกสถานที่ แต่ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง รถบัสที่นำพาชีวิตนักศึกษาที่สดใส ได้เดินทางมาถึงสะพานข้ามแม่น้ำกลางป่าลึก ซึ่งเป็นสะพานไม้ผุพังไม่มั่นคง ขณะที่รถบัสแล่นไปได้กลางสะพาน เหตุการณ์ร้ายก็เกิดขึ้น สะพานไม้เกิดหักครืนลง รถบัสดิ่งลงสู่แม่น้ำที่เชี่ยวกราก ด้วยความสูงกว่า 50 เมตร นักศึกษาเกือบทั้งหมด ต้องสังเวยชีวิตให้กับอุบัติเหตุครั้งนี้ มีเพียงส่วนหนึ่งที่รอดชีวิตมาได้

พวกเขาต้องเดินเท้าออกจากป่าลึก จนกระทั่งมาพบเมืองร้างกลางหุบเขา ที่ไม่มีผู้ใดอาศัยอยู่เลย ณ สถานที่ลึกลับแห่งนี้เอง ที่พวกเขาได้เจอกับเหตุการณ์สยองขวัญ ซึ่งพรากชีวิตของเพื่อนๆ พวกเขาไปทีละคนอย่างโหดเหี้ยม ไม่มีใครบอกได้ว่า พวกเขาไปลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นฝีมือของใครที่จ้องทำลายชีวิตพวกเขา คนที่รอดชีวิตกลับมาเท่านั้น ที่จะรู้ว่าที่แท้จริงสิ่งเหล่านี้คืออะไร

นักแสดง:

บวรพจน์ ใจกันทา  
ณปภา ตันตระกูล  
ชิดจันทร์ รุจิพรรณ  
กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี  
กัญญา รัตนเพชร  
เคนตะ ซึคจิยะ  

ความยาว: 83 นาที
วันที่เข้าฉาย: 10 พฤศจิกายน 2548

ฉายครั้งแรกเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2548
ผลิตโดย สหมงคลฟิล์ม

ทีมจัดการรับน้อง: สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ (อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร) / ปรัชญา ปิ่นแก้ว, สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์ (ควบคุมงานสร้าง) / ศิตา วอสเบียน (ดำเนินงานสร้าง) / ภาคภูมิ วงษ์จินดา (กำกับ-บทภาพยนตร์) / ทิพย์วลัย บุญประคอง (ผู้ฝึกสอนการแสดง) / จิระเดช สำเนียงเสนาะ (กำกับภาพ) / นพพร เกิดศิลป์ (กำกับศิลป์) / ขวัญชัย แก้วมาก (ออกแบบงานสร้าง) / พราวเพลิน ตั้งมิตรเจริญ (ออกแบบเครื่องแต่งกาย) / สัญชัย หรุ่นเกิด (แต่งหน้า) / มนต์ตา หาญวิชัย (ทำผม)

 

กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี (เพื่อน - 19 ปี) - นักศึกษาหญิงปี 1 เป็นเด็กเรียนเป็นหนอนหนังสือตัวยงแต่โดยส่วนตัวจะออกแนวโรคจิตอ่อน ๆ

...ภาคภูมิ วงษ์จินดากล่าวว่า เขาได้น้องเพื่อนมาอย่างไม่น่าเชื่อ เนื่องจากเพื่อนไม่เคยมีพื้นฐานทางด้านการแสดง แถมยังเป็นเด็กจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกด้วย แต่ด้วยความที่เป็นเด็กกิจกรรมและมีคาแร็คเตอร์ตรงกับที่ผู้กำกับต้องการทำให้เพื่อนได้เข้าร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

"คาแร็คเตอร์ในเรื่องจะเป็นเด็กเรียน เป็นเด็กที่มีเหตุผล มีหลักการแต่จะเป็นคนที่รักเพื่อน เพื่อนว่าเรื่องนี้มีแนวความคิดที่แปลกใหม่เหมือนเป็นการค้นหาตัวเองไปด้วยในตัวจากสถานการณ์ที่เราต้องเผชิญ ตอนแรกเพื่อนก็เคยคาดการณ์ว่ามันจะเกิดเหตุการณ์อะไรต่อไป แต่เพื่อนว่ามันไม่เวิร์คก็เลยเลิกคิด สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการถ่ายทำคงเป็นเรื่องของฝนและเรื่องของโลเกชั่น อย่างเช่นฉากที่หมิวทะเลาะกับพี่โน้ตในแม่น้ำที่พื้นดินเป็นขี้โคลนและเพื่อนต้องเข้าไปห้าม แต่ปรากฏว่าพอเดินไปรองเท้ามันติดขี้โคลน เพื่อนก็ทำไงดี ต้องไปช่วยหมิวก็เลยตัดสินใจถอดรองเท้าและมันก็หายไปเลย หาไม่เจอ (หัวเราะ) ส่วนฉากที่ประทับใจที่สุดจะเป็นฉากที่น้องแอร์มาบอกข่าวร้ายเกี่ยวกับเพื่อนคนหนึ่งและเขาก็ร้องไห้ แต่มันไม่ได้เป็นความผิดของเขา ที่ชอบฉากนี้เพราะเราสงสารเขามากและเพื่อนทุกคนก็ร้องไห้จริง ๆ เลย ร้องกันนานมากจนพี่เพื่อนและครูโอ๋ต้องเข้ามาปลอบพวกเราให้หยุดร้อง"


กัญญา รัตนเพชร (ตาล - 16 ปี) - นักศึกษาหญิงปี 1 ที่มีอายุน้อยกว่าทุกคน เป็นเด็กที่มีความไร้เดียงสา อยากรู้อยากเห็นตลอดเวลา ติดตุ๊กตาและเป็นเด็กค่อนข้างดื้อ

...สาวน้อยหน้าใสวัย 16 จากโรงเรียนพระมารดานิจจานุเราะห์ แม้ตาลจะเด็กที่สุดในกลุ่ม แต่ด้วยความสามารถบวกกับบุคลิกที่น่ารักสดใสสมวัย ทำให้ตาลได้เป็นหนึ่งในรุ่นน้องที่มีต้องเผชิญกับสิ่งที่เธอคาดไม่ถึง

"บทบาทในเรื่องก็จะเป็นตาลเลยเป็นเด็กที่ติดตุ๊กตาสดใสร่าเริง แต่พอเจอกับเหตุการณ์ที่รถบัสตกสะพาน ก็จะกลายเป็นเด็กที่เศร้าไปเลย แต่เป็นเพราะอะไรนั้นอยากให้ดูในหนังเองนะคะ เรื่องนี้การถ่ายทำทรหดมาก แต่เพื่อน ๆ พี่ ๆ ทุกคนเขาก็ตั้งใจมาก อย่างตาลก็จะมีฉากยากอยู่หนึ่งฉากคือ ตอนที่รถกำลังตกสะพานแล้วคนข้างหน้าเขาจะต้องโดนไม้เสียบเลือดไหล มันยากตรงที่ถ้าตาลแสดงอารมณ์ไม่ได้ก็ต้องถ่ายใหม่ เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่หมด มันจะเสียเวลากับคนอื่นด้วย กดดันมาก ส่วนฉากที่ประทับใจก็คือฉากตกน้ำเพราะมันเป็นฉากใหญ่และตาลต้องว่ายน้ำด้วยตอนนั้นกลัวมาก กลัวอะไรที่มันมาจึ๊กกระดึ๋ยตรงขาแล้วน้ำมันลึกมาก ตาลกอดพี่ใหม่ตลอดเลยเพราะกลัว ปลาที่นั่นก็ตัวใหญ่มาก"


เคนตะ ซึคจิยะ ( เคนตะ - 15 ปี) - นักศึกษาชายปีหนึ่ง เป็นเด็กญี่ปุ่นที่มาเรียนในเมืองไทย เป็นคนที่มีจิตสำนึกดี ใช้ภาษาไทยยังไม่คล่องและบ้าเกมส์เป็นชีวิตจิตใจ

...เคนตะกำลังเรียนเกรด 9 โรงเรียนเอกมัยอินเตอร์เนชั่นแนล ด้วยความชื่นชอบทางด้านการแสดงเป็นพิเศษทำให้เขาตัดสินใจสมัครเป็นหนึ่งในนักเรียนการแสดงของสมาพันธ์ภาพยนตร์และได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในนักแสดงเรื่องรับน้องสยองขวัญ

"ในเรื่องเคนตะเป็นเด็กเงียบ ๆ แต่จะติดเกมส์ ต้องพกเกมส์ไปทุกที่ ครั้งแรกที่ผมทราบว่าจะได้แสดงหนังเรื่องนี้ก็รู้สึกดีใจมากเหมือนฝันเลยครับ แม้จะเดินทางเหนื่อยแต่ก็สนุกครับอย่างฉากรับน้องที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นซีนที่ผมประทับใจมากต้องเข้าซุ้มรับน้องได้ลองทำอะไรที่แปลกใหม่อย่างจับกบซึ่งกลัวจริง ๆ ครับ ได้เต้นได้ทำกิจกรรมทำให้เรากล้าแสดงออกมากขึ้นและก็มีหลายฉากที่เป็นซีนอารมณ์ซึ่งเพื่อน ๆ ทุกคนก็ทุ่มเทเต็มที่ครับ"


ชัชวาล สีดา (บอม - 19 ปี) - นักศึกษาชายปี 2 เป็นอาร์ติส ขวางโลก กวนนิด ๆ เพี้ยนหน่อย ๆ แต่จะเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์คอยทำให้น้อง ๆมีความสุข เป็นว้ากเกอร์ที่ไม่ค่อยดุ

...บอมบ์เข้าวงการจากการประกวดมายาแชลแนลอวอร์ดและได้รางวัลชนะเลิศฝ่ายชายมาครอง ด้วยความสามารถบวกกับลีลากวน ๆ ตามประสาวัยรุ่นทำให้บอมบ์เป็นหนึ่งในสี่รุ่นพี่สุดโหด

"ตอนแรกที่ได้ยินชื่อก็คิดว่ามันต้องเป็นหนังที่น่ากลัวมากอาจทำให้คนดูหัวใจวายตายได้ (หัวเราะ) ส่วนการที่ไม่มีบทก็รู้สึกว่ามันท้าทายดี มันทำให้เราตั้งใจเล่นส่วนคาแร็คเตอร์ของบอมบ์ในเรื่องก็จะเป็นรุ่นพี่ปีสองที่ฮา ๆ กวน ๆ ขำ ๆ คู่กับพี่ไผ่เป็นรุ่นพี่ที่หน้าตาดีทั้งสองคน เรื่องนี้เดินทางเหนื่อยมาก นั่งรถจนล้าเพราะมันไกลแต่พอมาถึงโลเกชั่นก็หายเหนื่อยเลยเพราะมันสวยมาก ส่วนฉากที่ยากที่สุดของบอมบ์จะเป็น ฉากที่เราไปกินของเซ่นไหว้ที่ประตูผีซึ่งเป็นประตูไม้เก่า ๆ ทางเข้าก็เล็ก แคบมากที่ยากเพราะว่าฉากนี้ครูโอ๋ขอเทกเดียวผ่านและบอมบ์จะต้องมีไม้ดามที่ตัวซึ่งมันรัดมาก แล้วบอมบ์เป็นคนที่มีหน้าท้องก็เลยอึดอัดไปหมด หายใจไม่ออกแต่ก็เทคเดียวผ่าน เพราะตั้งใจมาก ส่วนฉากตกน้ำก็ยากเพราะต้องใส่กางเกงยีนส์แบบรัดขาว่ายน้ำ ถึงยากแต่ก็สนุกครับ"



ชิดจันทร์ รุจิพรรณ (พลอย - 17 ปี) - นักศึกษาหญิงปี 1 เป็นลูกคุณหนูไฮโซ แต่เป็นเด็กขี้โรค มีโรคประจำตัวคือหอบ อ่อนแอ ผิวพรรณบอบบางเป็นกิ๊กกับไม้ตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย

...พลอยได้รับรางวัลดาวเด่นแห่งเวทีการประกวดดัชชี่บอยแอนด์เกิร์ล ปี 2004 ด้วยความน่ารักสดใสบวกกับบุคลิกลักษณะที่ค่อนข้างเรียบร้อย น่าทะนุถนอมจึงทำให้ได้รับบทพลอย นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ค่อนข้างอ่อนแอ ขี้โรค แต่ต้องมาเจอเรื่องราวลี้ลับและต้องเอาตัวรอดท่ามกลางสถานการณ์อันเลวร้าย

"ตอนที่ทราบว่าตัวเองได้เล่นเรื่องนี้ ก็รู้สึกตื่นเต้น ดีใจที่ตัวเองได้มีโอกาสมาเล่น ได้มีส่วนร่วมในทีมซึ่งพลอยเองไม่เคยได้เล่นหนังมาก่อน พอได้มาเล่นก็รู้สึกสนุกมาก ส่วนในเรื่องของการไม่มีบทพลอยว่าก็ดีนะ เพราะการแสดงของเราจะได้ดูมีชีวิตมากขึ้น ไม่ดูเป็นการแสดงมากนัก ส่วนเรื่องคาแร็คเตอร์ก็จะเป็นผู้หญิงที่บอบบาง มีโรคประจำตัวคือโรคหอบต้องพกยาแก้หอบตลอดเวลา อย่างมีอยู่ฉากหนึ่งที่พลอยจะต้องเดินขึ้นเขาซึ่งหลายกิโลมากและโรคหอบกำเริบก็ต้องหยิบยาพ่นขึ้นมาซึ่งพลอยเองก็ไม่รู้ว่าคนเป็นหอบเขาเป็นยังไง ต้องทำท่ายังไง แต่ก็ได้พี่เพื่อนกับครูโอ๋อธิบายให้ฟัง เหนื่อยมากค่ะต้องหายใจแรง ๆ ถี่และรัว เหมือนคนที่ขาดอากาศหายใจแล้วมันถ่ายหลายเทคมาก เหนื่อยหอบจริง ๆ เลย ส่วนซีนที่ประทับใจก็เป็นฉากตกน้ำที่ต้องขึ้นสลิง พลอยได้ขึ้นเป็นคนแรกเลยนะ ตอนแรกก็จะเวียนหัวแต่พอปรับตัวได้มันกลายเป็นความสนุก ก็พยายามจะไม่มองด้านล่างค่ะ"


ณปภา ตันตระกูล (แพท - 19 ปี) - นักศึกษาหญิงปี 1 น่ารักแบบกวน ๆ แข็ง ๆ ชอบแหย่และแกล้งเพื่อน เป็นยัยตัวร้ายที่น่ารัก

...สาวน้อยหน้าใสเฟรซชี่หมาด ๆ จากคณะบริหารธุรกิจภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งโด่งดังจากมิวสิควิดีโอเพลง "หึง" ของวงดีทูบี และมิวสิควิดีโอเพลง "คิดถึงฉันไหมเวลาที่เธอ..." ของวงแท็กซี่ ด้วยความน่ารักบวกกับความซุกซนเฉพาะตัวเกิดถูกใจผู้กำกับภาคภูมิ จึงได้คัดเลือกแพทเป็นหนึ่ง 17 ของนักศึกษาที่ต้องมาพบกับเรื่องราวความสยองขวัญ

"แพทว่าการที่ไม่มีบทก็ดีนะจะได้ไม่ต้องท่องบท ( หัวเราะ) แต่เวลาที่ถ่ายเราจะได้ตื่นเต้นและเราก็ได้เล่นเป็นตัวเองด้วยและในชีวิตจริงแพทก็เพิ่งเข้าเรียนปีหนึ่งก็เลยค่อนข้างอินเวลาที่ถ่ายทำ ซีนที่ประทับใจก็มีเยอะมาก อย่างฉากรถบัสตกสะพานก็ชอบ ตื่นเต้นมากเลยต้องห้อยโหนสลิง เวียนหัวมาก ตอนเครนยกแพทขึ้นไปพอมองลงมาเห็นเพื่อนเห็นทีมงานตัวทำมด เสียวมากค่ะแล้วฉากนี้แพทจะต้องกลัวซึ่งเรื่องจริงก็กลัวมากๆ มือเนี่ยทั้งจิก ทั้งจับเบาะจนเกร็งไปหมดและจะต้องหล่นลงน้ำอีกซึ่งแพทเป็นคนที่กลัวปลามาก แต่พี่ๆเขาก็บอกว่าไม่มีปลาแต่ที่ไหนได้พอลงไปปลาเยอะมาก แต่พอสั่งแอ็คชั่นเราก็ต้องสลัดความกลัวทิ้งไปแล้วก็ตั้งใจเล่นให้ดีที่สุดค่ะ พอสั่งคัทก็รีบขึ้นทันทีเลยค่ะ"


ธโนทัย เอื้ออมรรัตน์ (เต้ย - 19 ปี) - นักศึกษาชายปี 1 เป็นคนชอบสนุก กะล่อน เจ้าชู้ชอบมีกิ๊ก รักเพื่อนและจริงใจกับเพื่อน

...ด้วยบุคลิกที่สดใสและหน้าตาสไตล์ J –POP ทำให้เต้ย นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ เอกคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เป็นหนึ่งในเหล่านักศึกษาที่ต้องพบเจอกับสิ่งลี้ลับ

"คาแร็คเตอร์ในเรื่องก็จะเป็นรุ่นน้อง กวน ๆ หน่อย ชอบร้องเพลงชอบเต้น คือเป็นคนที่รักสนุกและในเรื่องผมก็จะกิ๊กกับปีใหม่แรก ๆ ก็จะเป็นความรักแบบวัยรุ่น สดใสแต่ เมื่อพวกเราทั้ง 17 คนต้องผจญภัยกับเรื่องราวอันสยดสยองก็ต้องดูแลและปกป้องเขาครับ ตอนแรกที่ทางพี่เพื่อน ภาคภูมิ ผู้กำกับเขาติดต่อมาและบอกว่าเรื่องนี้ไม่มีบทนะก็คิดไม่ตกครับ เอ๊ย ไม่ใช่ คิดว่าเป็นความท้าทายมากกว่า ทำให้เราได้เปลี่ยนแปลงบางอย่างครับ เพราะว่าผมเคยถ่ายแต่โฆษณาซึ่งมันแตกต่างกันมาก ผมชอบการทำงานของพี่เพื่อนนะเขาแหวกแนวดี แสดงเรื่องนี้ก็รู้สึกเป็นตัวเองอย่างเต็มที่ครับ การถ่ายทำก็โหดมาก นอนน้อย ตื่นเช้า ทรหดมาก แต่สิ่งที่ประทับใจที่สุดคงเป็นเรื่องของเพื่อน ๆ เพราะพวกเราผูกพันกันมาก หลายฉากที่พวกเราต้อง Improvise กันเองและทุกคนก็ทุ่มเทมาก และอีกอย่างคือเรื่องของโลเกชั่นครับ สวยมาก ๆ ถือว่าได้เที่ยวไปในตัวครับ"


บวรพจน์ ใจกันทา (ไม้ - 18 ปี) - นักศึกษาชายปี 1 เป็นคนมีน้ำใจกับเพื่อน ๆ เสียสละใจถึง มีความเป็นผู้นำ มีความรอบคอบและใช้สติในการตัดสินใจ แอบชื่นชอบยัยตัวร้ายอย่างแพท

...ไม้เข้าวงการจากการประกวดดัชชี่บอยแอนด์เกิร์ลและคว้ารางวัลชนะเลิศฝ่ายชายมาครองในป ี2004 ด้วยความสามารถและบุคลิกที่โดดเด่นบวกกับนิสัยที่เป็นกันเอง ทำให้ผู้กำกับภาคภูมิทาบทามให้เป็นหนึ่งในนักแสดงนำ

"คาแร็คเตอร์ในเรื่องก็คือตัวไม้เลยครับ จะค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่ ชอบช่วยเหลือคนอื่นและในเรื่องจะแอบหลงรักแพทก็จะคอยช่วยเรื่องเขา ไม้คิดว่าความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ที่การไม่มีบทนะ ไม้ไม่มีการคาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้า เพราะว่าถ้าคาดเดา มันจะไม่ตรงกับความต้องการของผู้กำกับ ตอนแรกก็งงนะว่าไม่มีบทแล้วจะเล่นยังไง แต่พอทำความเข้าใจแล้วก็จะพบว่าที่ทำแบบนี้เพื่อให้งานออกมาสด ๆ จริง ๆ ไม่ใช้การ FAKE การถ่ายทำก็ทรหดมากบุกป่าฝ่าดง เดินทางกันเหนื่อยมาก แต่ต้องยอมรับครับว่าโลเกชั่นสวยจริง ๆ ฉากที่ทรหดที่สุดเห็นจะเป็นฉากที่รถบัสตกสะพาน ซึ่งไม้กับแพทต้องโหนอยู่บนสลิงและดิ่งลงมาในมุม 90 องศา ไม้ก็ต้องดึงตัวแพท เพราะเขากำลังหล่นออกนอกตัวรถก็ต้องออกแรงดึงสุด ๆ ครับ และตอนสุดท้ายพวกเราทุกคนจะต้องหล่นน้ำอีก เปียกกันไปหมดแต่ก็สนุกครับ"


ภัณฑิลา ฟูกลิ่น (แอร์ - 17 ปี) - นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เป็นสาวหมวยอินเตอร์ ร่าเริง สดใส สมวัยแต่เมื่อเจอเรื่องเลวร้ายก็จะกลายเป็นคนที่ออกแนวหลอน ๆ ประสาทนิดหน่อย

...แอร์ ภัณฑิลาเคยผ่านผลงานภาพยนตร์เรื่อง "คลับซ่าส์ ปิดตำราแสบ" รวมทั้งผ่านงานถ่ายแบบโฆษณาและมิวสิควิดีโอเพลงหลายต่อหลายชิ้น ด้วยความน่ารักตามสไตล์หมวยญี่ปุ่นทำให้แอร์ได้ร่วมถ่ายทอดความสยองขวัญในเรื่องนี้ด้วย

"ตอนแรกที่ทราบว่าจะได้แสดงหนังเรื่องนี้ แอร์ดีใจมากเลยค่ะเพราะทำให้แอร์ได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างจากเดิม คาแรกเตอร์ในเรื่องก็จะเป็นเด็กสดใสร่าเริงแต่เมื่อมาเจอกับเหตุการณ์ที่ร้ายแรงก็จะเปลี่ยนเป็นอีกคนเลย ฉากที่ยากที่สุดก็คงจะเป็นซีนอารมณ์ที่เราต้องแสดงเป็นคนจิตหลอนคือจิตใจไปหมดแล้วไม่อยู่กับเนื้อกับตัวก็ได้พี่เพื่อนกับครูโอ๋ช่วยกันอธิบายว่าแอร์ต้องแสดงยังไง การถ่ายทำหนังเรื่องนี้สนุกและทรหดมากได้แผลฟกช้ำไปตาม ๆ กันเลยค่ะ กับเพื่อน ๆ นักแสดงก็ผูกพันกัน เพราะว่าไปถ่ายต่างจังหวัดด้วยกันบ่อย มีอะไรก็จะช่วยเหลือกัน"


ภาคย์ วรรณศิริ ( ไผ่ - 21 ปี) - นักศึกษาชายปี 2 เป็นอันธพาล ชอบเอาชนะไร้จิตสำนึกที่ดีแต่เป็นคนที่ตลก สนุกสนานเป็นตัวฮาในว้ากเกอร์

...ไผ่ถือเป็นวัยรุ่นที่มีบุคลิกขี้เล่นเป็นตัวของตัวเอง ด้วยความที่มีสไตล์ทำให้ไผ่สะดุดตาผู้กำกับจนชักชวนหนุ่มดีกรีเอกภาพยนตร์จากรั้วแม่โดมคนนี้ให้มารับบทรุ่นพี่ปีสองในหนังสยองขวัญเรื่องนี้

"คาแร็คเตอร์ผมในเรื่องจะเป็นรุ่นพี่ปีสอง ขำๆ ฮา ๆ ชอบร้องเพลง ส่วนเรื่องที่ไม่มีบท ผมว่าความคิดนี้เจ๋งมากเลยทำให้การแสดงออกมาเป็นธรรมชาติมาก ส่วนฉากที่ผมประทับใจที่สุดจะเป็นฉากในรถบัสที่ผมได้ร้องเพลง เล่นกีตาร์ เพราะว่าตอนนั้นผมได้เป็นพระเอกและได้ใกล้ชิดน้องพลอย (หัวเราะ) เปล่าครับ เพียงแต่มันสนุกมาก เพื่อน ๆ ทุกคนเฮฮากันหมด ส่วนที่ยากคงเป็นซีนอารมณ์ เพราะผมเป็นคนอารมณ์ดีเลยทำอารมณ์เศร้าได้ลำบากครับ"


วรรัตน์ นิยมเดช (โอปอ - 17 ปี) - นักศึกษาหญิงปี 1 เป็นสาวมั่น สวยซ่าร่าเริง เป็นสาวที่ค่อนข้างเซ็กซี่และเป็นผู้ใหญ่กว่ารุ่นเดียวกันแต่มีนิสัยกล้าได้กล้าเสีย

...โอปอเข้าวงการจากการประกวดมายาแชลแนลอวอร์ดและได้รับตำแหน่งโฟโต้ จีนิก (สาวที่ถ่ายรูปได้สวยที่สุด) แม้ในชีวิตจริงโอปอจะเป็นเด็กสาวชั้นมัธยมปลาย แต่ด้วยบุคลิกที่โดดเด่นบวกกับความมีเสน่ห์ในตัวเอง ทำให้ผู้กำกับตัดสินใจเลือกโอปอมาเป็นหนึ่งในนักแสดงนำ

"คาแร็คเตอร์ในเรื่องก็จะเป็นตัวเอง เป็นคนที่มั่นใจในตัวเอง รักเพื่อน ชอบช่วยเหลือเพื่อน ถึงแม้การถ่ายทำจะทรหด แต่โอปอว่าดีนะ ฝึกความรับผิดชอบกล้าเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนฉากที่ประทับใจโอปอชอบฉากที่เรากำลังจะไปรับน้องก็มีการร้องเพลงเต้นรำกันบนรถจะมีพี่ไผ่ที่เป็นรุ่นพี่เขาจะเล่นกีตาร์ ที่ชอบเพราะมันไม่ใช่การแสดงแต่เราจะร้องจะเต้นจริง ๆ ก็มีการล้อเล่นกับเพื่อน ๆ และพี่ไผ่ ส่วนฉากที่ยากจะเป็นฉากที่รถบัสตกสะพาน ซึ่งโอปอต้องกระโดดลงน้ำจากรถบัสซึ่งมันสูงมากที่ยาก เพราะเราต้องระวังต้องเซฟตัวเองแต่ถึงแม้การถ่ายทำจะสมบุกสมบันแต่มันฝึกความอดทนไปในตัวค่ะ"


วงษ์เทพ คุณารัตนวัฒน์ (จอห์นสัน - 21 ปี) - นักศึกษาชายปี 2 เป็นสุภาพบุรุษ เป็นผู้นำแต่ความจริงเป็นคนไม่ดี หลอกหลวงและมีเรื่องราวในใจลึก ๆ มากมาย

...ชายหนุ่มหน้าใส จอห์นสันเข้าวงการจากการถ่ายแบบหนังสือและถ่ายโฆษณา ด้วยบุคลิกและหน้าตาที่โดดเด่นและเป็นคนที่ดูเหมือนมีเรื่องราวลึก ๆ ในใจ ทำให้จอห์นสันได้รับบทเด่นใน "รับน้องสยองขวัญ"

"ประทับใจตั้งแต่วันที่ไปเทสต์หน้ากล้องแล้วครับรู้สึกว่าพี่เพื่อน ผู้กำกับและทีมงานให้ความเป็นกันเองมาก ส่วนเรื่องที่ไม่มีบทตอนแรกที่ได้ฟังก็สงสัยไม่เข้าใจคิดว่าแล้วนักแสดงจะเล่นได้ยังไง จะเล่นถูกได้ยังไงแต่หลังจากที่ได้เวิร์คช็อปกับครูโอ๋ พวกเราก็ได้เรียนรู้วิธีทางแก้ไขสถานการณ์การเอาตัวรอด มันกลายเป็นเสน่ห์ที่น่าสนใจมาก ส่วนฉากที่ประทับใจและยากมากคือฉากที่รถบัสตกสะพานที่ไปถ่ายที่ฟิชชิ่งปาร์ค คือมันทั้งเหนื่อยและสนุก โปรดักชั่นใหญ่มีเอฟเฟ็กต์ด้วย การถ่ายทำก็ทรหดมาก อากาศก็ร้อนแล้วต้องเอาเครนมาโยกรถ เวียนหัวมากครับต้องดมกลิ่นไผ่ตลอด เลยเวียนหัวครับ (หัวเราะ)"


สุมนต์รัตน์ วัฒนาเศลารัตต์ (ปีใหม่ - 20 ปี) - นักศึกษาหญิงปี 1 เป็นคนฉลาด สวย มีเสน่ห์และเซ็กซี่ตลอดเวลา รู้จักการเอาตัวรอด

...บทบาทสาวดวงตาเซ็กซี่ทรมานใจชายหนุ่ม รับบทโดยปีใหม่ สุมนต์รัตน์ วัฒนาเศลารัตต์ นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเอแบค ปีใหม่ผ่านผลงานมาละครมาหลายเรื่อง อาทิ "ปากกา หัวใจ กับไมโครโฟน" และ "ลูกหนี้ทีเด็ด" รวมทั้งมิวสิควิดีโอเพลง "ความรักทำให้คนตาบอด" ของบอดี้สแลม ความเซ็กซี่นิด ๆบวกกับความน่ารักทำให้ปีใหม่ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในนักแสดงนำ

"คาแร็คเตอร์ที่ใหม่ได้รับ จริง ๆ แล้วก็โดนดึงมาจากตัวเอง คือจะมีความเซ็กซี่นิด ๆ อันนี้ที่เขามองกันนะ (หัวเราะ) ก็จะมีความเป็นผู้ใหญ่ นิ่ง ๆ เชื่อมั่นในตนเอง ใหม่คิดว่าการแสดงโดยที่ไม่รู้บท ไม่รู้เหตุการณ์ล่วงหน้ามาก่อนและไม่มีการบังคับว่าต้องพูดอะไร ทำอะไรนั้นเป็นการทำงานที่ท้าทายความสามารถของนักแสดงมากค่ะ ส่วนการถ่ายทำก็โหดมากซีนที่ยากที่สุดคงจะเป็นฉากที่รถบัสตกสะพาน ใหม่ต้องคอยหลบหลีกไม้ที่จะแทงเรา ต้องอยู่บนรถที่ห้อย 90 องศา ค่อนข้างเวียนหัวและทุลักทุเลค่ะตอนที่กระโดดลงน้ำก็เหยียบหอย เหยียบกรวด เพื่อนบางคนกระโดดลงมาหน้าแข้งฟาดพื้นก็ได้แผลไปตาม ๆ กัน แต่ก็ประทับใจนะ กับเพื่อน ๆ ก็ผูกพันกัน เพราะว่าไปต่างจังหวัดด้วยกันบ่อย กินนอนด้วยกัน เหนื่อยด้วยกันและก่อนหน้าที่จะเปิดกล้อง เราก็ไปเวิร์คช็อปด้วยกัน ก็คุยกันเกือบทุกเรื่อง ถ่ายหนังเรื่องนี้ได้ทั้งเพื่อนใหม่และประสบการณ์ใหม่ ๆ ค่ะ"


สุดปราชญ์ อึ้งตระกูล (โน้ต - 22 ปี) - นักศึกษาชายปี 2 เป็นว้ากเกอร์ เป็นคนอารมณ์ร้าย เก็บกดชอบเอาชนะ สามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

...ด้วยความที่รักการแสดงเป็นชีวิตและการเรียนในคณะนิเทศศาสตร์สาขาภาพยนตร์ ทำให้โน้ตตัดสินใจสมัครเป็นหนึ่งในนักเรียนการแสดงของสมาพันธ์ภาพยนตร์จนผู้กำกับได้ชักชวนให้มารับรุ่นพี่ว้ากเกอร์ ผู้นำของชั้นปีที่ 2

"คาแรกเตอร์ของโน้ตในเรื่องจะเป็นรุ่นพี่ปีสอง เป็นว้ากเกอร์ หัวแข็ง ดื้อไม่ค่อยยอมใคร หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกก็ดีใจมากครับ บทที่ได้รับก็เป็นตัวละครที่มันส์มากได้ใส่ความคิดเห็นของตัวเองเต็มที่ โน้ตชอบการทำงานแบบที่ไม่มีบทนะทำให้มีอิสระและได้มีส่วนร่วมกับหนังมากขึ้น การถ่ายทำก็ยากลำบากมากแต่ก็สนุก ฉากที่ประทับใจก็มีหลายฉากอย่างเช่นฉากรับน้องที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเพราะทุกคนเต็มที่และเป็นการเข้าฉากวันแรก วันนั้นโน้ตต้องซ่อมน้อง ต้องดุให้น้องเกรงกลัว ฉากนี้พี่เพื่อนกับครูโอ๋ให้เราแสดงเต็มที่เลยว่าเราจะข่มเหงรุ่นน้องยังไงทำยังไงให้เขาเชื่อถือก็ชอบครับเพราะเราได้แสดงพลังอย่างเต็มที่"



อมรพรรณ กองตระการ (หมิว - 18 ปี) - นักศึกษาหญิงปี 1 น่ารักแต่มีนิสัยคล้ายผู้ชาย ไม่ยอมใคร แข็งกระด้างห้าว ๆ แต่ตรงไปตรงมา

...หมิวเข้าวงการจากการประกวดมิสทีนไทยแลนด์และคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับหนึ่งในปี 2003 และเป็นเฟรซชี่หมาด ๆ จากคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยคาแร็กเตอร์ห้าว ๆ คล้ายผู้ชายทำให้หมิวได้เป็นหนึ่งในนักแสดงนำ

"พอทราบว่าจะได้เล่นหนังเรื่องนี้ก็ดีใจมากค่ะ เพราะหนึ่งหมิวจะได้เล่นเป็นตัวเองและในชีวิตจริงหมิวก็เป็นเฟรซชี่แล้วก็ต้องมีการรับน้องด้วย ส่วนในเรื่องของการที่ไม่มีบทมันก็เป็นอะไรที่สนุกไปอีกแบบค่ะ เพราะว่าปกติเวลาเราเล่นละคร เราก็ต้องรู้บทก่อน แต่มาเล่นเรื่องนี้จะไม่รู้อะไรเลยคือมันจะประมาณว่า เนี่ย เรามีสถานการณ์แบบนี้ให้คุณนะ ถ้าเป็นคุณ คุณจะทำยังไงมันก็ลุ้น ๆ นะ การถ่ายทำก็โหดและสนุกมาก อย่างมีอยู่ฉากหนึ่งเป็นซีนที่หมิวทะเลาะกับรุ่นพี่ปี 2 แล้วโลเกชั่นมันจะเป็นแม่น้ำและมันจะเป็นขี้โคลน เป็นดินเหนียว ฝนก็ตก เหยียบแล้วมันก็ลื่น ใส่ชุดนักศึกษาด้วยและต้องระเบิดอามรณ์ใส่พี่โน้ต ทะเลาะกัน ต้องโวยวาย ต่อยพี่โน้ตและถ่ายหลายเทคมากแต่เป็นการถ่ายทำที่สนุกมาก พี่โน้ตก็รับส่งอารมณ์ได้ดี พอขึ้นมาดูมอนิเตอร์ก็ได้ดั่งที่ใจต้องการค่ะ"


อิทธินันท์ อุณหเทพารักษ์ (ป๊อก - 20 ปี) - นักศึกษาชายปี 1 เป็นเด็กเรียนดูเอ๋อ ๆ แบบที่เรียกว่าเด็กเนิร์ด แต่ไม่มีพิษมีภัยกับใคร ๆ มักจะออกไปในเพี้ยน ๆ

...หลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตาป๊อกจากบทบาทนักศึกษารุ่นน้องที่โดนรุ่นพี่แกล้งในโฆษณาโทรศัพท์มือถือ ด้วยบุคลิกเฉพาะตัวที่ค่อนข้างเป็นเด็กเรียนบวกกับหน้าตาที่มีเอกลักษณ์ตรงใจผู้กำกับ ทำให้ป๊อกได้เป็นหนึ่งในนักแสดงนำ 17 คน

"คาแร็คเตอร์ในเรื่องจะจ๋อง ๆ ครับ ขี้เล่น ชอบแกล้ง ชอบช่วยเหลือคนอื่นแต่บางทีก็จะไม่ค่อยมั่นใจ แต่บางเรื่องก็จะมั่นใจเช่นเรื่องเต้น ๆ รั่ว ๆ แต่ถ้าไปช่วยใครอาจจะกลัว ๆ หน่อย คาแร็คเตอร์แทบจะไม่ต้องปรับอะไรมาก เพราะได้เล่นเป็นตัวเอง ฉากที่ยากสำหรับป๊อกคือ ฉากรับน้องที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ต้องเข้าฐานเลียสตรอเบอรี่และโดนพี่ไผ่เอาฟักทองยัดปากด้วย ผมไม่ชอบฟักทองครับเลยยาก ส่วนเรื่องที่ประทับใจที่สุดคือประทับใจเพื่อน ๆ ครับ ในหนังเป็นอย่างไรเรื่องจริงเป็นมากกว่านั้น อย่างเวลาว่างจากกองถ่ายเราก็ไปเที่ยวกัน ไปเฮฮาเป็นสังคมเป็นเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งที่เราอยู่ด้วยแล้วสบายใจไม่ต้อง FAKE ถึงแม้การถ่ายทำจะทรหด นอนน้อยนั่งรถนานแต่ก็ดีครับ โหดแต่สนุกดี"



อัจฉรา สว่างไว (อ้อม - 23 ปี) - นักศึกษาหญิงปี 2 เป็นคนขี้กลัวเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความขี้กลัวของเธอส่งผลไปถึงเหล่าบรรดาน้อง ๆ ปีหนึ่งด้วย

...อ้อมกำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 4 คณะบริหารธุรกิจ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่และเคยผ่านผลงานมิวสิควิดีโอเพลงของปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ด้วยความที่เธอรักการแสดงมากจึงสมัครเป็นหนึ่งในนักแสดงการแสดงของสมาพันธ์ภาพยนตร์

"คาแรกเตอร์ในเรื่องจะเป็นคนขี้กลัว งมงายเชื่อในไสยศาสตร์ ส่วนในเรื่องของการไม่มีบทอ้อมก็ว่าดีนะ จะได้ไม่ต้องกังวลมันจะได้เหมือนกับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ แล้วเราจะแก้ไขสถานการณ์นั้นอย่างไร ส่วนฉากที่ประทับใจจะเป็นฉากที่อ้อมเข้าไปห้ามไม่ให้หมิวทะเลาะกับโน้ต น้องหมิวแสดงได้ดีมาก ที่ยากเพราะเป็นเรื่องของโลเกชั่นคือ ต้องลุยโคลนเข้าไปห้ามแล้วอ้อมต้านแรงหมิวไม่อยู่แรงเขาเยอะมาก แต่พอดูในมอนิเตอร์รู้สึกว่าทุกคนแสดงได้เก่งมากค่ะ"



 

ฐาน 1 : เรื่องจริง - ด้นสด

...สถิติการเอนทรานซ์หรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กมัธยมปลายทั่วประเทศไทยในปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 120,000 คนต่อปี แต่ทุกปีและทุกมหาวิทยาลัยจะมีเรื่องราวตำนานความสยองขวัญที่เล่าต่อกันมาเกี่ยวกับกิจกรรมรับน้อง บางคนต้องสังเวยชีวิตให้กับพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และนี่คือเรื่องราวอันสุดสยองที่เมื่อคุณได้ทราบแล้วจะต้องอึ้ง!!!

..."รับน้องสยองขวัญ" อีกหนึ่งผลงานเขย่าขวัญที่นำเสนอโดย ภาคภูมิ วงษ์จินดา ผู้กำกับมากไอเดียที่เคยฝากผลงานเรื่องแรกอย่าง "ฟอร์มาลินแมน รักเธอเท่าฟ้า" ไว้เมื่อปีที่แล้ว ปลายปีนี้เขากลับมาพร้อมกับผลงานที่ทั้งใหม่ ทั้งสดกับการนำทัพนักแสดงหน้าใสที่เกือบทั้งหมดไม่เคยผ่านงานภาพยนตร์ใด ๆ มาก่อนถึง 17 คน มารับบทนักศึกษาเฟรซชี่คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจคือ เหล่านักแสดงไม่มีโอกาสได้ล่วงรู้บทบาทของตนเองล่วงหน้า เนื่องจากเป็นความต้องการของผู้กำกับที่อยากให้ทุกอย่างสมจริง รวมทั้งอารมณ์ของนักแสดง ดังนั้นการดูหนังเรื่องนี้จึงไม่ต่างจากการเฝ้าดูอาการความกลัว ความสยดสยองที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่กดดัน

...อย่าตกใจไปหากคุณจะได้ยินเสียงหัวเราะ อย่าตื่นตระหนกหากคุณได้ยินเสียงร่ำไห้ และโปรดอย่าปิดตาเพราะว่าคุณอาจไม่มีโอกาสได้เห็นขีดสุดความสยองเป็นครั้งที่สอง

...และขอแนะนำสำหรับนักศึกษาน้องใหม่ว่าประสบการณ์การรับน้องในหนังเรื่องนี้จะสอนให้คุณจดจำวิธีหลีกหนีจากความหายนะไปตลอด 4 ปี

ฐาน 2 : แรกคิด - ฉีกสูตร

...ที่มาของ "รับน้องสยองขวัญ" เกิดจากการที่ผู้กำกับภาคภูมิ วงษ์จินดา เกิดสะดุดกับชื่อและมีความต้องการอยากทำหนังสยองขวัญจึงนำโปรเจกต์ดังกล่าวไปเสนอ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้บริหารบริษัทบาแรมยู

"ผมสนใจคำว่า รับน้องสยองขวัญมาก คือชื่อมันมีนัยยะแอบแฝงทำเป็นหนังแล้วน่าสนุก และก็ได้คุยกับคุณปรัชญา ซึ่งเขาก็เห็นด้วย ผมเลยบอกว่าเดี๋ยวผมไปคิดเองว่า จะทำอะไรกับโครงสร้างหนังเรื่องนี้ ก็มานั่งคิดว่าใจจริงผมไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นหนังตามสูตร ไม่อยากให้มันเหมือนหนังญี่ปุ่น หนังฝรั่ง แต่อยากให้เป็นหนังที่แปลกไปอีกแบบหนึ่ง ให้คนดูได้ค้นหาความลึกลับ และอีกอย่างอยากให้หนังเรื่องนี้เป็นการเปิดตัวเด็กใหม่ ๆ กลุ่มหนึ่ง เป็นเด็กใหม่ทุกคนที่ไม่เคยแสดงหนัง ไม่มีพื้นฐานทางด้านการแสดงเพื่อให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องจริง...

...บทตอนนั้นก็ยังไม่เกิด ก็ให้น้อง ๆ ไปเรียนการแสดงกับครูโอ๋ ทิพย์วลัย บุญประคอง ซึ่งเป็นแอ็คติ้งโค้ชในเรื่อง ระหว่างนี้ผมก็ได้ศึกษาคาแร็คเตอร์ของน้องๆ และเริ่มทำบท ซึ่งตรงนี้จะแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นที่เขาจะมีบทก่อน แต่ของผมบทจะตามนักแสดง ดังนั้นเขาจะเล่นเป็นตัวเอง ค่อย ๆ ซึมซับประสบการณ์การผจญภัยไปทีละขั้นจนถึงขั้นสุดท้ายของหนัง เราก็ค่อย ๆ สร้างเงื่อนไข สร้างความขัดแย้ง ค่อย ๆ คิดทีละขั้นตอน และค่อย ๆ บอก การถ่ายทำก็จะเป็นแบบเรียงซีน นักแสดงก็ไม่ต้องเตรียมตัวมาเล่น พอมาถึงกองถ่าย ผมถึงค่อยบอกว่าเหตุการณ์มันเป็นอย่างนี้นะหรือบางเหตุการณ์ก็ไม่บอกจับพวกเขาไปวางและก็ปล่อยให้เขาเล่นเอง...

...ผมยอมรับครับว่า ตอนแรกกดดันมาก กลัวว่าจะล้มเหลว เพราะไม่เคยร่วมงานกับนักแสดงหน้าใหม่ อย่างเรื่องที่แล้วจะเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงทุกคน แต่สิ่งที่ผมไม่ชอบที่สุด คือการเห็นภาพนักแสดงมานั่งท่องบท ผมจึงตัดสินใจที่จะเสี่ยงกับนักแสดงหน้าใหม่ ซึ่งถือว่าผมโชคดีที่เสี่ยงแล้วได้ผล

ฐาน 3 : แอ็คติ้งโค้ช - เวิร์คช็อป

...ภาคภูมิ วงษ์จินดา สารภาพว่า ตอนแรกตกอยู่ในสภาวการณ์ที่กดดันมาก เนื่องจากกลัวความล้มเหลวเพราะไม่เคยร่วมงานกับนักแสดงหน้าใหม่ แต่เมื่อตัดสินใจเลือกครูโอ๋ ทิพย์วลัย บุญประคอง มาเป็นแอ็คติ้งโค้ช ความกดดันจึงกลายเป็นความสนุกและประทับใจ

"ผมเลือกครูโอ๋ เนื่องจากทราบว่าเขาเคยเป็นแอ็คติ้งโค้ชให้กับหนังวัยรุ่นหลายเรื่องและรู้สึกว่าเขาคงเป็นเพื่อนกับเหล่าแสดงได้ เพราะผมไม่อยากได้แอ็คติ้งโค้ชที่เหมือนกับคุณครู พอคุยกันก็รู้สึกว่า มีบางอย่างตรงกันก็เลยให้ครูโอ๋มาช่วยคือ เราไม่อยากเห็นการแสดง อยากให้เป็นชีวิตจริง ก็บอกกับครูโอ๋ว่าอย่าบอกเรื่องบทให้ปิดไว้เลย ซึ่งครูโอ๋ก็ไม่บอกไม่มีการแนะนำอะไรเกี่ยวกับบท ให้นักแสดงคิดเอง ซึ่งแต่ละคนเขาจะเอาคาแรกเตอร์ของตัวเองมาผสมและมีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน วันแรกที่ส่งน้อง ๆ ไปฝึกการแสดง ผมก็ไปแนะนำตัว สิ่งแรกที่เขาถามคือเรื่องของบท พยายามหลอกล่อเรา อยากรู้อยากเห็น แต่ผมก็ปิดบังไม่บอก เขาก็สงสัย งง ๆ แต่เราก็พูดให้เขามั่นใจว่าให้เชื่อใจผม ทั้ง 17 คนนี้ไม่มีใครที่เด่นกว่าใคร ไม่มีใครด้อยกว่าใคร ผมไม่พาคุณมาเล่นแค่นี้แล้วก็ทำลายคุณหรอก จากนั้นมาเขาก็ไม่เคยถาม แต่ก็จะไปแอบถามคนอื่นต่อ (หัวเราะ) จากนั้นพอเขาได้ฝึกเขาก็เริ่มสนิทกัน หลังจากนั้นก็เหมือนกับเขาได้มารับน้องจริง ๆ เมื่อถึงตอนที่ถ่ายทำเขาก็เล่นได้เลย ซึ่งผมคิดว่ามันดีเกินคาด แปลกใจมากครับ เขาเติมเต็มให้เรา บางอย่างเราคิดไม่ถึง ในบทเราแค่บอกคร่าว ๆ แต่พอเขาแสดงเขาเติมความคิดเห็นความรู้สึกบางอย่างให้เรา การได้ครูโอ๋มาช่วยมันจึงกลับกลายเป็นสิ่งที่ดี ความกดดันก็หายไปกลายเป็นความสนุกมากกว่าว่า เอ๊ะ...วันนี้เขาจะมาเล่นอะไรให้เราดู"



ฐาน 4 : ป่าลึก - เมืองร้าง

...สถานที่ถ่ายทำในเรื่องนี้กว่า 70 เปอร์เซนต์คือ เมืองร้างที่เซ็ทขึ้นมาและอีก 30 เปอร์เซนต์คือ ป่าในเมืองไทยที่ทางทีมงานเดินทางเสาะแสวงหา เพื่อต้องการให้อารมณ์แห่งการเอาตัวรอดในป่าแตกต่างจากหนังเรื่องอื่น ๆ ซึ่งการเดินทางไปยังโลเกชั่นแต่ละที่ถือว่าลำบากและทรหดมาก

"สิ่งแรกที่ผมคิดคือโลเกชั่นจะต้องเป็นสถานที่หลอน ๆ หน่อย ต้องน่ากลัว อย่างเมืองร้างเราก็ต้องเซ็ทขึ้นมา เราเลือกโลเกชั่นที่เงียบ ๆ เหมือนอยู่ในป่าจริง ๆ และไม่มีคนอาศัยอยู่ ก็ต้องเซ็ทให้มันผุพัง มีกลิ่นอายของความสยองขวัญ ส่วนการถ่ายทำในป่ามันเป็นจินตนาการของหนัง เราอยากให้เขาหลุดจากโลกที่เขาเคยเห็นจึงเลือกป่าที่ไม่เหมือนหนังเรื่องอื่น ทางโปรดักชั่นดีไซน์เขาก็บอกว่าหนังไทยทั่วไปมีป่าเยอะแล้ว เราก็ถามว่ามีป่าแบบไหนอีกหรือเปล่าที่แปลกกว่าปกติ ก็มาเจอที่ 'ทุ่งแสลงหลวง' ซึ่งเป็นป่าสนสองใบที่ขึ้นอยู่ในที่สูงเท่านั้นจะมีต้นสนที่สูงชะลูดเรียงกันเป็นแถว ดูแล้วน่ากลัว เป็นซีนที่เขาหลงทาง เขาต้องเดินอยู่ในป่าที่มองไปรอบด้านก็คือป่าและมีความร้อนอยู่ในตัว คือมองไปทางไหนก็เห็นแต่ต้นสนเต็มไปหมด ซึ่งผมว่ามันเหมือนลายกราฟฟิกที่มีความลึกลับเหมือนมีอะไรซ่อนอยู่หลังต้นสนที่คุณไม่อาจรู้ คือเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาต้องเผชิญต่อไปมันคืออะไร ความตายพร้อมที่จะเข้ามาหาเขาตลอดเวลา...

...โลเกชั่นในแต่ละที่เดินทางลำบากมากบางที่ต้องเอารถโฟว์วิลขึ้น รถตู้ขึ้นไม่ได้ยิ่งฝนตกก็ยิ่งอันตรายแต่อย่างว่าของสวยก็ต้องอยู่ลึก เดินทางก็ครึ่งวันแล้ว พอถึงก็ถ่ายได้อีกนิดหน่อย หรืออย่างโลเกชั่นที่ 'อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี' ก็ต้องนั่งเรือหางยาวไปถ่าย เนื่องจากเป็นป่าที่มีแม่น้ำกั้นกลางต้องเช่าแพให้นักแสดง แต่น้อง ๆ เขาก็ไม่บ่นซักคำ ผมว่าเขาลำบากนะที่มาเนี่ย เพราะว่ามันเหนื่อย นอนน้อยต้องรีบตื่น ต้องมานั่งปีนเขา โดนผึ้งโดนยุงกัด แต่เขาก็เล่น ฝนตกเขาก็เล่นคือ เขาให้ใจเรา"

ฐาน 5 : เสี่ยงเป็น - เสี่ยงกัน

...สิ่งที่ควบคุมยากที่สุดในการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ คือเรื่องของโทนหนัง เพราะไม่ต้องการหนังที่มีแสงจ้า สวยสดใส แต่ต้องการหนังที่มีบรรยากาศอึมครึม ครึ้มฟ้าครึ้มฝนตลอดเวลา และสิ่งที่รองลงมาคือเรื่องของการแสดง เนื่องจากเขาไม่รู้ว่าตอนที่ถ่ายทำจะเกิดอะไรขึ้น นักแสดงจะสามารถแสดงได้หรือเปล่า ทุกอย่างจึงเรียกว่าการเสี่ยงแต่ภาคภูมิบอกว่าเป็นการเสี่ยงที่ได้ผล

"อุปสรรคในการถ่ายทำจะเป็นเรื่องของฝน แต่จริง ๆ แล้วก็คือ บรรยากาศที่ผมต้องการคือบรรยากาศหลังฝนตกใหม่ ๆ ดังนั้นเราต้องคุมโทนนี้ไว้ตลอดเวลา แดดจัดเราก็ถ่ายไม่ได้ ฝนตกเราก็ถ่ายไม่ได้ ต้องรอจังหวะที่มีเมฆและไม่มีแสงอาทิตย์ ส่วนในเรื่องของการแสดง เราต้องวางแผนมากกว่าปกติ เป็นเพราะว่าเราไม่สามารถควบคุมนักแสดงได้ คือจะให้นักแสดงไปท่องบทไม่ได้ เราวางบล็อกมากไม่ได้ เนื่องจากเป็นนักแสดงใหม่ เราจะไปบอกให้พูดอย่างนี้แล้วหยุดนะ...แล้วเปลี่ยนมุม มันก็ไม่ได้ ต้องยิงเป็นมาสเตอร์ตลอด ทีมงานก็เครียดในสิ่งที่เราต้องเพิ่มเพื่อมาแก้ไขในจุดบอด บางครั้งต้องให้เขาเล่นจริงไปเลย แล้วเราค่อยมาเจาะ และต้องมีการตัดต่อหน้ากอง ถ่ายไปตัดไปเลย เพื่อจะดูว่าตัดแล้วลงตัวหรือเปล่า ต้องวางแผนอย่างหนักครับ...

...หนักตรงที่เราควบคุมไม่ได้ เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเรามีบท นักแสดงก็ซ้อมให้เราดูได้ แต่เรื่องนี้ซ้อมไม่ได้ เราต้องเอาจริงต้องไป ณ โลเกชั่นตอนถ่ายเท่านั้น ถ้าเขาเล่นไม่ได้ก็จบ เสี่ยงพอสมควร คือเหมือนกับว่าเราไม่มีสิทธิ์รู้ก่อนว่าเขาเล่นได้หรือไม่ได้ เราเสี่ยงเอาเลย หน้ากองคุณต้องเล่นได้เท่านั้น แต่ถือว่าผมโชคดีที่เสี่ยงแล้วได้ผล เรื่องนี้ต้องวางแผนเป็นอย่างดี เพราะเราต้องเล่นกับคนจำนวนมาก ต้องเล่นกับนักแสดงที่เขาไม่รู้เลยว่าเขาเล่นเป็นอะไร ไม่รู้เลยว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร แต่พอดีเราได้ทีมงานมืออาชีพและค่อนข้างเข้าใจ ถ้าเขาไม่เข้าใจ เขาจะหงุดหงิดที่เราเปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่ตลอด"

ฐาน 6 : แหกกฎ - สดใหม่

...หนังเรื่องนี้ถือเป็นการแหกกฎหมดทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่การนำนักแสดงหน้าใหม่ทั้ง 17 คนมาเล่นเป็นตัวเอง ไม่มีบท ไม่มีการซ้อมล่วงหน้า ทุกอย่างสดจริง และอีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากการถ่ายหนังทั่วไปคือ การนำกล้องระบบดิจิตอลหรือ HD (High – Definition Camera) มาใช้ในการถ่ายทำ

"ประเด็นแรกที่ใช้กล้อง HD เนื่องจากหนังเรื่องนี้ไม่มีบทและนักแสดงก็เป็นเด็กใหม่ทั้งหมดประสบการณ์เขายังน้อย เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะเล่นดี เล่นเนียนและคนดูจะไม่รู้สึกว่ามันเป็นการแสดง ก็เลยต้องให้เขาเล่นเป็นตัวเอง ดังนั้นถ้าใช้ฟิล์มคงหมดฟิล์มมหาศาลแน่ เราถ่ายเทคหนึ่งจะกินเวลาเกิน 4 นาที ฟิล์มม้วนหนึ่งไม่สามารถเก็บหมดได้ แต่ถ้าเป็นกล้อง HD เราจะถ่ายได้ตลอด แล้วนักแสดงจะมีอิสระในการแสดง เขาสามารถเล่นได้จริง โดยที่เราไม่ต้องคำนึงว่าจะต้องคัท เพื่อเบรกอารมณ์แล้วมาต่อคัทใหม่เพื่อเซฟฟิล์ม แต่เราปล่อยให้เขาเล่นจนจบตลอด ผลที่ได้ก็ดีเกินคาดครับ เพราะผมไม่อยากเห็นการแสดงแต่อยากเห็นเรื่องจริง อยากเห็นการเอาตัวรอดจริง ๆ การหนีจากหายนะ ส่วนอีกประเด็นคือการใช้กล้อง HD จะได้เรื่องของแสงและสีในหนัง ผมอยากได้หนังที่สีแปลก ๆ ภาพที่ได้ก็เลยดูแปลกตา ผมว่ามันเป็นอีกแนวของภาพยนตร์ไทยนะ เรื่องนี้เป็นผลงานเรื่องที่สอง แต่ก็เป็นเรื่องที่สองที่อยากทำอยากทดลอง ทดลองกับความใหม่ของวงการหนังไทย หนังไทยที่มีนักแสดงใหม่ ๆ ทั้งหมด แล้วก็ไม่คำนึงเรื่องของบท ไม่ได้คำนึงถึงอะไรหลาย ๆ อย่างที่มันเป็นประเพณี"



ฐาน 7 : สาหัส - สากรรจ์

...แม้สิ่งที่ยากที่สุดในเรื่อง "รับน้องสยองขวัญ" จะเป็นเรื่องของการแสดง แต่ก็มีการถ่ายทำฉากใหญ่ที่ผู้กำกับและทีมงานต้องวางแผนการถ่ายทำนานกว่า 2 เดือน ฉากดังกล่าวคือ จุดเริ่มต้นของความหายนะ

"ฉากที่ยากที่สุดในการถ่ายทำคือ ฉากรถตกสะพานครับ เป็นฉากแอ็คชั่นและฉากอารมณ์พร้อมกัน เราไปถ่ายทำกันที่ 'ฟิชชิ่งปาร์ค มีนบุรี' ที่ว่ายากเพราะทุกอย่างใหญ่หมด ต้องเซ็ทสะพานขึ้นมา ใช้เครนหนัก 50 ตัน 2 ตัวยกตัวรถขึ้นไป เฉพาะความสูงของตัวรถก็ 10 เมตร แล้วยกสูงกว่าพื้นดินอีก 15 เมตร เครนก็ต้องโยกรถโดยที่นักแสดงต้องห้อยโหนสลิงอยู่บนนั้นและดิ่งลงมา 90 องศา การถ่ายทำก็ใช้กล้อง 3 ตัว ตัวหนึ่งต้องขึ้นไปอยู่บนรถบัส อีกตัวอยู่ในน้ำ ฉากนี้ไม่กล้าคำนวนงบประมาณเลยครับ หมดไปเยอะมาก รถบัสเราก็ต้องซื้อคันใหม่มาแล้วก็โยนทิ้งลงในน้ำ ใช้การต่อไม่ได้ ตอนแรกเราไม่คิดว่าจะทำได้ จึงทำเป็นแอนิเมติก (animatic) เป็นภาพเคลื่อนไหวขึ้นมาก่อน แล้วตอนที่ถ่ายฉากนี้ต้องเจอเรื่องของฝน เรื่องของแสง กว่าจะถ่ายได้แต่ละคัทแทบสาหัส สงสารน้อง ๆ มาก เขาต้องตากแดดโหนสลิงเกือบทั้งวัน และจะต้องแช่น้ำหลายชั่วโมง แต่พอลองตัดต่อออกมาแล้วรู้สึกพอใจมากเลยครับ"

ฐาน 8 : ประทับจิต - ประทับใจ

...ถ้าถามว่าอะไรคือความประทับใจในหนังเรื่องนี้ ภาคภูมิบอกว่ามันคือทุกอย่าง ทั้งตัวเขา, นักแสดงและทีมงานทั้งหมดทุ่มเทให้กับหนังเรื่องนี้มาก จากความเครียดในช่วงแรกเนื่องมาจากความกังวลกลัวว่านักแสดงจะเล่นไม่ได้ กลับกลายเป็นความประทับใจและความสนุก

"ผมว่าเด็กรุ่นใหม่เขากล้าแสดงออกมากขึ้น มีพลังในตัวเองมีสิ่งที่จะทำให้ดีที่สุด ดีมาก ๆ บางครั้งอาจจะดีเกินไปก็ได้และด้วยความที่เขาเป็นนักแสดงใหม่เขาก็อยากจะทำอะไรให้มันดีที่สุด พอเขาเล่นเสร็จเขาก็จะมาถามผมว่าได้มั๊ย ได้หรือยัง เด็กทุกคนเขาให้ใจ เขาเห็นผมเห็นครูโอ๋เป็นพี่ ทุกคนเหมือนได้มาเที่ยวด้วยกัน เวลามากองถ่ายเขาจะสนุกมาก เวลาแสดงเขาก็ปล่อยเต็มที่เหมือนเจอสถานการณ์จริง ๆ เด็กสมัยนี้กล้าพูด กล้าทำ กล้าแสดงความเห็น เขาไม่ได้เกรงใจผู้กำกับว่าเราจะดุ แต่จะมาคอยปรึกษาเรื่องนั้นเรื่องนี้ อย่างบางครั้งก็จะมาปรึกษาเรื่องส่วนตัวซึ่งทำให้เรารับรู้คาแร็คเตอร์เขามากขึ้น แม้ว่าตอนแรก ๆ เขาอาจจะยังปรับตัวไม่ได้ อาจจะตะกุกตะกักหน่อย แต่พอเขาเริ่มแสดง เขาก็เล่นได้ดีขึ้นทุกวัน เหมือนกับเขาทำการบ้านมากกว่าปกติไปเรื่อย ๆ โดยที่เราไม่ต้องไปแนะนำเขา แต่เมื่อเขาได้รับรู้เบื้องต้นว่าวันนี้เขาจะต้องมารับน้องนะ ส่วนวันนี้เขาต้องเข้าป่า เขาก็จะรู้แล้วว่าวันนี้เขาต้องมาตกระกำลำบาก อารมณ์ตรงนั้นเขาก็จะมา ผมว่านักแสดงกลุ่มนี้เขามีพัฒนาการ มีจินตนาการทางการแสดงสูง เราก็ง่ายต่อการกำกับไม่มีปัญหาเลยเรียกว่าพอใจเกินร้อยเปอร์เซนต์ครับ"

ฐาน 9 : เฟรชชี่ - เฟรชชี่

"ตอนที่เราคัดเลือกนักแสดงก็ไม่ได้วางลิมิตว่าจะต้องเป็น 17 คน แต่เราได้มาเท่านี้ เพราะนอกนั้นคาแร็คเตอร์ก็จะซ้ำ ๆ กัน คือเราจะพยายามให้เห็นว่า 17 คนนี้คาแร็คเตอร์จะแตกต่างกัน แต่ละคนมีจุดเด่นแต่ละแบบไม่มีใครเด่นกว่าใคร ไม่มีใครเป็นพระเอกนางเอกอย่าง 'แพท' เขาก็จะเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก บางสถานการณ์เวลาที่เขาเห็นเพื่อนทะเลาะกัน เขาจะไม่อยู่นิ่งจะเข้ามาห้าม กล้าพูดกล้าทำแข็ง ๆ แต่ก็น่ารัก, 'ไม้' จะเป็นเด็กซื่อ ๆ เหมือนเด็กต่างจังหวัดที่มาเรียนในกรุงเทพฯ, 'พลอย' ด้วยรูปร่างหน้าตาของเขาจะเหมือนคุณหนู บอบบาง ขี้โรค เราก็ได้เด็กขี้โรคเพิ่มขึ้นมา, 'น้องตาล' เขาจะเหมือนเด็ก ๆ อยากรู้อยากเห็นตลอดเวลา, 'เคนตะ' เราไปเจอเขาที่สมาคมผู้กำกับฯ เขาเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นพูดไทยได้บ้าง เราก็ได้เด็กลูกครึ่งมาคนหนึ่งซึ่งบุคลิกของเด็กญี่ปุ่นเขาจะค่อนข้างเป็นสุภาพบุรุษ, ส่วน 'น้องเพื่อน กอบกุลยา' เป็นอะไรที่น่าแปลกใจมาก เพราะเขาเรียนแพทย์ เป็นเด็กเกียรตินิยมเป็นดาวมหาวิทยาลัย แล้วเขาจะมาแสดงอะไรได้ แต่พอเราเห็นเขาแสดง โอ้โห...นักแสดงมืออาชีพบางคนยังอาย เขาสามารถเล่นอะไรที่กดดันมาก ๆ ได้, 'หมิว' คาแร็คเตอร์เขาจะเหมือนเด็กผู้ชายเหมือนทอม ดูแล้วเป็นคนที่เอาแต่ใจตนเอง, 'โอปอ' เขาจะดูเซ็กซี่ดูเป็นสาวกว่าคนอื่นเราเลยวางเอาไว้ว่าเขาจะมีความเซ็กซี่อยู่ในตัว, 'ปีใหม่' เขาเป็นคนที่มีเสน่ห์ต่อเพศตรงข้าม เวลาเขายิ้มมีเขี้ยว ดวงตาสวย ดวงตาเขาสามารถเล่าเรื่องได้, ส่วน 'น้องแอร์' เขาจะเป็นสาวหมวย ค่อนข้างร่าเริง แต่พอถึงคราวเก็บกดเขาก็จะออกแนวประสาทหลอน ๆ หน่อย, 'เต้ย' เขาจะเป็นฮิปฮอป ชอบร้องเพลง ชอบเต้นเป็นพวกที่มีดนตรีในหัวใจและมีเรื่องราวความรักเข้ามาเกี่ยวข้อง, 'ป๊อก' เขาจะเป็นเด็กเรียน เป็นเด็กเนิร์ด เอ๋อ ๆ แต่เก่ง...

...ส่วนรุ่นพี่ปีสองก็จะมี 'โน้ต' เป็นว้ากเกอร์ หัวแข็งซึ่งตัวเขาก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เขาจะคอยบอกว่าถ้าเขาเป็นรุ่นพี่เขาจะข่มเหงรุ่นน้องแบบไหน, 'ไผ่' เขาจะเป็นพวกเอนเตอร์เทนเนอร์เป็นพวกที่ทำให้รุ่นน้องมีความสุข สนุกสนาน ไผ่เขาจะมาพรีเซนต์ตลอดเวลาคือเขาเป็นคนที่มีความสามารถทางด้านร้องเพลงแล้วเขาจะติดตลก คนในกองถ่ายก็จะชอบ เขาจะคอยเติมมุขที่ทันสมัยให้, รุ่นพี่อีกคนคือ 'บอมบ์' เขาจะเหมือนไผ่แต่จะแตกต่างกันอย่างละนิด, 'จอห์นสัน' จะมีอะไรลึก ๆ อยู่ในใจ เขาสามารถเล่นอะไรที่มีเรื่องราวลึก ๆ ได้ โดยอาจจะแสดงออกถึงความรักต่อน้อง ๆ แต่จริง ๆ แล้วความรักของเขาจะมีบางอย่างที่ซ่อนอยู่, ส่วน 'อ้อม' รุ่นพี่อีกคน จะเป็นผู้หญิงโบราณจะเชื่อเรื่องของไสยศาสตร์ งมงาย ขี้กลัว ขี้ตกใจ หวาดระแวง แต่เมื่อตนเองต้องมาเป็นรุ่นพี่ต้องมาคอยดูแลน้อง ๆ ก็ทำให้รุ่นน้องหวาดระแวงไปกับความคิดของเขาด้วย"

 
 
Share this article :

แสดงความคิดเห็น