Home » , » ประวัติ มิตร ชัยบัญชา

ประวัติ มิตร ชัยบัญชา

มิตร ชัยบัญชา

หรือชื่อจริงคือ “พิเชษฐ์ พุ่มเหม” เกิดที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2477 ชีวิตวัยเด็กใช้ชื่อว่า “บุญทิ้ง” เพราะถูกพ่อ-แม่ทิ้ให้อยู่กับปู่และย่า เป็นเด็กกำพร้า เพราะพ่อ-แม่แยกทางกัน และเป็นเด็กวัดอยู่วัดท่ากระเทียม วัดสนามพราหมณ์ เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลวัดจันทร์ เมื่ออายุได้ 8 ขวบแม่จึงมารับตัวมาอยู่กรงเทพฯ อยู่ที่ ถ.พระเนียง เขตป้อมปราบ และเข้าเรียนที่โรงเรียนไทยประสาท ถ.หลานหลวง

 


 
ในปี ๒๔๙๔ ได้เป็นแชมป์เปี้ยนมวยสากลนักเรียนสมัครเล่น ในรุ่นเฟเทอร์เวท และในปี พ.ศ.2495 เป็นแชมป์ในรุ่น ไลท์เวท สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนพอสมควร หลังจากจบ ม.๖ ก็ได้ไปเรียนต่อระดับเตรียมอุดม ที่ พระนครวิทยาลัย เรียนได้เพียง 1 ปีก็ลาออกเพื่อมาสมัครสอบเข้านักเรียนจ่าอากาศ เหล่า “ศิษย์การบิน” และก็ได้เป็นทหารตามต้องการ จนกระทั่งได้เป็นครูฝึกที่กองพันต่อสู้อากาศยาน ดอนเมือง ได้รับพระราชทานยศจ่าอากาศโท 

และที่ดอนเมืองนี้เองก็มีเพื่อนรักของคุณมิตร อาสาที่จะนำรูปถ่ายของคุณมิตรไปแนะนำให้คุณกิ่งแก้ว แก้วประเสริฐ นักหนังสือพิมพ์ และต้นปี ๒๕๐๐ ก็ได้มีคนแนะนำคุณมิตรให้รู้จักกับคุณ กิ่งแก้ว แก้วประเสริฐ และก็สนิทสนมกับคุณกิ่งแก้ว จนได้มีโอกาส พบกับคุณสุรัตน์ พุกกะเวส ผู้อำนวยการนิตยสารดาราไทย และคุณสุรัตน์ได้พาคุณมิตรไปพบกับ คุณประทีบ โกมลภิส และคุณรังสรรค์ ตันติวงศ์ที่โรงถ่ายศรีอยุธยา และในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๐ คุณประทีป และคุณรังสรรค์ได้มอบบท “ไวย ศักดา” พระเอกของเรื่อง “ชาติเสือ” จากบทประพันธ์ของ อรวรรณ และคุณประทีป ซึ่งเป็นผู้กำกับของเรื่องนี้ได้ตั้งชื่อให้จาก “จ่าอากาศโทพิเชษฐ์ พุ่มเหม”เป็น “มิตร ชัยบัญชา”

และหนังที่ทำให้ชื่อของมิตร ชัยบัญชาเป็นที่รู้จักของประชาชนก็คือ บทของโรม ฤทธิไกร หรือ อินทรีแดง ในเรื่อง “จ้าวนักเลง” จากบทเศก ดุสิต

ในปี พ.ศ. 2502  ก็ได้จดทะเบียนสมรสอย่างเงียบๆ กับคุณ จารุวรรณ และในปี 2504 ก็มีลูกชาย ๑ คนคือต้น หรือ ยุทธนา แต่ชีวิตสมรสก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ต้องหย่ากันในที่สุด ก็คงเป็นเพราะคุณมิตร ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง เวลาทั้งหมดในชีวิตนั้นคุณมิตรให้เป็นของชาวไทย

ในปี 2504 คุณมิตรได้แสดงภาพยนตร์คู่กับคุณเพชรา เชาวราษฎร์เป็นเรื่องแรกคือ “บันทึกรักพิมพ์ฉวี“และก็ได้แสดงภาพยนตร์คู่กันเป็นดาราคู่ขวัญร่วมงาน กันตลอด จนแฟนๆ ภาพยนตร์เรียกว่า “มิตร-เพชรา” และได้แสดงหนังคู่กันประมาณ 200 เรื่อง ถึงแม้ในบทภาพยนตร์ จะเป็นคู่รักกันตลอดแต่ในชีวิตจริงของทั้งคู่นั้นจะโกรธกันอยู่บ่อยๆ จนบางครั้งจะไม่พูดกันเลยเป็นเดือนๆ ทั้งๆที่แสดงหนังร่วมกันอยู่

ในปลายปี 2504 คุณมิตรประสบอุบัติเหตุ จากการเดินทางไปดูโลเกชั่นเพื่อถ่ายหนังเรื่อง “ทวนสุริยะ” ของ ปรีชา บุญยเกียรติ เป็นเหตุให้คุณมิตร สะบ้าแตก หน้าแข้งหัก กระโหลกศรีษะกลางหน้าผากเจาะ และฟันหน้าบิ่น และยังเป็นผลให้คุณปรีชา บุญยเกียรติ เสียชีวิต

ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๐๖ คุณมิตรลาออกจาก กรมอากาศโยธิน กองทัพอากาศ ดอนเมือง อาชีพที่คุณมิตรรักที่สุด


การทำงานของคุณมิตรนั้น ใน 1 เดือน จะขอหยุดพัก 1 วัน คือทุกวันที่ 15 ของเดือน ดังนั้นใน 1 ปี จะมีวันพักผ่อนเพียง 12 วันเท่านั้น และในชีวิตจริงนั้นคุณ มิตรยังต้องทำตัวเป็นโสดเพื่อรักษาความนิยมของแฟนๆ
ในปี 2508 คุณมิตร พร้อมกับคุณ พิศมัย วิไลศักดิ์ ได้รับพระราชทานรางวัลดาราทอง จากคุณสมบัติ 4 ประการ คือ ศรัทธา หน้าที่ ไมตรี น้ำใจ และในปีนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการแห่งละโว้ภาพยนตร์ ได้สร้างภาพยนตร์มาตราฐาน 35 ม.ม. ระบบซูเปอร์ซีเนสโคป สีอิสต์แมน เรื่อง เงิน เงิน เงินโดยมีพระเอกและนางเอกคือ คุณมิตรและเพชรา ร่วมด้วยคุณชรินทร์ นันทนาคร คู่กับคุณ สุมาลี ทองหล่อ ,คุณสุเทพ วงศ์กำแหง คู่กับ คุณ อรสา อิศสรางกูรฯ มี 14 เพลงไพเราะจาก 15 นักร้องดัง พร้อมดาราทั่วฟ้าเมืองไทยกว่า 58 คน สามารถทำรายได้มากเป็นประวัติการณ์ ทำให้ในปี 2509 สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงฯ ได้มอบโล่ห์รางวัลพระราชทานให้กับคุณมิตรและคุณเพชราในฐานะ ที่ภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน ทำรายได้สูงสุด

หลังจากที่คุณมิตรแสดงภาพยนตร์และใช้ชื่อว่ามิตร ชัยบัญชามาได้ 10 ปี ดังนั้นในวันที่ 13 มีนาคม 2510 คุณมิตรจึงได้ขอเปลี่ยนนามสกุลที่อำเภอดุสิต ขอจดทะเบียนตั้งชื่อสกุลว่า ชัยบัญชา ดังนั้นคุณมิตรจึงมีชื่อตามบัตรประชาชนใบใหม่ที่ออกให้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2512 หมดอายุ วันที่ 2 มกราคม 2518 ว่า “พิเชษฐ์ ชัยบัญชา”

ในวันที่ 1 กันยายน 2511 คุณมิตร ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ในนามกลุ่มหนุ่มได้เบอร์ ๘๑ หาเสียงในเขตบางรัก ยานนาวา สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบ แต่ก็ไม่ได้รับเลือก ดังนั้น ในปี 2512 ก็ได้ลงสมัครอีกครั้งแต่เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระนคร ได้เบอร์ 34 คู่กับ คุณปราโมทย์ คชสุนทรเบอร์ 35 แต่ก็ไม่ได้รับเลือกอีก

ในปี 2513 คุณมิตร ได้แสดงภาพยนตร์ร่วมกับคุณเพชรา อีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ของรังสี ทัศนพยัคฆ์คุณมิตรรับบทเป็น “คล้าว”หนุ่มบ้านนาผู้ยากจน และเพชรา รับบทเป็น “ทองกวาว” ลูกสาวเศรษฐีในหมู่บ้าน เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้พิสูจน์รักแท้ฝ่าฟันอุปสรรค์ต่างๆ และดำเนินเรื่องไปพร้อมกับเพลงลูกทุ่ง ถึง 14 เพลง และ คุณมิตร ยังร้องเพลงลูกทุ่งประกอบ 2 เพลง ปรากฏว่ามนต์รักลูกทุ่ง เป็นภาพยนตร์ที่ปลุกกระแสของ มิตร-เพชราอีกครั้ง และยังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของภาพยนตร์ไทยฉายในกรุงเทพฯนาน 6 เดือน ทำรายได้มากกว่า 6 ล้านบาท และทำให้เพลงทุกเพลงในภาพยนตร์ดัง และยังทำให้คนกรุงเทพฯ ร้องเพลงลูกทุ่งกัน
และในปี 2513 นี้คุณมิตรยังมีโครงการที่จะสร้างโรงภาพยนตร์ชัยบัญชาที่เชิงสะพานผ่านฟ้า ตรงข้ามกับศาลาเฉลิมไทยได้กระทำพิธีทางศาสนาเรียบร้อยแล้ว และในปี 2513 นี้คุณมิตรยังได้มีการแสดงภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่ฮ่องกง โดยได้แสดงร่วมกลับ เดวิดเจียง, กว่างหลิง

และในปีนี้คุณมิตร ก็ได้เริ่มโครงการการสร้างภาพยนตร์ของตนเองโดยทำหน้าที่ทั้งแสดงนำ และกำกับการแสดงเป็นเรื่องแรก ในเรื่อง”อินทรีย์ทอง” โดยจะเป็นการกลับมาอีกครั้งของ อินทรีแดง หรือ โรม ฤทธิไกร ที่ต้องออกสืบหาอินทรีแดงตัวปลอม โดยมีผู้ร่วมแสดงคือ คุณเพชรา เชาวราษฎร์เป็น วาสนา แฟนของ โรม และ ครรชิต ขวัญประชา รับบทเป็น อินทรีแดงปลอม การถ่ายทำดำเนินมาด้วยดีจนถึงปลายเรื่องในฉากสุดท้าย ที่ต้องเข้าปราบปรามคนร้ายแล้วก็ต้องหนีตำรวจออกจากรังของคนร้ายนั้นโดยใช้ เฮลิคอปเตอร์ คุณมิตร ได้เลือกสถานที่ถ่ายทำที่หาดดงตาล พัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี และตกลงการถ่ายทำฉากสุดท้ายของเรื่องในเช้าวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๑๓ เวลา ๙.๐๐ น.

ฉากสุดท้ายนั้นคุณมิตร ได้ดัดแปลงจากบทประพันธ์เดิม โดยสมมุติว่า วาสนา (เพชรา) เป็นผู้ขับ เฮลิคอปเตอร์มารับตัว โรม(อิทรีทอง) และคุณมิตรซึ่งรับบท โรม ฤทธิไกรนั้นจะต้องวิ่งหนีตำรวจมาโหนบันไดเชือกของเฮลิคอปเตอร์ที่บินมารับ แล้วปีนบันไดขึ้นไป กล้องก็จะตามเก็บภาพให้เห็นเฮลิคอปเตอร์พาอินทรีแดงลับหายไป


ในการถ่ายทำฉากนี้เพื่อความสมจริงคุณมิตร ตกลงว่าจะแสดงด้วยตัวเองเพื่อผู้ชมชาวไทยทุกๆคน ในการถ่ายทำจริงคุณมิตรก็ได้วิ่งกระโดดเกาะบันไดเชือกของเฮลิคอปเตอร์ โดยมือซ้ายเกาะอยู่ที่ขั้นที่ 4 มือขวาอยู่ที่ขั้นที่ 3 และตามที่ได้ตกลงก่อนถ่ายทำว่า ถ้านักบินได้รู้สึกถึงแรงถ่วงที่บันไดให้นำเครื่องขึ้นได้ทันที ดังนั้นนักบินซึ่งจะมองไม่เห็นคุณมิตร ก็ได้นำเครื่องขึ้นทันทีด้วยแรงกระตุกของเครื่องทำให้คุณมิตร ข้อมือเคล็ด ไม่มีแรงปีนขึ้นบันได ทำให้ตัวต้องห้อยอยู่ที่บันได โดยมีแต่มือที่โหนอยู่เท่านั้น และเมื่อเครื่องขึ้น ก็มีทั้งแรงลมจากเฮลิคอบเตอร์ และแรงลมธรรมชาติ พัดให้คุณมิตร ปลิวอยู่กลางอากาศ และทำให้ข้อมือคุณมิตรหัก และไม่มีแรงโหนตัว และในจังหวะที่เครื่องเลี้ยวกลับ ทำให้มีแรงเหวี่ยงรุนแรงเป็นเหตุให้คุณมิตร ไม่สามารถที่จะโหนตัวต่อได้ ร่างของคุณมิตร ลอยลงมาจากเฮลิคอปเตอร์กระแทกกับพื้นของ หาดดงตาล ทำให้คุณมิตรเสียชีวิตเกือบจะทันที

คุณมิตร ได้พักผ่อนอย่างสงบสุขแล้ว หลังจากที่ให้ความสุข สนุกสนานแก่ชาวไทยมาถึง 13 ปี คุณมิตรเสียชีวิตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2513 เวลา 16.13 น.
อย่างไรก็ตามในหัวใจของชาวไทยยังคงมีดาราทองคนนี้ “มิตร ชัยบัญชา” อยู่ตลอดกาล

ใกล้กับคิวจอดรถ ไม่ทราบว่าเป็นโรงหนังอะไร ประกาศไว้ข้างหน้าโรงหนังว่า มีหนังการตายของ มิตร ชัยบัญชา มาฉายประกอบด้วย ปรากฎว่าคนดูโรงแทบพัง ก็คงจะเห็นใบหน้าบวมเป่งของ มิตร ชัยบัญชา มากกว่าอย่างอื่น นั่นเป็นการฉวยโอกาสที่รวดเร็ว และน่าเอน็จอนาจเหลือประมาณ ผู้ที่ติดตามข่าวการตายของมิตร เป็นลำดับมา โดยเฉพาะหน้าหนึ่ง ของหนังสือพิมพ์ จะได้เห็นฟิลลิ่งที่ ดำเนินคล้ายหนังไทย เริ่มด้วยความเศร้า แล้วก็ริษยาแย่งสมบัติ แล้วก็เศร้าอีก เพราะไม่มีสมบัติอย่างที่นึกหวัง แล้วก็ถึงคราวขุดคุ้ย มีรักที่ไหนกับใครเผยจนหมดเกลี้ยง เกลี้ยงจนขาวไปทั้งกระดูก คราวนี้ก็ถึงตอนเศร้าอีกหน โดยเฉพาะผู้ที่มีความรักเห็นใจ มิตร ชัยบัญชา จริงๆ เพราะเขาไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ล่อนจ้อนจริงๆ

ที่มา : หนังสือวันมิตร ชัยบัญชา รำลึก ๘ ตุลาคม ๒๕๓๙
มูลนิธิหนังไทย ในพระอุปถัมถ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ

“ชีวิตใหม่ของผม นั้นไม่ได้เริ่มต้นตรงปีใหม่ปีไหนเลย แต่มันเริ่มต้น เมื่อผมเบนเข็มชีวิต เข้ามาหาในวงการธุรกิจ มาเป็นพระเอกหนัง ผมไม่ได้ชื่นชมเท่าไรนัก กับการเป็นพระเอกหนัง เพียงแต่ผมชื่นชอบ เมื่อได้รู้ได้เห็นว่า มีประชาชนคนดูหนัง ยังมีเมตตาปราณีกับผม”

มิตร ชัยบัญชา

ที่มา : นิตยสารดาราไทย เดือนมกราคม พ.ศ.2503

ประวัติโดยย่อ

มิตร ชัยบัญชา เกิดที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ใช้ชื่อว่า “บุญทิ้ง”เพราะถูกพ่อ-แม่ทิ้ง ให้อยู่กับปู่และย่า ก่อนที่แม่จะรับมาอยู่ด้วยที่กรุงเทพฯ เมื่ออายุได้ ๘ ขวบ พออายุ ๒๒ ปี ได้เริ่มรับราชการทหารอากาศ ยศ จ่าอากาศโท ในชื่อ “พิเชษฐ์ พุ่มเหม”

พ.ศ.๒๕๐๐ได้แสดงภาพยนตร์ “ชาติเสือ” เป็นเรื่องแรกในชีวิตในชื่อ “มิตร ชัยบัญชา”
พ.ศ.๒๕๐๘ได้รับรางวัลดาราทองพระราชทาน
พ.ศ.๒๕๐๙ได้รับโล่ห์รางวัลพระราชทาน ฐานะดาราคู่ขวัญในภาพยนตร์เรื่อง “เงินเงินเงิน” ทำรายได้มากที่สุด
พ.ศ.๒๕๑๓วันที่ ๘ ตุลาคม มิตร ชัยบัญชา ประสบอุบัติเหตุตกจากเฮลิคอปเตอร์ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “อินทรีทอง” เสียชีวิตทันที ณ บริเวณอ่าวพัทยาใต้ ชลบุรี
พ.ศ.๒๕๑๔วันที่ ๒๑ มกราคม ประชาชนนับแสนร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพมิตร ชัยบัญชา ณ วัดแคนางเลิ้ง

มิตร ชัยบัญชา เป็นที่รักใคร่ของผู้สร้างภาพยนตร์ ผู้กำกับการแสดง นักแสดง และสื่อมวลชน เป็นผู้ริเริ่ม “กฐินดารา” และ เป็นดาราที่สนใจการเมืองถึงขนาดเคยลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ด้วยกระทั่งปัจจุบัน ทุกครั้งที่มีหนังมิตร ชัยบัญชา แสดงนำออกฉาย ผู้คนยังคงหลั่งไหลมาชื่นชมบทบาทการแสดงของดาราผู้ยิ่งใหญ่แห่งภาพยนตร์ไทยคนนี้จนแน่นล้นโรง ทุกคราวไป

ที่มา : หนังสือรำลึก 25 ปีที่จากไป มิตร ชัยบัญชา ของมูลนิธิหนังไทย 1

ภาพยนตร์มิตร ชัยบัญชา 266 เรื่อง

ปี 2501 ออกฉาย 1 เรื่อง
ปี 2502 ออกฉาย 2 เรื่อง
ปี 2503 ออกฉาย 5 เรื่อง
ปี 2504 ออกฉาย 2 เรื่อง
ปี 2505 ออกฉาย 9 เรื่อง
ปี 2506 ออกฉาย 18 เรื่อง
ปี 2507 ออกฉาย 16 เรื่อง
ปี 2508 ออกฉาย 35 เรื่อง
ปี 2509 ออกฉาย 38 เรื่อง
ปี 2510 ออกฉาย 37
เรื่อง ปี 2511 ออกฉาย 36 เรื่อง
ปี 2512 ออกฉาย 35 เรื่อง
ปี 2513 ออกฉาย 25 เรื่อง
ปี 2514 ออกฉาย 6 เรื่อง
ปี 2517 ออกฉาย 1 เรื่อง
มิตรแสดงคู่เพชรามากที่สุด 172 เรื่อง
รังสี ทัศนพยัคฆ์ กํากับหนังมิตรมากที่สุด 55 เรื่อง

 

Share this article :

แสดงความคิดเห็น