Home » » โอปปาติก

โอปปาติก

“คุณเชื่อในโลกหน้ามั้ย?”

หนทางเดียวแห่งการได้มาซึ่งความสามารถและอำนาจพิเศษเหนือมนุษย์

นั่นคือ การยอมปลิดชีวิตตนเองเสีย แล้ววิถีแห่งการเป็น “โอปปาติก” จะเริ่มต้นขึ้น

มีคำเล่าขานถึง “พลังพิเศษ” แห่งตัวตนโอปปาติก ที่มีแตกต่างกันไป

แต่ทุกครั้งที่มันเลือกใช้ กลับต้องแลกด้วย “คำสาป” อันแสนเจ็บปวดอยู่เสมอ

ที่ผ่านมา เหล่ามนุษย์อาจไม่เคยล่วงรู้ถึงชีวิตใน “โลกซ้อนทับ” นี้

จนกระทั่ง เมื่อมีมนุษย์หาญกล้า “คิดล่า” เหล่าโอปปาติก

เพื่อ “ท้าทาย” ขอบเขตแห่งอำนาจนานนับศตวรรษของพวกมัน

เมื่อนั้น…สงครามระหว่าง “มาร 5 ตน” กับ “1 คนธรรมดา”…จึงอุบัติขึ้น

ถึงเวลาที่ “มารจะล่าคน” และ “คนจะล่ามาร”

 

เรื่องเล่า…เหล่าโอปปาติก

โอปปาติก (โอ-ปะ-ปา-ติ-กะ) เกิดอมตะ เล่าถึงเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งบนโลก ที่ใช้ชีวิตปะปนอยู่กับผู้คนทั่วไป แต่ละคนที่เป็นโอปปาติกนั้น จะได้รับพลังพิเศษบางอย่างที่ทำให้มีความสามารถเก่งกาจเหนือคนอื่น ๆ หากแต่พลังพิเศษนั้นก็มีขีดจำกัดในการใช้ และจะค่อย ๆ หมดไป เมื่อสิ้นอายุขัยในที่สุด

ศดก (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) โอปปาติกตนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่กับความเชื่อของตนเอง ว่าจะสามารถเอาชนะความตายได้ด้วยการเป็นอมตะ แต่อุปสรรคอย่างเดียวที่คอยขัดขวางไม่ให้ความต้องการของศดกเป็นจริงก็คือ จิรัสย์ (สมชาย เข็มกลัด) โอปปาติกอีกตนที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างลึกลับ และดูอันตรายเกินไปที่ศดกจะวางใจให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ ทางเดียวที่ศดกจะสามารถเป็นอมตะได้ก็คือ ต้องกำจัดจิรัสย์ออกไป

ศดกจึงวางแผนการโดยให้ลูกน้องสุดจงรักภักดีนาม ธุวชิต (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ออกตามหา เตชิต (ลีโอ พุฒ) นักสืบเอกชนคนหนึ่งที่ยังไม่รู้ว่าตนเองนั้นมีพลังพิเศษของโอปปาติกแอบซ่อนอยู่

ศดกได้ล่อหลอกให้เตชิตกลายเป็นโอปปาติกด้วยการฆ่าตัวตาย และได้ว่าจ้างให้เตชิตใช้พลังพิเศษของเขาออกตามหาโอปปาติกตนอื่น ๆ เพื่อร่วมมือกันหาทางกำจัดตัวอันตรายอย่างจิรัสย์ที่ตอนนี้กำลังตามล่าหญิงสาวลึกลับนางหนึ่งอยู่

เตชิตตกลงช่วยเหลือศดก และได้รู้จักกับ ปราณ (เข็มอัปสร สิริสุขะ) สาวลึกลับคนที่จิรัสย์ต้องการจะฆ่า และหลงรักปราณทันทีที่ได้เจอหน้ากันครั้งแรก ซึ่งตัวปราณนี่เองที่เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้โอปปาติกตนอื่น ๆ มารวมกันได้

ไปศล (ชาคริต แย้มนาม) โอปปาติกนักฆ่าที่ไม่เคยผูกพันยึดติดกับใคร นอกจากอดีตของตัวเอง และด้วยความรู้สึกผูกพันบางอย่างของไปศลที่มีต่อปราณ ทำให้เขาแอบตามดูแลปราณอยู่ห่าง ๆ

อรุษ (เร แม็คโดนัลด์) กับ รามิล (อธิป นานา) สองโอปปาติกเพื่อนแท้ชนิดตายแทนกันได้ เมื่อใดที่อยู่รวมกันจะแข็งแกร่ง แต่ถ้าแยกกันจะอ่อนแอ เพราะต่างคนต่างก็มีพลังที่จะช่วยอุดจุดอ่อนของกันและกันได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เข้าถึงตัวได้ยาก เพราะไม่เคยไว้ใจใคร จนกระทั่งทั้งคู่ได้มาสานสัมพันธ์กับปราณ

แม้ดูเหมือนว่า เหล่าโอปปาติกทั้งหมดจะถูกดึงดูดมารวมกันโดยมีปราณเป็นจุดเชื่อมโยง แต่เรื่องราวก็ไม่ได้ง่ายไปเสียทั้งหมด เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีแง่มุมที่ไม่ลงรอยกันอยู่ ประกอบกับเรื่องราวที่ดูคลุมเครือระหว่างศดกกับจิรัสย์ นั่นได้นำไปสู่การปะทะกันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา และนำมาซึ่งความสูญเสีย พร้อม ๆ กับการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งของชีวิต

สุดท้ายแล้ว บางสิ่งบางอย่างที่ถูกหล่อหลอมขึ้นเป็นเงื่อนงำจะถูกคลี่คลายหรือไม่

และจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าความจริงที่ทุกคนอยากรู้ กลับกลายเป็นความเจ็บปวด

พวกเขา…เหล่า “โอปปาติก” จะรับมือกับความจริงนั้น…อย่างไร

ทีมงานสร้าง : แอ็คชั่น-แฟนตาซี (แนวภาพยนตร์) / สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล (บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย) / บาแรมยู (บริษัทดำเนินงานสร้าง) / สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ (อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร) / ปรัชญา ปิ่นแก้ว, สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์ (ควบคุมงานสร้าง) / ศิตา วอสเบียน (ดำเนินงานสร้าง) / ธนกร พงษ์สุวรรณ (ผู้กำกับภาพยนตร์) / ธนกร พงษ์สุวรรณ (เรื่อง) / ธนกร พงษ์สุวรรณ, ยุคนธร แก้วทอง (บทภาพยนตร์) / เดชา ศรีมันตะ, ธีระวัฒน์ รุจินธรรม (กำกับภาพ) / กฤษณพงค์ ราชธา, ธนา ศรีสุข (กำกับการต่อสู้) / พิสุทธิ์ ปรีวัฒนกิจ (ออกแบบงานสร้าง) / เอกศิษฏ์ มีประเสริฐสกุล, น้ำผึ้ง โมจนกุล (ออกแบบเครื่องแต่งกาย) / วิทยา ดีรัตน์ตระกูล (เมคอัพเอฟเฟ็คต์) / สุทธิพร ทับทิม, ธนกร พงษ์สุวรรณ, สิรภพ ตุงคะเศรณี, ลี ชาตะเมธีกุล, แม็กซ์ แอนโทนี่ เทอร์ช (ลำดับภาพ) / กันตนาฟิล์มแล็บ (ฟิล์มแล็บส์) / กันตนาแอนิเมชั่น (บันทึกเสียง)

นำแสดงโดย: สมชาย เข็มกลัด, ชาคริต แย้มนาม, ลีโอ พุฒ, อธิป นานา, เร แม็คโดแนลด์, เข็มอัปสร สิริสุขะ, นิรุตติ์ ศิริจรรยา และ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง

จุดกำเนิด…โอปปาติก

“แรงบันดาลใจในการทำเรื่อง ‘โอปปาติก’ คือตอนที่ผมทำเรื่อง FAKE โกหกทั้งเพ ผมมีไอเดียและสคริปต์หลายเรื่อง ผมเขียนไว้อยู่เรื่องหนึ่งซึ่งก็คือเรื่อง อวตาร ช่วงนั้นผมได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาค่อนข้างเยอะ แต่หนังเรื่องนั้นมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด โลกคู่ขนานของคน และสิ่งที่ไร้วิญญาณต่าง ๆ ซึ่งผมก็จินตนาการไปถึงสิ่งมีชีวิตอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงพุทธศาสนาที่เป็นเรื่องของคนก็ไม่ใช่ ผีก็ไม่เชิง เป็นเรื่องของภูติผีปีศาจเทวดา สัมภเวสีอะไรอย่างนี้

ทีนี้พอมาเจอคำ ๆ หนึ่งอย่าง ‘โอปปาติก’ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งตามหลักพุทธศาสนา ความหมายของมันก็คือ ผุดและเกิดขึ้นมาทันที โตเต็มวัยขึ้นมาทันที อันนี้ก็จะรวมเรียกพวกภูติผีปีศาจ เทวดา เทพยดา สัมภเวสี อสูรกายต่าง ๆ ตามความเชื่อของคนไทยแล้วแต่จะเรียก ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ บวกกับโดยส่วนตัวผมเองชอบทำหนังที่เน้นในเรื่องของคาแร็คเตอร์อยู่แล้ว และก็อยากจะลองทำหนังแอ็คชั่นในแบบที่ผมอยากทำบ้าง ผสมกับการที่ถ้าหากจะมีหนังไทยซักเรื่องที่รวบรวมนักแสดงชั้นนำซึ่งมีคาแร็คเตอร์ที่แปลกใหม่ให้มาอยู่ในเรื่องเดียวกันก็คงจะน่าสนใจดี อันนี้เป็นที่มานะครับ

หลังจากนั้นผมจึงคิดพล็อตขึ้นมาสนับสนุนไอเดียนี้อีกทีหนึ่ง ก็เลยออกมาเป็นเรื่องราวของเหล่าโอปปาติก ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถพิเศษ นอกจากที่พวกเขาต้องต่อสู้กันเองแล้ว พวกเขายังต้องต่อสู้กับตัวเองอีกด้วย” ธนกร พงษ์สุวรรณ ผู้กำกับหนุ่มรุ่นใหม่ที่เคยฝากผลงานสร้างชื่อมาแล้วจาก FAKE โกหกทั้งเพ และ เอ็กซ์แมน แฟนพันธุ์เอ็กซ์ เกริ่นถึงที่มาของภาพยนตร์ลำดับที่ 3 ของเขา

โอปปาติก (โอ-ปะ-ปา-ติ-กะ) ตามความหมายทางพุทธศาสนา คือ สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นมาแล้วโตเต็มที่ในทันทีทันใด โดยมีอำนาจของพลังกรรมเป็นตัวสนับสนุน โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการวิวัฒนาการเหมือนสัตว์ทั่วไป โอปปาติกจะเกิดหรือตายโดยไม่ทิ้งซากหรือเนื้อไว้ให้เห็น

ในขณะที่ โอปปาติก (โอ-ปะ-ปา-ติ-กะ) เกิดอมตะ ในรูปแบบภาพยนตร์แอ็คชั่นแฟนตาซีเรื่องนี้หมายถึง เหล่าสิ่งมีชีวิตผู้มีพลังอำนาจพิเศษเหนือกว่ามนุษย์ทั่วไป ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นทันทีที่ประตูแห่งความตายถูกเปิดขึ้น เหล่ามนุษย์ไม่เคยล่วงรู้ถึงความซ้อนทับที่เกิดขึ้นนี้

คำเล่าขานบอกกล่าวถึงเหล่าโอปปาติกว่า พวกมันแต่ละตนมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัวแตกต่างกันไป แต่ทุกครั้งที่มันเลือกใช้พลังพิเศษ ก็จะต้องแลกมาด้วยบาดแผลแห่งความทรมานที่แสนเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา ราวกับว่ามันคือคำสาปที่ถูกลิขิตขึ้น

จนกระทั่งวันหนึ่ง มีมนุษย์หาญกล้าคิดท้าทายขอบเขตแห่งอำนาจของโอปปาติก ที่ได้รับการถ่ายทอดมานานนับศตวรรษ ไม่มีใครล่วงรู้ถึงจุดจบแห่งมหาสงครามการนองเลือดล้างเผ่าพันธุ์ว่าจะจบลงที่ใด

แต่ไม่ว่าจะเป็นโลกนี้หรือโลกหน้า นี่คือ อุบัติแห่งความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่วินาทีแรกที่มนุษย์ตัดสินใจล่าโอปปาติก

 

สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับ บาแรมยู ภูมิใจเสนอ “โอปปาติก (โอ-ปะ-ปา-ติ-กะ) เกิดอมตะ” อภิมหาภาพยนตร์แอ็คชั่นแฟนตาซีฟอร์มยักษ์ที่ไม่ควรพลาด กับครั้งแรกในการรวมตัวกันบนแผ่นฟิล์มของเหล่านักแสดงระดับแนวหน้าของเมืองไทยอย่าง สมชาย เข็มกลัด, ชาคริต แย้มนาม, ลีโอ พุฒ, อธิป นานา, เร แม็คโดนัลด์, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, นิรุตติ์ ศิริจรรยา พร้อมการกลับมาขึ้นจอใหญ่อีกครั้งของนักแสดงสาว เชอร์รี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ ในบทของหญิงสาวลึกลับซึ่งเป็นกุญแจสำคัญ และตกอยู่ท่ามกลางวงจรแห่งการตามล่าล้างแค้นที่ไม่รู้จักจบสิ้นของเหล่าโอปปาติก

นอกจากจะนั่งแท่นผู้กำกับภาพยนตร์เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ธนกร พงษ์สุวรรณ ผู้กำกับหนุ่มเลือดใหม่ ยังเป็นคนต้นคิดเรื่องและร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหลักด้วย

“ในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ใช้เวลานานพอสมควรครับ เพราะต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสตร์หลายเล่ม เป็นการรีเสิร์ชข้อมูลในการทำภาพยนตร์เรื่องนี้นะครับ ช่วงนั้นผมอ่านหนังสือหลายเล่มมาก และก็คิดว่าจะทำหนังเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยคาบเกี่ยวอยู่ระหว่างสองโลก โลกปัจจุบันกับโลกหลังความตาย ผมก็คิดถึงคุณสมบัติพิเศษของพวกเขา คือ พวกเขาเป็นโอปปาติก บางคนก็เข้าใจว่าเป็นผี แต่ตามตำราที่อ่านมา มันแปลได้ว่า สิ่งมีชีวิตที่อุบัติขึ้นมาได้เอง ผมก็เลยเริ่มโยงเข้ากับเรื่องว่า ถ้าคนเราฆ่าตัวตาย แล้วอาจจะกลายเป็นโอปปาติก ทีนี้พอได้เป็นแล้ว อาจจะมีอำนาจหรือพลังพิเศษ แต่มันไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ คุณได้ความพิเศษแต่อาจจะต้องแลกกับคำสาป หรือความวิบัติบางอย่าง เหมือนกับว่ามีพลังพิเศษ แต่เมื่อใช้ไปแล้วก็ต้องแลกกับคำสาปที่ตามมาเป็นการแลกเปลี่ยน อันนี้ก็คือที่มาของการนำตัวละครไปสู่สถานการณ์แอ็คชั่นและก็จุดขัดแย้งของตัวละครแต่ละตัวด้วย อะไรประมาณนี้ครับ

ผมไม่อยากจะไปเน้นว่า หนังเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามากแค่ไหน เดี๋ยวคนจะเข้าใจว่าเป็นหนังดูยาก ก็เอาเป็นว่า หนังเรื่องนี้ผมได้ไอเดียจากพุทธศาสนามาเป็นจุดกำเนิด แต่ก็ไม่ใช่หนังเกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งหมดนะครับ จากนั้นผมก็มาต่อเติมไอเดียจากคำว่า โอปปาติก ให้ผสมผสานกันได้กับความเป็นแอ็คชั่น-แฟนตาซี ดังนั้นถ้าจะถามเรื่องสัดส่วนความเป็นหนังเรื่องนี้ บอกได้เลยว่าในส่วนของแอ็คชั่นแฟนตาซีมันจะมีมากกว่าเนื้อหาทางด้านศาสนาพุทธ และที่สำคัญ ผมอยากขับเน้นคาแร็คเตอร์ของตัวละครเป็นหลักด้วยครับ ซึ่งจะเห็นได้เลยว่า พวกโอปปาติกในเรื่องนี้จะมีการแสดงอารมณ์ความรู้สึกในด้านต่าง ๆ ที่มีทั้งรัก โลภ โกรธ หลง กิเลสตัณหาไม่ต่างจากมนุษย์อย่างเรา ๆ เลยครับ”

เมื่อได้บทภาพยนตร์ที่สมบูรณ์แบบแล้ว อีกขั้นตอนหนึ่งที่ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ “การคัดเลือกนักแสดง” ที่ผู้กำกับหนุ่มมีความตั้งใจที่จะรวบรวมนักแสดงมากฝีมือแถวหน้าของเมืองไทยไว้บนแผ่นฟิล์มเรื่องเดียวกัน เพื่อให้คุณภาพทางการแสดงอยู่ในระดับที่น่าจดจำเรื่องหนึ่ง

“จริง ๆ แล้วในบ้านเรามีนักแสดงที่มีความสามารถ มีฝีไม้ลายมือ และความน่าสนใจมาก ๆ ซึ่งการคัดเลือกนักแสดงชั้นนำทั้ง 8 คนสำหรับหนังเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องยากพอสมควรนะครับ ซึ่งการคัดเลือกแต่ละคน ผมก็ดูจากความเหมาะสมของคาแร็คเตอร์ที่เข้ากับบทเป็นหลัก และส่วนหนึ่งก็เป็นความตั้งใจของผมอยู่แล้วที่อยากจะรวบรวมนักแสดงทั้งรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องการแสดง หลังจากที่ผมพยายามลอง

แคสติ้งหลาย ๆ คนในหัวดูให้เข้ากับหนังเรื่องนี้ รวมถึงลองคัดเลือกกับทีมงานอยู่นาน สุดท้ายด้วยความเหมาะสมหลาย ๆ อย่างก็มาลงตัวที่นักแสดงนำทั้ง 8 คนนี้ครับ ซึ่งทั้ง เต๋า (สมชาย เข็มกลัด), คริต (ชาคริต แย้มนาม), พุฒ (ลีโอ พุฒ), บอล (อธิป นานา) ซึ่งยังไม่เคยผ่านงานแสดงมาก่อน, เร (เร แม็คโดนัลด์), เชอรี่ (เข็มอัปสร สิริสุขะ), พี่อ๊อฟ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) และ อาหนิง (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) ทุกคนในเรื่องนี้ก็จะพลิกบทบาทในคาแร็คเตอร์ที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน จะเป็นอะไรที่แปลกแตกต่างออกไปจากเรื่องอื่น ๆ ครับ

การร่วมงานกับนักแสดงชุดนี้ก็ราบรื่นดีครับ เพราะทุกคนให้ใจและทุ่มเทให้กับการแสดงเรื่องนี้มาก ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วทุกคนก็เป็นนักแสดงที่มีฝีมือมากอยู่แล้ว อันนี้ไม่ต้องพูดถึง ก็เลยทำให้สามารถเข้าใจและตีความลงไปในคาแร็คเตอร์แต่ละตัวได้อย่างเข้าถึงบทบาทอย่างครบถ้วน ผมก็ต้องขอบคุณนักแสดงทุกคนที่ให้ใจและเข้าใจจุดประสงค์ในการทำงานของผม แล้วก็ต้องขอบคุณอีกหลาย ๆ อย่างในกระบวนการทำงานที่ทำให้หนังเรื่องนี้สำเร็จลุล่วงออกมาได้”

 

นอกจากความแข็งแรงด้านวัตถุดิบขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น เส้นเรื่อง, บทภาพยนตร์ และ กลุ่มนักแสดง ที่มีคุณภาพอยู่ในระดับมาตรฐานสากลแล้ว การฉีกรูปแบบภาพยนตร์แอ็คชั่น-แฟนตาซีของไทยที่หวังสร้างปรากฏการณ์ใหม่แห่งปี 2550 เรื่อง “โอปปาติก (โอ-ปะ-ปา-ติ-กะ) เกิดอมตะ” นี้ ยังมาพร้อมการเอาใจใส่ในเรื่อง “โลเกชั่นการถ่ายทำ” ที่ผู้กำกับและทีมงานบรรจงสรรหาสถานที่ถ่ายทำที่ดูแปลกตาแตกต่างในแง่มุมที่ไม่เคยเห็นในภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ เพื่อบรรลุจุดประสงค์ที่ต้องการให้ทุก ๆ โลเกชั่นในเรื่องนี้เป็นเสมือนหนึ่งตัวละครที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวควบคู่ไปกับทุกคาแร็คเตอร์ในเรื่องได้อย่างกลมกลืนและดีที่สุด

“ในการทำหนังทุกเรื่อง ขั้นตอนหนึ่งที่ผมรู้สึกชอบมากก็คือ การหาโลเกชั่นสถานที่ถ่ายทำ เพราะผมคิดว่า การตระเวนดูโลเกชั่นหาสถานที่ถ่ายทำ ไปในที่แปลก ๆ ที่เราไม่เคยไป หรือบางครั้งเคยไปแต่ก็เป็นเพียงแค่ผ่าน ๆ ไม่ได้ลงลึกไปกับมันซักเท่าไหร่ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการหาโลเกชั่นถ่ายทำในหนังเรื่องนี้ บางครั้งมันก็สามารถช่วยเหลือเราในแง่ของการเล่าเรื่องได้มากขึ้นด้วยครับ บางทีมันก็ทำให้มีไอเดียต่อยอดแตกออกมาได้อีกเยอะด้วยครับ

สำหรับเรื่องนี้ ผมก็ตระเวนหามันอยู่นานมาก และผมก็ใช้โลเกชั่นหลากหลายมาก ส่วนใหญ่จะเป็นอาคารเก่า เช่น วัด ตึกเก่า ตึกอนุรักษ์ บางแห่งก็เป็นสถานที่ราชการซึ่งมีอายุถึง 50-60 ปี และบางโลเกชั่นก็ถูกทุบทิ้งไปแล้ว เช่น กรมการค้าภายใน ที่ท่าเตียน ซึ่งผมรู้สึกดีใจมาก ที่ได้บันทึกสถานที่สวยงามแห่งนี้เอาไว้ ส่วนพวกวัดต่าง ๆ ก็เป็นวัดเก่า บางวัดก็มีอายุ 100 ปี เช่น วัดประยูรวงศาวาส ซึ่งผมรู้สึกชอบและหลงใหลในความสวยงามของวัด ผมไม่ค่อยได้เห็นวัดในหนังไทย ผมอยากถ่ายวัดออกมาให้สวย เพราะเราเป็นคนไทย ผมอยากถ่ายทอดในสิ่งที่บางคนอาจจะหลีกเลี่ยงที่จะถ่าย และที่สำคัญบังเอิญว่า เนื้อหาของหนังเกี่ยวข้องกับวิญญาณและโลกหลังความตาย ดังนั้นมันจึงเกี่ยวข้องกันไปโดยปริยายครับ

นอกจากนี้ยังมีโลเกชั่นแปลก ๆ อีกหลายแห่งซึ่งไม่เคยถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของหนังมาก่อน หรือแม้ว่าในบางสถานที่อาจจะเคยถูกใช้ในเรื่องอื่นมาก่อนก็จริง แต่พอมาอยู่ในหนังเรื่องนี้ ก็จะถูกถ่ายทอดออกมาในแง่มุมที่ต่างกันออกไปครับ”

 

องค์ประกอบอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวไปแล้วในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ยังได้รับการดูแลใส่ใจ และพิถีพิถันให้ถึงคุณภาพในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เทคนิคพิเศษด้านภาพ” ที่ทีมงานต้องการเนรมิตมหาสงครามระหว่างเผ่าพันธุ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้ชมชาวไทย เพื่อให้ประจักษ์ถึงความสามารถและพัฒนาการของทีมสร้างหนังสัญชาติไทยที่ไม่แพ้ต่างชาติ ในการผสมผสานเทคนิคไลฟ์แอ็คชั่น, GG, เมคอัพเอฟเฟ็คต์, มุมกล้อง และการตัดต่อที่น่าจับตาเป็นพิเศษด้วย

“ในเรื่องนี้ต้องยอมรับว่า เทคนิคพิเศษด้านภาพไม่ว่าจะเป็นเอฟเฟ็คต์ต่าง ๆ, มุมกล้อง, การตัดต่อ หรือเทคนิคซีจี ก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญค่อนข้างมากที่จะทำให้เรื่องราวที่ผมต้องการถ่ายทอด ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ พูดได้ว่า ทุก ๆ เทคนิคในหนังถูกทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนเติมเต็มให้การเล่าเรื่องสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้ทำให้เรื่องราวแกนหลักที่ผมต้องการจะสื่อถูกลดทอนความสำคัญลงไปแต่อย่างใด ทุก ๆ องค์ประกอบในหนังถือว่าเป็นส่วนที่เอื้อซึ่งกันและกันไปตลอดทั้งเรื่องครับ”

เมื่อเนื้องานที่มีความสมบูรณ์ในทุก ๆ ด้านถูกประกอบหลอมรวมเป็นสุดยอดภาพยนตร์แอ็คชั่น-แฟนตาซีเรื่องนี้ “โอปปาติกะ” (โอป-ปะ-ปา-ติ-กะ) พร้อมแล้วที่จะให้ผู้ชมได้พิสูจน์ความยิ่งใหญ่อันมี “บทสรุป” ที่ทุกคนอาจคาดไม่ถึง

“หนังเรื่องนี้ ตัวละครทุกตัวในเรื่องจะมีปมอยู่ ถึงคุณจะมีพลังพิเศษ แต่ก็ต้องแลกกับการสูญเสียบางอย่าง ตอนที่คุณยังเป็นมนุษย์ คุณก็มีปม มีปัญหา แต่พอคุณมาอยู่ในโลกหลังความตาย คุณก็ยังมีปัญหา ไม่หลุดพ้น ดิ้นไม่หลุดเหมือนกับตอนที่ยังเป็นมนุษย์นั่นแหละ ความจริงแล้ว โลกของโอปปาติกในหนังของผม มันก็ไม่ต่างจากโลกมนุษย์นัก ตัวละครก็ยังมีกิเลสตัณหา ดิ้นไม่หลุด อยากได้ อยากมี และสุดท้ายทุกคนก็ล้วนมีความโดดเดี่ยวเป็นสรณะ”

ผู้ก่อกำเนิด…โอปปาติก

ธนกร พงษ์สุวรรณ ผู้กำกับหนุ่มวัยต้น 30 ผ่านงานในวงการภาพยนตร์มาหลายตำแหน่งหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็น คนจดบันทึกการถ่ายทำ, ฝ่ายคัดเลือกนักแสดง และผู้ช่วยผู้กำกับจากเรื่อง เจนนี่ กลางวันครับ กลางคืนค่ะ, โกลคลับ เกมล้มโต๊ะ, โคลนนิ่ง คนก๊อปปี้คน, บางกอกแดนเจอรัส ฯลฯ ก่อนที่จะขึ้นแท่นผู้กำกับภาพยนตร์อย่างเต็มตัวเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์สะท้อนภาพชีวิตและความรักของวัยรุ่นในสังคมเมืองหลวงอันแสนศิวิไลซ์เรื่อง FAKE โกหกทั้งเพ (2546) และ เอ็กซ์แมน แฟนพันธุ์เอ็กซ์ (2547) หนังที่ตีแผ่ชีวิตผู้คนที่หลงอยู่ในวังวนของเรื่องเซ็กส์ ๆ ทั้งหลาย

…ล่าสุด เขากลับมาพร้อมผลงานกำกับเรื่องที่ 3 ที่ชื่อ โอปปาติก (โอ-ปะ-ปา-ติ-กะ) (2550) ที่เป็นการตีความคำ ๆ หนึ่งในพุทธศาสตร์ มาเป็นสุดยอดภาพยนตร์แอ็คชั่น-แฟนตาซี ที่รวมนักแสดงชั้นแนวหน้าของเมืองไทยไว้อย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็น สมชาย เข็มกลัด, ลีโอ พุฒ, ชาคริต แย้มนาม, เร แม็คโดนัลด์, อธิป นานา, เข็มอัปสร สิริสุขะ, นิรุตติ์ ศิริจรรยา และ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง

 

บันทึก…ผู้ก่อกำเนิด

…ผมคาดหวังจะให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นภาพยนตร์แนว Action Fantacy

ที่มีเรื่องราวและการตีความจากความเชื่อ แนวคิดในแบบพุทธศาสตร์

ซึ่งมันใกล้กับวิถีของคนไทย

บวกกับฝีมือระดับเยี่ยมจากนักแสดงทุกคนที่ร่วมงานในภาพยนตร์เรื่องนี้

เราคงได้การห้ำหั่นกันของพวกเขาเหล่านั้น

ทั้งฉากแอ็คชั่นและอารมณ์ที่นำไปสู่การต่อสู้

ซึ่งทั้งหมด ผมคิดว่ามันน่าสนใจ

โปรเจ็คต์…“โอปปาติก” (โอ-ปะ-ปา-ติ-กะ)

มันจึงเริ่มต้นขึ้น…

ธนกร พงษ์สุวรรณ (ผู้กำกับภาพยนตร์)

 


ผู้กำกับ : ธนกร พงษ์สุวรรณ


นักแสดง:

สมชาย เข็มกลัด .... จิรัสย์ 

ชาคริต แย้มนาม .... ไปศล 

พุฒิพงศ์ ศรีวัฒน์ .... เตชิต 

อธิป นานา .... รามิล 

เรย์ แมคโดนัลด์ .... อรุษ 

เข็มอัปสร สิริสุขะ .... ปราณ 

นิรุตต์ ศิริจรรยา .... ศดก 

พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง .... ธุวชิต 


วันที่เข้าฉาย: 23 ตุลาคม 2550

รวมเหล่า…โอปปาติก

“มันเป็นเรื่องแย่กับการเริ่มต้นใหม่ นั่นหมายถึง ที่ผ่านมาเราล้มเหลวมาตลอด แต่มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้และแข็งแกร่งในการต่อสู้ครั้งต่อ ๆ ไปในชีวิตของเรา”

จิรัสย์ (ตลอดกาล/นิรันดร – สมชาย เข็มกลัด) – โอปปาติกที่อยู่มานาน เป็นอมตะเสมือนเทพยดา มีความลึกลับ ฉลาดนิ่งแบบคนผ่านโลกมาเยอะ เห็นชีวิตการเกิดและสูญเสียของโลกมามาก ใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง ปลงกับการที่ไม่ตายและบาดแผลทางใจในอดีตมานานอยากหาหนทางตายให้กับตนเอง

ความสามารถ – เกิดใหม่ไม่ตาย ผ่านกาลเวลาฝึกฝนความรู้ความสามารถและยุทธวิธีทุกรูปแบบ อยู่ยงคงกระพันและมีอายุยืนยาวมานานมาก เมื่อตายแล้วสามารถฟื้นคืนกลับมาในสภาพที่เป็นหนุ่มปกติได้

คำสาป – ทุกครั้งที่ตายแล้วฟื้นขึ้นมาใหม่ต้องทนกับความเจ็บปวดทางร่างกายคล้ายงูลอกคราบโดยร่างกายเดิมยังคงอยู่ แต่มันก็คงเทียบไม่ได้กับเรื่องราวของการเจ็บปวดจากการสูญเสียในอดีตซึ่งหนักหนากว่าความเจ็บปวดทางร่างกาย

“เรื่องนี้ผมรับบทเป็นจิรัสย์ครับ คาแร็คเตอร์ก็จะออกแนวลึกลับ เป็นพวกอมตะ คือฆ่าไม่มีวันตาย แต่ในใจจริง ๆ นี่ตัวเองอยากตายแล้วล่ะ เพราะอยู่มานานแล้ว ก็จะเป็นตัวผูกและคลายเรื่องทั้งหมด เหมือนเป็นตัวต้นเหตุของเรื่อง ก็เป็นบทที่แปลกออกไปอีกเรื่องหนึ่งทั้งในเรื่องของการแสดง, มุมมอง และความคิด

ผมประทับใจเรื่องของการวางลำดับภาพ ความสวยงามของภาพ ความเนี้ยบ แล้วก็มีมุมมองต่าง ๆ ที่แปลกกว่าเรื่องอื่น คือมันจะเป็นแอ็คชั่นผสมอาร์ต มันต้องใช้เวลา ใช้ความสามารถของทีมงาน ของผู้กำกับ รวมถึงของตัวนักแสดงด้วย บางทีตัวเราเองเนี่ยมันยังเท่ไม่พอ มันต้องใช้โลเกชั่น ใช้สิ่งแวดล้อมมาช่วยแล้วมันจะดูเท่มากเลย รวม ๆ แล้วน่าจะเป็นหนังไทยที่เรียกความสนใจของคนดูได้มากอีกเรื่องหนึ่งครับ”

สมชาย เข็มกลัด เกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2517 เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงจากการชักนำของแมวมองระดับประเทศ “พจน์ อานนท์” โดยมีการถ่ายแบบลงหนังสือ “เธอกับฉัน” เป็นผลงานชิ้นแรก จากนั้นจึงก้าวเข้าสู่วงการละคร และแจ้งเกิดจากภาพยนตร์เรื่อง “สะแด่วแห้ว” (2535) เป็นเรื่องแรก ก่อนที่จะโด่งดังเป็นพลุแตกจากการออกอัลบั้มเพลง “เต๋า หัวโจก” ในปีถัดมา จากนั้นก็มีทั้งงานเพลง, ละคร และภาพยนตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็น “ขวัญใจ” ที่วัยรุ่นไทยคลั่งไคล้ในยุคสมัยหนึ่ง

ผลงานภาพยนตร์ – สะแด่วแห้ว (2535), มดตะนอยต่อยต้นพริก (2536), ตุ๊ ต๊ะ ต๋อม แต๋ม สุภาพบุรุษตัว ต (2537), โลกทั้งใบให้นายคนเดียว (2538), ล่องจุ๊น ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน (2539), แตก 4 รัก โลภ โกรธ เลว (2542), มือปืน โลก/พระ/จัน (2544), สายล่อฟ้า (2547), โอปปาติก เกิดอมตะ (2550), นาคปรก (2551)

 

“เราทำใครเท่าไหร่ มันก็ทำให้เราเจ็บปวดเท่ากัน มันไม่ใช่แค่บาดแผลภายนอกหรอก เราหมายถึงความรู้สึกที่อยู่ข้างใน ซึ่งเปรียบเสมือนเวรกรรม”

ไปศล (งามฉลาด – ชาคริต แย้มนาม) – นักฆ่ารับจ้าง อำมหิตโหดร้ายเฉกเช่นปีศาจ ไม่ยึดติด ไม่มีความผูกพันกับใคร นอกจากอดีตของตัวเอง เข้าสู่ด้านมืดเพราะสูญเสียคนรักที่สุดไป และต้องตามหาคนที่ฆ่าคนรักเพื่อชำระแค้นให้ได้ เป็นเหมือนคนที่ติดอยู่กับบ่วงแห่งความแค้นจมดิ่งถลาลึกกับการสูญเสียคนรัก โดดเดี่ยว ความจริงเป็นคนที่น่าสงสารเหมือนคนดีที่ถูกบังคับให้อยู่ในโลกแห่งความเลวร้าย

ความสามารถ – ทุกครั้งที่ทำสมาธิ เสมือนมีตาทิพย์-ตาที่สามแบบลัทธิโยคีของธิเบต หาจุดตายของคู่ต่อสู้และสามารถใช้อาวุธ (ปืนพก+กริช) อย่างคล่องแคล่วตรงเข้าเล่นงานจุดตายของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างแม่นยำ มีประสาทสัมผัสเป็นเลิศ

คำสาป – ทุกครั้งที่สังหารคู่ต่อสู้ในจุดที่ทำให้ตาย ในทันทีทันใดร่างกายของเขาก็จะมีบาดแผลเกิดขึ้นเหมือนแผลของคนที่ตนฆ่า พร้อมกับความเจ็บปวดที่ทรมานไม่แพ้กับคนที่โดนฆ่านั้น

“รับบทเป็นไปศลครับ เป็นโอปปาติกตนหนึ่งที่ฆ่าตัวตายเพราะบ่วงแห่งความรักครับ ซึ่งการฆ่าตัวตายมันก็เป็นบาปที่สุด ก็เลยต้องกลายเป็นโอปปาติก แล้วก็ต้องกลับมาชดใช้กรรมนั้น ในเรื่องนี้โอปปาติกแต่ละตนจะเป็นตัวแทนของบ่วงกรรม กิเลสตัณหาของมนุษย์ที่แตกต่างกันไป อย่างของผมก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก ซึ่งมนุษย์เราเนี่ยเกิดมาพร้อมกับความรัก ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการมีความรักในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมันก็เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของมนุษย์ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ได้เรียนรู้ว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์ มันเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดแล้ว ความพยายามของมนุษย์ ถ้าพยายามและทำจริงยังไงมันต้องสำเร็จแน่นอน”

ชาคริต แย้มนาม เกิดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2521 เข้าสู่วงการบันเทิงจากการถ่ายแบบนิตยสาร ก่อนที่จะเป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วยการเป็นพิธีกรรายการวาไรตี้วัยรุ่นชื่อดังอย่าง “ทีนทอล์ค” และ “E for Teens” จากนั้นด้วยหน้าตาและหน่วยกล้าที่เข้าทางการแสดง เขาจึงมีผลงานด้านละครและภาพยนตร์ออกสู่สายตาผู้ชมอย่างมากมาย รวมถึงผลงานภาพยนตร์ต่างประเทศอีกหลายเรื่องด้วย

จากภาพยนตร์เรื่องแรก “คนป่วนสายฟ้า” ในปี 2540 จนถึง “โอปปาติก” ใน พ.ศ. นี้ ถือได้ว่า เขามีพัฒนาการทางการแสดงในการพลิกบทบาทคาแร็คเตอร์อันโดดเด่นในทุก ๆ เรื่องอย่างเห็นได้ชัด

ล่าสุด เขาได้โกอินเตอร์ประกบคู่กับนักแสดงระดับฮอลลีวู้ด “นิโคลัส เคจ” ในภาพยนตร์เรื่อง “Bangkok Dangerous” เวอร์ชั่นใหม่ที่กำกับโดย อ๊อกไซด์ และ แดนนี่ แปง

ผลงานภาพยนตร์ – อันดากับฟ้าใส (2540), คนป่วนสายฟ้า (2540), รักออกแบบไม่ได้ (2541), กุมภาพันธ์ (2546), เยาวราช (2546), Belly of the Beast (2547), โอปปาติก เกิดอมตะ (2550), Bangkok Dangerous (2550), A Moment in June (2551)

 

“พระเจ้าประทานความสามารถพิเศษในการรับรู้ความคิดของคนอื่นมาให้ แต่การรับรู้ว่าคนอื่นคิดอะไรอยู่ บางทีมันก็เป็นเรื่องเจ็บปวดและเลวร้ายมากสำหรับเรา”

เตชิต (ผู้เฉียบแหลม – ลีโอ พุฒ) – นักสืบอิสระ ทำทุกสิ่งทุกอย่างตามใจตัวเอง ไม่เชื่อใจใคร มุ่งมั่น ทะเยอทะยาน แต่ก็ถูกศดกหลอกใช้ให้ขายวิญญาณเพื่อผลประโยชน์ของตน อยากรู้จุดมุ่งหมายที่ตนเองอยากรู้จนนำพาเรื่องราวต่าง ๆ มาสู่ตน มีความชัดเจนในความต้องการค้นหาสิ่งที่ตนเองอยากรู้จนได้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งการเป็นโอปปาติก

ความสามารถ – อ่านความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้ แม้ยามที่ดวงตาปิดสนิท ไม่ว่าคนคนนั้นหรือสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ต้องการที่จะทำอะไรก็ตาม

คำสาป – ทุกครั้งที่ใช้ความสามารถพิเศษ ก็จะค่อย ๆ สูญเสียประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไปทีละอย่าง เริ่มจากหู (การได้ยิน), จมูก (การได้กลิ่น), ตา (การมองเห็น), ปาก (การพูด) และกายสัมผัส (การจับต้อง)

“ในเรื่องผมรับเป็นเตชิตครับ เตชิตจะเป็นคนที่กลายเป็นโอปปาติกคนสุดท้ายในเรื่องนี้ที่ถูกกล่าวถึง เหมือนเป็นตัวเล่าเรื่องให้คนดูได้เข้าใจว่าการจะกลายเป็นโอปปาติกจะต้องทำยังไงบ้าง เป็นแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียตามมายังไง เป็นตัวเตชิตนี่ยากครับ เพราะว่าเป็นโอปปาติกมือใหม่ที่ยังไม่รู้ถึงข้อจำกัดของการเป็นโอปปาติกและการใช้ความสามารถพิเศษ มันก็เป็นบทที่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้วก็ต้องเจ็บปวดด้วยตัวเอง อย่างตัวเตชิตทุกครั้งที่ใช้ความสามารถพิเศษก็จะต้องเสียประสาทสัมผัสไปทีละอย่าง ยากเหมือนกันอย่างพูดไม่ได้ ตาบอด หูหนวกไปเรื่อย ๆ มันเล่นยากเหมือนกันกับการที่เราต้องแสดงให้คนดูเค้าเข้าใจ มันค่อนข้างยากสำหรับผมเลย”

ลีโอ พุฒ มีชื่อจริงว่า พุฒิพงศ์ ศรีวัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2520 จบการศึกษาที่วิทยาลัยช่างศิลป์ MOWBRAY COLLEGE AUSTRALIA มีผลงานโฆษณา, เพลง, ละคร และภาพยนตร์ออกมาหลากหลายเรื่อง ถือได้ว่าเป็นนักแสดงคู่บุญของผู้กำกับธนกร พงษ์สุวรรณ เพราะร่วมงานกับผู้กำกับคนนี้มาตั้งแต่เรื่องแรก

ด้วยความสามารถรอบด้าน ล่าสุด ลีโอ พุฒ หันมาเอาจริงเอาจังกับการผลิตรายการทางช่อง TITV ที่ชื่อ “พุด-ต้า-เร” ร่วมกับเพื่อนสนิทอย่าง ต้า บาร์บี้ และ เร แม็คโดนัลด์

โอปปาติก (โอ-ปะ-ปา-ติ-กะ) เกิดอมตะ เป็นอีกหนึ่งผลงานภาพยนตร์ที่จะพิสูจน์ให้เห็นศักยภาพทางการแสดงของหนุ่มคนนี้ที่ทำได้ดีไม่แพ้งานด้านอื่น ๆ เลย

ผลงานภาพยนตร์FAKE โกหกทั้งเพ (2546), เอ็กซ์แมน แฟนพันธุ์เอ็กซ์ (2547), ฅนไฟบิน (2549), อสุจ๊าก (2550), วิดีโอคลิป (รับเชิญ-2550), โอปปาติก เกิดอมตะ (2550)

 

“ในโลกนี้ ไม่มีอะไรให้เราได้โดยไม่มีข้อแลกเปลี่ยนและก็ไม่เคยมีใครได้อย่างใจตนเองซักอย่าง หรือจริง ๆ เราควรจะปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามลิขิตที่ถูกวางไว้”

รามิล (สง่างาม – อธิป นานา) – นักซิ่ง เชื่อมั่นในตัวเองสูง ชอบเอาชนะ และสนุกกับการใช้ชีวิตอย่างโลดโผนโจนทะยานประหนึ่งภูติ เป็นเพื่อนสนิทกับอรุษ ชอบพูดโพล่งและสบถเป็นนิสัย แต่เก็บความรู้สึกที่แท้จริงไว้ภายใน ใช้ชีวิตไปวัน ๆ เพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึกแย่ ๆ บางอย่างของตน บางครั้งอาจดูติดสำอางบ้าง แต่ก็เป็นเพราะต้องปกปิดร่างกายที่ค่อย ๆ อัปลักษณ์ขึ้นเรื่อย ๆ ด้านที่ดีที่สุดของเขาคือ รักเพื่อนมาก สามารถเสียสละแทนเพื่อนได้ทุกอย่าง

ความสามารถ – มีเจตภูติ (วิญญาณอีกร่าง) ที่ตนสามารถบังคับออกมาใช้งานได้ ซึ่งเป็นร่างที่มีพละกำลังแข็งแรงกว่า ตัวเจตภูตินี้จะมีทั้งร่างกายและหน้าตาที่อัปลักษณ์

คำสาป – ทุกครั้งที่ใช้ร่างเจตภูติเพื่อต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม ร่างกายที่แท้จริงก็จะเริ่มอัปลักษณ์ตาม เหมือนยิ่งใช้ร่างกายก็จะยิ่งถูกความอัปลักษณ์ของเจตภูติกลืนกินไปเรื่อย ๆ ซึ่งมันก็จะขัดแย้งกับคำว่าสง่างามตามความหมายในชื่อของเขา

“ในเรื่องนี้บอลรับบทเป็นรามิลครับ ซึ่งคาแร็คเตอร์จะเป็นหนุ่มเจ้าสำอางเหมือนใช้ชีวิตไปวัน ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันเหมือนกับว่า ในการที่เป็นโอปปาติกชีวิตจะอยู่ไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาเรื่อยเปื่อย เราก็เลยสนุกกับมันให้เต็มที่ดีกว่า ก็ต้องเตรียมตัวเยอะมากครับ เพราะว่าหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกของบอล ก็มีการทั้งเรียนการแสดง เรียนคิวบู๊ ก็คือต้องเรียนมากกว่าคนอื่น และก็ค่อนข้างลำบากตอนแต่งเอฟเฟ็กต์ แต่ละครั้งก็ 3 ชั่วโมงครับ แต่ผมก็ชอบนะเพราะว่ามันได้รสชาติดี

ผมรู้สึกว่าผมโชคดีนะ เพราะอย่างผมเนี่ยเป็นนักแสดงหน้าใหม่ แล้วได้มาแสดงกับนักแสดงที่มีคุณภาพซึ่งมีผลงานมามากมาย รวมถึงพี่อั๋นที่เป็นผู้กำกับ ทุกคนก็ร่วมงานกันเหมือนเป็นเพื่อนมากกว่า เพราะรู้จักกันมาหลายปีแล้ว การทำงานก็เลยค่อนข้างราบรื่น ดังนั้นผมว่าผมโชคดีมากเลยที่มีบรรยากาศรอบกองถ่าย หรือการถ่ายทำแบบนี้ มันช่วยผมได้มากทีเดียว”

อธิป นานา ทายาทหนุ่มวัยวัย 30 ปี ของตระกูล “นานา” จบการศึกษาปริญญาโทด้าน MBA จาก University of Melbourne ประเทศออสเตรเลีย เคยผ่านงานด้านบันเทิงมาบ้างอย่างเช่น การเดินแบบ, ถ่ายแบบ

สำหรับงานด้านการแสดงแล้ว ถือได้ว่าเขา “ใหม่ถอดด้าม” กับงานด้านนี้มาก ๆ นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาต้องใช้เวลาเตรียมตัวทางการแสดงมากกว่าคนอื่น ๆ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใด ๆ เลย เพราะเขารู้สึก “สนุก” ไปกับงานแขนงนี้เป็นอย่างมาก และด้วยความใหม่สดนี้ ก็เป็นข้อดีที่ทำให้เขาไม่มีภาพจำติดตาในคาแร็คเตอร์ใด ๆ มาก่อน นั่นย่อมเป็นส่วนง่ายที่ทำให้ผู้ชมยอมรับและเข้าถึงบทบาทของเขาได้เป็นอย่างดี

“โอปปาติก (โอ-ปะ-ปา-ติ-กะ) เกิดอมตะ” เป็นงานแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขาทุ่มเทพลังกายและใจให้อย่างเต็มร้อย

 

“บางทีเราก็ควบคุมธรรมชาติการเป็นตัวเราไม่ได้ บางทีบางครั้งเราเองยังไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของตัวเราเองเลย”

อรุษ (ผู้ไม่โกรธ – เร แม็คโดแนลด์) – เป็นโอปปาติกที่มีสองร่างสองบุคลิกคล้ายอสูรกาย กลางวันกลางคืนเป็นคนละคนกัน ไม่มีใครทราบประวัติที่แน่ชัดว่าเป็นใคร มาจากไหน ใช้ชีวิตตามสัญชาตญานของตัวเอง เป็นเพื่อนสนิทของรามิล เขาป็นคนสองบุคลิก ร่างกลางวันจะเป็นคนอ่อนโยน อ่อนไหว จิตใจดี ต้องการอยู่อย่างสงบ แต่ก็ต้องรู้สึกฝันร้ายกับทุกครั้งที่ตนเองตื่นมาและมีคนตายอยู่รอบข้าง จนมีปมว่าตนเองมีอสูรร้ายอยู่ในร่าง ส่วนร่างกลางคืนนั้นจะเป็นคนเลว โหดเหี้ยม ชั่วร้าย ฆ่าคนแบบไม่รู้สึกอะไร จองเวรในความรัก และเป็นห่วงร่างในตอนกลางวัน นั่นทำให้เขาต้องกำจัดทุกคนที่รู้ความลับว่าตนมีสองร่าง จะยกเว้นก็แต่รามิลเพื่อนสนิทเท่านั้น

ความสามารถ – มีสัญชาตญาณของสัตว์ป่าสูง มีความเก่งกาจด้านการต่อสู้จากสัญชาตญาณดิบแห่งตัวตน สามารถต่อสู้ได้อย่างโหดเหี้ยมและน่ากลัว

คำสาป – แม้จะมีความสามารถในการต่อสู้ที่รวดเร็วหาตัวจับยาก แต่เขากลับมีเวลาในการใช้ชีวิตที่น้อยลงไปเรื่อย ๆ มันก็เหมือนกับว่า แม้จะรวดเร็วได้เหนือเวลาก็จริงอยู่ แต่เวลาที่ใช้กับชีวิตจริง ๆ ของเขานั้นกลับมีได้น้อยลง ซึ่งก็เป็นคำสาปที่เขาต้องแลกเปลี่ยนมากับพลังพิเศษที่ตนได้รับ

“เรื่องนี้ผมเลือกเรให้มารับบทอรุษ ซึ่งจะเป็นโอปปาติกที่มีสองร่างสองบุคลิก กลางวันกลางคืนเป็นคนละคนกัน กลางวันเนี่ยจะเป็นคนที่อ่อนโยน ส่วนกลางคืนจะเป็นคนที่โหดเหี้ยม ความสามารถในการต่อสู้ของเค้าจะรวดเร็ว แต่เวลาที่ใช้กับชีวิตก็จะมีน้อยลงเป็นคำสาปติดตัวมาด้วย

จริง ๆ แล้วเรก็มีความสามารถอยู่แล้ว ผมเคยร่วมงานกับเรมาก่อนหน้านี้ เขาก็เต็มที่กับบทที่ได้รับ นี่ก็จะเป็นครั้งแรกด้วยที่เราจะได้เห็นเรเล่นบทเหี้ยม ๆ แบบนี้”

เร แม็คโดแนลด์ เข้าสู่วงการด้วยการถ่ายแบบ, เดินแบบ และแจ้งเกิดกับการเป็นพิธีกรที่มีบุคลิกอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวยากที่ใครจะเลียนแบบได้ในรายการ “ทีนทอล์ค” จนกลายเป็นที่คลั่งไคล้ใหลหลงของวัยรุ่นไทยในยุคสมัยที่ผ่านมา กระทั่งปัจจุบันนี้ เขาก็ยังเป็น “ขวัญใจวัยรุ่น” อยู่ไม่เสื่อมคลาย

ด้วยหน้าตา, บุคลิกส่วนตัว และลีลาทางการแสดงที่โดดเด่น ทำให้เขามักจะได้รับเลือกจากผู้กำกับให้แสดงภาพยนตร์ในแนวทางที่หลากหลายอยู่เสมอในช่วงระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา

การันตีคุณภาพทางการแสดงด้วยการคว้ารางวัลสุพรรณหงส์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม 2 ปีซ้อน จากภาพยนตร์เรื่อง ฝัน บ้า คาราโอเกะ (2540) และ รักออกแบบไม่ได้ (2541)

ผลงานภาพยนตร์ – ฝัน บ้า คาราโอเกะ (2540), รักออกแบบไม่ได้ (2541), คนจร (2542), FAKE โกหกทั้งเพ (2546), SIX หกตายท้าตาย (2547), คนเห็นผี 10 (2548), อสุจ๊าก (รับเชิญ-2550), วิดีโอคลิป (รับเชิญ-2550), โอปปาติก เกิดอมตะ (2550), นาคปรก (2551)

 

“อดีตที่เจ็บปวดมันตามกัดกินเราตลอดเวลา และคงเป็นสิ่งแรกที่เราต้องต่อสู้กับมันเพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แต่ตอนนี้ไม่มีที่ใดบนโลกแห่งนี้ที่เราอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกแล้ว”

ปราณ (ลมหายใจ – เข็มอัปสร สิริสุขะ) – หญิงสาวลึกลับ ที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเข้าไปเกี่ยวพันกับเรื่องอันเลวร้าย เธอเป็นเสมือนจุดศูนย์กลางของเรื่องที่เชื่อมโยงเหล่าโอปปาติกเข้ามาปะทะกัน

เธอเป็นคนที่ดูเก็บกด ดูเป็นคนเสียใจที่จมอยู่กับเรื่องเลวร้ายและพร้อมที่จะปลิดชีพตนได้ทุกเมื่อ ดูเศร้าสร้อยเหมือนอยากจะหลุดไปจากโลกนี้อย่างไม่ทราบสาเหตุ

ด้วยความเป็นจุดศูนย์กลางของเหล่าโอปปาติก ทำให้เธอเป็นความหวังและลมหายใจแห่งความรักของเหล่าโอปปาติกะทั้งหมด ซึ่งเหล่าโอปปาติกะเองก็ไม่ต้องการให้เธอเดินเข้าสู่โลกอันเลวร้ายแบบพวกตน หนทางรอดของเธออยู่บนเงื้อมมืออันแข็งกระด้างไร้ความอบอุ่นของพวกเขา…เหล่าโอปปาติก

“ในเรื่องนี้ก็รับบทเป็นปราณค่ะ เป็นคาแร็คเตอร์ที่ดูเก็บกด ดูเป็นคนที่เสียใจอยากจะฆ่าตัวตายอยู่ตลอดเวลา อยากจะหลุดไปจากโลกนี้ค่ะ แล้วก็เป็นผู้หญิงที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับโอปปาติกทุกคนในเรื่องนี้ เรื่องมันก็จะดำเนินไปจนถึงฉากสุดท้ายซึ่งจะบอกว่าเพราะอะไรผู้หญิงคนนี้ถึงเศร้าสร้อย เพราะอะไรผู้ชายทั้งหลายถึงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แล้วก็พยายามจะช่วยเธอให้หลุดจากสภาพตรงนี้

เรื่องนี้ก็ต้องทำความเข้าใจบท แล้วก็การหาทิศทางของตัวละครว่ามันควรจะเป็นยังไงกับพี่อั๋นผู้กำกับนะคะ ซึ่งเราทั้งคู่ก็มีความเห็นตรงกันว่า ปราณต้องเป็นคนนิ่ง เป็นผู้หญิงที่น่าสงสัยค่ะ เป็นคนที่น่าค้นหา คือเล่น ๆ ไปแล้ว ก็เหมือนไม่แสดงความรู้สึกแต่ก็ต้องให้คนดูรับรู้ว่าผู้หญิงคนนี้รู้สึกอย่างไร แล้วมันจะยากตรงที่บางทีมันเป็นฉากที่พวกโอปปาติกบู๊กันแล้วก็ต้องกระชากเราไป จริง ๆ ตัวเองก็ตกใจเสียงปืนอยู่เหมือนกัน แต่ตามบทแล้วปราณต้องเป็นคนนิ่ง ๆ แบบไม่ค่อยแสดงความรู้สึกอะไรใด ๆ ไม่กลัว ไม่ตกใจ ไม่เจ็บ คือมันต้องนิ่งมาก ๆ นิ่งจนเราต้องควบคุมตัวเองไว้ให้ได้ ก็ยากพอสมควรค่ะ”

เข็มอัปสร สิริสุขะ หอบเสน่ห์มาพร้อมการลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2523 จบการศึกษาจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นักแสดงสาวหน้าคมนี้แจ้งเกิดทันทีจากการแสดงเป็นครั้งแรกกับละครเรื่อง “โปลิศจับขโมย” ของค่ายยูม่า เมื่อปี 2539 และถือเป็นลูกหม้อของค่ายละครนี้ด้วยผลงานละครอีกกว่าสิบเรื่อง

จากนั้นจึงประเดิมงานภาพยนตร์เรื่องแรกกับ “สตางค์” ภาพยนตร์ดราม่า-พีเรียดของผู้กำกับชั้นครู “บัณฑิต ฤทธิ์ถกล” ซึ่งเธอให้การแสดงที่เป็นธรรมชาติจนสามารถคว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมประจำปี 2543 จากชมรมวิจารณ์ภาพยนตร์มาได้

“โอปปาติก (โอ-ปะ-ปา-ติ-กะ) เกิดอมตะ” ถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของเธอ…อีกครั้งหนึ่ง

ผลงานภาพยนตร์ – สตางค์ (2543), โอปปาติก เกิดอมตะ (2550)

 

“ความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ล้วนไม่มีที่สิ้นสุด มนุษย์ชอบการค้นหา แต่กลับหลบหลีกความจริงอยู่เสมอ”

ศดก (ร้อยปี – นิรุตติ์ ศิริจรรยา) – โอปปาติกที่ใกล้หมดอายุขัย ไม่รู้ว่าแท้จริงดีหรือเลว เพราะบางครั้งก็แสดงด้านมืดดั่งมารออกมาให้เห็น เป็นผู้มีอิทธิพล ลึกลับ ฉลาดเป็นผู้รอบรู้ เก็บซ่อนความลับไว้มากมาย

ความสามารถ – หยั่งรู้การถือกำเนิดของเหล่าโอปปาติกทุกตน ตามประสบการณ์อันยาวนานของตน สามารถสร้างภาพหลอน หลอกให้คนเข้าใจไปเองได้

คำสาป – ทุกครั้งที่ใช้ร่างกายกับพลังพิเศษแห่งตน ร่างเนื้อของเขาก็จะค่อย ๆ สูญเสีย และค่อย ๆเหลือแต่กระดูก แม้จะมีอายุยืนยาว แต่ก็ต้องทนอยู่กับร่างกายที่เน่าเปื่อยอย่างทรมานเจ็บปวด

“ในเรื่องนี้ ผมรับบทเป็นชายสูงอายุที่อายุประมาณ 100 กว่าปีแล้ว เป็นโอปปาติกที่อยู่มานาน ต้องยังชีพด้วยกินของสดอย่างหัวใจ เลือดเนื้อ และร่างกายของมนุษย์ที่กลายมาเป็นโอปปาติกด้วยกัน ถึงจะทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ ทีนี้ก็เลยต้องพยายามชักจูงงใจ และเปลี่ยนแปลงความคิดของมนุษย์นั้นว่า ความตายนั้นเป็นสิ่งที่แท้จริง คุณอยากตายมั้ย ถ้าตายแล้วคุณจะไปพบอีกชาติหนึ่งที่ดีกว่าปัจจุบัน เมื่อเค้าเชื่อและยอมตาย เค้าก็จะกลายมาเป็นโอปปาติกเช่นเดียวกันกับผม และในวันข้างหน้าผมก็จะกินเค้าเพื่อจะดำรงชีวิตอยู่ได้

พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เราเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ไม่ได้สอนให้เราเชื่อในเรื่องสิ่งเร้นลับต่าง ๆ ถ้าหากยึดติดในเรื่องของมนต์ดำแล้ว คุณก็จะไม่มีวันเข้าถึงพระธรรมหรือพระพุทธเจ้าได้ แต่ไม่มีอะไรที่เราจะไม่เชื่อ หรือไม่มีอะไรที่เราจะเชื่ออย่างหลงงมงาย มันจะต้องไปควบคู่กัน โดยเฉพาะตัวเราต้องทำเป็นศูนย์กลางของความเชื่อทั้ง 2 ฝ่ายให้ได้ด้วย”

นิรุตติ์ ศิริจรรยา เกิดเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2490 เข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการชักนำของเทิ่ง สติเฟื่อง และภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขาแสดงคือเรื่อง “ดาร์บี้” (2516) หลังจากนั้นก็สั่งสมฝีมือทางด้านการแสดงด้วยภาพยนตร์กว่าร้อยเรื่อง จนได้รับการยอมรับในฐานะ “นักแสดงชั้นครู”

หลังจากห่างหายจากวงการบันเทิงไปนาน นักแสดงรุ่นเก๋าผู้นี้ก็กลับมาพร้อมงานแสดงภาพยนตร์ในยุคปัจจุบันหลากหลายเรื่องด้วยฝีมือทางการแสดงที่ไม่มีตกหล่น อาทิเช่น มหาอุตม์, ทวิภพ, เพลงสุดท้าย เป็นต้น

โดยเรื่อง “เพลงสุดท้าย” นี้ ทำให้เขาได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ ในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม เมื่อปี 2549 ที่ผ่านมาด้วย

ผลงานภาพยนตร์ยุคปัจจุบัน – อย่าบอกว่าเธอบาป (2530), บุญชูผู้น่ารัก (2531), มหาอุตม์ (2546), ทวิภพ (2547), ซุ้มมือปืน (2548), กบฏท้าวศรีสุดาจัน (2548), เพลงสุดท้าย (2549), โอปปาติก เกิดอมตะ (2550), POP STAR (2551), องค์บาก 2 (2551)

 

“ไม่เชื่อว่าคนธรรมดาจะก้าวข้ามขีดความสามารถของตน และไปเอาชนะความสามารถของบางสิ่งที่แกร่งกว่าไม่ได้”

ธุวชิต (ผู้ชนะเสมอ – พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง)มนุษย์ธรรมดาที่พัฒนาความสามารถตลอดเวลา เป็นสมุนมือขวาของศดก ที่ถูกสั่งให้ตามล่าล้าง ฆ่าเหล่าโอปปาติกให้สิ้นซาก ต้องการท้าขีดความสามารถในการเอาชนะเหล่าโอปปาติกให้ได้

นิสัย – เป็นลูกผู้ชายคนหนึ่ง จงรักภักดี และทำงานด้วยความมั่นคงในคำสั่งต่อนายจ้างผู้เปรียบเสมือนทุกอย่างในชีวิต เขาดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย สุขสงบร่วมไปกับวิถีธรรมชาติ

ความสามารถ – มีความสามารถทางการต่อสู้ รอบจัด เก่งกาจในทุกอย่าง รู้ถึงจุดอ่อนและวิธีจัดการพวกโอปปาติกต้องสาปทุกคน เก่งและฉลาดขึ้นทุกครั้งในการจับเหล่าโอปปาติก ไม่มีพลาดในหนที่สอง

“ในเรื่องผมรับบทเป็น ธุวชิต เป็นคนเดียวที่ไม่ได้เป็นโอปปาติก แต่เป็นผู้ล่า คือภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องของการล่าและผู้ที่ถูกล่า จะมีกลุ่มของโอปปาติกที่อยู่บนโลกใบนี้ มีผู้ที่ต้องการเป็นโอปปาติก มีผู้ที่ต้องการอยู่อย่างเป็นอมตะ มีผู้ล่า มีผู้ถูกล่า และมีผู้ที่เข้าใจถึงการเป็นโอปปาติก สิ่งที่ตัวละครตัวนี้มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติคือความเป็นนักล่า แต่เหตุการณ์และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ อันนี้เป็นจินตนาการที่ถูกสร้างขึ้นมา เป้าหมายในการล่าเป็นเรื่องที่เหนือธรรมชาติ คือกลุ่มพวกโอปปาติก เป็นพวกที่มีความสามารถพิเศษ พวกที่มีความเป็นอมนุษย์ เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ภาวะการล่าก็จะมีความแตกต่างไปจากการล่าปกติธรรมดาจากหนังเรื่องอื่น ๆ ครับ ความแปลกใหม่ของงานอยู่ที่เรื่องราว โปรดักชั่น หรือแม้แต่นักแสดงที่อยู่ร่วมในหนังเรื่องนี้ ทำให้เกิดความน่าสนใจที่ไม่เคยมีมาก่อน”

พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เกิดเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2504 ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอค อาร์ต เจเนเรชั่น จำกัด อย่างในปัจจุบันนี้ เขาผ่านงานด้านบันเทิงมาหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นงานละคร, เพลง หรือภาพยนตร์อย่างมากมาย

ด้วยการสั่งสมประสบการณ์มาอย่างโชกโชนหลายสิบปี ทำให้เขาสามารถขึ้นผู้กำกับละครและภาพยนตร์ฝีมือเยี่ยมอย่างสมภาคภูมิ

ล่าสุด กับงานกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกอย่าง Me, Myself ขอให้รักจงเจริญ” ก็สร้างชื่อและได้รับคำวิจารณ์ที่ดีอย่างล้นหลาม

ผลงานภาพยนตร์ – ดีแตก (2530), แรงเทียน (2531), หัวใจ 4 สี (2531), หนุก (2533), ต้องปล้น (2533), พันธุ์หมาบ้า (2533), มาห์ (2534), กึ๋ยทู (2538), อันดากับฟ้าใส (2540), สุริโยไท (2544), 7 ประจัญบาน 1 (2545), คืนไร้เงา (2546), Belly of the Beast (2547), ซาไกยูไนเต็ด (2547), โหมโรง (2548), 7 ประจัญบาน 2 (2548), เสือคาบดาบ (2548), โอปปาติก เกิดอมตะ (2550)

กลายร่าง…โอปปาติก (เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับโอปปาติก)

โอปปาติก หมายถึง

…เกิดผุดขึ้น คือ เกิดขึ้นมาโตเต็มที่ในทันทีทันใด โดยอำนาจของพลังกรรมเป็นตัวสนับสนุน โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการวิวัฒน์เหมือนสัตว์ทั่วไป เช่น เทวดา, เปรต, อสูรกาย, ผี, มนุษย์บางจำพวก (พระอนาคามี)

…โอปปาติก สัตว์นี้เกิดหรือตายจะไม่ทิ้งซากหรือเนื้อไว้ให้เห็น

การกำเนิดทางหลักชีววิทยาทางพุทธศาสนามี 4 รูปแบบ

1. ชลาพุชะ คือ เกิดในครรภ์ คลอดออกมาเป็นตัว เช่น คน, หมา, แมว, ช้าง เป็นต้น

2. อัณฑชะ คือ เกิดในไข่ ออกมาเป็นฟองและฟักเป็นตัว เช่น ไก่, นก, เป็ด, จิ้งจก เป็นต้น

3. สังเสทชะ คือ เกิดในไคล เกิดในสภาพชื้นแฉะหมักหมมเน่าเปื่อย เช่น หนอน, จุลินทรีย์ เป็นต้น

4. โอปปาติก คือ เกิดผุดขึ้นเต็มตัวทันที เช่น เทวดา, อสูรกาย, ผี, มนุษย์บางจำพวก (พระอนาคามี)

…ความรู้เรื่องการเกิดใหม่ของสรรพชีพ สรรพสัตว์ใน 4 รูปแบบของพุทธศาสนา นับว่าเป็นก้าวหน้ากว่าทางวิทยาศาสตร์ เพราะในวงการวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาพันธุศาสตร์ยังไม่อาจเข้าถึงความรู้เรื่องกำเนิดของสิ่งมีชีวิตในรูปแบบที่ 4 “โอปปาติก” ได้เลย แต่ในทางพุทธศาสนามีมานาน 2 สหัสวรรษแล้ว

พลังงาน (วิญญาณ) ในมิติคู่ขนาน (สัมปรายภพ)

…มีผู้กล่าวว่าสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์แลเห็น มันเป็นเพียงแค่เปลือกนอกซึ่งเป็นตัวแทนของบางสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในซึ่งก็คือ พลังงานอันเป็นแก่นแท้ที่เร้นอยู่ภายใน ร่างกายภายนอกจึงไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ และเมื่อร่างกายเสื่อมสลายลง สิ่งที่ต้องดำรงอยู่ต่อไป ก็คือพลังงานที่ดำรงอยู่ภายในที่เป็นแก่นแท้นั่นเอง

…บางครั้งการที่เรามองไม่เห็นบางสิ่ง หรือพิสูจน์ไม่ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งนั้นไม่มีอยู่ กล่าวได้ว่า ภพหน้านั้น ถ้าหากมีสถิตอยู่ที่ไหน ก็ตอบได้ง่าย ๆ ว่า อยู่ในโลกเดียวกันกับมนุษย์โลกของเรานี่เอง เพียงแต่คงรูปเป็นพลังงานที่เรามองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่าของมนุษย์ เนื่องจากอินทรียวิสัย คือตาและจิตของเรา ไม่มีศักยภาพพอที่จะมองเห็น หากแต่ว่าเราแปรสภาพเป็นพลังงาน (วิญญาณ) อันเป็นแก่นแท้ของมนุษย์เมื่อใด เมื่อนั้นอินทรียวิสัยของเราก็จะมีศักยภาพพอที่จะมองเห็นในภพภูมิที่ซ้อนทับอยู่ได้ ดังที่เราเรียกกันติดปากว่า โลกหน้า หรือ สัมปรายภพ นั่นเอง

เจตภูติ

หมายถึง ร่างทิพย์ (Astral Body) ตามลัทธิโยคีโบราณ ไม่ใช่วิญญาณ แต่เป็นกายทิพย์ที่เคลื่อนออกจากร่างและปรากฏตัวให้เห็นเป็นครั้งคราว ลัทธิโยคีโบราณ แบ่งมนุษย์ออกเป็น 7 ชั้น ดวงวิญญาณอยู่ชั้นในสุด

7. วิญญาณ 6. ดวงจิต 5. ปัญญา 4. สัญญา 3. ปราณ 2. เจตภูติ 1. ร่างกาย

หลากหลายความคิดเห็นของเหล่าผู้กำกับหนังไทยที่มีต่อ “โอปปาติก เกิดอมตะ”  

เขียนโดย เด็กโข่ง (แฟนเด็กหนัง)   
 
อาทิตย์, 04 พฤศจิกายน 2007
…โดนยำใหญ่ใส่สารพัดคำติ-ชมในสัดส่วน 95 : 5 เปอร์เซนต์ หลังจากหนัง “โอปปาติก เกิดอมตะ” ออกฉายไปเพียงวันเดียว (ฮา)…เล่นเอาผู้กำกับ “ธนกร พงษ์สุวรรณ” ยิ้มหน้าบานไปหลายวันทีเดียว…เฮ่ย บ้าดิ…เราว่าผู้กำกับฯ ก็คงรู้ตัวเองว่าทำอะไรอยู่ และยอมรับได้อยู่แล้วกับคำวิจารณ์แบบมีเหตุมีผลต่อผลลัพธ์ของหนังที่ออกมา แต่ไม่ใช่สักแต่จะด่าอย่างเดียว เจอคำด่าแบบใช้อารมณ์เป็นใหญ่ เป็นใครก็คงเซ็งไปหลายวันเหมือนกันแหละ

…ห่วย, ห่วยชิบ, ห่วยแตก, ห่วยบัดซบ, ห่วยเหลือเกิน, ห่วยเหลือทน, ห่วยสุดสุด, ห่วยมากมาก, ห่วยเป็นบ้าเป็นหลัง, ห่วยเกินรับ, ห่วยจังเนะ จนถึงอีกหลาย ๆ สปีชี่ส์แห่ง “ห่วย”

…ฮ่วย!!! มันจะห่วยขนาดนั้นเลยหรือ เราว่าไม่มั้ง ห่วยยังไงขอเหตุผลกันหน่อยดีกว่า

…ลองไปฟังเหล่าผู้กำกับเขาแสดงความคิดเห็นต่อหนังเรื่องนี้กันหน่อยเป็นไร

…อ่านขำ ๆ อย่าคิดมาก

อังเคิล-อดิเรก วัฏลีลา (โปรดิวเซอร์และผู้กำกับภาพยนตร์ “วาไรตี้ผีฉลุย” / กำลังถ่ายทำหนังตลกเรื่องใหม่ที่ชื่อ “เทวดาท่าจะงง” อยู่ รอดูหนังได้ในปี 51 แล้วมาดูกันว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาจะทำให้ “งง” กันมากน้อยแค่ไหน 😛 )

-ในส่วนคนดูหนังทั่วไปที่ติดตามเนื้อหาหรือเรื่องราว ด้วยเรื่องราวแบบนี้ เราต้องยอมรับว่าเรื่องมันก็ยังมีความกระจัดกระจายอยู่ ก็อาจทำให้หลายคนผิดหวัง แต่สำหรับผมและอีกบางคน ก็อาจจะไม่รู้สึกว่ารับไม่ได้กับเนื้อเรื่อง เพราะผมไม่ใช่แค่คนดูหนัง เป็นคนทำหนังด้วย เป็นคนสร้างหนังซึ่งต้องดูแลหลาย ๆ ส่วนทั้งในส่วนของบทและโปรดักชั่น เวลาทำหนังก็ต้องพัฒนาในหลายส่วนพร้อมกันไป ไม่ใช่แค่เรื่องบทเท่านั้น เรื่องภาพ เรื่องงานสร้างก็เป็นส่วนสำคัญ ผมเองชอบภาพ ชอบโปรดักชั่นของหนังเรื่องนี้ ซึ่งมันตื่นตาตื่นใจมาก ผมยังไม่เคยเห็นมีหนังไทยที่พยายามจะถ่ายโลเกชั่นแบบนี้ สร้างมุมมองแบบนี้ขึ้นมา ผมไม่รู้สึกเลยว่าช็อตไหนในหนังเรื่องนี้เชย รวมทั้งการถ่ายทำฉากทหาร ซึ่งหนังเรื่องนี้กลับทำให้ดูน่าเชื่อถือ ดูแข็งแรง แล้วด้วยมุมกล้องอะไรต่าง ๆ ก็ดูดีไปซะหมด ผมรู้สึกตื่นเต้นกับภาพเหล่านี้ เลยไม่ได้ไปติดใจในส่วนของเนื้อเรื่องเท่าไหร่ เพราะเรารู้สึกพอใจกับภาพตรงนี้อยู่ ในแง่ของบท ผมเชื่อว่าทางผู้กำกับและผู้สร้างคงได้รับคอมเม้นต์มามากมาย ซึ่งเขาคงจะนำไปพัฒนาต่อไปแน่นอน แต่ในส่วนของงานสร้าง ผมถือว่าผู้กำกับเขาพัฒนาไปไกลมาก มันมาถึงระดับที่ผมยังไม่เคยเห็นหนังไทยเรื่องไหนทำได้ถึงตรงนี้

กอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา (ผู้กำกับภาพยนตร์ “บอดี้ศพ # 19” / คงกำลังช้ำใจนิด ๆ ผิดหวังหน่อย ๆ กับรายได้ที่ออกมา แต่คำวิจารณ์ในแง่บวกเป็นส่วนใหญ่ ก็คงทำให้เขาใจชื้น-ชื่นใจกว่าอะไรทั้งหมด)

– ผมชอบคอนเซ็ปต์ของเรื่อง ชอบการสร้างคาแร็คเตอร์ตัวละคร และการเอาเรื่องทางศาสนาพุทธมาทำให้ดูน่าสนใจ ทำให้เราอยากจะรู้ คือมันเป็นเรื่องยาก ๆ แต่ทำให้มันดูง่ายขึ้น ก่อนจะได้ดูหนัง ผมรู้สึกว่าหน้าหนังน่าดู น่าสนใจมาก พอเข้าไปดูแล้วรู้สึกว่า casting มันใช่เลย อย่าง เต๋า, เร แต่อย่างบอล (อธิป นานา) อาจจะยังไม่ดีเท่าไหร่ คาแร็คเตอร์ทุกตัวแข็งแรงหมดเลย รวมทั้งนิรุตติ์หรือพงษ์พัฒน์ด้วย ส่วนที่ไม่ชอบคือ เสียงบรรยายมันเยอะเกินไป ผมอยากจะให้หนังเล่าเรื่องเองมากกว่า แล้วผมก็รู้สึกติดตรงที่ตัวละครของพงษ์พัฒน์ทำสิ่งเหล่านี้ไปเพื่ออะไร ทำไมเขาถึงต้องมาทำงานให้ศดก แต่ในเรื่องราวส่วนอื่นผมไม่ติด ดูได้สนุกดี ถ่ายภาพก็ดูดี แอ็คชั่นก็ดี แต่ไม่ชอบแอ็คชั่นพวกฉากที่โรยตัวลงมา ผมจะชอบฉากแอ็คชั่นอันหนึ่งมากคือ ฉากจับตัว อธิป นานา แล้วเรมาช่วย ฉากนี้ทำดีมาก แล้วโลเกชั่นก็ดีมากด้วย แล้วก็ชมเรื่องโลเกชั่นนี่ดีจริง ๆ การดีไซน์ภาพดีมาก ๆ ในหนังเรื่องนี้ผมดูแล้วมันเหมือนกับว่า ถ้าเขาสร้างเงื่อนไขของโลกนี้ขึ้นมา เราดูแล้วเราก็เลือกที่จะเชื่อโลกนี้ไปเพื่อจะตามเรื่องราวของมัน บางคนอาจจะรู้สึกว่าบางฉากมันไม่สมจริง ผมว่ามันเป็นหนังอีกแบบหนึ่ง เป็นอีกโลกหนึ่ง สิ่งที่สำคัญคือ ตัวละครมากกว่า แล้วผมก็รู้สึกกับเรื่องราวที่เขาเซ็ตอัพขึ้นมาครับ

คงเดช จาตุรันต์รัศมี (ผู้กำกับภาพยนตร์ “สยิว”, “เฉิ่ม” และกำลังอยู่ในช่วงขั้นตอนสุดท้ายของ “กอด” หนังน่าดูเรื่องที่สามของเขา เตรียมอ้อมแขนของคุณไว้ให้ดี…10 มกรา 51 นี้ ได้รู้กันว่า หนังเรื่องนี้จะกอดคำติ-ชมไปซะขนาดไหน)

– หลังจากดูจบผมนึกถึง Ashes of Time ของหว่องกาไว ซึ่งเรื่องนั้นมันเต็มไปด้วยภวังค์ของตัวละคร เพียงแต่ “โอปปาติก” เป็นภวังค์ที่เจ็บปวด ดิ้นรน และมีการต่อสู้แบบแอ็คชั่นมากกว่า ผมชอบการสร้างบรรยากาศของหนัง ซึ่งสามารถสร้าง “โลกเฉพาะ” ได้ การที่เราไม่เห็นคนอื่นเลยในหนัง หรือแม้แต่การที่คนบ่นว่ามืดมาก หรือประชดว่าไฟไม่พอ แต่ผมว่ามันคือบรรยากาศของหนัง ที่ชอบอีกอย่างคือ การกลับไปกลับมาของฉากเดียวกันที่บางครั้งก็ใหม่ บางครั้งก็เก่า เช่น ฉากห้องที่ตั้งเปียโนของปราณ ซึ่งบางทีก็เก่ามาก รกร้าง หรือบางทีก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เรารู้สึกได้เลยว่าสภาพห้องที่เปลี่ยนไปนี้ มันขึ้นอยู่กับโอปปาติกแต่ละคนที่เข้ามาเยือนในห้องนั้น ถึงแม้ว่าแอ็คชั่นช่วงหลังจะดูแล้วเหนื่อยมากก็ตาม แต่ในอีกทางมันก็บอกว่าการต่อสู้ของโอปปาติกไม่มีวันสิ้นสุด คนที่เป็น “โอปปาติก” มันต้องต่อสู้จนเหนื่อยล้าไม่สิ้นสุด หนังเรื่องนี้อาจจะเป็นยาขมมากสำหรับคนดู แต่มันก็ท้าทายคนดูมากอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าหนังจะลงตัวหรือไม่ ผมว่าเป็นหนังที่น่ายกย่องสนับสนุน เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน

– ผมไม่ได้รู้สึกว่าหนังดีหรือลงตัว แต่ว่ามันเป็นงานที่ท้าทายและเรารู้เลยว่าคนทำตั้งใจทำมาก และเขาทำให้หนังมันไปไกลกว่าหนังทั่วไปมาก และก็เรียกร้องบางสิ่งบางอย่างจากคนดูมาก ถึงหนังจะไม่ได้สมบูรณ์แบบมากนัก แต่ก็ไม่สมควรจะถูกด่าว่าเป็นหนังเลว

เกียรติ ศงสนันทน์ (ผู้กำกับภาพยนตร์ “สยิว” คนเขียนบท “สยิว”, “อสุจ๊าก” / กำลังทำอะไรอยู่ เราก็ไม่รู้ว่ะ-อิอิ แต่เรายังอยากดูหนังใหม่ของเขาอยู่มากมาย)

– คุณอั๋นเขาสร้างบรรยากาศใหม่ในหนังเรื่องนี้ขึ้นมา ด้วยการเลือกโลเกชั่น และองค์ประกอบอะไรต่าง ๆ ให้กลายมาเป็นโลกของโอปปาติก ซึ่งซ้อนทับกับกรุงเทพฯ ที่เราอาศัยอยู่ ชอบฉากที่วัดประยุรวงศาวาส (ฉากแอ็กชั่นแรกของเต๋า) หรือวัดโพธิ์ (พระนอน) เขาสามารถดึงเอาโลเกชั่นในกรุงเทพมาใช้ได้เป็นพิเศษ รวมทั้งตึกร้างหลาย ๆ ตึก หรือ 5 แยกหน้าอะเบ้าท์คาเฟ่ (ฉากดวลแอ็กชั่นระหว่างเต๋าและชาคริต) ซึ่งสามารถดึงเอาความงามทางสถาปัตยกรรมของสถานที่ต่าง ๆ มาใช้ และยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยด้วย

– อย่างที่บอก มันเป็นมุมมองอีกแบบหนึ่ง ถ้าเข้าใจว่าเรื่องราวนี้เป็นโลกเฉพาะ เราก็จะตัดคำถามว่า “ทำไม” ออกไปได้เยอะ แต่ถ้าไม่เข้าใจจุดนี้หรือในเรื่องโลกเฉพาะก็จะเกิดคำถามขึ้นมามากมาย และอาจจะทำให้ดูหนังไม่สนุก สำหรับผมสนุกครับ คือถ้าจะเอาเนื้อเรื่องจริงจัง อาจจะจับต้องได้ยากสำหรับคนดูส่วนใหญ่ แต่ผมรู้สึกได้ถึงโลกของโอปปาติก ที่มีชีวิตอยู่ในบรรยากาศแบบนั้น ในชะตากรรมแบบนั้น ต่อสู้ไปแบบไม่รู้จบ เศร้า จมและยึดติดอยู่กับอดีตที่ไม่อาจหลุดพ้น ไม่ได้ไปผุดไปเกิด ซึ่งสาเหตุมาจากการฆ่าตัวตายซึ่งเป็นบาปอย่างมากทางพุทธ ซึ่งแมสเสจนี้ถ้ารับได้จากหนัง มันก็มีเนื้อหาแล้ว

– นักแสดงก็ดูดีทุกคน เราแทบไม่เคยเห็นหนังไทยเรื่องไหนที่เอาซูเปอร์สตาร์มารวมกันมากขนาดนี้ เป็นการนำเอาพลังดารามาใช้ แล้วการแสดงมันก็มีความจริงจังแบบไม่ค่อยได้เห็นในหนังไทย ผมชอบที่นางเอกหน้ามัน ๆ โทรม ๆ แต่ดูแล้วก็มีเสน่ห์ มันมีเสน่ห์แบบเศร้า ๆ เป็นการสร้าง look ที่ดูน่าสนใจมาก ไม่ได้มาทำให้สวย เป็นการสร้าง look เพื่อให้เข้ากับคาแร็คเตอร์โดยที่ไม่ได้มาห่วงสวยว่า เป็นนางเอกแล้วต้องสวยแบบหนังทั่ว ๆ ไป เสียดายที่ฉากแอ็คชั่นยังไม่ได้เซิร์ฟกับเรื่องหรือเนื้อหาเท่าที่ควร ทำให้ช่วงท้ายคนดูอาจจะเบื่อหรือล้าไปบ้าง

คุ้ย-ทวีวัฒน์ วันทา ผู้กำกับภาพยนตร์ “ขุนกระบี่ ผีระบาด”, “อสุจ๊าก” / กำลังพัฒนาบทหนังสั้นเรื่อง “เด็กโข่ง” ให้ออกมาเป็น “หนังโข่ง” ตามสไตล์เขาล่ะ)

– ความรู้สึกกับเรื่องนี้สำหรับผมไม่ลบ ไม่บวกครับ ถือว่าเป็นหนังที่สร้างสีสันให้กับหนังไทยได้มาก ๆ เลย เห็นความทุ่มเทของผู้กำกับมากในการทำหนังเรื่องนี้ แต่ละอย่างนี่ตั้งใจมาก ไม่ได้มักง่าย จริง ๆ ต้องบอกว่า ถ้าใครทำเรื่องนี้คงต้องเหนื่อยแน่ ๆ ในส่วนของบท ถือว่าฉีกแนวจากหนังตลาดทั่วไป เพราะว่าผู้กำกับเขาทำหนังอีกแบบหนึ่งที่สวนทางกับฮอลลีวู้ด จริง ๆ ไม่อยากจะบอกว่ามันไปทางหนังยุโรป แต่ด้วยหน้าหนังมันดูเป็นหนังแมสมาก ๆ ซึ่งก็ยากเหมือนกันที่จะทำหนังแบบนี้แล้วให้คนไทยเชื่อ ถ้าคนไทยเราสร้างหนังแบบ The Matrix เลยยังไงก็ไม่มีใครเชื่อ

– ผู้กำกับเขาสร้างคาแร็คเตอร์ตัวละครออกมาแบบดู 10 นาทีแรกนี่เราเชื่อเลย แต่ละตัวก็มีคาแร็คเตอร์ที่ค่อนข้างแข็งแรง เพียงแต่คนดูอาจจะคาดหวังที่จะได้อะไรที่เร้าใจตามสูตรฮอลลีวู้ด เรื่องนี้ถือเป็นก้าวใหม่ของวงการหนังไทยที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ยังไงคุณอั๋นก็ยังเป็นผู้กำกับที่น่าจับตามองอยู่ดี และคิดว่ายังเป็นคนที่เราคาดหวังได้อย่างแน่นอน

– ถ้าไม่นับเรื่องบทแล้ว ในส่วนของโปรดักชั่นทำให้เราอื้อหือได้ตลอด ถือว่าผู้กำกับฉลาดที่เล่นแอ็คชั่นแบบดิบ ๆ แทนที่จะทำแอ็คชั่นแบบ The Matrix หรือคือถ้าตัวละครบินได้ ปล่อยแสงได้ มันจะกลายเป็นเรื่องตลกไปเลย สำหรับผมอยากให้มีภาคสองครับ เพราะตอนนี้เราปูเรื่องให้คนรู้แล้ว ถึงใครดูไม่สนุกก็ไม่ใช่เรื่องแปลก มันอยู่ที่ความชอบหนังในแนวทางแต่ละคนมากกว่าครับ

วุ้น-ทรงศักดิ์ มงคลทอง (ผู้กำกับภาพยนตร์ “ผีจ้างหนัง” / กำลังดูแลขั้นตอนสุดท้ายของหนังไปพร้อม ๆ กับใจตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ กับกระแสของหนังที่ยังค่อนข้างเบาอยู่ เอ้า เอาใจช่วยกันหน่อย)

– ผมชอบเลยนะ อาจจะเพราะพื้นฐานเป็นคนชอบหนังการ์ตูน หรือหนังที่สร้างโลกอีกโลกหนึ่ง แล้วเรื่องนี้เป็นคาแร็คเตอร์หนังแบบที่ผมชอบอยู่แล้ว หลายคนมีคำถามว่า “โอปปาติก” หมายถึงอะไร กลายเป็นว่าผมตอบได้ เพราะว่าคนอื่นที่เข้าไปดู เขาตอบไม่ได้ สงสัยอาจจะเป็นเพราะว่าเราชอบ และเราตั้งใจดู ก็เลยเก็บรายละเอียดได้ค่อนข้างเยอะ ในแง่หนังแล้วเนี่ย มันเป็นหนังที่มีรายละเอียดที่จะบอกคนดูเยอะ อาจจะเยอะเกินกว่าความต้องการของคนดู เขาบอกมา 10 อย่าง คนดูอาจจะรับได้ไม่กี่อย่าง แต่ผมตั้งใจดูมาก ก็เลยรับได้หมด ที่ไม่ชอบคงไม่มีน่ะ รู้สึกจะมีช็อตเดียวคือช็อตหนึ่งที่ซีจีมันดูแปลกๆ ที่ชอบมาก ๆ คือ บรรยากาศเรื่อง และชอบสิ่งที่เขาถ่ายทอดออกมา

– ถ้าไม่ชอบเลยก็คือ วิธีเล่าเรื่องที่มันไม่บิ๊ว แล้วก็วิธีปูภูมิหลังของหนังเรื่องนี้มันแตกต่างจากเรื่องอื่น คือหนังเรื่องนี้ดำเนินมาจนท้ายเรื่องแล้วก็ยังเล่าอยู่ ผมว่าตรงนี้อาจจะเป็นส่วนที่แบบว่า…ถ้าดูแล้วเรื่องมันอาจจะยังไม่เดินหน้ามากพอ ไม่น่าติดตามมากพอ แต่ส่วนตัวนะผมว่าสนุก ผมว่าคนที่ชอบอ่านการ์ตูนสไตล์นี้น่าจะดูแล้วสนุก สำหรับผมประเด็นการเล่าเรื่องไม่เป็นปัญหา แต่บรรยากาศเรื่องมันโดน คาแร็คเตอร์และภาพที่ออกมามันโดนใจผม ปัญหาของการเล่าเรื่องของหนังที่ไม่บิ๊ว เลยมองข้ามไปครับ

Share this article :

แสดงความคิดเห็น