Happy Birthday
เรื่องราวความรักของชายหนุ่ม “เต็น” (อนันดา เอเวอริ่งแฮม) และหญิงสาว “เภา” (ฉายนันทน์ มโนมัยสันติภาพ) ที่บุพเพสันนิวาสชักนำให้พวกเขาได้มารู้จักกันผ่านตัวหนังสือ ในหนังสือท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยข้อความที่ถูกเขียนส่งต่อให้กันและกัน โดยที่พวกเขาไม่เคยแม้แต่พบหน้ากัน…แต่มันกลายเป็นสื่อกลางที่ทำให้คนมือบอน 2 คนได้มาพบและรู้จักกัน
“จีบได้เปล่า?…คิดจะจีบ ดีพอแล้วเหรอ” คำถามที่ “เภา” ทิ้งไว้ให้ “เต็น” ในระหว่างที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่กำลังคืบหน้าไปอย่างช้า ๆ กระทั่งถึงวันครบรอบวันเกิดของ “เต็น”
.“เภา” ได้เดินทางนำของขวัญวันเกิดมามอบให้แก่ “เต็น”
ทว่าของขวัญชิ้นนั้นกลับไปไม่ถึงมือของ “เต็น” มีเพียงข้อความที่ “เภา” เขียนทิ้งไว้ในการ์ดอวยพรวันเกิดให้กับ “เต็น” ว่า “สัญญานะว่าจะดูแลกันตลอดไป…”
และนี่คือจุดเริ่มของการพิสูจน์คำสัญญาที่ “เต็น” มีต่อ “เภา”
บางครั้งคำสัญญา ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์
นักแสดง:
อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม | …. เต็น | |
ฉายนันทน์ มโนมัยสันติภาพ | …. เภา |
ความยาว: 114 นาที
วันที่เข้าฉาย: 18 ธันวาคม 2551
ทีมงานสร้าง : โรแมนติก-ดราม่า (แนวภาพยนตร์) / โมโนฟิล์ม (บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย) / ธัญญา โสภณ (ควบคุมงานสร้าง) / พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง (กำกับภาพยนตร์) / คงเดช จาตุรันต์รัศมี (บทภาพยนตร์) / สยมภู มุกดีพร้อม (กำกับภาพ) / เพลง เธอคือความฝัน (สุรชัย กิจเกษมสิน-เล็ก วงพราว)
ผู้กำกับ
พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง (ผู้กำกับ)
แรงบันดาลใจที่ทำ Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์)
พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง นักแสดง นักร้องมากฝีมือ ที่ผันตัวมากำกับทั้งงานละครและภาพยนตร์ โดยมีผลงานที่โดดเด่นที่เป็นที่รู้จักกัน คือ ภาพยนตร์เรื่อง “Me…Myself ขอให้รักจงเจริญ” ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงทั้งในและต่างประเทศ
…กลับมาคราวนี้ เขากลับมาพร้อมกับผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องใหม่ เป็นแนวความรัก แต่มีความต่างจากความรักครั้งก่อน ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าเป็นการนำวัตถุดิบความรักจากคนทั้งโลกมาประมวลจนเป็นบทภาพยนตร์เรื่อง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) เรื่องนี้
“มีการพูดคุยกับคงเดชมา 6 ครั้งก่อนได้บทเรื่องนี้มา เรื่องนี้มันเป็นเรื่องจริงของคนทั้งโลก มันเป็นเรื่องจริง เป็นความรักที่เกิดในซอกหลืบเล็ก ๆ ในสังคมบ้านเราที่มีเยอะมาก อย่างคนในวงการบันเทิง สิ่งที่เราพบเห็นอยู่ และยังมีการพูดถึงกันอยู่ทุกวันนี้ ก็คือ คุณอโนเชาว์ ยอดบุตร กับคุณแม่, บิ๊ก D2B กับคุณพ่อ, พี่ดี๋กับครอบครัว, ป้าศรีกับลุงบุญแม้น, ป้าต้อยกับยายติ่ง อะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด ซึ่งเค้าดูแล สังคมตรงนี้มันมีเยอะมาก แล้วถ้าเราเจาะลึกจริง ๆ แล้วมันก็เยอะมาก ๆ ๆ ๆ แต่เราไม่ไปสนใจเค้า แต่ว่าสิ่งที่มันเกิดจากการกระทำของคนพวกนี้มันมีพลังงานมหาศาล พลังงานที่เรียกว่า พลังงานความรัก ที่มันมหาศาลมาก”
“คน ๆ หนึ่ง ที่ไม่มีสภาพที่จะดูแลตัวเองได้ เค้ามีชีวิตอยู่ได้ด้วยอะไร อะไรหล่อเลี้ยงเค้า มันก็คือความรักของคน ๆ นี้ (ทำมือประกอบ) ถ้าไม่มีความรักของคน ๆ นี้ (มือซ้าย) คนนี้ (มองไปที่มือขวา) คงตายไปแล้ว มือที่ถือช้อนตักใส่ปากเนี่ย ถามว่าถ้าคุณไม่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก และต้องเป็นความรักที่มากกว่าหนุ่มสาวทั่ว ๆ ไป ความรักของคนที่มันยังเดินเหินกันได้ มากกว่ามหาศาล เพราะว่ามันแบกข้าวไว้ช้อนครึ่ง มันแบกมากี่สิบปีแล้วครับ มันไม่เบื่อเหรอ ยัดใส่ปากก็บ้วนทิ้ง ต้องเช็ดอีก ถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่ต้องทำอย่างนี้ทุกวัน ถ้าคุณไม่มีพลังงานของความรักเยอะขนาดนั้น คุณอยู่ไม่ได้ แต่จะไม่บอกว่ามันเป็นรักแท้ แต่จะบอกว่าคน ๆ นี้อยู่ได้ด้วยพลังงานความรัก เพราะฉะนั้นพลังงานตรงนี้มันจะแตกต่างจากพลังงานความรักของคนในสังคมปัจจุบัน ตรงที่ว่าสังคมปัจจุบัน เมื่อหมดรัก เค้ายังมีชีวิตอยู่กันได้ แต่ตรงนั้นเมื่อหมดรัก คน ๆ หนึ่ง มันอยู่ไม่ได้ มันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเยอะมาก แต่คนไม่สนใจ แต่ผมมองว่าพลังงานความรักของคนพวกนี้เยอะมาก ๆ แล้วก็โคตรรักกันเลย จากนั้นก็เลยจับมาปรับเป็นความรักของหนุ่มสาว ซึ่งเป็นแค่แฟนกัน ไม่ใช่สามีภรรยา เอาให้สุดโต่งเลย สำหรับหนังเรื่อง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์)“
ทำไมถึง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์)
…สาเหตุที่ตั้งชื่อหนังเรื่องนี้ว่า Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) เพราะทุกคนมีวันเกิด หนังเป็นหนังสนุก ดูแล้วมีความสุข แต่คุณจะสุขใจแบบไหน คุณจะสุขแบบเศร้า หรือแบบไหน หนังเรื่องนี้ดูแล้วสนุกมีความสุข หนังเรื่องนี้ต้องดูแล้วมีความสุขและสนุก
…ในเรื่องนี้ คิดว่าถ้าได้มาดู นอกจากจะได้ความสุขออกมาแล้ว ยังจะได้พบความรักในอีกแบบหนึ่ง นิยามความรักอีกแบบหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าให้ฟัง สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่าคนจะได้อะไรจากภาพยนตร์เรื่องนี้กลับไป สำคัญที่สุดคือคนดูจะรับอะไรได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้มากกว่า
ผู้กำกับ การทำงาน และสปิริตที่มีให้กับทีมงาน
…จริง ๆ แล้วผมมีความเชื่อเสมอว่าภาพยนตร์เป็นศิลปะร่วม มีการทำงานกันเป็นทีม ในส่วนของโลเกชั่นก็จะมีคนที่ทำโลเกชั่น โดยการควบคุมของโปรดักชั่นดีไซเนอร์ เค้าจะดูในเรื่องของงานอาร์ตไดเร็คชั่นทั้งหมด และสร้างงานของตรงนั้นมานำเสนอให้กับทีม แล้วทีมก็จะวิเคราะห์ เลือก คัดสรรกัน โดยแชร์ความเข้าใจในแต่ละโลเกชั่น ก็จะมีการบอกเหตุผลที่อยากได้โลเกชั่นนี้ ทีมโลเกชั่นก็ไปถ่ายมา ผู้กำกับบอกว่าอยากได้แบบนี้ก็ไปถ่ายมา หามา 3-4 แบบ แล้วเอามาแชร์กัน ซึ่งแต่ละแบบก็จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ผู้กำกับก็จะเลือกว่าอยากได้ความรู้สึกแบบไหนไปใส่ในหนัง ก็นั่งคุยกัน
…ในทุกยูนิตผมค่อนข้างไว้ใจและให้เกียรติคนทำงาน ที่มีหน้าที่รับผิดชอบอะไรก็ให้เค้าทำมาก่อน ให้เค้าเริ่มต้นทำให้เต็มที่ แล้วก็มานั่งคุยกัน ไม่ได้ก็หากันใหม่ ไม่ได้ก็หาอันใหม่ เหนื่อยนิดนึง งานทุกชิ้นต้อง
…คอมเม้นท์ (Comment) ได้ เพราะงานผมสุดท้ายทุกคนคอมเม้นท์ได้หมด มันก็จะได้อะไรที่มันน่ารักดี มากกว่าแบบว่า เอาแบบนี้แหละ ผมว่าสุดยอดแล้ว เชื่อผมเหอะ โอ้โห แข็งโป๊กเลย คือ ดี ดี ดี ในแต่ละคน บางทีเราไม่ต้องการให้มันดีมาก แค่ให้มันดี เพื่อไปเสริมให้อีกอันดีมาก
…การทำงานในส่วนโปรดักชั่น ผมให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในภาพยนตร์ การแสดงความคิดเห็นสามารถทำได้หมด สามารถนำมาปรับได้ ซึ่งเป็นการทำงานที่สนุก อย่างโปรดักชั่นดีไซเนอร์ เขาเห็น เขาเป็นคนทำฉาก เค้าเซ็ท (Set) งานศิลป์ แล้วเขาบอกว่าอยากเล่าอะไรตรงนี้บางอย่าง มันก็ทำให้เราไปคิดต่อ คิดแตก ว่า เออ..เฮ้ย มันก็เป็นอะไรบางอย่างที่สวยงามได้ มันมีมุมที่ บางทีในส่วนของไดเร็คชั่น (Direction) มันไม่สามารถเจาะถึงงานอาร์ท ไดเร็คชั่น (Art Direction) ได้ แต่ว่าคนที่คุมงานทางด้านศิลปะ เค้าก็บอก..เนี่ย ตรงเนี้ย พอเค้าบอกเรามา เออ เราสามารถทะลุไปตรงนั้นได้ ก็เกิดเป็น 1 ซีนที่สวยงาม และอลังการ แล้วคุณจะปิดบังมันไปเพื่ออะไร กับคำว่าไดเร็กเตอร์ (Director) แล้วฉันก็เป็นใหญ่คนเดียวเหรอ โง่นะ ทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็น ทุกคนมีสิทธิ์เสนอแนะ ผมว่ามันได้อะไรมากกว่าอยู่แล้ว เอาไม่เอามันอยู่ที่เราอยู่แล้ว ถ้าเราเปิดใจให้กว้าง ผมว่ามันมีอะไรอีกหลายอย่างที่มันจะวิ่งเข้ามาหาเราอีกเยอะ
โลเกชั่นของเรื่องภูมิใจนำเสนอ แม่ฮ่องสอน เพราะสวย และยังไม่ค่อยมีคนไปถ่ายเยอะเท่าไหร่ เป็นวิวที่อยากนำเสนอให้คนไทยดูว่าที่แบบนี้ก็มีในเมืองไทย ทั่ว ๆ ไปก็มีอุโมงค์ต้นไม้ ในหนังพาร์ทแรกก็จะมีให้คนดูได้เห็นสถานที่ท่องเที่ยวให้คนดูได้เห็น เพราะนางเอกเป็นไกด์ แต่ไม่อยากมีมาก เพราะว่าเดี๋ยวมันจะกลายเป็นสารคดีไป แต่ในชีวิตจริงก็ไม่ได้เคยพาพี่แดง (ธัญญา วชิรบรรจง) ไปเที่ยวไหนเลย
ทำหนังรักเพราะว่า…
…ในการทำงานชอบที่จะทำหนังรักมากกว่า เพราะหนังแอ็คชั่นต้องใช้ทุนสูง ส่วนหนังตลกก็คิดไม่ออก และคนที่เค้าถนัดหนังแนวนี้ก็มีเยอะแล้ว ถ้าจะให้เราไปเริ่มต้นนับ 1 ใหม่คงไม่ไหว ส่วนหนังรักนี่ มันเป็นสิ่งที่ทุกคนมีอยู่ ทุกคนมีความรัก ทุกคนเข้าใจในความรัก แล้วมุมมองในความรักของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และความรักมันมีหลากหลายมาก เยอะมากจนกระทั่งวันหนึ่งที่เราหยิบความรักแปลก ๆ มาให้คนดู ตัวนำอีกหนึ่งความรักที่มันมีหลากหลายนับร้อยนับพันความรัก มันก็เกิดความน่าสนใจขึ้นมา ไม่ได้มากกว่า ง่ายกว่า การฆ่ากันในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งถามว่าการฆ่ากันในสไตล์แอ๊กชั่น ซึ่งในปัจจุบันนี้ฝรั่งเค้าพัฒนาไปแบบอะไรก็ไม่รู้แล้วอ่ะ เราก็ไม่ทันเค้าไง เราก็เลยมาจับหนังรักตรงนี้ ซึ่งคิดว่าเป็นแนวที่เราถนัด ซึ่งสเกลของงานโรแมนติกเนี่ย เม็ดเงินเราน้อย ก็ต้องคืนทุนให้กับเจ้านายเค้าให้ได้
…หนังที่ทำ มันเป็นวิธีการหาความรักในลักษณะที่มันแปลกแยก แตกต่าง เพื่อให้เกิดความสนใจ ถ้าคุณทำเรื่องของผู้ชายกับผู้หญิงรักกัน ไปกินข้าวกัน มีอะไรกัน แล้วหนังจบ คุณอยากดูมั้ย คุณก็ไม่อยากดู เรื่องต่อไป คุณก็ทำเรื่องของผู้หญิงกับผู้ชายรักกัน ชอบกัน กินข้าวกันมีอะไรกัน แล้วมันจบ มันน่าสนใจมั้ย มันก็ต้องหาอะไรแปลก ๆ มันเป็นเรื่องของ 1. สิ่งที่เราเคยพบเคยเห็น 2. สิ่งที่เราจินตนาการ สิ่งที่มันอุบัติมาให้หัวกะโหลกเราแล้วเฮ้ย ถ้าจะทำความรัก 1 เรื่อง ถามว่าเป็นความรักแบบธรรมดาได้มั้ย มันก็ได้ กลยุทธ์ทางด้านการตลาดเท่านั้นเองที่มันจะทำให้คนเดินเข้ามา หันมามองสิ่งที่คุณกำลังจะเล่า จริง ๆ แล้วเป้าหมายคือที่เดียวเลย ความรัก ผมทำหนังรัก แต่อะไรล่ะที่ทำให้คนมาดูหนังของคุณเท่านั้นเอง
…หนังรักที่ประทับใจก็มีหนังที่มันน้ำเน่าอย่าง Nothing Hill ผมว่าในความเป็นน้ำเน่าของมันก็สร้างความฝันให้กับคนได้ Pretty Woman หนังเกาหลีก็ The Classic ผมดูหลากหลายดูเยอะมาก ไม่ได้ยึดติดกับความรักแบบนี้ รักแบบคลาสสิก หรือต้องหนังอาร์ต ผมดูหมด ผมว่าหนังรักทุกเรื่องมี กิมมิค (Gimmick) ของเค้าอยู่ เค้ามีปรัชญาของหนังของเค้าอยู่ทุกเรื่อง ผมว่าศิลปะทุกชิ้นบนโลกนี้มันมีคุณค่าทั้งนั้น เพียงแต่เราจะเก็บเกี่ยวมันได้มากน้อยแค่ไหน ต้องไปดูความรักอีกแบบหนึ่ง ความรักของชายคนหนึ่ง อย่าถามว่ามีมั้ย แต่อยากให้คิดว่าคุณอยากได้ผู้ชายแบบนี้มั้ย???
พูดถึงของขวัญชิ้นสำคัญที่สุด
…ในชีวิตผม ผมคิดว่าของขวัญที่สำคัญที่สุดของผม ก็คือครอบครัว ครอบครัวที่มีความสุข ผมถือว่าเป็นครอบครัวที่ถือว่าเป็น 1 ในครอบครัวที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ผมมีลูกที่เรียนหนังสือ 2 คนผมมีภรรยาที่ทำงานบ้าน เมื่อเราหิวข้าว ภรรยาทำกับข้าวให้ทาน ลูกผมชอบทานข้าวที่ภรรยาผมทำ ผมทำงานมาหาเลี้ยงครอบครัว ภรรยาก็ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เรา 2 คนช่วยกัน ไม่ต้องหาเยอะ เพราะที่บ้านก็ไม่ได้ใช้เยอะ แล้วใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในปัจจุบัน ผมถือว่าเป็นของขวัญวันเกิดที่พระเจ้าประทานให้เรา ก็พอแล้ว ไม่ต้องรวยมาก ไม่ต้องรวยล้นฟ้า ไม่ต้องมีความสุขเหลือเกิน มันก็เป็นปรัชญาของชีวิตคู่ที่ใช้ความเข้าใจและปรับเข้าหากัน หนังเรื่องนี้ก็เหมือนกัน ชีวิตคู่ทุกคู่ทุกความรัก สามารถที่จะนำไปใช้ได้
…ในชีวิตจริงผมก็ไม่ใช่คนโรแมนติก มีอยู่ครั้งหนึ่งคิดทำเซอร์ไพร้ซ์ (Surprise) พี่แดง เคยแอบซื้อของขวัญให้ โดนด่าอยู่ 2 เดือน มันเซอร์ไพร้ซ์ตรงไหนเนี่ย ถามจริงเหอะ (หัวเราะ) เคยซื้อนาฬิกามาให้ ดูแล้วดีใจ สวย แล้วก็หันมามองหน้า ถามราคา พอรู้ราคาก็ด่าอีก 3 เดือน ไม่ต้องเซอร์ไพร้ซ์ หรอก อยากได้อะไรไปซื้อ พี่บอกความสุขของครอบครัวพี่แค่นี้ ไม่ใช่แบบว่าต้องมีช่อดอกไม้ให้กันทุกวัน ไม่ต้องมีของขวัญให้กันทุกปี ของขวัญของเราก็คือ หอมแก้มกันทุกวัน ลูกเต้าต้องหอมแก้มกันทุกวัน แล้วก็ของขวัญที่มีค่าที่สุดก็คือการทำหน้าที่ภรรยาที่ดีให้กับสามี และสามีทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการเป็นหัวหน้าครอบครัว ลูก ๆ ก็ทำหน้าที่ลูกที่ดีต่อพ่อแม่ และเราก็ไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่ทำร้ายสังคม ก็พอแล้ว ไม่ได้เป็นคนดีมากมายเท่าไหร่ ไม่ต้องดีมาก แต่ก็ต้องรู้จักใช้ชีวิตในสังคมให้เป็น เราก็ทำงานออกมาดีบ้าง ไม่ดีบ้าง คนชมชอบบ้าง คนไม่ชอบบ้าง ก็ไม่ได้ดีทั้งหมด เล่นละครก็เรื่องนี้คนชอบ เรื่องนี้คนเกลียด ก็ว่ากันไป อย่าไปคาดหวังอะไรเยอะ และก็ไม่ต้องเป็นคนแสนดี
…ถ้าให้พูดถึงพี่แดง (ธัญญา วชิรบรรจง) ในฐานะโปรดิวเซอร์ ก็เป็นคนที่ทำงานด้วยกันมาทั้งชีวิต ในฐานะโปรดิวเซอร์นี่พี่แดงทำเมื่อเป็นละคร เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว เปิดออฟฟิศทำละคร ผมก็รับจ้างเค้ากำกับ เรื่องนี้ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นในส่วนของการทำงาน ความเข้าใจในการทำงานของแต่ละคน แต่ละยูนิตมันค่อนข้างที่จะลงตัว แล้วก็ไม่ต้องทะเลาะกันเยอะ จริง ๆ แล้ว โปรดิวเซอร์กับผู้กำกับเป็นส่วนที่ต้องทะเลาะกันเยอะมาก ความที่เข้าใจวิธีการทำงาน วิธีคิด เค้าก็ง่ายต่อการที่จะจัดการ ในเรื่องของ เวลา งบประมาณ หรือ นักแสดง ในส่วนที่ต้องบริหารจัดการเค้าก็จัดการได้หมด ทำงานด้วยกันได้คล่อง ผ่านมาหลายเรื่องแล้ว เข้าขากันดี
นิยามความรัก
นิยามความรักในมุมของ Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์)
…ความหมายของคำว่ารักในเรื่อง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) มันเป็นเรื่องของปากกาแท่งหนึ่งหรือดินสอแท่งหนึ่ง ที่คุณจะเขียนอะไรลงไป นิยามคำว่าความรักของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ให้เขียน 10 คนก็ไม่มีทางเหมือน 100 คนก็ไม่เหมือน คนทั้งโลกก็สะกดคำว่าความรักไม่เหมือนกัน อย่างเรื่อง Me…Myself ถ้าจะพูดถึงนิยามก็คงเป็น “ยังรักอยู่รึเปล่า?” ถ้ายังรักก็จบ อย่างอื่นไม่ต้องพูดถึง จะเป็นตุ๊ดเป็นแต๋วอะไรไม่เกี่ยว
…ทุกความรักมีปัญหา แต่คุณจะแก้ปัญหาความรักของคุณยังไง การแก้ไขปัญหาเรื่องความรักของคนก็ไม่เหมือนกัน แต่หนังเรื่อง Me…Myself บอกว่า เมื่อความรักมีปัญหา จงแก้ปัญหาด้วยความรัก เพราะฉะนั้นหนังมันต้องจบตรงที่ว่า “ยังรักอยู่รึเปล่า” ถ้ารักก็จบ แต่ถ้าไม่รักกันเมื่อไหร่นะ ต่อให้เศษของปัญหานิด ๆ ที่เกิดขึ้นมันก็ลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ไป เพราะคุณไม่รักกันแล้ว แต่อย่างหนังเรื่อง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) ก็เป็นปรัชญาของหนังอีกเรื่องหนึ่ง ที่กำลังเล่าถึงความรัก นิยามของความรักในรูปแบบของแฮปปี้เบิร์ธเดย์กับนิยามความรักของสังคมที่มันเกิดขึ้น สังคมปัจจุบันมองว่าตรงนี้หล่อสวย แล้วถ้ามันไม่หล่อไม่สวยล่ะ จะยังรักกันได้อยู่รึเปล่า ตรงไหนคือความรัก ก็ต้องอยู่ที่คนดูจะเก็บเกี่ยว
…หนังเล่าถึงความรู้สึกของตัวละครที่เจอเหตุการณ์แบบนั้น อย่างที่บอกว่าปรัชญาของหนังพยายามเปรียบเทียบระหว่างความรักแบบฉาบฉวย กับความรักที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเรียนรู้ทำความเข้าใจเสียสละและทำให้เข้าใจว่าความรักคืออะไร มันจริงจังมากกว่าหนังที่เป็นแนวที่มีคอมมิดี้ปนเข้ามา มันมีภาวะที่ตัวละครในเรื่องต้องเจอ ไม่เข้าใจ เรียนรู้ และเข้าใจ หนังมันสุดโต่ง หนังเรื่องนี้ เปรียบเทียบให้เห็นเลยว่ามันสุดโต่ง อย่างคนหนึ่งกินเผ็ด แต่คนที่ตัวเองรักไม่กินเผ็ด ต้องมีคนหนึ่งที่ต้องปรับ ถ้าคิดจะอยู่ด้วยกัน ไม่งั้นคุณต้องแยกอาหารสองจานสองที่ มันก็เป็นทางออกของการใช้ชีวิตคู่
บทสรุปของหนังเรื่อง แฮปปี้เบิร์ธเดย์
ในเรื่องแบบของตอนจบ ค่อนข้างชัดเจน มันไม่เหมือนเรื่อง Me…Myself มันต้องถกกันนาน เพราะมันเป็นเรื่องของโฮโมเซ็กชวล ว่ามันเป็นไม่เป็น มันเป็นอย่างนี้แล้วมันจะตัดสินใจยังไง สุดท้ายเราก็ยึดทฤษฏีอัตภาวะนิยม คือ ณ ปัจจุบันนี้เราเป็นอะไร เราคิดสิ่งไหน ก็เลือกเป็นสิ่งนั้น เราไม่ต้องห่วงอนาคต ตอนจบก็นั่งคุยกัน อนันดาเองก็ชอบ ตอนจบหลายคนที่ไม่เก็ตก็คิดว่าห้วนจัง แค่นี้เหรอ แล้วไงต่อล่ะ นั่นแหละดีมากเลย เพราะเราก็อยากให้เอากลับไปคิดต่อ มันเป็นหนังแบบปลายเปิด เราไม่ได้บอกว่ามันไม่แฮปปี้เอนดิ้ง แต่ว่า ณ ปัจจุบันมันตัดสินใจว่ายังรักกูรึเปล่า ถ้ารักอยู่ก็พอละ แต่ว่าฝนตกทันทีนะ คือแบบว่ามีเรื่องหนัก ๆ รออยู่ข้างหน้าแน่ ๆ แต่ ณ ปัจจุบันนี้มีอะไรก็ขอจบ ณ เพียงแค่นี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นคำตอบที่สวยงามที่สุด
ขณะที่ Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) มันค่อนข้างมีคำตอบที่ชัดเจน พี่อ๊อฟเองก็ต้องการสิ่งนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะงั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ ณ ตอนนี้ตอนจบมันก็ไม่ได้ตื่นขึ้นมาเลย แต่ว่ามันดีขึ้นแล้วนะ มันอาจไม่ทัน มันอาจตายก่อนก็ได้ แต่ว่ามันอยู่ที่ไอ้มนุษย์ผู้ชายที่ดูแลมันอยู่นี่ มันตัดสินใจยังไง มันอยู่ที่ตรงนั้นมากว่า คือถ้าเราเห็นความรักของคนแบบนี้เราก็ไม่ต้องกังขาเลยว่ามันจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก ๆ พอมันได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่มีอยู่จริงเนี่ย มันแบบต้องค้นหามันให้เจอ
หนังเรื่องนี้มันเป็นหนังรัก แบบหนังโคตรรักเลย พี่ว่ามันทำให้คนที่ได้เข้าไปดูเนี่ยเกิดคำถามกับตัวเองว่า ในฐานะมนุษย์เราสามารถทำอะไรได้มากแค่ไหน คือมันมีตัวอย่างให้เห็นอยู่ในโลกภายนอกมากมาย แต่บางครั้งเราเองใช้ชีวิตไปวัน ๆ แล้วก็ไม่ได้คิดว่าเราเป็นใคร และเราทำอะไรได้มากแค่ไหน เพื่อคนที่เรารัก เราทำอะไรได้แค่ไหน หวังว่าหนังเรื่องนี้ถ้าดูจบออกมาแล้วจะสะกิดใจได้แค่ไหน
ในส่วนอนันดา พี่รู้สึกว่าทุกวันนี้มันไม่ค่อยมีนักแสดง แต่มีแต่ดารา พี่ว่ามีแต่คนอยากได้มันมาร่วมงานเพราะมันเต็มร้อย อย่างที่บอกว่าอนันดาแสดงเป็นอนันดาเอง จริง ๆ แล้วทุกคนต่างก็มีคาแร็คเตอร์ของตัวเอง อย่าง เดอนีโร แสดงยังไงก็เป็น เดอนีโร เพราะฉะนั้นไม่เป็นไร เพียงแต่ว่ามันเต็มที่เต็มร้อยให้กับการแสดง ซึ่งในวงการใคร ๆ ก็อยากร่วมงานด้วย
นักแสดง
“อนันดา เอเวอริ่งแฮม” รับบท “เต็น”
…อนันดา (แมทธิว) เอเวอริ่งแฮม นักแสดงหนุ่มลูกครึ่งลาว-ออสเตรเลีย ที่เข้ามาสู่วงการภาพยนตร์ครั้งแรกจากภาพยนตร์เรื่อง “อันดากับฟ้าใส” และเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมงานกับนักแสดงรุ่นพี่อย่าง “อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง” และยังคงร่วมงานกันตลอดในฐานะ ผู้กำกับและนักแสดง
…และครั้งนี้ก็อีกเช่นกันหลังจากที่ทั้งคู่จะได้มาร่วมงานกันอีกครั้งกับภาพยนตร์รักเรื่อง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) คาแร็คเตอร์ที่ได้รับในภาพยนตร์ Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์)
…ในเรื่องเล่นเป็นตัวละครชื่อ ‘เต็น’ คาแรกเตอร์เป็นคนที่นิสัยแบบคนที่ไม่สนใจโลก มีความสุขกับตัวเอง มีอาชีพเป็นช่างภาพ ลักษณะของเต็นในเรื่องก็ไม่เชิงตรงกับชีวิตของตัวเอง ในชีวิตของเต็น เรากับพี่อ๊อฟพยายามจะรวมส่วนที่มันไม่ได้เป็นผู้ดี มันเป็นคนสกปรกหน่อย ๆ ไม่ค่อยสนใจอะไรหน่อย ๆ ไม่ได้โรแมนติกอะไรมากมาย มันไม่ใช่พระเอกอย่างที่เราคุ้นเคย มันก็จะเป็นคนแบบแอนตี้ฮีโร่ (Anti Hero) แบบขำ ๆ หน่อย
…ในเรื่อง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) อาชีพช่างภาพ มันก็เป็นแค่ช่างภาพเฉย ๆ แต่ประเด็นมันคือเรื่องของความรัก มันเป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่ทำตรงนี้ไม่เป็น คือถ้าเห็นคนแบบนี้ก็คงแบบ คิดว่าคนนี้มันคงมีแฟนยาก แต่พอมีแฟนขึ้นมา ก็เจอเหตุการณ์ที่มันไม่เหมือนคนอื่น แล้วมันก็ต้องมาเผชิญกับสิ่งที่ไม่คาดคิดไว้ แต่ก็ต้องหาวิธีเดินหน้า สำหรับคนอย่างนี้เราคิดไม่ออก คือถ้าสมมติคนนี้มันเป็นพระเอ๊ก พระเอก มันก็คงแบบ มันทำได้อยู่แล้ว แต่สำหรับอย่างนี้ คนธรรมดาหนึ่งคน มันมีให้ลุ้นว่ามันจะไหวรึเปล่า มันก็คือคนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง แบบไม่ค่อยสนใจโลกเซอร์ ๆ หน่อย ๆ
ที่มาที่ไปก่อนมารับแสดงเรื่อง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์)
…ที่มารับเล่นเรื่องแฮปปี้เบิร์ธเดย์ เพราะตอนถ่าย Me…Myself ก็เคยคุยกันถึงบทหลาย ๆ เรื่องที่อยากจะเขียน อยากจะทำกัน เราคุยกันซีเรียสบ้าง ไม่ซีเรียสบ้าง เพราะเรื่องที่เราคุยไว้มีเป็นสิบสิบเรื่อง ว่าเดี๋ยวจะทำอันนี้นะ เดี๋ยวจะทำอันนั้นนะ แต่ไม่ได้คุยกันแบบผมจะเล่นให้พี่ พี่จะทำให้ผมอะไรแบบนี้นะ แต่มันแค่คุยแบบคนชอบหนัง แล้วก็อยากจะเม้าท์ว่าเราจะทำอะไรกันต่อดี ก็คุยไปคุยมา พี่อ๊อฟก็มีเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง ก็ชอบ ก็คุยกันนานมาก บอกว่าพี่จะทำอย่างนี้ จะมีสถานการณ์อย่างนี้เพิ่มเข้าไปอีกหน่อยมั้ย คุยไปคุยมาผมก็เกิดหลงรักบทตัวนี้ก่อนที่จะมีการเขียนบทขึ้นมา ก่อนจะปิดกล้อง Me…Myself อีก ก็พูดกับพี่อ๊อฟว่าเรื่องนี้น่าทำมากเลย
…แต่พอจบ Me…Myself เราก็รู้สึกว่าถ้าพี่อ๊อฟจะทำเรื่องนี้ เราไม่อยากผูกมัดตัวเราไว้กับพี่อ๊อฟ เพราะทุกครั้งที่พี่อ๊อฟกระดิกจะต้องมีผมเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็เลยบอกไปว่า ถ้าพี่ทำเรื่องนี้เมื่อไหร่ เมื่อแคสแล้วหาคนไม่ได้จริง ๆ ให้โทรหาผมได้นะ ผมยินดีจะทำเรื่องนี้อยู่แล้ว เค้าก็ไปหาคนทั่วบ้านทั่วเมือง สุดท้ายก็มาจบที่ผม แล้วมีคนกลัวบทนี้เยอะมากเลยนะ ผมคิดว่าคนมันน่าจะอยากเล่นอยากแสดงบทแบบนี้มากกว่า เราก็สงสัยว่าทำไมไม่มีใครสนใจบทนี้ แต่เราก็ดีใจมากที่ได้บทนี้มา ก็ยอมรับว่ามันน่ากลัวมาก พอเรารู้ว่าได้แล้วก็กลัวเหมือนกันว่าเราจะทำไหวมั้ย มันอาศัยดราม่าเยอะเหลือเกิน
การเตรียมตัว
…พอรู้ว่าได้รับบทเป็น เต็น ในเรื่อง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) ก็ต้องมีการเรียนการแสดงเพิ่มเติม คือเรียนไปเรื่อย ๆ เข้าคลาส แอ็คติ้งคลาสเหมือนเดิมเพื่อเตรียมตัวกับหม่อมน้อย (ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) เหมือนเดิม
…เรื่องนี้ Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) เข้าไปก็เหมือนไปช่วยเรื่องสมาธิ เพราะว่าเล่นอะไรอย่างนี้มันต้องใช้สมาธิสูง ต้องพยายามอยู่กับตัวเองให้ได้ คือจริง ๆ ฉากมันไม่ยากมาก แต่ถ้าสมาธิไม่ดีมันก็ทำไม่ได้ คือการที่ตัวละครแบบนี้ มันไม่ซับซ้อนมาก มันก็มีเป้าหมายที่ชัดเจน ความต้องการของมัน มันชัดเจนตลอดเวลา มันพยายามจะสู้เพื่ออะไร มันรักผู้หญิงคนนี้ แล้วมันต้องทำไงต่อเพื่อให้ความรักตรงนี้ไม่หายไป คือมันฟังดูก็ง่ายดี แต่พอถึงเวลาทำมันต้องใช้สมาธิ เก็บความรู้สึกนี้ไว้เรื่อย ๆ ก็เหนื่อย บางทีเรารู้สึกว่าเล่นอยู่คนเดียวทั้งเรื่อง
ความรู้สึกที่ได้ร่วมงานกับ “แอม” อีกครั้ง
…รู้สึกดีใจที่ได้มาแสดงคู่กับ “แอม” เป็นครั้งที่ 2 เพราะผมเชียร์แอมมาตั้งแต่ต้น เพราะช่วงที่เค้ากำลังหาพระเอกนางเอกเนี่ย ผมก็ไปคลุกคลีกับทีมแคสติ้ง (Casting) ตลอดเวลา ผมไม่ใช่คนที่นำเสนอตัวเองนะ (หัวเราะ) แต่ว่าอยากรู้ว่าเค้าจะเอาใครเป็นนางเอก อย่างนี้ อย่างนู้น อย่างนั้น เราเชียร์ ก็คิดว่าถ้าได้แอมมาก็ดี เพราะแอมไม่มีอีโก้ บางทีดูเหมือนแอมไม่มีอะไรเลย ดูลอย ๆ เราชอบตรงนี้ คือถ้าเรามาเล่นอะไรที่ต้องอาศัยดราม่ามาก ๆ เนี่ย มันต้องเอาตรงนี้ (อีโก้) ออกไป ไม่งั้นมันทำงานด้วยกันยากมาก ก็เลย แฮปปี้กว่า ถ้าเราทำงานกับคนที่เราคุ้น ไม่ต้องมาเริ่มทำความรู้จักกัน ไม่ต้องมาเริ่มต้นใหม่ เพราะรู้จักกันอยู่แล้ว สนิทกันอยู่แล้ว ในเรื่องก็มีจูบจริงอีก แต่ว่าเรื่องนี้แอมเป็นคนจูบผมนะ
…ฉากที่ประทับใจ ส่วนตัวชอบฉากตอนเช้าในเขาที่เขาใหญ่ แล้วทุกคนก็เอาดอกหญ้าไปโปรยตอนแบบ ตี 5, 6 โมงเช้า สวยมาก ถึงเหนื่อยมาก แต่มันคุ้ม คือเราถ่ายตั้งแต่กลางวันมากลางคืนมาถึงเช้า แล้วก็มาเห็นภาพสวย ๆ ในฉากตอนที่ตัวละครมันบ่นว่าไม่เห็นมีฝนดาวตก มีแต่ดอกหญ้าตก แล้วเภาบอกว่าอีก 50 ปีกลับมาอีกก็ได้ โดยส่วนตัวแล้วเราชอบฉากนี้ มันน่ารักดี ทั้งในสิ่งที่เห็นจริงและภาพในจอที่ออกมามันสวย เราชอบมาก
…ฉากที่ยากสุด พวกฉากในบ้านหลังจากที่เราต้องไปรักษาดูแลเภา คือช่วงนั้นมันเหมือนแบบเกิดอาการอึดอัด คือมันไม่รู้จะเล่นอะไรอีกแล้ว มันอยู่ในบ้านแบบ 10 วัน อยู่ห้อง มีอยู่ 2 ห้อง ถ่ายแค่ 2 ห้อง มันเกิดอาการอึดอัด แบบว่าไม่รู้จะทำอะไรต่อ มันเหมือนหมดมุข ไม่รู้จะเล่นอะไรต่อ ก็ต้องคุยกับพี่อ๊อฟเรื่อย ๆ ให้พี่อ๊อฟคอยอธิบายว่าช่วงนี้มันคือช่วงไหนของหนัง แล้วเรากำลังทำอะไรอยู่ในช่วงนี้
ความต่างของ Me…Myself กับ Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์)
…เรื่อง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) พี่อ๊อฟกำลังพูดถึงประเด็นความรักที่ยิ่งใหญ่ ซึ่ง Me…Myself มันออกแนวเป็นเหมือนเรื่องของความยอมรับด้วย เรื่อง Me…Myself มันมีประเด็นตรงที่ว่า เรื่องเพศมันเกี่ยวข้องกับความรักรึเปล่า เราเป็นอย่างนี้แล้วยังจะสามารถรักกันได้อยู่หรือเปล่า แต่ Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) คือคุณจะทำอะไรเพื่อความรักของคุณ แล้วคุณจะไปได้ไกลแค่ไหนเพื่อความรักอันนี้ ถ้าคุณเชื่อในความรักครั้งนี้
…ความหมายของคำว่ารักในเรื่องนี้มันคือคำถาม ว่าจะทำอะไรเพื่อคำว่ารัก ถ้าเป็นตัวผมเองคงยาก เพราะประสบการณ์ชีวิตผมไม่พอที่จะบอกได้ว่าผมทำได้ขนาดนี้จริง ๆ มันยากมาก ผมเชื่อว่ารักแท้มีจริง แต่รักแท้แบบที่ว่าต้องดูแลด้วย ต้องทำงานด้วยให้มันดี ดูอย่างพี่อ๊อฟพี่แดงมันก็คือรักแท้ แต่ว่าเค้าก็ต้องมีการ ปรับตัวเข้าหากัน ผมไม่เชื่อว่าคนเราเหมือนกันถึงขั้นทำอะไรก็ดี แบบแฮปปี้ตลอดเวลาได้ มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องมีขัดแย้งกันบ้าง แต่พอขัดแย้งก็ต้องหาทางออกกัน เราก็เชื่อว่าความรักมันก็จะแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ
“ฉายนันทน์ มโนมัยสันติภาพ” รับบท “เภา”
…เด็กสาวจากรั้วจามจุรี ที่เข้าสู่การแสดงภาพยนตร์โดยการชักนำจากผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์คู่บุญ “อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ และ แดง ธัญญา วชิรบรรจง”
…“แอม – ฉายนันทน์ มโนมัยสันติภาพ” จึงได้แจ้งเกิดในการแสดงจากภาพยนตร์รักเรื่องแรก “Me…Myself ขอให้รักจงเจริญ” และยิ่งเป็นที่น่าอิจฉาสำหรับบรรดาสาว ๆ ทั้งหลาย เมื่อแอมได้ร่วมแสดงกับนักแสดงหนุ่มลูกครึ่งอย่าง “อนันดา เอเวอริ่งแฮม” ในครั้งนั้น และครั้งนี้นักแสดงนำทั้งสองคน ก็ได้กลับมาประชันบทบาทกันอีกครั้งกับภาพยนตร์รักอีกหนึ่งนิยามของผู้กำกับคนเดิมเรื่อง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์)
ที่มาที่ไปก่อนแสดงภาพยนตร์-ความรู้สึกที่ถูกเลือกให้แสดง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์)
…ความรู้สึกที่ได้รับเล่นเรื่อง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) ก็รู้สึกดีใจมากตั้งแต่รู้ว่าได้ ล่นบทนี้ เพราะว่าประทับใจมากตั้งแต่เล่นเรื่อง Me…Myself แล้ว เพราะว่า พี่อ๊อฟใจดี น่ารักมาก ตลกด้วย ส่วนอนันดาก็เหมือนกัน ที่มักจะมีเรื่องโน้น เรื่องนี้มาเล่าให้ฟังตลอด ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องหนังนี่แหละ อนันดาดูหนังเยอะ บอกให้เราไปดูหนัง แล้วก็จะบอกว่าถ้าทำงานเกี่ยวกับวงการ ต้องไปดูหนังเยอะ ๆ อะไรประมาณนี้ ก็สอน ด้วยความที่เค้าอยู่ในวงการมาเยอะกว่าเรา เราก็เลยได้รู้ไปด้วย แล้วก็สนิทกันตั้งแต่เรื่องแรก เรื่องนี้ก็เลยทำงานง่าย ไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวมากเท่าไหร่ แสดงคู่กับอนันดาอีกครั้งรู้สึกดีมาก เพราะที่เราร่วมงานกันเรื่องแรก ก็ทำให้แอมรู้จักว่าอนันดาเค้าเป็นคนยังไง แบบว่าเค้าเป็นคนนิสัยดี ทำงานแบบมืออาชีพ ไม่ถือว่าตัวเองเป็นดาราดังหรืออะไร
…คิดว่าที่พี่อ๊อฟเลือกมาเล่นเรื่องนี้ ก็เพราะแอม อาจจะเหมาะกับบทจริง ๆ แล้วก็อีกอย่างคนที่โกนหัวอาจจะหายาก ในตอนที่เล่นเรื่องนี้ก็ต้องค่อย ๆ ตัดผมก็ไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะอยากตัดผมอยู่แล้ว ตอนแรกจะตัดเป็นผมบ๊อบก่อน ก็เออ อยากไว้ผมสั้นมาตั้งนานแล้ว แต่หาโอกาสไม่ได้ ไม่มีเรื่องให้ตัดเสียที จะตัดเองก็เสียดายเหมือนกัน ก็เออ ไหน ๆ มีเรื่องให้ต้องตัดก็ตัด ก็เปลี่ยนลุค แต่ก็เปลี่ยนแค่อาทิตย์เดียวก็ต้องตัดสั้นอีกแล้ว พอมาถึงตอนที่ต้องโกนผม มันเหมือนเราได้ทำใจมาก่อนแล้ว มันก็สั้น ตอนแรกก็ 3 เซนติเมตร แล้วก็มาสกินเฮด แล้วก็มาสกินเฮดสั้นมาก แล้วค่อยโกน ก็เลยไม่รู้สึกอะไรมาก แต่ตอนเห็นหน้าตัวเอง แรก ๆ ก็ตะลึงเหมือนกัน แล้วก็ไม่ค่อยอยากออกจากบ้าน แต่พอดีตอนนั้นก็ไม่ค่อยได้ไปไหนเหมือนกัน นอกจากบ้านไปกอง กองกลับมาบ้าน ก็เลยไม่ค่อยรู้สึกกับการโกนผมเท่าไหร่
คาแร็คเตอร์ที่ได้รับในภาพยนตร์ Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์)
…ในเรื่อง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) รับบท เภา เป็นไกด์ ชอบท่องเที่ยว เป็นคนมองโลกในแง่ดี โดยบุคลิกของเภาก็เป็นคนประเภทชอบธรรมชาติมาก แต่เป็นธรรมชาติในมุมที่แตกต่างจากคนอื่น ไม่ได้แค่เที่ยวสถานที่ที่ทุกคนไป แต่ว่าเภาจะหามุมที่มันแปลกใหม่ และชื่นชมกับอะไรแบบนั้น แต่หลัก ๆ แล้วโดยอาชีพไกด์ก็คงต้องพาลูกทัวร์ไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวที่เค้าไป แล้วก็อาจจะต้องดูอีกทีว่ากลุ่มที่เราพาไปเป็นกลุ่มแบบไหน คือถ้าเป็นกลุ่มที่เอาบันเทิงอย่างเดียวเป็นหลัก เราก็คงพาไปตามที่ที่เค้าอยากไป แต่ถ้าเจอกลุ่มที่อยากรู้จริง ๆ เราก็คงพาไปที่ลึกกว่านั้น
…ความเหมือนและแตกต่างระหว่าง ตัวแอม กับ ตัวเภา ในเรื่อง เภา เป็นคนกระโตกกระตาก ไม่ถึงกับเรียบร้อย แต่เป็นคนธรรมดา บ้าน ๆ เภากับแอม เรื่องเที่ยวอาจจะไม่เหมือนกัน เพราะแอมไม่ได้เป็นคนที่ชอบเที่ยวขนาดนั้น แต่ที่เหมือนกันตรงที่เป็นคนง่าย ๆ กินง่าย อยู่ง่ายมากกว่า
การเตรียมตัว
…ก่อนมารับเล่นเรื่องนี้ ก็มีเรียนการแสดง 2 เดือนกับหม่อมน้อยค่ะ ตอนแรกที่จำได้ว่าจะได้เล่นละครกับพี่แดง ซึ่งแอมจะได้เข้าเรียนล่วงหน้า ก็ปรากฏว่าได้มาแสดงหนังแทน เพราะว่าเวลาถ่ายมันทับซ้อนกัน มันก็เลยกลายเป็นว่าเราได้เข้าเรียนการแสดงเยอะกว่าอนันดา เพราะรู้สึกว่าช่วงนั้นอนันดาติดถ่ายหนังอยู่ ได้เข้ามาด้วยกันไม่กี่วัน ประมาณ 5 วันได้มั้งคะก่อนเปิดกล้อง
…ตอนที่รู้ว่าได้รับบทเป็น เภา แล้วจะต้องมาเจอสถานการณ์อย่างนี้ แอมก็ไปเรียนรู้เพิ่มเติม จากพี่ของแอม พอดีพี่แอมเป็นหมอก็มีถามเพิ่มว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ เค้านอน แล้วเค้าตายหรือยัง หรือว่าต้องใส่เครื่องช่วยหายใจแล้วเค้าเป็นยังไง ชักแล้วเป็นยังไง ตอนแรกก็ขอพี่ไปดูคนไข้ในโรงพยาบาล อย่างในเรื่องถ้าถอดเครื่องช่วยหายใจออกเนี่ย เภา คงไปเลย ก็พยายามถามพี่ว่าถ้าเค้าไม่มีเครื่องช่วยหายใจแล้วจะเป็นยังไง พี่ก็จะบอกว่าลองคิดว่าถ้าเราขาดอากาศหายใจแล้วจะเป็นยังไง พี่ก็จะอธิบายว่ามันจะเป็นลักษณะของคนที่ไม่มีอากาศหายใจ แล้วพยายามไขว่คว้าหาอากาศหายใจ
เรื่องประทับใจ
…ตอนแรก อนันดา เป็นคนเสนอให้ แอม มาแสดงคู่ในเรื่องนี้ด้วยกัน อนันดามาคุยกับแอมตั้งแต่ตอนที่พี่อ๊อฟ พี่แดง เค้ายังไม่เลือกว่านางเอกจะเป็นใคร แล้วก็เค้าเลือกอนันดาก่อน เค้าก็ไม่อยากใช้นักแสดงซ้ำคู่เดิม เค้ากลัวว่ามันจะกลายเป็น My…Myself ภาค 2 หรือเปล่า แต่อนันดาบอกว่าบทนี้ต้องแกว่ะ อะไรอย่างนี้ อนันดาก็เชียร์ ก็ลุ้น เค้าเคยบอกว่าคนที่มาเล่นบทนี้ต้องเป็นคนที่ไม่มีอีโก้ แต่ว่าถ้าอยากรู้รายละเอียดมากกว่านี้ก็คงต้องไปถามอนันดาเองดีกว่า อาจจะเป็นเพราะต้องโกนหัวมั้ง ก็แทบไม่ต้องคิดเลยในการตอบรับการแสดงเรื่องนี้ เพราะอยากเล่น และดีใจที่ได้มาทำงานกับทีมเดิม เพราะแฮปปี้มาก คือถ้าให้ลิสต์เรื่องที่ประทับใจในชีวิตอันนี้ก็เป็นท๊อปไฟฟ์ (Top5) เลย การทำงานร่วมกับพี่อ๊อฟกับอนันดา รู้สึกว่าอบอุ่น ทีมอบอุ่นเหมือนครอบครัว ประทับใจมาก รู้สึกเหมือนอยู่กันแบบครอบครัว แบบพี่น้อง เวลาทานข้าวก็จะเม้าท์เรื่องโน้นเรื่องนี้กัน มีทั้งพี่อ๊อฟ พี่แดงที่คอยซื้อของกินเข้ากองถ่ายตลอด กองเราไม่เคยซีเรียส หรือตึงเครียดอะไรมาก น่าจะเป็นเพราะพี่อ๊อฟเขาอารมณ์ดี กองถ่ายเลยไม่เครียด
…ส่วนเรื่องการแสดงพี่อ๊อฟเขาสอนตลอดอยู่แล้ว ทั้งเวลาที่อยู่หน้ากองหรือเวลาอื่นที่เจอกัน เช่น ที่บ้านหม่อมน้อย แล้วก็สอนวิธีคิดที่จะเป็นตัวละครนั้นๆ สิ่งที่อยู่ในหัวของตัวละครคืออะไร ณ เวลานั้น ๆ ณ เวลาที่ตัวละครกำลังเผชิญสถานการณ์บางอย่างอยู่ ไม่เคยสอนวิธีการแสดง แต่จะสอนวิธีการคิดมากกว่าค่ะ แล้วก็เหมือน ตั้งแต่การแสดงเรื่อง Me…Myself เวลาผ่านไปประมาณปีกว่าแอมก็โตขึ้น เราได้ไปทำงาน ได้ไปเจออะไรใหม่ ๆ เราก็เข้าใจชีวิตมากขึ้น เพราะตอนที่เล่นเรื่องแรก เรื่อง Me…Myself อนันดาก็จะบอกแอมว่าเล่นดี แต่ยังขาดประสบการณ์ชีวิต เพราะตอนนั้นเพิ่งจบใหม่ ๆ ชีวิตเคยอยู่แต่ในรั้วมหา’ลัย ยังไม่รู้ว่าชีวิตภายนอกมันเป็นยังไง แล้วพอมาเรื่องนี้เราก็เข้าใจอะไรมากขึ้น ก็เลยทำให้เข้าใจมากขึ้นเวลาที่พี่อ๊อฟหรือหม่อมน้อยสอนอะไร
ฉากที่คิดว่ายาก และประทับใจที่สุด
…ฉากที่คิดว่ายากที่สุด ก็คือตอนที่หลังจากอนันดาถีบจักรยานลงน้ำไปแล้ว แล้วกลับมาบ้านก็มาระบายความเครียดกับเรา ซึ่งไม่รับรู้อะไรแล้ว (ในเรื่อง) เขาโวยวาย โกรธ ตะคอกใส่เราที่ต้องนอนหลับตานิ่ง ๆ ไม่รีแอ็คอะไร แต่ว่ามันยากมากที่เราจะไม่รับความรู้สึกนั้นเข้ามาเลย เพราะความจริงแล้วแอมกลัวมาก ตอนนอนตาที่ปิดอยู่ก็เลยสั่น ๆ ซึ่งมันไม่ได้ เราต้องทำตามที่หม่อมน้อยบอก คือ ต้องทำสมาธิแล้วก็เอาใจไปอยู่ที่อื่น ไปโฟกัสที่ลมหายใจแทน
…ฉากที่ประทับใจก็คงเป็นตอนที่เข้าโรงพยาบาลครั้งแรกหลังจากที่รถชน เภานอนอาบเลือดอยู่แล้วก็มองไปที่เต็น เทคแรก ๆ แอมก็เล่นเอง อนันดาไม่ได้ยืนอยู่ตรงนั้นจริง ๆ แต่ว่าพอเทคหลัง ๆ เราก็เริ่มรู้สึกว่าความรู้สึกของเภาตอนนั้นมันน้อยลง ความกลัวหรือเจ็บปวดมันน้อยลง ก็เลยบอกพี่เขาว่าขอให้อนันดามาเล่นอยู่หลังกล้องให้หน่อย อนันดาก็รีบวิ่งมาแล้วก็เล่นให้ เลยทำให้ความรู้สึกของเภากลับมามากเหมือนเทคแรก
…สถานที่ถ่ายที่หลัก ๆ ก็มีแม่ฮ่องสอน มีทั้งในเมืองแม่ฮ่องสอน และก็นั่งรถขึ้นไปหมู่บ้านจีนยูนนาน ซึ่งจะมีถ่ายหลายฉาก ในฉากที่มีป่าสนก็เป็นที่แม่ฮ่องสอนเหมือนกัน นอกนั้นประปรายก็มี สระบุรี อ่างศิลา
…ถ้าพูดถึงความหมายของคำว่ารัก แอมคิดว่ามันไม่น่าจะมีความหมาย แอมว่ามันเป็นความรู้สึก คือถ้าเกิดขึ้นแล้วเราจะรู้สึกเอง โดยที่แบบในใจมันอยากจะบอกออกมาว่ารัก มันคงให้ความหมายไม่ได้ มันจะเต็มเปี่ยม ทำให้คนมีความสุข มุมมองความรักในความรู้สึกแอม แอมว่ามันมีหลายแบบ รักพ่อแม่ รักพี่ รักน้อง รักเพื่อน แต่ละแบบล้วนเป็นความรู้สึกทางบวก คือเรามีแล้วมันเป็นความรู้สึกดี ทำให้เกิดแต่สิ่งดี ๆ เพราะถ้าเรารู้สึกโกรธเกลียดใครมันก็จะทำให้เราทุกข์ เพราะฉะนั้นเรามีความรักไว้ดีกว่า
…คิดว่าความรักอย่างในเรื่อง “แฮปปี้เบิร์ธเดย์” มีในสังคมปัจจุบันจริง ๆ เพราะเป็นแรงบันดาลใจให้พี่อ๊อฟ มาทำหนังเรื่องนี้ มีอีกหลายคู่เหมือนกัน เรื่อง “แฮปปี้เบิร์ธเดย์” นี้ให้แง่คิดที่ว่า ให้ดูแลคนรอบข้างในวันที่เรายังดูแลเค้าได้ และเค้ายังดูแลเราได้ เพราะว่าความตายมันมาถึงเมื่อไหร่ก็ได้ โดยที่เราก็คาดเดาอะไรไม่ได้ค่ะ
นักแสดงนำ
…หลังจากที่ทำงานด้วยกันมาจากภาพยนตร์เรื่อง “Me…Myself ขอให้รักจงเจริญ” ทั้ง “อนันดา เอเวอริ่งแฮม” และ “ฉายนันทน์ มโนมัยสันติภาพ” จึงได้รับการทาบทามมาแสดงนำในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย สาเหตุที่เลือก เพราะเรื่องนี้นักแสดงหญิงจะต้องโกนผม โดยแอม-ฉายนันทน์ รับปากที่จะเล่นบทนี้ทันทีโดยไม่คิดมาก ถือได้ว่าแอมเป็นคนที่เสียสละให้กับหนังเรื่องนี้มาก ผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องลุกขึ้นมาโกนหัว เป็นอะไรที่สุดยอด ส่วนอนันดา เป็นคนแรกที่อ่านบทเรื่องนี้แล้วสนใจ แต่ก็บอกว่าเพิ่งผ่านภาพยนตร์มาด้วยกันหนึ่งเรื่อง เขาชอบและอยากเล่น แต่ก็ขอเป็นตัวเลือกสุดท้ายถ้าหาใครเล่นไม่ได้ สุดท้ายเราก็หาไม่ได้จริง ๆ เพราะพอนำบทภาพยนตร์เรื่องนี้ให้นักแสดงหลายคนอ่าน บางคนก็บอกว่ามีธุระ ติดคิวบ้าง ก็มีบางคนที่ไม่กล้าเล่น เพราะอ่านบทแล้วตัวบทค่อนข้างจะเน้นความสำคัญไปอยู่ที่ตัวผู้ชาย ซึ่งเป็นซีน (Scene) ที่ต้องแสดงอารมณ์ตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งหลายคนดูแล้วก็ต้องขอตัว
“พูดถึงนักแสดงทั้งสองคน โตขึ้นเยอะ อนันดาไม่ต้องพูดถึง เพราะว่าความเป็นมืออาชีพ ความเป็นนักแสดง สองคนนี้ ณ วันนี้ ผมถือว่าเป็นวัตถุดิบที่ดีมาก ๆ สำหรับคนที่เรียกตัวเองว่าผู้กำกับ คุณอยากให้เค้าเป็นอะไร คุณก็ปั้นเลย คุณเป็นช่างปั้น สองคนนี้เป็นวัตถุดิบที่ดีที่คุณจะปั้นให้เค้าเป็นอะไรก็ได้ ผมได้ทำงานกับทั้งสองคนนี้ สองเรื่องนี่ผมรู้แล้ว ในวงการนี้ทั้งสองคนสามารถเป็นอะไรได้ทุกอย่าง มันอยู่ที่ผู้กำกับ ผมกล้ารับประกัน ได้ทำงานกับเค้า 2 คน มันอยู่ที่ตัวคนที่กำกับเลยว่า อยากให้เค้าเป็นอะไร”
ผู้เชียนบท
คงเดช จาตุรันต์รัศมี (ผู้เขียนบท)
…ผลงาน ถ้ากำกับก็มี 3 เรื่อง สยิว, เฉิ่ม, กอด เขียนบทก็มี เดอะ เลตเตอร์ หนูหิ่น ไปช่วยเขียน ต้มยำกุ้ง ไปช่วยเกลา ปืนใหญ่จอมสลัด แล้วก็ Me…Myself, Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) แล้วก็มีอีก 2 โปรเจ็คต์หน้าของพี่อุ๋ย ก็เขียนควบกันไป เพราะเค้ากำลังหาทุน ดำเนินการหาทุนไปด้วย โดยเขียนร่วมกับเพื่อน เพราะมีเรื่องนึงมันค่อนข้างเขย่าขวัญไซไฟนิดหน่อย ช่วงนี้ออกผลงานการ์ตูนด้วยนะเรื่อง รักเปื่อย อย่าลืมไปซื้อ (หัวเราะ)
…ผลงานที่ออกมาแล้วประทับใจ ก็คือเขียนออกมาให้ตัวเองกำกับก็มีความสุข แทบทุกเรื่อง ก็รักงานตัวเองทุกเรื่องแต่มันไม่ค่อยขายเท่าไหร่ แต่ก็ไปด้วยดีในเทศกาลเสมอ แต่ก็พยายามขายอยู่ (หัวเราะ)
ที่มาของการมาร่วมงานกับพงษ์พัฒน์
ที่มาร่วมงานเขียนบทกับพี่อ๊อฟเรื่อง Me…Myself เพราะพี่อิ๋ว ที่เป็นโปรดิวเซอร์ เขาเป็นผู้ช่วยผมมาก่อนตอนหนังเรื่องแรกเรื่องสยิว จริงๆ แล้วแกเป็นผู้ช่วยรุ่นใหญ่ในตอนนั้น ตอนนั้นผมก็มือใหม่ แล้วทางบาแรมก็เห็นว่าเอามือดี ๆ มาช่วย ทำงานดีกว่า ก็เห็นว่าพี่อิ๋วแกเก่งมาก สายจัดการแกดีมากก็เลยทำให้ได้ร่วมงานกัน ก็ชอบพอกันอยู่แล้วล่ะ แล้วพอดีพี่อ๊อฟเค้าจะทำ ก็ลากพี่อิ๋วไปเป็นโปรดิวเซอร์ พี่อิ๋วก็เลยเป็นทั้งไลน์โปรดิวเซอร์ และอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง เค้าทำงานอย่างทูอินวัน ทรีอินวันมาก แล้วก็เรียกทีมงานมา แล้วก็เรียกคนเขียนบทมาเค้าก็เรียกผม พอดีพี่อ๊อฟเค้ามีไอเดียอยู่ แล้วก็อยากหาคนเขียน
คุยกันครั้งแรกก็จูนติด พี่อ๊อฟแกเป็นคนน่ารักแล้วก็คุยสนุก แมน ๆ เวลาพี่ทำงานกับผู้กำกับ พี่ค่อนข้างมีภาพชัดเจนในหัวว่าต้องการอะไร ก็เป็นคนเปิดเผย สามารถพูดในสิ่งที่ต้องการชัดเจน มันช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้น ได้ง่ายขึ้น ก่อนหน้านั้นเข้าใจว่าพี่อ๊อฟไม่ได้ติดต่อคนอื่นเลย สำหรับคนเขียนบท อย่างในเรื่อง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) พี่อ๊อฟก็เลือกพี่มาเขียน เพราะพอทำงานแล้วมันจูนกันติดแล้วมันก็ไม่ยาก ระหว่างที่ติดต่อมาผมกำลังถ่ายกอดอยู่ ผมก็บอกอาจจต้องใช้เวลาหน่อยนะ เอาไว้ผมปิดกล้องแล้วผมจะรวดให้ทีเดียว แต่ว่าระหว่างนั้นเองก็มีการคุยกันไปคุยกันมาตลอดเวลา พี่อ๊อฟแกแบบเป็นคนที่ทำการบ้าน ขยันมาก แล้วก็เหมือนเค้ามีของในหัวเยอะ ความต้องการที่ชัดเจนในหัว แล้วก็จะบอกมาเป็นภาพ ภาพ เนี่ยทำให้เราทำงานได้เร็ว ก็ดีมาก พี่เคยทำงานกับผู้กำกับหลาย ๆ แบบที่เขียนบทมา กับพี่อ๊อฟจะเห็นได้ว่าแกเป็นคนที่งานเยอะอยู่แล้วนะ ไม่ว่าจะเตะบอล เล่นคอนเสิร์ต แต่แกก็มีของเตรียมอยู่เยอะมาก แกมีของเตรียมมาเยอะมากในทุกๆ ครั้งก็รู้สึกว่าทำงานกับแกแล้วแฮปปี้
มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทอยู่แล้วโดยปกติ เวลาเขียนบทให้คนอื่น ๆ มันเป็นเรื่องของการจูนรสนิยม ซึ่งไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก แล้วสุดท้ายเวลาเราเขียน มันไม่ใช่หนังเรา เวลาเราเขียนเนี่ยคือเราต้อง serve โลกของเค้า คิดซะว่าเวลาเราไปดูหนังเรื่องหนึ่ง มันเป็นโลกของผู้กำกับ โลกผู้กำกับคนนี้เป็นแบบนี้ โลกผู้กำกับคนนี้เป็นแบบนี้ เวลาไปดูหนังเฉินหลง มันก็เป็นโลกของเฉินหลง ขณะที่เราไปดูหนังของสปิลเบิร์ก มันก็เป็นโลกของสปิลเบิร์ก มันแตกต่างกันแน่ ๆ แต่ว่าคนเขียนบทเนี่ย มันต้องเสิร์ฟโลกของเขา โลกของแต่ละคน ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร
เวลาทำไม่ได้คิดถึงเรื่องรางวัลหรืออะไร แต่จะคิดถึงเรื่องเงินเข้าไว้ (หัวเราะ) ความแตกต่างของ Me…Myself กับ Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) พี่ว่าโจทย์ คอนเซปต์มันต่างกันอยู่แล้ว แต่พี่ว่าเรื่องนี้มันดราม่ายิ่งขึ้นไปอีก มันเป็นการเจาะเข้าไปในคาแรกเตอร์ เจาะเข้าไปในจิตใจของมนุษย์คนหนึ่งมากกว่า ถามพี่ พี่รู้สึกว่ามัน Deep ขึ้น ก็คือนักแสดงต้องแสดงอารมณ์มากขึ้น แล้วอีกอย่างเป็นโปรเจคที่ท้าทายนักแสดงมาก ๆ โดยเฉพาะตัวอนันดา เค้าต้องรับแบกหนังทั้งเรื่อง ต้องเล่นคนเดียวเกินครึ่งเรื่องด้วยซ้ำไป งานโซโล่เลย แล้วตัวอนันดาเองเค้าก็สามารถแบกรับได้อย่างดีเลยทีเดียว
ความเห็นเกี่ยวกับนักแสดง
…ในส่วนของน้องแอม ทั้งพี่อ๊อฟ ทั้งพี่ รวมถึงพี่อิ๋ว ไม่มีใครคิดว่าจะต้องเอาคู่เดิมมาจับกัน ต่างพยามหาคนใหม่ กลัวเป็นที่ครหาว่าไม่มีอะไรแล้ว ไม่มีใครเค้าอยากให้มาเม้าท์หรอกว่าหากินง่าย คิดมากแล้ว แต่ว่าแบบผู้หญิงที่ยอมโกนหัวเนี่ย ใครวะ ถามจริงเหอะ ไม่มีใครแล้ว นอกจาก หนึ่งต้องเป็นนักแสดงที่จริงจังกับการแสดง ยอมทุ่มเท แล้วต้องอยู่ในวัยแบบนั้นด้วย นักแสดงสาว ๆ ในบ้านเรายังรักสวยรักงามกันอยู่ต้องห่วงสวยก่อน โดยที่แบบว่าไม่พร้อมที่จะทุ่มเท แต่ว่า “แอม” เป็นกรณีพิเศษเพราะว่าแอมเคยทำงานกับพี่อ๊อฟมา เค้ารู้ว่าพี่อ๊อฟต้องการอะไร แล้วเค้าพร้อมจะทำให้ นี่คือข้อดีของแอม ก็เลยทำให้มันง่าย ขณะเดียวกันก็เหมือนกันกับอนันดาก็เหมือนกัน แอมตัดตัวตนออกไปได้ ตัดเรื่องความสวยความงาม รู้ว่าเรากำลังมาทำอะไรกันมันก็ง่าย ผู้กำกับเค้าต้องการสิ่งนี้แหละจากนักแสดง ถ้าแบบว่าส่องกระจกตลอดเวลามันก็ไม่ใช่เรื่องแล้วล่ะ
ทำไมงานเขียนส่วนใหญ่เป็นหนังรัก
การเขียนบทส่วนใหญ่จะเป็นหนังรักเพราะเป็นงานที่เราถนัดหน่อย แล้วงานที่ได้ออกมาก็เป็นงานที่คนกล่าวขานถึง มันก็เลยทำให้เครดิตตรงนี้มา แต่ว่าไม่ได้ชอบ ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นจ้าวแห่งหรือว่าแบบอะไรอย่างนี้ เพราะจริง ๆ เป็นคนไม่หวาน แล้วสังเกตดูจริง ๆ ทุกเรื่องที่เขียนไปไม่หวานด้วยนะ มันจะไม่ใช่หวาน ๆ เพ้อ ๆ แต่เรามองในแง่ของดราม่ามากกว่า และเราก็มองมันแง่ของสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นถ้าเราคิดว่ามันเป็นแบบนี่ มันก็อาจจะมีความเศร้าอยู่ตรงนั้น มันไม่หวาน
ความเห็นเกี่ยวกับผู้กำกับ
พูดถึงพี่อ๊อฟ ในแง่นักแสดงก็เป็นนักแสดงที่เก่ง ในแง่ผู้กำกับก็เป็นผู้กำกับที่ขยัน แล้วก็เก่ง รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ในแง่ของการเป็นพี่ชายก็เป็นมีใจให้ เวลาทำงานแล้วสบายใจ เป็นคนจริงใจ ความเป็นพี่ดีมาก คือเวลาทำงาน อย่างพี่ทำงานกับคนนั้นคนนี้เยอะ ทำเพลง ทำอะไรต่อมิอะไร เราทำงานกับคนหลายประเภท บางประเภทเราก็ได้แค่ทำงานกันไป แต่นี่คือคนอีกประเภทหนึ่งที่ทำงานไปด้วย และเป็นเพื่อนเป็นพี่น้องกันไปด้วย ทำแล้วสบายใจ ปรึกษาได้ทุกเรื่อง มันทำงานแล้วเอาชีวิตเข้าไปบวกกันได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญนะเวลาเขียนบทให้ใครต่อใคร คือจริง ๆ แล้วการเขียนบทหนังมันเป็นการแชร์ชีวิตกันเหมือนกัน นอกจากไอเดียในบทแล้วเนี่ย สิ่งที่เราจะเค้นออกมาแสดงในบทได้ บางทีมันต้องดึงบางส่วนหรือความเห็นต่อชีวิตมาชมกันมาคุยกัน เรามีความเห็นต่อชีวิตแบบนี้ เค้าเห็นแบบนี้ การที่เราสามารถพูดกันแบบจริงใจ แล้วก็ให้ความเห็นกันได้เต็มที่เนี่ย มันทำให้งานเป็นไปได้ด้วยดี
เรื่องกุ๊กกิ๊กจะไม่ค่อยเห็นนะ แต่ก็เห็นว่าพี่อ๊อฟเค้าให้เกียรติ พี่แดงก็เป็นแม่บ้านที่ดีมาก ไม่ต้องพูดถึงว่าเค้าเป็นนักแสดงที่เก่ง เค้าเป็นแม่ของบ้าน ที่จัดการทุกอย่าง เราเป็นสามีแต่บางทีก็เหมือนเป็นลูกด้วย เพราะเค้าจะเป็นคนจัดการทั้งหมด ซึ่งพี่แดงสุดยอดเลย
พี่ว่าหนังเรื่อง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) เป็นหนังที่ไม่ต้องรีเสิร์ชมากถ้าเทียบกับ Me…Myself , Me…Myself เป็นอะไรที่ต้องคุยกันเยอะ เป็นเรื่องของโฮโมเซ็กช่วล เรื่องของอะไรทำให้เป็นอย่างนั้น แต่ว่าเรื่อง Happy Birthday (แฮปปี้เบิร์ธเดย์) พี่รู้สึกว่ามันเป็นการตั้งคำถามถึงความตั้งใจของมนุษย์คนนึงว่ามันตั้งใจได้แค่ไหนกับคำสัญญาที่มันให้ไว้ มันจะสามารถรักษาสัญญาได้มั้ยด้วยเงื่อนไขของชีวิต ซึ่งมันมีเยอะมาก เงินทอง เงินเดือน เวลาส่วนตัว ซึ่งมนุษย์คนหนึ่งทุกวันนี้มันเห็นแก่ตัวขึ้น มันไม่ใช่เรื่องผิดนะ ทุกคนมันก็ต้องเห็นแก่ความสุขของตัวเอง ดังนั้นเวลาเราเขียนบทหนังเรารู้สึกว่าไม่ต้องรีเสิร์ช แต่ว่าเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเข้าไปถึงมนุษย์คนหนึ่ง มันไม่ใช่หาข้อมูล แต่ว่าเป็นการคิด คิดและตรึกตรองและลองหาทางเลือกของมนุษย์คนหนึ่ง ว่ามีทางเลือกอะไรได้บ้าง ก็นั่งคุยกันและแชร์กันว่ามันควรจะเป็นอย่างมนุษย์แบบไหน เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น
ต้นแบบของเรื่องจริง ๆ แล้วพี่อ๊อฟ เค้าไปดูรายการทีวี คนค้นคน แล้วก็มีเรื่องของคุณลุง คุณตาคุณยาย ซึ่งแค่แบบดูรายการคนค้นฅนก็น้ำตาแทบเล็ดแล้ว มันก็เป็นแรงบันดาลใจที่น่าสนใจ แต่ที่น่าสนใจกว่าก็คือ เมื่อเราเริ่มทำงานกัน เราจะไม่เอาแค่ว่าคนนี้เสียสละ เสียสละ เสียสละ แต่เรามา Study กันดีกว่าว่าคนคนหนึ่งเมื่อจะตัดสินใจทำอะไรมันทำได้จริงเหรอ อุปสรรคภายในจิตใจ ไอ้สิ่งเหล่านี้ที่มันน่าสนใจกว่า กูก็อยากมีความสุขของกูอ่ะ กูอยากให้ตายแบบนี้ กูอยากมีอย่างที่มนุษย์ทุกคนต้องการ พอเราตั้งใจที่จะเบนมาทางนี้แทนที่จะ Sentimental อย่างเดียว เรารู้สึกว่าเนี่ยน่าสนใจ กว่าจะได้บทตรงนี้ก็เด้งไปเด้งกลับตลอด พี่เองก็ทำหนังไปด้วย ตัดหนังไปด้วย ถ่ายเสร็จก็ตัดหนัง ก็ทำงานไป พอดีพี่ชอบทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เพราะบางทีเราคิดงานแล้ว Concentrate อยู่อย่างเดียวเนี่ยมันเป็นช่วงตัน การที่ไปสนใจเรื่องอื่นซักพักนึงแล้วก็กลับมา เฮ้ย ได้ว่ะ ในขณะนี้ที่พักเรื่องโน้น กลับมาเรื่องนี้ เฮ้ยได้ว่ะ มันก็มีทางออก
คนเขียนบทที่จูนกันติด
…คนเขียนบทใช้คนเดิมที่เคยเขียนเรื่อง Me…Myself “คงเดช จาตุรันต์รัศมี” เพราะผมค่อนข้างยึดติดกับคนที่ทำงานด้วยกัน แล้วรู้สึกว่าเค้าอ่านเราออก บทภาพยนตร์ที่คนเขียนบทเขียนมาให้เรา เราไม่ได้ทำตามตรงนั้นทั้งหมด 1, 2, 3-10 เราไม่ใช่คนประเภทที่ว่า พอได้บทภาพยนตร์สมบูรณ์แบบมา 1 ฉบับ แล้วทำตามทั้งหมดที่เค้าเขียน แต่มันมีการปรับ การแต่ง อย่างบทภาพยนตร์เรื่อง Me…Myself ก็มีการปรับปรุง แก้ไข แต่งเติม ซึ่งผู้กำกับทุกคนก็มี แต่ผู้กำกับ กับคนเขียนบท 1 คน ที่จะจูนกันติด มันหาไม่ได้ง่าย ๆ เมื่อเราได้รับบทจากเขามาหนึ่งบท เราแก้ไข แต่งเติมบท ปรับปรุง แฮปปี้มีความสุข ด้านคนเขียนบทก็เออ ใช่ ใช่ ใช่ พี่ เค้าก็เห็นด้วยว่าบทมันปรับแล้วใช่ มันก็มีไม่กี่คน บางคนเราไปแตะต้องบทของเค้าไม่ได้ ซึ่งผู้กำกับแต่ละคนก็มีมุมมองที่แตกต่าง คนเขียนบทเค้าก็มีมุมมองของเค้า มันก็ต้องมาจูนกัน หนังเรื่องแรกผมทำงานกับคงเดช แล้วรู้สึกว่ามีความสุข แล้วได้งานออกมาก็โอเค
…แล้วพอมาเรื่องนี้ ผมก็นึกถึงเค้าเหมือนกัน ยังนึกถึงอยู่ก็เลยได้คุยกัน และที่สำคัญที่สุดก็คือ ความกระตือรือร้นในการที่จะทำงานร่วมกันมันเกิด คงเดชเป็นคนเขียนบทที่น่ารักมาก และผมบอกได้เลยว่า ผมมักพูดอยู่เสมอว่าผมได้รับเกียรติจากเค้า เพราะจริง ๆ เค้าเป็นคนเขียนบทมือหนึ่ง แต่เราเพิ่งมาเป็นผู้กำกับ มากำกับเรื่อง 2 เรื่องเท่านั้น แต่คงเดชเป็นทั้งคนเขียนบทและผู้กำกับ และทำงานประสบความสำเร็จแบบนี้มาหลายปีแล้ว ก็ถือว่าเค้าให้เกียรติเรา แล้วก็การทำงานที่มันจูนกันแบบนี้ คงเดชไม่มีอีโก้ ไม่มีพูดว่า เฮ้ยนี่ กูเป็นผู้กำกับมือหนึ่ง เป็นมือรางวัลนะ เป็นถึงผู้กำกับ จะมารู้มากกว่ากูได้ไง เค้าไม่เคยพูด ไม่เคยทำ ตรงนี้ก็เลยค่อย ๆ ก่อกำเนิดงานศิลปะที่สวยงาม มันก็เป็นภาพปั้นที่สวยงาม
แสดงความคิดเห็น