Home » » ท้าชน

ท้าชน


ท้าชน

ไท ชายหนุ่มที่เพิ่งหลุดจากคดีมาได้ด้วยการวิ่งเต้นของ แทน พี่ชายฝาแฝด แต่เมื่อไทพ้นโทษออกมาได้ เขาพบว่าพี่ชายของเขาบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นโคม่า ไท ได้รับรู้เรื่องราวจาก แป้ง แฟนสาวของแทน ว่าพี่ชายของเขาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องอันตรายบางอย่าง เพราะต้องการหาเงินมาช่วยสู้คดีให้เขา

ไท รู้สึกผิดที่มีส่วนในการทำให้พี่ชายต้องเป็นแบบนี้ จึงออกสืบหาข้อมูลว่า เกิดอะไรขึ้นกับแทนกันแน่

ในที่สุด ไท ได้เข้ามาสู่วงการแข่งบาสเถื่อน ซึ่งเป็นเกมการพนันใต้ดินที่มีผู้ทรงอิทธิพลหนุนหลังอยู่ เมื่อไทต้องการรู้ให้ได้ว่าใครหรืออะไรคือต้นเหตุให้ แทน พี่ชายของเขาต้องมานอนไม่ได้สติอย่างที่เป็นอยู่ เขาจึงเข้าร่วมทีม “ไฟร์บอล” ของ เฮียเด่น ที่มี สิงห์, เค, อิก และ หมึก อยู่ในทีม

ซึ่งกว่าที่ไทจะได้รู้ความจริงทั้งหมด เขาต้องแลกด้วยอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งอาจรวมถึง “ชีวิต” ของเขาเองด้วย

ทีมงานสร้าง : แอ็คชั่น-ดราม่า (แนวภาพยนตร์) / บางกอก ฟิล์มสตูดิโอ และ อาดามัส เวิลด์ (บริษัทผู้สร้าง) / พระนครฟิลม์ (บริษัทจัดจำหน่าย) / ฟ. ฟิล์ม (บริษัทดำเนินงานสร้าง) / สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง (อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร) / อังเคิล-อดิเรก วัฏลีลา  (ควบคุมงานสร้าง) / ธนกร พงษ์สุวรรณ (กำกับภาพยนตร์) / ธนกร พงษ์สุวรรณ, เกียรติ ศงสนันทน์, ทวีวัฒน์ วันทา , อังเคิล (บทภาพยนตร์) / ธีระวัฒน์ รุจินธรรม, วรรธนะ วันชูเพลา, สันติพงศ์ ไวว่อง (กำกับภาพ) / ศักดิ์นคร เนตรหาญ และ อังเคิล (ลำดับภาพ) / วรากร พูนสวัสดิ์ (ออกแบบงานสร้าง) / แผงฤทธิ์ แสงชา (ออกแบบการต่อสู้) / IMAGIMAX และ THE MONK STUDIO (เทคนิคพิเศษ) / ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา (บันทึกเสียง)

นำแสดงโดย: ปรีติ บารมีอนันต์ (แบงค์ วงแคลช), แซม เกษม, คณุตรา ชูช่วยสุวรรณ, ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล, อรุชา โตสวัสดิ์, กัมปนาท อั้งสูงเนิน, อณุวัฒ แซ่เจ๊า, กานต์ณัฐ เสมอใจ, วันชาติ ชุณห์ศรี, โกวิท วัฒนกุล, สุเชาว์ พงษ์วิไล

นักแสดง:

ปรีติ บารมีอนันต์…. ไท 
คณุตรา ชูช่วยสุวรรณ…. แป้ง 
อรุชา โตสวัสดิ์…. ตัน 
กานต์ณัฐ เสมอใจ…. อิก 
อณุวัฒ แซ่เจ้า…. เค 
กัมปนาท อั้งสูงเนิน…. หมึก 
แซม เกษม…. สิงห์ 
ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล…. เฮียเด่น 

ความยาว: 97 นาที

Director’s Note (ธนกร พงษ์สุวรรณ)

…สำหรับ “ท้า/ชน” ผมอยากจะทำหนังแอ็คชั่นดี ๆ แบบที่สากลเขาทำกัน คือ มีคิวแอ็คชั่นที่ดูน่าเชื่อและเรื่องราวที่ลงตัว หนังเรื่องนี้จึงเป็นหนังแอ็คชั่นที่ผสมผสานกับความเป็นดราม่าที่เข้มข้น

“ท้า/ชน” “ท้า/ชน” เป็นแอ็คชั่นผสมกับดราม่า ที่มีสัดส่วนในระดับที่เท่ากัน ผมอยากได้ดราม่าที่ให้ความรู้สึกเร้าอารมณ์ ความเข้มข้นของความรู้สึกในความเป็นมนุษย์

…หนังเรื่องนี้ มีธีมอยู่ว่า มนุษย์ทุกคนในโลกเรามันมีโจทย์ให้ต้องทดสอบ มีความโหดร้ายที่เราต้องแก้ไขและผ่านมันไปให้ได้ ซึ่งเป็นโจทย์ที่น่าสนใจ

movement ในการถ่ายทำแอ็คชั่นก็ซับซ้อนกว่าเรื่องก่อน ๆ ที่ผมเคยกำกับ เพราะว่ามันเป็นแอ็คชั่นแบบชกกัน ไม่ใช่ยิงกัน ทีนี้มูฟเม้นท์ของกล้องก็จะแตกต่างออกไปด้วย และเมื่อซีนที่หนังมีเนื้อหาเร้าอารมณ์ มันก็เลยกลับมาเน้นที่การกำกับเป็นหลัก แล้วเอากล้องตาม จะทำอย่างไรให้หนังมันสื่ออารมณ์ของตัวละครในเรื่องให้ได้มากที่สุดเท่าที่พื้นที่ของหนังแอ็คชั่นจะให้ได้ ตรงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผมอยากให้มันดูสมจริง ให้คนดูรู้สึกเข้าใกล้ตัวละครและเรื่องราวของหนัง รวมถึงฉากต่อสู้ที่มันยากขึ้น ซึ่งมันเป็นอะไรที่ท้าทายพอสมควร

 

Executive Producer’s Note

…ท่ามกลางกระแสตลาดหนังไทยที่มีการผกผันตลอดเวลา บางกอกฟิล์ม สตูดิโอ เป็นบริษัทหนังเลือดใหม่แต่หน้าเก่าและฝีมือเก๋า ซึ่งเป็นการกลับมาผนึกกำลังกันอีกครั้งระหว่าง 2 โปรดิวเซอร์ชื่อดัง สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง และ อังเคิล อดิเรก วัฏลีลา ซึ่งเคยมีผลงานสร้างชื่อไว้มากมายในอดีต อย่าง ฟ้าทะลายโจร, บางกอกแดนเจอรัส, พรางชมพู, บางระจัน รวมทั้ง ทวิภพ โดยสร้างหนังไทยคุณภาพระดับบิ๊กให้แก่วงการภาพยนตร์ไทยเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา

..ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ในนาม บางกอกฟิล์ม สตูดิโอ ได้มีการเตรียมงานและวางแผนกันมาเป็นเวลานานนับปี จนกระทั่งมีภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นงานเปิดตัว ได้แก่ “ท้า/ชน” ภาพยนตร์แอ็คชั่นฟอร์มดี ที่ลงทุนสร้างกว่า 45 ล้านบาท มาเป็นหัวขบวนของบริษัท ซึ่งนับแต่นี้ บางกอกฟิล์ม สตูดิโอ จะผลิตผลงานภาพยนตร์คุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่อง

…สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหารของ บางกอกฟิล์ม สตูดิโอ เผยถึงการฟอร์มตัวครั้งใหม่นี้ว่า

“หลังจากที่เราขาดช่วงไประยะหนึ่งจากการทำหนังที่ฟิล์มบางกอก ซึ่งตอนนั้นเราได้ทำสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นในวงการ คือ การนำหนังไทยออกไปสู่ตลาดเมืองนอก ก่อนหน้านั้นก็มีไม่กี่เรื่องที่ไปขายเมืองนอกมาจริง ๆ

ตอนนั้นเรามีภาพยนตร์ฟอร์มดีอย่าง บางกอกแดนเจอรัส, ฟ้าทะลายโจร ซึ่งภาพยนตร์เหล่านี้ทำรายได้ไม่สูงมากนักในตลาดเมืองไทย แต่สามารถไปสร้างรายได้เรียกทุนคืนจากตลาดต่างประเทศอย่างน่าพอใจ ทำให้หนังไทยเริ่มเป็นที่รู้จัก ซึ่งพอฟิล์มบางกอกหยุดไประยะหนึ่ง เราก็รู้สึกเสียดายกับสิ่งที่เราสร้างกันขึ้นมา ซึ่งพอเราต่างคนต่างแยกไปทำงานอย่างอื่น ผมไปทำ แม็ทชิ่ง โมชั่น พิคเจอร์ส ส่วนคุณอังเคิลไปทำโปรดักชั่นเฮ้าส์ผลิตหนังของตัวเอง

ผมมีความคิดว่า การสร้างภาพยนตร์ ถ้าเรามีวิธีคิด วิธีบริหารที่ดีธุรกิจภาพยนตร์ก็ไม่ใช่งานที่มีแต่ความเสี่ยง เรารู้สึกว่า ถ้าเราบริหารความเสี่ยงของมันได้ โดยการที่เราหาโปรเจ็กต์ที่มีการตลาด แล้วเรากำหนดได้ว่า มันจะไปทิศทางไหน ตลาดไทยหรือตลาดเทศ ซึ่งถ้าสรุปตรงนี้ได้ มันก็จะเป็นมุมหนึ่งในการโปรดิวซ์หนัง”

“ผมรู้สึกว่าการโปรดิวซ์หนังในบ้านเรา ก็ยังเป็นแบบเดิมอยู่ คือ เป็นระบบที่คนที่มีโปรเจ็กต์ภาพยนตร์เดินไปหาคนลงทุน แล้วคนลงทุนก็ให้เงินมาทำ คนลงทุนได้หนังมาเรื่องหนึ่งก็ไปเสี่ยงเอา ถ้าหนังขาดทุนก็อยู่ที่ตรงนั้น มันไม่มีความรู้สึกร่วมกัน มันน่าจะเริ่มต้นที่ทำโปรเจ็กต์ให้มันดี แล้วทำให้มันมีกำไรในตอนสุดท้าย ซึ่งกำไรสุดท้ายก็คือ คำตอบของผลประโยชน์ระหว่างผู้ลงทุนกับคนทำหนังด้วยกัน อันนี้ก็เป็นมุมมองที่สากลทั่วโลก เขาโปรดิวซ์ภาพยนตร์กัน แต่ในเมืองไทยมันไม่เป็นอย่างนั้น”

…สง่า กำลังพูดถึงโมเดลการทำหนังในแนวใหม่สำหรับเมืองไทย แต่เป็นระบบสากลที่นานาชาติปฏิบัติกันอยู่ ซึ่งในการสร้างงานแบบนี้จะทำให้ผู้สร้างหนังไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์ยังคงมีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของงานอยู่ได้ ในขณะที่บทบาทของผู้ลงทุนก็ยังมีความชัดเจนในตัวเองทางด้านผลประโยชน์

“เมื่อสักปี 2000 เราได้เริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยคือ การเอาหนังไทยไปขายในตลาดเมืองนอก มาถึงวันนี้ เราจึงคิดเริ่มทำระบบโปรดิวซ์ภาพยนตร์จริง ๆ ที่มันเหมือนกับต่างประเทศเขาทำกัน ถ้ามันสำเร็จ ก็อาจจะเป็นแบบอย่างให้อีกหลายคนได้ทำแบบนี้กันต่อไป แล้วคนก็จะเริ่มมองหาโปรเจ็กต์ดี ๆ ทำให้หนังมีคุณภาพหลากหลายขึ้น และเป็นหนังที่มีการตลาดรองรับอยู่จริง ๆ แต่ว่าอันนี้เราไม่ได้หมายถึงว่า เราทำแต่หนังเอาใจตลาดนะ เราทำศิลปภาพยนตร์นี่ละ แต่เราต้องหาตลาดให้มันด้วย เพราะลำพังแค่ตลาดในประเทศเราคงไม่สามารถทำหนังให้หลากหลายได้”

…สง่า พูดถึง แนวทางการทำหนังแนวใหม่ที่รวบรวมเงินทุนมาจากแหล่งต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นหนังที่ตอบโจทย์สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับที่ได้ทำหนังในแนวทางของตัวเอง ทีมผลิตได้สร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันผลงานก็ยังมีตลาดรองรับ

“ซึ่งเราจะเป็นคนการันตีความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุน เขาก็จะง่ายขึ้น แล้วเราจะมีการพรีเซล (Pre-sell) ล่วงหน้า แต่การพรีเซลนี้ต้องอยู่ในระบบที่ดี เพราะก็มีหนังหลายเรื่องที่ถึงจะพรีเซลแล้ว สุดท้ายก็ต้องยกเลิกไปเหมือนกัน เพราะว่าไม่สามารถทำตามข้อตกลงที่วางไว้แต่แรกได้ ดังนั้นเราต้องมีทีมจัดการที่ดี มีงานสร้างที่มีคุณภาพ และสามารถผลิตออกมาได้ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ด้วย”

…สำหรับคนที่จะมาช่วยสานฝันในส่วนนี้ก็คือ โปรดิวเซอร์ที่มีความช่ำชอง ซึ่งสำหรับผลงานเรื่องแรกของบางกอกฟิล์ม สตูดิโอ แน่นอนที่สุด โปรดิวเซอร์จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้ นอกจาก อังเคิล อดิเรก วัฎลีลา

“คนแรกที่ผมมองเลยคือ พี่อังเคิล ตอนฟิล์มบางกอก พี่อังเคิลก็ได้ให้โอกาสผมมา ซึ่งเขาก็เปิดโอกาสให้เราได้เอาหนังไปขาย แล้วสร้างระบบการขาย เรียนรู้วิธีการดีลต่าง ๆ นานาขึ้นมา ทีนี้พอเราจะกลับมาทำอีกครั้ง ก็นึกถึงพี่อังเคิล พอเป็นทีมเดิมมารวมกัน ก็เลยตั้งชื่อ บางกอกฟิล์มสตูดิโอ นี้ขึ้นมาเพื่อให้มีกลิ่นเดิม ๆ”

 

…อังเคิล เสริมในส่วนของการบริหารงานสร้างว่า “เราก็ทำเหมือนกับที่สากลเขาทำกันนะ คือคนทำงานมีโอกาสเป็นเจ้าของงานด้วย ได้ลิขสิทธิ์ ซึ่งในเมืองนอกเขาจะเป็นอย่างนี้กันทุกประเทศ สตูดิโอจะแค่ได้สิทธิ์ในการจัดจำหน่าย ผู้ลงทุนก็รับต้นทุนบวกกำไรกลับไปตามที่ตกลงเท่านั้นจบ แต่ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ยังเป็นของโปรดิวเซอร์ ทีนี้เราจะทำงานกับต่างชาติก็ต้องทำระบบให้เหมือนกันไม่งั้นก็คุยกันไม่จบ อีกอย่างหนึ่งด้วยสถานการณ์การลงทุนทำหนังในเมืองไทยตอนนี้ก็ไม่ค่อยดีนัก นักลงทุนไม่ค่อยกล้าเสี่ยง เราจะทำอย่างไรให้มีผลงานภาพยนตร์ออกมาได้อย่างต่อเนื่องและหลากหลาย เราเลยลองหันมาทำงานแบบที่ระบบสากลเขาทำกัน เริ่มต้นด้วยเวลาเราจะทำโปรเจ็กต์ภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่แค่มั่นใจแล้วก็ทำเลย เพราะนั่นเท่ากับว่าเราต้องไปเหวี่ยงแหเสี่ยงดวงกันทุกครั้งได้บ้างไม่ได้บ้างจนมีการพูดกันว่าทำหนังก็เหมือนซื้อหวยเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ มันทำให้อุตสาหกรรมนี้ไม่โตทั้ง ๆ ที่คนในวงการนี้ก็มีความสามารถจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมานานแล้ว ทำอย่างไรคนทำงานถึงจะเดินอยู่ได้บนอุตสาหกรรมภาพยนตร์นี้ด้วยความมั่นคง และทำให้ธุรกิจภาพยนตร์ไทยเติบโตในตลาดนานาชาติได้มากกว่านี้”

…ซึ่งนั่นหมายความว่า บางกอกฟิล์ม สตูดิโอ มีความต้องการที่จะขยายฐานในส่วนของตลาดต่างประเทศมากขึ้น “ผมคิดว่าเรามองที่ตลาดต่างประเทศมากกว่าสำหรับภาพยนตร์โปรเจ็กต์แรก ท้า/ชน นี้ แต่สำหรับบางโปรเจ็กต์ก็อาจจะมองในตลาดเมืองไทยก่อนก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความเป็นไปได้” อังเคิลเผยถึงการวางตลาดให้กับ “ท้า/ชน”

“บริษัทนี้มันเหมือนเป็นภาคสองของฟิล์มบางกอกนะ แต่ว่าเราจะทำให้มันเป็นรูปธรรมมากขึ้น พยายามให้มันจับต้องได้จริงยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจ ภาคที่แล้วเราไม่ได้ผิดพลาดนะ เราทำให้นานาชาติรู้จักฟิล์มบางกอกไว้เยอะเหมือนกัน เหมือนกับหว่านพืชไปรดน้ำพรวนดินแล้วแต่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว กับภาคสองนี้ถ้าเราทำสำเร็จมีคนเห็นคุณค่าและสนับสนุน เราก็จะมีโอกาสพัฒนา ทั้งเนื้อหา ทั้งงานสร้างให้หลากหลายและดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิมได้อีก เราต้องการแค่โอกาสเพื่อพิสูจน์ว่าความคิดของเรามีทางเป็นจริงได้”

…เมื่อได้โปรดิวเซอร์แล้ว ผู้กำกับที่จะมาสร้างผลงานเปิดตัวเรื่องแรกของบริษัทก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน ด้วยความที่ บางกอกฟิล์ม สตูดิโอ มีความตั้งใจที่จะทำตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ ดังนั้นคุณภาพทางด้านงานสร้าง ไม่เพียงแต่จะเป็นที่เตะตาของคนไทยเท่านั้น งานของผู้กำกับคนนี้ยังต้องเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติอีกด้วย ซึ่งคนที่มาสานต่องานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของบางกอกฟิล์มสตูดิโอ ก็คือ ธนกร พงษ์สุวรรณ (อั๋น) อดีตลูกหม้อของ อังเคิล ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกันหลายยุคสมัย ตั้งแต่เริ่มเข้าวงการหนังไทยสมัยที่อังเคิลดูแลอยู่ที่อาร์เอสฟิล์ม จนกระทั่งได้มาร่วมทีมกับฟิล์มบางกอกในหนังหลายเรื่องในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับฯ ให้กับหนังคุณภาพอย่าง “บางกอกแดนเจอรัส” และ “โกลคลับ เกมล้มโต๊ะ”

“ซึ่งตัวธนกรเองก็เคยทำงานร่วมกับพี่อังเคิลมานานแล้ว เคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของ เรียว กิตติกร ก็หลายเรื่อง เป็นคนหนุ่มที่มีวิช่วลที่ดี มีมุมมองด้านภาพใหม่ ๆ แต่ก็ยังมีความเป็นไทยอยู่ในเนื้องานสูง ซึ่งถ้าหนังทำให้คนต่างชาติที่ได้ดูจะรู้สึกได้ถึงความเป็นหนังไทย หนังก็จะได้รับความสนใจ คือปกติเมืองนอกเขาจะไม่ตื่นเต้นกับสิ่งที่เราพยายามทำให้มันเหมือนฮอลลีวู้ด ถ้าเขาอยากดูหนังแบบฮอลลีวู้ด เขาก็ไปซื้อหนังแบบนั้นไปเลยดีกว่า เพราะถึงอย่างไรคนไทยก็ทำสู้ฮอลลีวู้ดไม่ได้ ด้วยประสบการณ์ ด้วยวิธีคิด ด้วยทุนสร้างและทีมงานต่าง ๆ นานา เราก็ไม่ได้พร้อมเท่าเขา” สง่ากล่าว

“ทุกคนก็เห็นพ้องต้องกันว่า ธนกร เขามีคุณสมบัติที่ครบถ้วนในส่วนนี้ ก็เลยได้มาร่วมทีมกันและเขาจึงเป็นเบอร์แรกของโปรเจ็กต์บริษัทเรา มันก็เลยเป็นสูตรขึ้นมาว่า ผมก็มองในมุมธุรกิจและการตลาดไปพี่อังเคิลก็มาโปรดิวซ์งานทั้งหมด ให้มันได้คุณภาพ ตามงบประมาณที่เหมาะสม ส่วนอั๋น ธนกรก็บรรเจิดในวิช่วลของเขาไป ทำในสิ่งที่ตนเองมองเห็นและสิ่งเป็นอยู่ให้มันมีคุณภาพ” สง่า ตบท้าย

…สง่ากล่าวว่า การที่เขาเลือกหนังแอ็คชั่นเป็นโปรเจ็กต์เบิกโรง เพราะว่า “ผมรู้สึกว่าตลาดหนังแอ็คชั่นไทยยังว่างอยู่ หลังจาก ‘องค์บาก’ แล้ว ไม่มีภาพยนตร์ไทยแนวนี้ออกมาต่อเนื่อง ในตลาดต่างประเทศเขาก็มองหาโปรแจ็กต์แบบนี้อยู่ มันมีไม่มากพอ เราจึงเริ่มเตรียมคนของเราขึ้นมาสำหรับเป้าหมายนี้ อย่าง เฉินหลง เป็นดาราหนังแอ็คชั่น แต่ในฮ่องกงยังมีคนอื่นอีก มีเจ็ทลี มีโจวชิงฉือ ถ้าเรามีร่องที่ชัดเจนให้กับนักแสดงแอ็คชั่นของเรา ผมเชื่อว่ามันยังมีพื้นที่ให้เขาอยู่ ผลสุดท้ายมันจะเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่ตัวโปรเจ็กต์เอง เขาก็ไม่จำเป็นต้องกังฟูเหมือนกันไปหมด แต่ละคนก็มีสไตล์ของตัวเอง อย่าง ทอม ครูส ก็ไม่ใช่ดาราแอ็คชั่น แต่เขาคือนักแสดงที่เข้าถึงอารมณ์หนังแอ็คชั่นถ้ามันมีเรื่องราวที่ซัพพอร์ตเขา มีเรื่องราวที่ทำให้คนดูเชื่อจริง ๆ คนดูก็ยอมรับได้ เราก็หาคอนเซ็ปต์ และพยายามทำหนังให้ไปในมุมที่คนเขาอยากเห็น ในขณะเดียวกันก็ซัพพอร์ตความต้องการของทีมสร้างด้วย”

…อังเคิล พูดถึงโปรเจ็กต์แรกซึ่งเป็นหนังแอ็คชั่นว่า “ก็เป็นอีกหนึ่งหนังแอ็คชั่นจากประเทศไทยหลังจากที่ ‘องค์บาก’ ไปเปิดตลาดไว้ก็คงไม่ยากสำหรับการที่เราจะเอา ‘ท้า/ชน (FIREBALL) ไปเจาะตลาดต่างประเทศ แต่เราก็ต้องพยายามทำอะไรที่แตกต่างออกไปด้วย”

 

…ธนกร เล่าที่มาว่า “ผมได้มีโอกาสคุยกับพี่สง่ามานานมากแล้ว สักประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา เราก็เริ่มพูดคุยเรื่องการทำหนังกันมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่พี่สง่าอยู่ที่แม็ทชิ่งโมชั่นพิคเจอร์ในช่วงปลาย ๆ จนมาถึงโปรเจ็กต์นี้ในที่สุด ‘ท้า/ชน’ เริ่มมาจากพี่สง่าไปคุยกับคนโน้นคนนี้ แล้วก็เริ่มเบรนสตรอมจากการแข่งบาสเก็ตบอลในสนามก็จะดูเป็นหนังกีฬาเกินไป จนมาแข่งนอกสนาม และมีการพูดคุยกันไปจนถึงพี่สง่าคิดออกมาเป็นคอนเซ็ปต์ว่า มวยไทยผสมผสานกับกีฬาบาสเก็ตบอล ทำอย่างไรก็ได้ให้ชู้ทลูกบาสลงห่วงแล้วชนะ คือให้ดูง่าย ๆ เล่นบาสไม่เป็นก็ดูรู้เรื่อง พอพี่สง่าสรุปมาถึงตรงนี้แล้ว ก็มีอั๋นเข้ามารับไม้ต่อโปรเจ็กต์นี้อีกทีหนึ่ง”

…ธนกร พงษ์สุวรรณ พูดถึงแนวทางของภาพยนตร์ “ท้า/ชน” รวมทั้งความยากง่ายในการทำงานว่า “เรื่องนี้ก็เป็นงานที่ผมทำแล้วชอบ ทำแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด ผมอยากจะทำหนังแอ็คชั่นแบบที่สากลเขาทำกัน ก็เลยมาลงตัวกันในจุดนี้ที่หนังเป็น คือศักยภาพของโปรเจ็กต์นี้มันมีความน่าสนใจคือ เป็นหนังแอ็คชั่นที่ดี และสามารถตอบโจทย์ทางการตลาดได้ด้วย”

“สำหรับการถ่ายทำจากเรื่องที่ผ่านมาของผมอย่าง ‘โอปปาติก’ จะมีการเซ็ตติ้งเยอะมาก แอ็คชั่นก็จะยิงกัน อันนี้เป็นแอ็คชั่นศิลปะการต่อสู้มวยไทยผสมลีลาบาสเก็ตบอลเข้าไป มูฟเม้นท์ในการถ่ายแอ็คชั่นมันจะซับซ้อนกว่า บวกกับความเป็นดราม่าของเรื่องด้วย”

“ธีมหนังของ ‘ท้า/ชน’ มีอยู่ว่า มนุษย์เราจะมีแบบทดสอบอันโหดร้ายที่ให้เราต้องแก้ไขกันไป หนังก็จะพาตัวละครไปพบกับเรื่องราวต่าง ๆ ผมเลยใช้ลักษณะแบบว่า เน้นที่การกำกับตัวละครเป็นหลัก แล้วให้กล้องตามเพื่อให้ได้มูฟเม้นท์ตามอารมณ์ และโจทย์ของหนังแอ็คชั่นดราม่า เรื่องนี้น่าจะเป็นโจทย์ที่ทำให้ผมพัฒนาขึ้นมาอีกขั้น เรียกว่ายากกว่าเดิม แล้วงานแอ็คชั่นในหนังเรื่องนี้ก็ยากขึ้น มีคิวบู๊ที่ท้าทายการกำกับพอสมควร”

“ทำไมถึงเป็น แบงค์ วงแคลช หรือครับ?? เนื่องจากธีมของพระเอก การมาของตัวละคร ผมยังอิงอยู่กับคาแร็คเตอร์ พอจะเลือกคนที่ลงตัวกับบท ผมก็มานึกถึงแบงค์เพราะเหมาะสมและน่าเชื่อถือ ซึ่งพอเจอตัวจริง ผมยิ่งรู้สึกว่าวิธีการทำงานมันคล้ายกันคือ แบงค์บอกว่า บทยังไม่ต้องอ่านหรอกพี่ คุยกันก่อน ว่าวิธีคิดการทำงานไปด้วยกันได้มั้ย มีวิธีคิดอย่างไร ทีนี้พอวิธีคิดมันลงตัวปั๊บ ก็มาทำงานกัน เราก็คุยกันแบบเปิดใจกัน… พอหลังจากที่โอเค ก็มาอ่านบทกัน แบงค์จะเป็นคนแบบว่า ถ้าอยากร่วมงานกัน ก็ให้เวลาในการทำงานกันมาก ไม่ซับซ้อนมาก พูดคุยเนื้อหากันจนลงตัว ประกอบกับเวลาลงตัวกันพอดี จึงได้มาทำงานกัน”

“ด้วยความที่แบงค์ไม่ใช่นักแสดงแอ็คชั่นมาก่อน แรก ๆ ก็หนักใจ เรามีการทดสอบคิวบู๊ พอเริ่มฝึกในช่วงแรกก็เป็นห่วง แต่พอหลังจากฝึกไปสักพักก็เริ่มเข้าที่ ผมรู้สึกดีมากเลย อยากให้ดูในหนัง ผมถือว่าเป็นนักแสดงรุ่นใหม่ที่เล่นคิวบู๊ได้ดีเกินคาด อันนี้ก็ต้องยอมรับครับ การเตรียมพร้อมของแบงค์ เขาก็ฟิตร่างกายเยอะ มีการเตรียมพร้อมที่จะรับสภาพกับการถ่ายหนังแอ็คชั่น เพราะเขาอยากให้การกลับมาในงานหนังครั้งนี้สำหรับแฟนคลับเขาด้วย เพื่อตัวเขาเองด้วย”

…ความคล้ายคลึงกันอีกอย่างสำหรับ โปรเจ็กต์, ตัวผู้กำกับ และนักแสดงนำก็คือ ความเป็นดราม่า “คือเพลงของวงแคลชทุกเพลงนี่มันดราม่าหมด แบงค์ก็ไม่ใช่แค่นักร้อง เขาเป็นคนเขียนเพลงด้วย ถึงจะร็อคยังไงก็ตาม มันร้องออกมาดราม่า โทนดราม่า เป็นเรื่องลึกซึ้งกินใจ ความรัก เอาโมเม้นต์หนึ่งของชีวิตมาทำเป็นเพลง โดยส่วนตัวทั้งผมและแบงค์คิดเหมือนกันน่ะ ก็คือเราทางเดียวกัน”

ไท ซึ่งเป็นพระเอกเรื่องนี้ เขาจะเป็นแบบเสือยิ้มยาก ไม่พูด ความเป็นตัวเขาที่ไม่ได้แสดงออกจากภายนอก แต่จะมีความรู้สึกภายในอยู่เยอะ และตัวละครนี้มันก็เป็นตัวคลี่คลายธีมของหนังด้วย แล้วแบงค์ก็ยังช่วยซัพพอร์ตอารมณ์ทุกคน คือมาแล้วทำให้ทุกคนทำงานกับคุณง่ายขึ้น ตัวแบงค์เขาฉลาดมาก เขาจะมีวีธีที่จะทำให้ทุกคนทำงานกับมันง่ายขึ้น ซึ่งก็ตรงกับตัวละครในบทที่จะคอยซัพพอร์ตคนอื่น”

 

…นอกเหนือไปจากบทของ ไท และ แทน ซึ่งเป็นบทพี่น้องฝาแฝดแล้วนักแสดงนำคนอื่น ๆ ใน “ท้า/ชน” ธนกรตั้งใจที่จะใช้นักแสดงหน้าใหม่เกือบทั้งหมด เหตุผลเพราะ“เรากลับมาทำหนังแอ็คชั่นอีกครั้ง ก็อยากได้เวลาจากนักแสดงให้มากที่สุด จึงตั้งใจเลือกนักแสดงหน้าใหม่ เพื่อให้มีเวลาทำงานกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังง่ายกับการสร้างความเชื่อในตัวละครต่อคนดูอีกด้วย”

“บทของ สิงห์ หัวหน้าทีมไฟร์บอล ได้ แซม มารับบทบาท เขาเป็นนักมวยที่ชกอยู่ในประเทศญี่ปุ่น พี่สง่าพาแซมมา เขาเป็นนักมวยที่เก่งมาก ดังในญี่ปุ่นด้วย ก็ยิ่งช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับหนังด้วย เพราะว่าลีลามวยของแซมนี่ ต้องชมเลยว่าท่ามวยไทยของแซมสวยงามมาก”

“สำหรับนักแสดงทุกคนในเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่าตนเองโชคดีมาก ไม่ว่าจะเป็นใครในหนัง นักแสดงทุกคนไม่มีการมาถามว่าจะต้องทำยังไง เพราะทุกคนจะเตรียมตัวมาดีมาก เข้าบทได้ทันที ตอนแคสติ้งก็มีการเทสต์บท ทุกคนสามารถจำไดอะล็อกได้หมด จำอารมณ์ได้หมด”

“อย่างเอิร์ท ที่รับบท เค ยอมรับเลยว่าถึงเขาจะเป็นนายแบบ แต่ว่าเขาพยายามมาก มีความตั้งใจสูง มีการทรายเอ้าท์กันหลายรอบ จนเอิร์ท สามารถผ่านด่านทุกคน จากคนที่แสดงไม่ได้เลย จนตอนนี้ทุกคนเห็นการแสดงในหนังของเขาจนต้องยอมรับในฝีมือ ผมรู้สึกดีใจที่ได้เอิร์ทและทุกคนมาร่วมงานเป็นนักแสดงทีมนี้”

บาสนี่ ตอนแคสต์บท ‘อิก เด็กแว้นท์’ พอให้เขาเล่นนี่ไม่ต้องแคสต์คนอื่นอีกเลย เพราะใช่เลย แล้วรู้สึกว่าพรสวรรค์ในการแสดงของบาส ก็ไม่น้อยไปกว่าฝีมือการเล่นบาสเก็ตบอลของเขา”

“ส่วนพี่จอห์นเองก็ไม่ได้แคสต์ใครเป็นพิเศษ เพราะในบทต้องการหนุ่มลูกครึ่งนิโกร เป็นอีกตัวแทนของคาแรคเตอร์ท่ต้องต่อสู้กับปัญหาชีวิต มาลงตัวที่เขา แล้วเขาตีบทแตกนะ และตัวจริงเขาเป็นคนใจดีมาก เพราะชีวิตจริงกับในบทนี่แตกต่างกันสิ้นเชิง ตัวจริงเป็นทหาร แต่ต้องมารับบทขายหมู”

เอม รับบท แป้ง นางเอกสาวคนเดียวของเรื่อง เป็นนักแสดงหน้าใหม่ ยังเรียนเป็นนิสิตที่จุฬา ใสมาก เด็กมาก จนแบบว่า หลายคนไม่คิดว่าเขาจะเปลี่ยนได้ เอมน่าจะเป็นนักแสดงที่ขายฝีมืออีกคนของวงการได้ในอนาคต”

 

…นอกเหนือจากนักแสดงในทีม “ไฟร์บอล” แล้ว อีกคนหนึ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือบท ไอ้ตัน ซึ่งแสดงโดย อรุชา โตสวัสดิ์ พระเอกจากภาพยนตร์เรื่อง “เพื่อน กูรักมึงว่ะ” สำหรับบท “ไอ้ตัน” ซึ่งเป็นผู้ร้ายเบอร์หนึ่งของ “ท้า/ชน” ธนกร เล่าว่า

“ตัวคาแร็คเตอร์ไอ้ตันนี่ แคสต์หาอยู่นานมาก ไม่โดนใจสักที สุดท้ายได้เจอเอ ประกอบกับเอ นี่เขาไม่ได้ซีเรียสเลยว่า ต้องเป็นพระเอก เขาอยากจะลองรับบทใหม่ ๆ อยู่แล้ว แต่ขอให้บทมันน่าสนใจ และมีอะไรให้เล่นได้ พอมาแคสติ้ง มาไทร์เอ้าท์แล้ว และเขาก็เล่นกีฬาบาสเก็ตบอลได้ดีอีกด้วย ต้องขอบคุณเอที่แม้จะเคยเล่นเป็นพระเอกในหนังเรื่องอื่นมาก่อน แต่สุดท้ายก็ยอมมาปรับตัวเอง ผมคิดว่า คนที่จะมาเล่นบทผู้ร้ายได้ดีนี่ต้องเป็นคนที่นิสัยดีมาก เพราะเขาต้องใจกว้างพอที่จะมาเล่นอะไรเลวๆ ได้ โดยไม่ห่วงภาพพจน์ของตัวเอง บวกกับเอที่มีความคิดเปิดกว้างทางการแสดงค่อนข้างสูง คือเขาอยากแสดงแบบที่เป็นอะไรก็เป็นได้ เปลี่ยนไปเป็นใครก็เปลี่ยนได้ อันนี้ผมถือว่าเป็นวิธีคิดของนักแสดงที่ดี ไม่ยึดติด รักที่จะแสดง ต้องขอบคุณเอมาก ศักยภาพในการเล่นหนังสุดยอดมาก แถมหนังที่เขาเคยเล่นก็ยังมีเครดิตที่ดีจากต่างประเทศอีกด้วย”

…และเพื่อเพิ่มสีสันให้กับบทตัวร้ายที่ต้องมาประกบตัวเอกอย่าง แบงค์ วงแคลช “จึงมีการประชุมกับพี่อังเคิลว่าไม่อยากให้หนังเครียดเกินไป น่าจะมีกลิ่นของแฟชั่นมากขึ้น เช่น ย้อมผมกันดีมั้ย คือตามโจทย์เรานี่จะมีอยู่แล้วว่า จะมีผมทอง ผมขาว ผมแดง ให้ใครซักคนก็เลยเลือกมาเป็นตัวนี้ ทุกครั้งเห็นแล้วต้องโดนต้องจำง่าย มีการทำผม มีการใส่คอนแท็กเลนส์ตาแตก ซึ่งมีที่มาที่ไปจากการตีความคาแร็คเตอร์ที่ผ่านการแข่งมาอย่างดุเดือด จนมีบาดแผลติดตัว”

“จุดเด่นในหนังเรื่องนี้ คือ ตัวหนังเป็นดราม่า-แอ็คชั่นที่ร่วมสมัย และมีคอนเซ็ปต์ที่ดี และวิธีการดำเนินเรื่องที่ไม่ซับซ้อน เป็นการเล่าเรื่องจาก 1 ไป 10 ที่แข็งแรงดูง่ายแต่มีคุณภาพในแง่งานสร้าง และการทำบทที่เรามีการรีเสิร์ชและคิดกันมาก นอกจากนี้ผมยังได้มีโอกาสทำบทร่วมกับ ผู้กำกับที่มีฝีมือ มีสไตล์ และเข้าใจทางของหนังเป็นอย่างดีอย่าง เกียรติ ศงสนันทน์ (ร่วมกำกับ “สยิว” กับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี) และ ทวีวัฒน์ วันทา ( ขุนกระบี่ ผีระบาด, อสุจ๊าก และ เด็กโข่ง) ซึ่งพอมาร่วมงานกันครั้งแรกรู้สึกว่า เรามีทิศทางการดูหนัง ชอบหนัง ที่คล้ายคลึงกันอยู่ และก็อยากจะสร้างอะไรใหม่ ๆ ด้วยกัน เรื่องนี้เราเขียนบทกันอยู่ครึ่งปี นอกจากนี้ยังมีพี่อังเคิล มาช่วยตบท้ายในส่วนของบทภาพยนตร์ ในแง่ของวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยครับ ต้องขอบคุณปรมาจารย์อย่างพี่อังเคิลไว้ ณ ที่นี้ด้วย”

 

CAST

ปรีติ บารมีอนันต์ (แบงค์ วงแคลช) รับบท “ไท” และ “แทน”

…นักร้องนำวงแคลช วงดนตรีร็อคระดับแนวหน้าของไทย “ท้า/ชน” เป็นผลงานเรื่องที่ 2 ของแบงค์

“ไท” เป็นน้องชายฝาแฝดของ แทน ทั้งสองเป็นพี่น้องที่รักกันมาก และพยายามทำทุกอย่างเพื่อกันและกัน เมื่อไทพบว่าพี่ชายของเขาต้องนอนเป็นผักอยู่ในโรงพยาบาล เขาท้าชนทุกเรื่อง เพื่อรู้ให้ได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับพี่ชายเขากันแน่ และเมื่อเขารู้ความจริง ไท ก็พร้อมที่จะแลก!

“มันก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่ระหว่างผมกับบท ผมว่าตัวไทน่ะเหมือนผม ไม่พูดเยอะ รักน้อง แต่ไม่แสดงออก ส่วนตัวน้องน่ะ แทนก็เกเร ตามสูตรน้องชายเกเร อยากเป็นพี่ แต่จริง ๆ เป็นน้อง น้องชายแบดบอยน่ะ ส่วนไทเป็นผู้นำครอบครัว พ่อแม่ไม่มี ต้องดูแลกันเอง”

“ผมกับพี่อั๋น-ผู้กำกับฯ จะปรับบทมาด้วยกัน ผมจะช่วยคิดไดอะล็อกบ้าง ถ้าผมเป็นไท ผมจะพูดแบบไหน แล้วผมก็จะเข้าใจตัวละครนี้มาก เพราะว่าผมอินไปแล้ว”

“ถ่ายหนังมันสนุกนะ แต่ว่ามันไม่มีฉากไหนยิ้มแย้ม มันยิ้มน้อย พวกสลิงทั้งหมดน่ะ ยากหมดเลย บางทีผมได้ คนอื่นไม่ได้ บางทีซ้อมคิวบู๊นานมาก ยังไม่ได้ถ่ายเลยครับ”

ประวัติส่วนตัว

เกิด 20 ต.ค. 2525

ผลงานที่ผ่านมา

– ผลงานเพลง 10 อัลบั้ม

– แต่งเนื้อร้อง/ทำนอง

– รางวัล นักร้องนำยอดเยี่ยม และร้องชนะเลิศ อันดับ 1 HOTWAVE MUSIC AWARD 3 ปี 2541

 

แซม เกษม รับบท “สิงห์”

…แซม เป็นนักมวยอาชีพที่ได้รับรางวัลมากมาย และมีชื่อเสียงโด่งดังในประเทศญี่ปุ่น

“สิงห์” ดูจากภายนอกเขาก็เป็นชายหนุ่มธรรมดา เป็นพนักงานขายสินค้าในห้าง แต่ในอีกโลกหนึ่ง สิงห์ เป็นอดีตนักมวยที่พยายามหาพื้นที่ให้กับตัวเอง โดยมีสนามแข่งขันบาสเถื่อนเป็นที่ปลดปล่อยความต้องการเบื้องลึก และเขารู้สึกว่าในสังเวียนแห่งการต่อสู้ทำให้เขามี “ตัวตน” มากกว่าสังคมภายนอก

“อ่านบทแล้วน่าเล่นมากเลย คาแร็คเตอร์ใกล้เรามาก คิวบู๊ก็ถนัด หนังมีหลายอารมณ์ ทั้งแอ็คชั่น ทั้งดราม่า แต่คิวบู๊หนังยากมากเลยครับ ต่างกันมากกับการชกมวยซึ่งต่อยจริงโดนเต็มๆ แต่หนังต้องต่อยให้ไม่โดน แต่ต้องให้ดูแรง มุมกล้องกับการวาดแขนต้องตรงกัน ขนาดมีทักษะกีฬามา เคยเล่นยิมนาสติกด้วย ยังรู้สึกยาก ให้ต่อยจริงยังง่ายกว่า สีหน้าแอ็คติ้งอีกยากกว่าแสดงแอ็คชั่น”

“ก่อนหน้านี้ผมคิดว่า สลิงจะง่าย แต่สัมผัสแล้วยาก ต้องทรงตัว บาลานซ์ให้กลมกลืนกับท่ามวย หนังเรื่องนี้พี่อั๋นก็ดึงตัวผมออกมาส่วนหนึ่ง เอาตัวเราเข้าไปแทนตัวสิงห์ ตัวผมคือนักมวย แต่ในสนามจะดุดัน เป็นนักสู้ มีส่วนหนึ่ง รักเพื่อน ปกป้องคนอื่น เจ็บแทนได้ เข้าใจความรู้สึกสิงห์เลย เวลาสู้ก็สู้ตาย เข้าสังเวียนนี่สู้ตายเลย เราโดนฝึกมา เราต้องคิดแบบนักสู้”

ประวัติส่วนตัว แซม-เกษม เจะสนิ

เกิด 3 ม.ค. 2526 / น้ำหนัก 60 กก. / ส่วนสูง 169 ซม.

การศึกษา ปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เอกวิทยาการกีฬา มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม

งานอดิเรก ต่อยมวย, เตะฟุตบอล

 

คณุตรา ชูช่วยสุวรรณ (เอม) รับบท “แป้ง”

…นักแสดงสาวหน้าใหม่ ที่เคยมีผลงานปรากฏในภาพยนตร์โฆษณาและมิวสิกวิดีโอ เช่น เอ็มวี เพลง “14 อีกครั้ง” ของ เสก โลโซ สำหรับงานภาพยนตร์ เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกของเธอ

“แป้ง” แฟนสาวของ แทน แม้ว่าแทนจะนอนแน่นิ่งอยู่ในโรงพยาบาล อย่างไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นขึ้นมา แต่แป้งก็ไม่เคยคิดที่จะทอดทิ้งแทนไป

“เอมต้องเข้าฉากคู่กับพี่แบงค์ เอมเขินมาก เพราะเป็นครั้งแรกต้องเข้าคู่กับพระเอกให้เหมือนคนใกล้ชิดกันมานาน มีเลิฟซีนนิด ๆ แป้งต้องรักผู้ชายทั้ง 2 คน ค่อนข้างยาก ด้วยความที่ความรู้สึก เรารักทั้ง 2 คน แต่บางทีก็รู้สึกเหมือนพี่น้องฝาแฝด 2 คนนั้นเป็นคนเดียวกัน ต้องแสดงออกให้ได้ว่า เรารักกันจริง ๆ จะต้องออกทางสีหน้า ท่าทาง ซีนร้องไห้ ต้องร้องตั้งแต่เช้า ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงเที่ยง ถ่ายคนเดียว

ส่วนของเอมมีดราม่าทุกฉาก ไม่มีน่ารัก กุ๊กกิ๊ก ถึงจะเป็นฉากโรแมนติคก็ยังเป็นโรแมนติกดิบ ๆ หน่อย อยากบอกว่า เป็นหนังไทยที่มีไอเดียที่ดี เอาศิลปะแม่ไม้มวยไทยมาผสมผสานกันอย่างลงตัว หนังถ่ายออกมา สวยมาก ๆ ยังมีเรื่องดราม่าด้วย ไมได้แอ็คชั่นอย่างเดียว ลงตัวมาก ๆ เลยค่ะ”

ประวัติส่วนตัว เอม-คณุตรา ชูช่วยสุวรรณ

อายุ 20 ปี / ส่วนสูง 167 ซม. / น้ำหนัก 45 กก.

การศึกษา ปี 2 ครุศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลงานที่ผ่านมา รองอันดับ 1 มิสทีนไทยแลนด์ ปี 2005 / มิวสิควิดีโอ

 

อรุชา โตสวัสดิ์ (เอ) รับบท ตัน

…พระเอกจากภาพยนตร์เรื่อง “เพื่อน…กูรักมึงว่ะ” ที่พลิกคาแร็คเตอร์มาเป็นผู้ร้ายเบอร์หนึ่งใน “ท้า/ชน”

“ตัน” เป็นคนเก่ง มีความสามารถด้านบาสเกตบอล ลีลา การต่อสู้ที่เหนือกว่าใคร แต่ในแง่จิตใจ ตันเป็นคนไม่รู้สึกผิดเลย ไม่รู้ร้อน รู้หนาว มั่นใจตัวเอง คนอื่นอาจจะเข้ามาสู้ด้วยความจำเป็น แต่ตัน เข้ามาสู้ ด้วยความอยากจะทำร้ายคนอื่น เหมือนคนโรคจิต ได้ตื๊บ ได้อัดคนแรง ๆ จะได้มีความสุขมาก ๆ

“เรื่องนี้ผมหันมารับบทเป็นผู้ร้ายบ้าง อยากจะเปลี่ยนลุค เราก็อยากแสดงไปให้ถึงบทเลว ๆ อย่างที่ผู้กำกับอยากได้ เริ่มตั้งแต่ ปรับเปลี่ยนลุคของตัวเอง บทแบบเลว ๆ ย้อมผมเป็นสีทอง ใส่คอนเทคเลนส์ ให้เลือดในตาจะแตก เพราะผ่านการต่อสู้มาก่อน บนหน้าตามีร่องรอยจารึกไว้ แต่งตัวเสร็จ ก็ชอบมาก รู้สึกเท่ห์ หนังทั้งเรื่อง เป็นงานแปลกใหม่สำหรับผม และสำหรับภาพยนตร์ไทย เอากีฬาบาสมาผสมผสานการต่อสู้ เป็นเรื่องราวของลูกผู้ชายที่ต้องสู้สุดใจ การได้แสดงหนังแอ็คชั่น เหมือนเป็นความใฝ่ฝันของเราเลย แต่เรื่องนี้เป็นแอ็คชั่นที่ไม่จัดฉาก พยายามให้เห็นเป็นแอ็คชั่นเฉพาะหน้า สดๆ อารมณ์ดิบ ๆ ความท้าทายอีกอย่าง คือ บทนี้ เป็นบทคนเลวจริง ๆ เป็นหนังอารมณ์ลูกผู้ชายที่มันส์มาก ๆ เลย”

 

กัมปนาท อั้งสูงเนิน รับบท “หมึก”

…จอห์นนี่ เป็นอดีตผู้รักษาประตูของทีมชาติไทย เขาเคยผ่านงานแสดงมาหลายเรื่อง รวมทั้ง “นเรศวร 1” และ “นเรศวร 2”

“หมึก” พยายามหาเลี้ยงครอบครัวทุกวิถีทาง ยิ่งเมียกำลังตั้งท้องยิ่งทำให้หมึกต้องพยายามมากขึ้นไปอีก และหนึ่งในการหาเงินของหมึกคือ การเข้าร่วมทีม “ไฟร์บอล” เขาคิดแต่ว่าหากเขาโชคดี เงินรางวัลจากการแข่งขันจะช่วยให้ครอบครัวเขามั่นคงขึ้น

“การรับบทในเรื่องนี้ เพราะรู้สึกว่าตัวละครกับตัวเองมีความคล้ายกัน คือ ตัวหมึกจะมีเป้าหมายที่เข้าทีมไฟร์บอลเพื่อครอบครัว ทำให้อยากเล่น การมีทักษะทางด้านกีฬาของตัวเอง มีประโยชน์กับการแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้มาก หนังแอ็คชั่นเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีอุบัติเหตุ ผิดคิวในการถ่ายทำ ผมโดนเตะปาก โดนเบ้าตา ที่หนักที่สุดคือถูกกระโดดเหยียบหลัง ทำให้ผมต้องเจ็บถึงต้องพักหยุดถ่ายไปเป็นอาทิตย์เลย เพราะเส้นเอ็นหลังฉีกและอักเสบ ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงการต่อสู้ในเกมส์ที่ไม่มีกฏ ไม่มีกติกา เป็นเกมส์ของลูกผู้ชาย ที่เป็นทั้งเกมส์กีฬาและเกมส์ชีวิต”

 

อณุวัฒ แซ่เจ๊า (เอิร์ท) รับบท “เค”

…เอิร์ทเป็นอดีตนักบาสอาชีพ และยังเป็นนายแบบหนุ่มสุดฮ็อตบนแค็ตวอล์ก ซึ่งเขาเดินแบบทั้งในไทยและต่างประเทศ

“เค” เป็นหนุ่มมาดกวน นิ่ง ๆ ดูยาก ดูไม่ออกว่าเป็นคนดีหรือคนร้ายกันแน่ มีข่าวลือว่าเขาเป็นหนึ่งในคนที่เคยล้มบาสจากการแข่งขันเมื่อปีก่อน และส่งผลให้ แทน ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทำให้เขาไม่เป็นที่ไว้วางใจนักของคนในทีมไฟร์บอล รวมทั้งไทด้วย

“เค เป็นคนกวน ๆ พูดจากวนเพื่อน เป็นคนมีปมในใจ เพื่อนๆ ไม่ค่อยไว้วางใจ ว่าเป็นคนดีหรือเปล่า เพราะเราเคยล้มบอล มันเหมือนมีความขัดแย้งในตัวเอง คือ บางช่วงเราก็พยายามคิด เราไม่ผิด มันซวยเอง บางช่วงเราก็รู้สึกผิด เห็นใจเขา มาเรียนคิวบู๊ ไม่ใช่ได้แค่ท่า แต่มีทักษะต่อสู้จริง ๆ เน้นให้ต่อยสวย ต่อย เตะ ให้ดูหนัก คนปกติต่อยจริง จะเจ็บ แต่ดูไม่เหมือนจริง ก็สอนเทคนิคต่อยให้ดูจริง แต่ไม่เจ็บ เรียนแอ็คติ้ง เรียนการออกเสียง การแสดงออก สีหน้า แววตา

ผมว่า หนังเรื่องนี้มันส์มาก อ่านบทแล้วชอบบทหนังทั้งเรื่อง มันแอ็คชั่น ลูกผู้ชายดี ในแง่เป็นหนังแอ็คชั่น เรื่องนี้ก็ดูง่าย แอ็คชั่นมีที่มา มันส์กว่าที่เราอ่าน มันส์มาก ยิ่งถ่าย คิวยิ่งหนัก แอ็คชั่นอลังการมากขึ้น แต่ยิ่งถ่ายช่วงหลัง ๆ หนักขึ้นอีก มันส์กว่าอีก ฉากจบมันส์สุด ๆ คนชอบแอ็คชั่นก็มันส์ ถ้าชอบดราม่ามันก็มีในเรื่อง น่าสนใจ ต่อให้ผมไม่ได้แสดง ผมก็ว่า มันน่าสนใจ และมันน่าสนุกมาก ผมเล่นเต็มที่เลยเพราะกลัวไม่สมจริงครับ”

ประวัติส่วนตัว เอิร์ท-อณุวัฒชื่อ แซ่เจ๊า

เกิด 5/4/2527 ลูกครึ่งไทย-จีน / ส่วนสูง 180 ซม. / น้ำหนัก 75 กก.

การศึกษา ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกริก / ความสามารถพิเศษ บาสเกตบอล, พูดภาษาจีน

ผลงานที่ผ่านมา ถ่ายแบบ

 

กานต์ณัฐ เสมอใจ (บาส) รับบท “อิก”

…บาสเป็นนักบาสดาวรุ่งซึ่งอยู่ในทีมชาติไทย ด้วยหน้าตาและทักษะอันช่ำชองในการเล่นบาส ทำให้ผู้กำกับเลือกเขามารับบทเด็กแว้นนักบาสมือชู้ตของทีม

“อิก” ก็เหมือนเด็กหนุ่มวัยรุ่นทั่วไป ที่มีความคึกคะนอง และพยายามถีบตัวเองให้พ้นจากปัญหารายวันของการเลี้ยงชีพ การเข้าร่วม “ทีมไฟร์บอล” อาจเป็นการแก้ปัญหาปากท้องเบื้องต้นของ อิก โดยที่เขาไม่เฉลียวใจสักนิดว่า สิ่งที่เขาตั้งใจทำเพื่อครอบครัวนั้น มันอันตรายเกินไปสำหรับเด็กหนุ่มอย่างเขา

“บาส รับบทเป็น อิกคิว เป็นเด็กซน ๆ ที่เก่งในกีฬาบาสเก็ตบอล แต่ไม่เก่งเรื่องต่อสู้ เป็นเด็กแว้น อยากได้เงินมาช่วยครอบครัว บางส่วนของบทก็มีส่วนเหมือนตัวเราบ้าง จริง ๆ ผมก็เลี้ยงตัวเองด้วยการเล่นบาสเหมือนกัน ก็รู้สึกใกล้เคียงกับตัวอิกคิวเหมือนกัน

การถ่ายหนัง ฉากแอ็คชั่นไม่ค่อยยาก พวกฉากดราม่าที่ต้องแสดงความรู้สึก ไม่เคยเล่นมาก่อน เลยยากกว่ามาก แค่ฉากมองลูกบาส ต้องมองให้รู้สึกสื่อความหมายอารมณ์ มองลูกบาสให้รู้ว่า เรามุ่งมั่นทำเพื่อแม่ ไม่ใช่แค่มองเฉย ๆ แต่ต้องสื่อว่า เราเข้ามาเล่นเกมส์นี้เพราะอะไร เล่นคนเดียวกับลูกบาส ทำอารมณ์ สำหรับท่วงท่าการเล่นบาสเก็ตบอลที่เน้นเล่นท่าสวย มันเป็นบาสแข่งขัน แต่ไม่เน้นสกอร์ แต่เน้นการแสดงท่าทางออกมา ผมก็เอาท่าต่าง ๆ มาใช้ในหนังด้วย

ผมชอบพี่แซม เขาบู๊ดีครับ เก่งเรื่องต่อยมวย เวลาฉากต่อสู้ พี่เขาแสดงดูเต็มที่หนักแน่น เห็นแล้วน่ากลัวมาก พี่เขาตัวเล็กแต่เวลาต่อยมวย ทำไมเก่งอย่างนี้ เป็นนักแสดงคุณภาพ หนังเรื่องนี้แตกต่าง ตรงเป็นหนังกีฬา บู๊ด้วย ความรักด้วย มันเหมือนหนังชีวิตที่เอาลูกบาสมาร่วมด้วย ผมคิดว่าในเมืองไทยยังไม่มีใครเอากีฬาบาสเก็ตบอลมาทำเป็นหนังได้อย่างนี้ มีความเป็นแอ็คชั่นมันส์ ๆ เท่ห์ ๆ น่าสนใจมากครับ”

ประวัติส่วนตัว บาส-กานต์ณัฐ เสมอใจ

เกิด 17/10/2531 / ส่วนสูง181 ซม. / น้ำหนัก 65 กก

การศึกษา ปี 2 ปริญญาตรี ม.ธรรมศาสตร์

ผลงาน นักบาสเก็ตบอล ทีมชาติชุดเยาวชน / ทีมสโมสร การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค / นักกีฬาบาสเก็ตบอล ทีมชาติชุดซีเกมส์ / นักบาสเก็ตบอล ทีมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล รับบท เฮียเด่น

…เป็นที่จดจำจากบท “พันเรือง” ในภาพยนตร์เรื่อง “บางระจัน” ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล มาพร้อม ด้วยบุคลิกชายไทย สูงใหญ่ สง่าโดดเด่น ห่างหายจากการแสดงหนังใหญ่มาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ “บางระจัน” ล่าสุด หวนกลับมาสู่จอภาพยนตร์ ด้วยเรื่อง Fireball เพราะความมั่นใจในทีมงานและบทบาทที่ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ไปจากเดิม

“เฮียเด่น” นักธุรกิจนอกกฎหมายที่พยายามเข้าสู่แวดวงผู้มีอิทธิพล เป็นผู้ก่อตั้งทีม Fireball มุ่งหวังจะพาทีม ไปให้ถึงตำแหน่งทีมแชมป์ แต่ยิ่งต่อสู้เข้าสู่รอบลึก ๆ เขาได้พบเห็นความสูญเสีย และสิ่งที่ลูกทีมทุ่มเทลงไป แม้จะสะท้อนใจ หากแต่เฮียเด่นก็ถอยกลับไม่ได้เสียแล้ว

“การแสดงเรื่องนี้ถึงจะไม่มีซีนแอ๊คชั่นเหมือนในบางระจัน จะเน้นที่ดราม่า ต้องแสดงออกมาทางสายตา ทางสีหน้าเพื่อสื่ออารมณ์ของตัวละคร วิธีการทำงานกับผู้กำกับจะสื่อสารกัน ตีความตัวละครว่า ตัวเฮียเด่นจะดีก็ไม่ใช่ จะเลวก็ไม่เชิง แต่ก็มีเหตุผลที่ทำลงไป ที่พยายามดึงทุกคนให้มาเล่นในทีมไฟร์บอล คือจะไม่คาดหวังอะไรกับทีม แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มบอล

ความสนุกของหนังเรื่องนี้ เรียกได้ว่าครบทุกรส ทั้งแอ๊คชั่น ดราม่า โรแมนติก ความรักของเพื่อน ของแฟน ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงสัจธรรมของชีวิต การเลือกตัดสินใจทำอะไรลงไป เพราะแต่ละคนมีเหตุผลของตัวเองและต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ต้องทำเพื่ออะไรสักอย่าง ซีนที่ชอบและประทับใจคือ ฉากที่ลูกน้องในทีมไฟร์บอลตายเพราะเกมส์การแข่งขัน รู้สึกสงสารและสะเทือนใจ”

Share this article :

แสดงความคิดเห็น