เพชรา เชาวราษฎร์
เธอคือราชินีจอเงินของหนังไทยในยุคเฟื่อง หรือยุคทองของหนังไทยที่ยากจะหาใครเทียบรัศมี แม้ ‘เพชรา เชาวราษฎร์’ ร้างลาวงการจอเงินไปกว่า ๒๐ ปี แต่เธอก็ยังคงเป็นนางเอกตลอดกาลในใจของคนไทยนับล้าน คนร่วมสมัยยังจดจำดวงหน้างามสมฉายา ‘ดารานัยน์ตาหยดน้ำผึ้ง’ ได้ดี ในช่วงที่ผ่านมา ด้วยดวงตาไม่อาจมองเห็น จึงไม่เอื้อให้คุณเพชราปรากฏตัวต่อสาธารณชนเช่นอดีต หากเรายังมีโอกาสได้รับฟังข่าวคราวของเธอจากสื่อต่างๆ บ้างในบางครั้ง
คอลัมน์มงกุฎมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณอี๊ด – เพชรา ทางโทรศัพท์เพื่อให้เธอได้ย้อนรำลึกถึงเรื่องราวในอดีต ในฐานะเจ้าของตำแหน่งเทพธิดาฮาวาย จากเวทีประกวดที่เป็นจุดเริ่มต้นสู่ชีวิตการแสดงจนโด่งดัง เป็นดาวจรัลแสง และยังได้รับการยกย่องว่าเป็นตำนานมีชีวิตของวงการภาพยนตร์ไทย น้ำเสียงสดใสเรียกแทนตัวเธอเองว่า ‘เพชรา’ ย้อนถึงวันเวลาเก่าๆ ว่าจุดเปลี่ยนชีวิตของเด็กสาวธรรมดาคนหนึ่งเป็นความบังเอิญโดยแท้
“ประกวดเทพธิดาฮาวายปี พ.ศ.๒๕๐๔ ตอนนั้นอายุ ๑๙ นะคะ ไม่ได้ตั้งใจด้วย เพราะว่าเพชราอยู่ที่ระยอง แล้วพอดีไปหาพี่สาวที่กรุงเทพ ฯ ที่บ้านพี่เขยแถวตรอกขี้เถ้า ถนนดำรงรักษ์ ทีนี้น้องสาวของพี่เขยเปิดร้านทำผมอยู่ ชื่อร้านวรรณา เขาก็บอกว่ามีคนให้ช่วยหาคนเข้าประกวดเทพธิดาฮาวายหน่อย ก็นึกถึงเรา เลยเขียนจดหมายไปบอก ยังคิดว่าเรามาตามจดหมาย แต่จริงๆ ไม่รู้เรื่องหรอกค่ะ พอเขาชวน รบเร้า ก็เอ้า – ก็เอา ประกวดก็ประกวด ไม่มีอะไรเสียหาย ตอนประกวดใช้ชื่อ ปัทมา ชาวราษฎร์ เขาตั้งชื่อให้คล้องจองกับนามสกุลในการประกวด”
เธอ เว้นวรรคมาเล่าเรื่องชื่อว่า จริงๆ แล้วเธอมีชื่อจริงว่า ‘เอก ชาวราษฎร์’ สำหรับชื่อเพชราเป็นชื่อในการแสดงเช่นกัน นามสกุลเดิมก็เป็น ชาวราษฎร์ แต่พอเรียกกันไป เมื่อเรียกเร็วๆ แล้วก็ติดปาก กลายเป็น เชาวราษฎร์ไปโดยปริยาย
“เวทีประกวดนี้เป็นงานประจำปีที่จัดขึ้น คือเขาจัดลีลาศขึ้นมา แล้วก็มีการประกวดเป็นสีสันของงาน สมัยนั้นคุณเกษม บุรินทรามาศ ซึ่งทำงานอยู่ที่กองสลากเป็นประธานจัดงาน ประกวดช่วงเดือนเมษายน บางทีเขาก็เรียกว่าธิดาเมษาฮาวาย นางงามเมษาฮาวาย ปีที่เพชราประกวด เรียกว่าเทพธิดาเมษาฮาวาย การประกวดก็มีใส่ชุดฮาวาย คือไม่ได้คิดว่าจะได้ตำแหน่งหรอกนะคะ แต่ก็มั่นใจว่ายังไงๆ หนึ่งในห้าคนนี่เราจะต้องติดแน่ เพราะมองจากตากล้องด้วย ตื่นเต้นเหมือนกัน เพราะเราไม่เคยประกวดมาก่อนเลย เป็นเวทีแรก แรกๆ ยังเฉย คิดว่าเดินๆ ไปน่าเดี๋ยวก็เสร็จ แต่ทีนี้พอคนเริ่มมองเรามากเข้าๆ ก็อาย เหงื่อนี้แตกเลย(หัวเราะ)
พอประกาศว่าได้เป็นเทพธิดาฮาวาย ก็ดีใจค่ะ ขาสั่น ไม่กล้าเดิน เขาต้องให้นางงามเดินโชว์คนเดียวบนเวที แต่ก็ยังดีว่ามีเด็กตัวเล็ก ๖-๗ ขวบเดินนำหน้า ก็รู้สึกอุ่นใจ รางวัลที่ได้ก็มีมงกุฎเป็นกำมะหยี่ปักดิ้น ถ้วยเงิน คทา สายสะพาย แล้วของรางวัลอื่นๆ มีเยอะเลยค่ะ กองพะเนินเทินทึก ทั้งเครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่บางอันต้องขอคืนเขาค่ะ เพราะเราไปรถคันเล็กไม่มีที่จะใส่(หัวเราะ) พอเป็นนางงามแล้วไม่ได้หยุดเลย ยุ่งมากเหนื่อยจริงๆ เพราะเดี๋ยวต้องไปโน่นไปนี่ ไปเปิดร้าน ไปร่วมงานต่างๆ ไปทานข้าวกับคณะกรรมการตัดสิน ไม่ไปก็ไม่ได้ เพราะท่านก็เป็นผู้ใหญ่”
ไม่นานนักหลังจากผ่านเวทีที่มีมงกุฎเป็นเครื่องการันตีความงาม เธอก็ได้รับการทาบทามให้แสดงภาพยนตร์
“ประกวด ต้นปี พอปลายปีก็เริ่มเข้าวงการบันเทิง ก็เพราะว่าช่วงประกวดมีถ่ายทอดทางทีวี. ด้วย คุณศิริ ศิริจินดา เป็นผู้สร้างหนังเห็นเราก็เลยชวนให้มาเล่นหนัง เขากำลังหานางเอกหน้าใหม่อยู่เพื่อมาเล่นเรื่อง ‘บันทึกรักพิมพ์ฉวี’ คู่กับคุณมิตร ชัยบัญชา คิดว่าดูแล้วหน้าเราขึ้นกล้องและน่าจะเล่นบทชีวิตได้ดี ตัดสินใจทีแรกคิดว่าลองสนุกมากกว่า แหม – ง่ายนะ ไปยืนๆ พูดเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ พอจริงๆ แล้วเหนื่อยมาก ต้องไปยืนกลางแดด แถมยังมีรีเฟล็กซ์ส่องอยู่ตลอดเวลา จากนั้นก็เล่นหนังมาตลอด ส่วนใหญ่จะเล่นคู่กับคุณมิตร เพชราเล่นหนังประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ เรื่องได้มั้งคะ เรื่องสุดท้ายปี พ.ศ.๒๕๒๑ ‘ลูกเจ้าพระยา – ไอ้ขุนทอง’ สร้างเองด้วย แต่ทับใจที่สุดในชีวิตการแสดง คือเรื่อง ‘นกน้อย’ เพราะเรามีบทเดินเยอะ แล้วก็เป็นหนังเศร้าด้วย”
บทบาทจากเรื่องนี้เองที่คุณเพชราได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง โดยเข้ารับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นความปลาบปลื้มในใจของเธอตลอดมา ในช่วงท้ายของชีวิตการแสดง คุณเพชราบอกว่าเธอรับงานแสดงน้อยลง
“เพราะช่วงนั้นตาเริ่มไม่ดี เพราะว่าโดนแสงมากไป คือค่อยๆ มองไม่เห็นทีละน้อย ที่สุดจนมองไม่เห็นเลย ช่วงแรกทรมานมากเลยนะคะ คิดมาก จิตใจทุกข์ระทมฟุ้งซ่านไปทุกอย่างร้อนรนไปหมด…แต่ตอนนี้เราทำใจได้ แล้ว สุขภาพดีตามอัตภาพแล้วก็พยายามทำอะไรด้วยตัวเอง คือทำใจไม่ให้มีทุกข์ ทุกข์มากไปก็อยู่ที่ตัวเองทั้งหมด ไม่มีใครมารู้มาเห็นด้วย คิดว่าไม่ควรอยู่อย่างไม่มีความสุข คิดว่าทำใจให้สบาย ดูแลตัวเองให้ดี ยังแอบมีความหวังเล็กๆ แม้ว่าจะไม่มีหวังแล้วก็ตามนะคะ”
เพราะคุณเพชราเชื่อว่าชีวิตคนเราย่อมอยู่ได้ด้วยความหวังนั่นเอง
(จากนิตยสาร พลอยแกมเพชร ฉบับที่ 235 15 พฤศจิกายน 2544)
แสดงความคิดเห็น