Home » » บ้านผีสิง

บ้านผีสิง


ระหว่างที่ “ชาลินี” (ทราย-อินทิรา เจริญปุระ) นักข่าวทีวี ไปถ่ายทำสกู๊ปรายการ “รื้อคดี” ที่หยิบเอาฆาตกรรมครึกโครม 6 ปีก่อนที่อาจารย์แพทย์ชื่อดัง “หมอวสันต์” (วรพจน์ นิ่มวิจิตร) ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมอำพรางศพภรรยา “พญ. ผุสรัตน์” (วิบูลย์ศิริ คงพูล)

ชาลินีถ่ายเก็บภาพบ้านพักแพทย์ที่หมอวสันต์เคยพักอาศัยไว้ บรรยากาศบ้านวังเวง มืด ๆ ชวนให้คิดถึงหลุมศพมากกว่าที่อยู่อาศัย ชาลินีถ่ายติดภาพเลือนรางคล้ายเงาผู้หญิงในชุดสีฟ้าอยู่ในบ้านนั้นด้วย ภาพนั้นรบกวนจิตใจชาลินีเรื่อยมา ชาลินีรู้สึกลึก ๆ ว่า เป็นเงาของหญิงสาวดูเศร้า นัยน์ตาโตไร้แวว แต่จ้องมองเธอเหมือนจะบอกบางอย่าง

ขณะที่ชาลินีเจาะลึกไปกับคดีของหมอวสันต์ เธอพบข้อมูลใหม่ที่ชวนตกตะลึง ยังมีฆาตกรคนอื่นเคยอาศัยอยู่ในบ้านพักแพทย์หลังเดียวกัน…

“หมอเฉลิม” (คมสัน นันทจิต) ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมอำพรางศพแฟนนักศึกษาสาว “จามจุรี” (ณัฎฐกันย์ ทยุตาจารุวิชญ์) เมื่อ 8 ปีก่อน หมอเฉลิมเป็นผู้ต้องหาเพียงรายเดียวที่ยอมให้ชาลินีสัมภาษณ์ แต่เมื่อไปถึงเรือนจำ ชาลินีกลับเป็นฝ่ายถูกคุณหมอเฉลิมซักถามแทน โดยเฉพาะคำถามเกี่ยวกับบ้านหลังนั้น ถ้อยคำของหมอเฉลิมบ่งบอกถึงอาถรรพ์บางอย่างซ่อนในบ้านหลังนี้ เป็นเหตุให้เขาลงมือฆ่าแฟนสาว

ชาลินีทุ่มเทสืบค้นคดีฆาตกรรมอย่างหนักจน “ภาณุ” (เอก-ชมะนันทน์ วรรณวินเวศร์) สามีของชาลินี เกิดความหวาดระแวงความสัมพันธ์ของชาลินีกับ “เชน” (ณัฐวัฒน์ เปล่งศิริวัธน์) โปรดิวเซอร์รายการ ทั้งที่ ภาณุเคยเป็นสามีที่แสนดี เข้าใจการทำงานของชาลินีมาตลอด…

ชาลินีค้นรายชื่อแพทย์ที่เคยพักอยู่บ้านหลังนี้ไล่ย้อนกลับไป เธอแทบช็อคเมื่อพบว่า “หมออุทิศ” (คงเดช จาตุรันต์รัศมี) ผู้ต้องหาคดีฆ่าอำพรางศพ “คุณนวล” (ณัชฌา รุจินานนท์) นางพยาบาลสาวเมียรักในคดีฆาตกรรมโด่งดังเมื่อ 45 ปีก่อน ทั้งคู่เคยอาศัยอยู่บ้านพักแพทย์หลังนี้เช่นกัน !!!

“มีอะไร” มากกว่า ความบังเอิญ …?

“อะไร” สิงอยู่ในบ้านพักแพทย์หลังนี้ ?

“หญิงสาวในชุดสีฟ้า” เกี่ยวข้องอะไรกับ “เหยื่อ” และ “การฆาตกรรรม” ???

ร่วมพิสูจน์และค้นหาคำตอบได้ ในภาพยนตร์ “บ้านผีสิง”…6 กันยายน 2550

ผู้กำกับ : มณฑล อารยางกูร

วันที่เข้าฉาย: 6 กันยายน 2550

ดูหนัง บ้านผีสิง

ทีมงานสร้าง : ลึกลับ-ซ่อนเงื่อน (แนวภาพยนตร์) / อาร์เอส จำกัด (มหาชน) (บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย) / อาวอง (บริษัทดำเนินงานสร้าง) / เกรียงไกร เชษฐโชติศักด, สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ (อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร) / มณฑล อารยางกูร, จันทิมา เลียวศิริกุล (อำนวยการผลิต) / ปานเทพ พันธ์เชย (ผู้ช่วยควบคุมงานสร้าง) / มณฑล อารยางกูร (ผู้กำกับภาพยนตร์) / พรรณพันธ์ ทรงขำ (กำกับภาพยนตร์กอง 2) / มณฑล อารยางกูร (โครงเรื่อง) / สมภพ เวชชพิพัฒน์ (บทภาพยนตร์) / ฉัตรชัย ช่อจันทร์ (สตอรี่บอร์ด) / ไพบูลย์ ภู่ประดับ (กำกับภาพ-ถ่ายภาพ) / มณฑล อารยางกูร (ออกแบบงานสร้าง) / ธวัชชัย เติมสุข, เฉลิมชัย คงบุญเฉลิม (กำกับศิลป์) / ธีระศักดิ์ เกตุแก้ว, รัตติกัลยา เฉลิมแสนยากร (ผู้จัดการกองถ่าย) / มณฑล อารยางกูร, พรรณพันธ์ ทรงขำ (ลำดับภาพ) / น้ำผึ้ง โมจนกุล (ออกแบบเครื่องแต่งกาย) / วรธน กฤษณะกลิน (ออกแบบการแต่งหน้า) / อดิช เยี่ยมฉวี, ปริญญา ปานตั้น (แต่งหน้า) / อดิช เยี่ยมฉวี, ฐาน ธัญศญาพร, สิริวรรณ ศิริพร (แต่งหน้าเอฟเฟคต์) / เทิด ยอดทอง, พรนิภา รัตนนิคม (ทำผม) / ปรีเทพ บุญเดช, กู้เกียรติ หิรัญศรีสุข (บันทึกเสียง) / ธิปไตย ภิรมย์ภักดิ์ (ดนตรีประกอบ) / อินเวอร์ส ฟรอช สตูดิโอ (เทคนิคพิเศษด้านภาพ) / กันตนา แลบบอราทอรี่ส (FILM LAB & SOUND STUDIO) / ด็อกเตอร์ เฮด (สร้างสรรค์งานโฆษณา)

นำแสดงโดย : อินทิรา เจริญปุระ, ชมะนันทน์ วรรณวินเวศร์, ฌัชชา รุจินานนท์, คมสัน นันทจิต, คงเดช จาตุรันต์รัศมี, ณัฐวัฒน์ เปล่งศิริวัธน์, ณัฏฐกันย์ ทยุตาจารุวิชญ์, วรพจน์ นิ่มวิจิตร, วิบูลย์ศิริ คงพูล

ความเป็นมา “บ้านผีสิง”…บังเอิญ หรือ อาถรรพ์

…”บ้านผีสิง” ภาพยนตร์เขย่าขวัญว่าด้วย “บ้าน” กับ “คดีฆาตกรรม” ทั้งสองอย่างมาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ?

…โปรดิวเซอร์ผู้ควบคุมงานสร้าง จันทิมา เลียวศิริกุล (เอมี่) และเป็นคนเดียวในทีมงานที่มีครอบครัวแล้วจะเป็นผู้ไขปริศนาความเป็นมา

“ช่วงที่เรารีเสิร์ชข้อมูลสถานที่ของหนัง ‘ผีคนเป็น’ เพื่อหาบรรยากาศ หารูปแบบคดี เราเก็บข้อมูลแวดล้อมของสถานที่ต่าง ๆ เยอะมาก เราเกิดความประทับใจว่า แค่ข้อมูลของสถานที่ มันก็เซอร์ไพรส์เราได้ตลอด สถานที่บางแห่ง มันมีรูปแบบซ้ำ ๆ มีความซ้ำซ้อน ประวัติศาสตร์ซ้ำ ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ ต่างปี ต่างเวลา ผนวกกับเราอ่านพิศวาสฆาตกรรมตามหน้าหนังสือพิมพ์ ก็รู้สึกว่าหลาย ๆ คดี รูปแบบคดีมันเหนือธรรมชาติมาก หลายคดีก็มีความซ้ำซ้อน ความต่อเนื่อง ทั้งที่ต่างคน ต่างปี ต่างเวลา เหมือนกัน

อย่างรูปแบบคดี ความซ้ำซ้อนของฆาตกรในอาชีพเดียวกัน ความเหมือนของเหยื่อ ความพ้องของสถานที่ คดีฆาตกรรมที่ความซ้ำซ้อนมีเกิน 3 ข้อ เป็นไปได้อย่างไร ที่มีฆาตกรรมรูปแบบต่อเนื่อง โดยไม่ใช่ตัวฆาตกรคนเดียวกัน หยิบเอาความน่าสนใจของแบล็คกราวน์ของบ้าน เป็นไปได้ไหม ที่สถานที่จะมีเบื้องหลัง มีผลกับความรู้สึกกับพฤติกรรมของคน ที่มีกับสิ่งเหนือธรรมชาติ อาจจะเรียกได้ว่า ผี หรือ เจ้าที่เจ้าทางอะไรก็ตามแต่คนจะเชื่อ น่าสนใจว่า ทำไมคนที่พักอาศัยอยู่บ้านหลังหนึ่ง จากครอบครัวอบอุ่น ทำไมกลับกลายเป็นครอบครัวแปลกแยกจนถึงฆ่ากันตาย คนที่รักกัน ทำไมหันมาทำร้ายกันได้มากขนาดนี้ มันเป็นความขมขื่นที่สุดที่คนรักกันทำร้ายกันได้แล้ว มันเกินความเป็นปัญหาครอบครัวปกติแล้ว เราเลยตั้งข้อสงสัย เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ที่ ๆ เราเดินอยู่ เราเหยียบอยู่ ไม่มีตำนาน ไม่มีประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายทับถมอยู่ แล้วเราจะอธิบายความซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้น ได้อย่างไร เป็น บังเอิญ หรือ อาถรรพ์…”

ประวัติและผลงาน – จันทิมา เลียวศิริกุล (โปรดิวเซอร์-ผู้ควบคุมงานสร้าง) ผลงานภาพยนตร์ที่ดูแลควบคุมงานสร้าง

– มือปืน/โลก/พระ/จัน, ผีสามบาท (2544)

– พันธุ์ร็อกหน้าย่น, สังหรณ์ (2546)

– ซาไกยูไนเต็ด (2547)

– จอมขมังเวทย์, เดอะเมีย, อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม (2548)

– ผีเสื้อสมุทร, รักจัง, ผีคนเป็น, แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า (2549)

พ.ศ- ผีไม้จิ้มฟัน, เมล์นรก หมวยยกล้อ, รักนะ 24 ชั่วโมง, บ้านผีสิง (2550)

 

แรงบันดาลใจจากหน้าหนังสือพิมพ์ ปากคำผู้กำกับ ฯ อ๊อฟ – มณฑล อารยางกูร

“ความที่เราเห็นข่าวหนังสือพิมพ์ตลอดเวลา คดีฆาตกรรมด้วยความรัก มักเป็นคดีที่ลึกลับซับซ้อนและมีเบื้องหลังแทบทุกคดี เราก็เกิดแรงบันดาลใจ ยิ่งได้ศึกษารีเสิร์ชข้อมูลคดีคนรักฆ่ากัน เรามีความรู้สึกอัศจรรย์ใจมากขึ้น ทำไมรูปคดีถึงสอดคล้อง มีความซ้ำซ้อน อย่างคดีฆาตกรรมที่คนลงมือ ดูเป็นคนดี ๆ ไม่น่าฆ่าใครเลย เราก็รู้สึก เอ๊ะ…ทำไมล่ะ ทำไมคนรักกันทำไมถึงทำอย่างนี้ แค่วูบเดียวก็เกิดเหตุ อย่างที่เราพูดกันว่า ‘ไม่รู้อะไรเข้าสิง’ อย่างนั้นหรือ?

เราก็จินตนาการเรื่องขึ้นมา ตั้งใจให้หนังออกมาดูสมจริงมาก ๆ เป็นเรื่องราวของนักข่าวไปทำสกู๊ปเจาะลึก ไปพบเห็นเรื่องราวอย่างที่เราเห็น สืบสวนเรื่องราวอย่างที่เราทำ จะไปขอสัมภาษณ์เขาก็ไม่ให้ ถ้าอย่างนั้นไปบ้านเขาดีกว่า ไปดูพยานแวดล้อม ถ่ายทอดความรู้สึกเหมือนเราเห็นเหมือนเราอยู่ในเหตุการณ์ ถามว่า รู้สึกพิเศษอะไรกับเรื่องนี้ โดยส่วนตัว ผมเป็นคนไม่ใช้อารมณ์ เรามีความสงสัยประเด็นนี้ตลอดเวลา ทำไมคนถึงทำร้ายคนที่ตัวเองรักได้ขนาดนี้ เรามีความรู้สึกอยากพูดเรื่องนี้มากเลย อยากหาคำตอบให้คำถามนี้ ‘ทำไมคนที่รักกัน ถึงทำร้ายกัน’ ทุกคู่ไม่ได้ตายเพราะไม่รักกันนะ แต่เขารักกันมากเกินไป

มนุษย์เราทุกคนรู้หมดว่า อะไรถูกอะไรผิด แต่อะไรบังตาทำให้รู้ช้า ลงมือทำไปแล้วถึงได้รู้ตัว อะไรล่ะที่บังตา….ใช่ความรักหรืออะไร ? ความรู้สึกพิเศษอีกประเด็น คือ ผมรู้สึกว่า เหมือนมีบางอย่างกำหนดไว้แล้วให้เราต้องทำหนังเรื่องนี้ เหมือนเรื่องนี้รอให้เรามาบอกกล่าว ทำหนังเรื่องนี้ เรารู้สึกมันมีหลายอย่างแปลก ๆ เราสร้างบทขึ้นมาโดยแรงบันดาลใจจากคดีดัง แต่พอถ่ายทำไป บางขณะเราก็สงสัยเหมือนกันนะ ว่าเรื่องนี้เป็นแค่จินตนาการ หรือ สถานที่นี้จะมีอยู่จริง ๆ ก็ได้”

ประวัติและผลงานผู้กำกับภาพยนตร์ อ๊อฟ – มณฑล อารยางกูร

การศึกษา ปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ ภาควิชาศิลปการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติการทำงาน ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, ผู้กำกับมิวสิควีดีโอ

– 2550 ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลยุทธ์การตลาด สายงานภาพยนตร์ บมจ. อาร์เอส

– 2545 กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.โอ.วี (พอยท์ ออฟ วิว) จำกัด บริษัทในเครือของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

– 2540 ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น (1992) จำกัด

– 2535 เริ่มเข้าทำงานที่ บริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น 1992 จำกัด

ผลงานกำกับภาพยนตร์ – พ.ศ. 2550 ภาพยนตร์ “บ้านผีสิงพ.ศ. 2549 ภาพยนตร์, (2550), ผีคนเป็น (2549), พ.ศ. 2547 ภาพยนตร์ปักษาวายุ (2547)

 

ต่างคดี ต่างเวลา แต่..สถานที่เกิดเหตุ ?

…เพราะ “บ้าน” เป็นหัวใจหลัก “บ้านผีสิง” จึงให้ความสำคัญกับสถานที่ถ่ายทำหลัก ที่ต้องเปลี่ยนแปลงถึง 3 ยุค 3 สมัย ทีมงานเสาะหาโลเคชั่น ต้องออกค้นหาบ้าน ที่ให้ใกล้เคียงที่สุดกับความตั้งใจของผู้กำกับฯ จนในที่สุดก็พบ บ้านไม้ ทรงโบราณ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบ้านข้าราชบริพารเก่าแก่นับ 100 ปี ซึ่งใกล้เคียงตรงตามต้องการของ อ๊อฟ-มณฑล ผู้กำกับฯ

“เพราะ ‘บ้าน’ เป็นสถานที่ศูนย์รวมของเรื่องราว เราจึงให้ความสำคัญ ต้องหาบ้านที่ใช้ถ่ายทำให้ได้อย่างที่ต้องการ แล้วเราก็เจอที่ฉะเชิงเทรา เป็นบ้านที่ดูเก่า เหมือนจริงและดูมีชีวิต มองเข้าไปเหมือนมีตา มีปาก มีแถบไม้เรียง ๆ เหมือนปาก เราไม่ได้ปรับอะไรมาก ดัดแปลงต่อเติมภายใน ห้องน้ำกับห้องพระตรงกัน และเวลาถ่ายทำเราต้องไล่เปลี่ยนเซ็ต 3 ยุค 3 สมัย เป็นบ้านที่ให้ความรู้สึกถึงความพลุกพล่านของอารมณ์ที่ซ่อนอยู่ จะเรียกผี เรียกพลัง เรียกอารมณ์ หรือเรียกอะไรก็แล้วแต่ นอกจากโลเคชั่นบ้านแล้ว เราภูมิใจการคัดเลือกนักแสดงมาก ภูมิใจทีมนักแสดงทุกคนเป็นนักแสดงที่ใครเห็นก็ยอมรับว่า ใช่เลย และในระหว่างถ่ายทำ เราขออะไรไป ให้มาเกินทุกครั้ง” มณฑล อารยางกูร ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวถึงความสามารถนักแสดง

…หันมาถามความรู้สึกนางเอกเจ้าแม่หนังผี “ทราย-อินทิรา เจริญปุระ” ที่มารับบท ชาลินี นักข่าวสาวที่เอาตัวเข้าไปพัวพันความสะพรึงกลัวแท้ ๆ

“ถ้าไม่ใช่เรื่องที่น่าสนุกจริง ๆ ทรายจะขี้เกียจเล่นเรื่องผีแล้ว แต่ ‘บ้านผีสิง’ ทรายฟังเรื่องบ้าน ฟังเรื่องคดีฆาตกรรม 3 คดี เรื่องน่าสนุก พออ่านบท เรารู้สึก ฉันเข้าใจความรู้สึกนี้ได้ ถ้าเป็นฉันก็ทำอย่างงี้ ด้วยนิสัยของทรายกับตัวชาลินี คิดแทนกันเลย ก็ยิ่งรู้สึกน่าเล่น เมื่อก่อน ทรายอ่านข่าวพิศวาสฆาตกรรม ก็รู้สึก ทำไมคนเราฆ่ากันได้อย่างไร แต่พอมารับบทชาลินี เริ่มเข้าใจว่า ทำไมคนดี ๆ ถึงได้ฆ่าคนได้ และที่เราคิดว่า เรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นกับเราหรอก ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ วันหนึ่งทรายก็อาจจะฆ่าคนก็ได้

พูดง่าย ๆ ทรายเชื่อว่า ไม่มีผู้หญิงคนไหนหรอกคิดว่า เราจะเป็นแฟนกับคนที่มีแฟนแล้ว คิดว่า ฉันอยากเป็นเมียน้อย แต่เรื่องแบบนี้ มันมีให้เห็นอยู่ทุกวัน ไม่มีใครคิดหรอก แต่วันหนึ่ง คนเรามันเป็นไปแล้ว แค่นี้เราก็เปลี่ยนจากสิ่งที่เราคิดว่า ตัวเองควรเป็นไปแล้ว พอเริ่มเปลี่ยนอย่างหนึ่ง ก็ต้องเปลี่ยนไปได้อีก จนวันหนึ่งเราก็กลายเป็นคนอีกคนหนึ่งไปเลย วันหนึ่งเราอาจจะขึ้นหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์ไปตบกับคน ทรายว่า ความน่ากลัวของ ‘บ้านผีสิง’ มันอยู่ที่ตรงนี้ คือ ตัวเราเอง วันหนึ่งก็อาจจะเป็นอย่างฆาตกรในข่าวได้ เราอาจจะขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เองได้”

 

ตัวละคร

ชาลินี (ทราย-อินทิรา เจริญปุระ) – นักข่าวผู้หญิงทำงาน บุคลิก ผู้หญิงสมัยใหม่ มุ่งมั่นทำงาน มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง แม้จะรักบ้านรักครอบครัว แต่ด้วยความมุ่งมั่นทำงานของชาลินี ทำให้ลืมคนในครอบครัวตัวเองไปบ้าง

…นักแสดงหญิงยอดฝีมือแห่งยุค ทำงานกับผู้กำกับชั้นนำ นนทรีย์ นิมิบุตร, ท่านมุ้ย มจ. ชาตรีเฉลิม ยุคล ทรายได้รับฉายาว่า “เจ้าแม่หนังผี” จากการแสดงภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” ที่สร้างรายได้อย่างถล่มทลาย ทำให้เธอได้รับฉายาว่า “นางเอกร้อยล้าน”

…แต่ “บ้านผีสิง” ไม่ใช่งานตอกย้ำภาพเดิม ๆ ของทราย หากแต่เป็นงานที่ทรายได้ก้าวสู่มุมมองใหม่ของหนังสยองขวัญ ที่มาคู่กับเรื่องราวในจิตใจมนุษย์

“บ้านผีสิง น่าสนใจสำหรับทราย ตรงที่หนังเล่าถึง สิ่งที่ทุกวันนี้ไม่มีใครพูดกันแล้ว ทรายถึงอยากเล่นมาก เพราะมันพูดเรื่องทำไมคนรักกันถึงได้ทำร้ายกัน อะไรทำให้คนเราไปถึงขั้นนั้นได้ ทรายว่า มันน่าสนใจมาก เมื่อก่อน ทรายก็สงสัย ข่าวพิศวาสฆาตกรรม พิษรักแรงหึง ทำไมไม่คุยกัน เรื่องแค่นี้เอง ทำไมต้องฆ่ากัน ไม่น่าจะมาฆ่ากันด้วยเรื่องพิษรักแรงหึงเลย ไม่รักกันแล้วก็เลิกกับเขาไป ก็ไปรักคนอื่นซิ ทำไมต้องฆ่ากัน บางคนฆ่ายกครอบครัวเลย แต่พอเรามาเจอเรื่องราว มาสวมบท ชาลินี ณ ตรงนั้น คนเราบางทีก็ไม่ได้คิดอย่างนี้ มันคิดไปได้ต่างกัน จนบางคนอาจจะมองเหมือนโดนผีสิง แต่ทรายว่าไม่ใช่ ใครจะมองว่า ‘บ้านผีสิง’ เป็นหนังผี หนังสยองขวัญ แต่ทรายกลับรู้สึกพิเศษกับหนังเรื่องว่า เป็นหนังผู้หญิงมาก ๆ มันเป็นหนังที่มีเหตุผลแบบผู้หญิงมากเลย ผู้ชายดูแล้วอาจจะไม่เข้าใจ ผู้หญิงทุกคนดูแล้วน่าจะเข้าใจ รู้สึกอะไรบางอย่างเหมือนอย่างทรายที่เล่นแล้วเข้าใจทุกอย่าง หนังเรื่องนี้มันไม่เหมือนหนังเรื่องอื่นที่ทรายเคยเล่นเลย”

อินทิรา เจริญปุระ (ทราย) เกิด 23 ธันวาคม 2523 / การศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะนิเทศศาสตร์ เอกโฆษณา

ผลงานแรก : ละคร เรื่อง ล่า อายุ 13 ปี / ผลงานปัจจุบัน : นักแสดง, นักเขียน, นักร้อง, พิธีกร

ผลงานเขียนหนังสือ : ในรอยทราย, ปราสาททราย, ไม่เหมือนแม่, จดหมายที่ไม่ได้ส่ง และ คอลัมน์ “รักคนอ่าน” มติชน สุดสัปดาห์

ผลงานภาพยนตร์ พ.ศ. 2542 – นางนาก, Brokedown Palace /2544 – A Fighter’s Blue / 2546 – เฮี้ยน / 2547 – Six หกตายท้าตาย / 2550 – ตำนานสมเด็จพระนเรศวร, บ้านผีสิง

 

ภาณุ (เอก – ชมะนันทน์ วรรณวินเวศร์) – สามีของชาลินี อาชีพทนายความ หล่อ เนี้ยบ หน้าที่การงานดี ครบสูตรชายในฝันของผู้หญิง เป็นแฟมิลี่แมน ตั้งใจทุ่มเทสร้างครอบครัว อยากให้บ้านมีความสมบูรณ์ ยามที่ความคิดเลวร้ายครอบงำ ภาณุก็กระโดดข้ามตรรกะ ไปคิดในทางเลวร้าย ได้สุดโต่ง

…ผู้ประกาศข่าว และพรีเซนเตอร์ โฆษณาที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาหลายชิ้น เอก ชมะนันทน์ ยังเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ – มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และทำงานทนายความ เพียบพร้อมไปหมดทั้งภาพลักษณ์ และบุคลิกดูดี เพียบพร้อมอย่างไม่น่ามีอยู่จริง เช่นเดียวกับ ภาณุ สามีที่รักความสมบูรณ์แบ…บของชาลินี “เอก ชมะนันทน์” จึงเป็นตัวเลือกที่ลงตัวกับบทบาท ภาณุ เป็นที่สุด

“แปลกมากว่า ‘บ้านผีสิง‘ เป็นหนังเรื่องที่ 6 แล้วที่ชวนผมมาเล่น แต่เรื่องนี้ ผมสนใจตั้งแต่อ่านบทแล้วว่า เล่าเรื่องผ่านตัวบ้านที่มีทั้งเรื่องราวความรัก ความน่ากลัว ในความสวยงามของความรัก มีเรื่องคดีฆาตกรรม ด้านมืดในจิตใจของคนเรา ตัวภาณุเองก็มีส่วนคล้ายผม เป็นคนดีรักแฟน ก็เหมือนผม แต่ภาณุขี้หึง ตัวจริงผมเป็นคนน่ารัก จุดที่ยากที่สุดในการเล่นหนังเรื่องนี้คือ การใช้อารมณ์ใช้กำลังกับผู้หญิง ผมต้องดึงทุกอย่างในชีวิตที่เป็นสีดำหรือด้านมืดออกมาเพราะบทนี้เหมือนคนโดนอาถรรพ์ครอบงำ พยายามนึกถึงสีดำด้านมืดในจิตใจแล้วเล่นออกมาต้องใช้แววตา สีหน้า การเอียงคอ ท่าทาางรังสีออกจากตัว ก่อนเล่นผมต้องรวบรวมสมาธิและทุกอย่างในชีวิตที่เป็นสีดำ รวมเป็นพลังด้านลบที่ต้องแสดงบทนี้ให้ได้ มันแย่มาก ต้องเล่นจริง ยากมาก มันมีชะงักด้วยนะมีเงื้อมือแล้วได้สติ มีสงสารจะขอโทษด้วย มันมีภาพหลอนของชาลินีอีกแล้วมาเปลี่ยนเป็นสีหน้ายิ้มชักปืนผมขอโทษ จุดมันยากที่ต้องตัดอารมณ์ออกเป็นอารมณ์กลับไปกลับมา

ผมชอบบทภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป ไม่ใช่เป็นคนไม่ดี แต่มันมีเหตุทำให้เป็นคนไม่ดีเพราะความรัก เพราะครอบครัว สิ่งที่ผมสนใจคือ นาทีหนึ่งเป็นคนดี๊ดี อีกนาทีหนึ่งดูเป็นคนชั่ว บทมันท้าทายตรงนี้ การตัดสลับคาแร็คเตอร์ช่วงนาทีเดียว อีกเหตุผลที่ผมรับเล่นเรื่องนี้ก็เพราะทราย ผมเป็นแฟนหนังของทราย ทรายเล่นหนังคุณภาพทำให้ผมอยากร่วมงานกับนางเอกคนนี้”

ชมะนันทน์ วรรณวินเวศน์ ( เอก ) / เกิด 28 กรกฎาคม 2521 / ส่วนสูง 182 เซนติเมตร น้ำหนัก 76 กิโลกรัม / การศึกษา นิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

ผลงาน อดีตผู้ประกาศข่าวชาย – โมเดิร์นไนน์ ช่อง 9 / พิธีกร / อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

งานอดิเรก ขี่มอเตอร์ไซค์ทางเรียบแข่งขันเพื่อการกุศล / ของสะสม โปสการ์ด

รางวัล ผู้ประกาศข่าวชายผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นแห่งปี (วันภาษาไทยแห่งชาติ ) ประจำปี 2548 , เปรียว อวอร์ด (Male Best Communication) ประจำปี 2549

 

หมอเฉลิม (คมสัน นันทจิต) – นักศึกษาแพทย์ มันสมองระดับอัจฉริยะ เรียนเก่ง สอบอะไรก็ติด คลั่งไคล้นิยายฆาตกรรมสืบสวน พอมีความรักก็ทุ่มเทให้หมด เมื่อหญิงคนรักกำลังจะตีจากไป มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าเกินกว่าเหตุผลจะยับยั้งอารมณ์ไว้ได้ เป็นเหตุให้เกิดเป็นคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ

…เหมือนถูกกำหนดให้มารับบทฆาตกรโรคจิต เพราะผู้ชายชื่อ คมสัน นันทจิต มักถูกชวนให้รับบทฆาตกรโรคจิตอยู่เป็นประจำ จนเจ้าตัวไม่อยากเล่นแล้ว แต่ในเรื่อง “บ้านผีสิง” มีอะไรที่มากกว่านั้น คมสัน ยอมรับว่าประสบการณ์งานแสดงเรื่องนี้ไม่ธรรมดา ทั้งความรู้สึกจริงในขณะที่รับบทบาทนี้ ประจวบกับมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เขาคิดว่า ตัวเองถูกกำหนดมาให้เล่นบทนี้ โดยเฉพาะ

“ตอนแรกที่รับบทนี้ ผมเตรียมใจก่อนเลย ไปไหว้พระทำบังสุกุลก่อนเลย บทนี้เราตีความตัวละครว่า เป็นฆาตกรที่เลยเส้นของมนุษย์รับผิดชอบชั่วดีไปแล้ว ไม่กลับมาแล้ว ประสบการณ์แสดงเป็นเขาต้องไม่ธรรมดาแน่ และระหว่างที่ถ่ายทำ ผมรู้สึกจริงมากกับหนังเรื่องนี้ หลายฉากที่พอสั่งคัท เรารู้สึกว่า ตัวเองทำอะไรลงไปนี่ ผมมีทฤษฎีว่า คนในโลกเรา คนที่หน้าตาเหมือนกัน มันจะมีอะไรบางอย่างที่เหมือนหรือคล้ายคน ๆ นั้น อย่างเคยเจอคนหน้าตาเหมือนเพื่อนเรา คนนั้นก็จะมีความเหมือนเพื่อนเราอยู่ด้วย พอมีคนมาชวนเล่นบทฆาตกร หรือ คนโรคจิตบ่อย ๆ เราก็สันนิษฐานว่า ตัวเราอาจจะเป็นแบบนั้นได้ เพียงแต่ผมไม่ได้ไปทำอะไรอย่างนั้น

ผมเชื่อว่า สถานที่กำหนดพฤติกรรมนะ แน่นอนอยู่แล้ว “บ้าน” มันเป็นปัจจัยที่ 1 “บ้าน” คือ ตัวเราไม่ต้องอะไรเลย คอนโด กล่อง ๆ 4 เหลี่ยมเหมือนกัน พอคนเข้าไปอยู่มันกลายเป็น 4 เหลี่ยมล้าน ๆ แบบที่ไม่เหมือนกัน ใครเข้าไปอยู่ก็มีชีวิตของเขาเข้าไป จะเห็นชีวิตใครเป็นอย่างไรให้ไปดูบ้าน สถานที่มันบอกชีวิตมนุษย์อยู่แล้ว ผมเรียนสถาปัตยกรรม แต่สถาปัตย์ ฯ ไม่ได้สอนเรื่องนี้ เขาสอนเรื่องลม แรง ทิศทาง แต่คำอธิบายทางไสยศาสตร์ จริง ๆ ผมว่า มันคือ อาถรรพ์ ผมเชื่อว่า มีจริง จะเรียกว่า อะไรไม่รู้ จะเรียกผี เรียกพลังงาน เรียกอาถรรพ์ อะไรก็แล้วแต่ แต่ผมเชื่อว่า มี”

คมสัน นันทจิต ( คมสัน ) รับบท หมอเฉลิม

ประวัติการทำงาน : สถาปนิก นักเขียน พิธีกร รับงานแสดงเป็นครั้งคราว / การศึกษา : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลงานภาพยนตร์ : รักออกแบบไม่ได้ (2541), เมล์นรก หมวยยกล้อ (2550), บ้านผีสิง (2550)

รางวัล : นักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม จากสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติประจำปี 2541 จากภาพยนตร์ “รักออกแบบไม่ได้”

 

คุณนวล ฌัชชา รุจินานนท์ (หญิง) -นางพยาบาลสาวสวย บุคลิกอ่อนหวานนุ่มนวล คบหากับคุณหมออาทิตย์ จนถึงขั้นจดทะเบียนสมรส แต่กลับไม่ได้รับผลตอบแทนดังที่ใจหวัง คุณหมอกำลังจะตีจาก เมื่อความรักแปรเปลี่ยนกลับกลายเป็นความรุนแรงที่นำมาสู่บทสรุปที่สุดสะพรึงกลัว อย่างที่ หญิง – ฌัชชา เรียกว่า เป็นความทรมานสูงสุดที่ไม่ควรมีผู้หญิงคนไหนเจอะเจอ

…นางเอกเจ้าบทบาทที่ห่างหายจากจอภาพยนตร์ไปนาน นับตั้งแต่ The Eye – คนเห็นผี” หญิง ฌัชชา ห่างหายไปเรียนปริญญาโท ถึงเมืองอเมริกา กลับมาคืนแผ่นฟิล์มหนนี้ หญิงพลิกบทบาทครั้งสำคัญในบท คุณนวล นางพยาบาลสาวที่ชีวิตสวยงาม สมบูรณ์พร้อม แต่เพราะความรัก ชีวิตเธอกลับจบลงด้วยคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ

“บทน่าสนใจมาก ๆ รับบทเป็นคนที่เคยมีชีวิตจริงก็ว่ายากแล้ว แต่นี่เป็นคนตายไปแล้ว แสดงเป็นผียากแล้ว ผีแตกต่างจากคนอย่างไร มาแบบไหน เดินแบบไหน ในตอนแรกหญิงเริ่มจากความไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้หญิงคนหนึ่งต้องยอม ต้องรักมากขนาดนี้ แต่พอได้ศึกษา ถ่ายทำ ๆ มาเรื่อย ๆ ก็เข้าใจมากขึ้น

การเตรียมตัวนอกจากเรื่องบทบาทแล้ว หญิงได้ไปไหว้ที่สะพานนวลฉวี มีศาลอยู่ตรงเชิงสะพาน ถ้าจะถูกหลอกก็คงเป็นโดนหลอกให้มาเล่นหนังคะ เพราะหญิงกลัวผีมาก หญิงไม่ดูหนังผีด้วยซ้ำ แล้วทุกครั้งที่มีการถ่ายทำคือ ต้องไหว้ขอคุณนวลฉวีก่อน เรารู้สึกว่า เราอยากถ่ายทอดออกมาให้ดี ให้คนเห็นอีกมุมหนึ่งของเขา

พอเปิดกล้องถ่ายไปได้คิวที่ 2 หญิงเริ่มกังวล รู้สึกยาก ไม่สบายใจเลย กลัวถ่ายทอดอารมณ์ออกมาไม่ดี แต่มีหมอดูบอกว่าไม่ต้องกังวล เวลาที่ต้องเข้าซีน ไม่ต้องห่วงว่าจะเล่นไม่ได้ เขาจะมาเล่นให้ นี่พูดยังขนลุกเลยค่ะ”

ฌัชฌา รุจินานนท์ (หญิง) เกิด : 2 กันยายน 2522 / น้ำหนัก 45 กก. ส่วนสูง 164 ซม.

การศึกษา : ปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร / ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ การตลาด จาก Dominican University

ผลงานชิ้นแรก : ถ่ายภาพนิ่งโฆษณาธนาคารไทยพาณิชย์

ผลงานสร้างชื่อ : มิวสิควีดีโอ เพลง “ไม่รักก็บ้าแล้ว” ของ มอส – ปฎิภาณ/ ละครเรื่อง “ไม้อ่อน”

งานอดิเรก : ปักครอสติส, ร้อยสร้อย, ว่ายน้ำ, ดำน้ำ, ทำขนมเบเกอรี่ / สีโปรด : ชมพู ชุดโปรด : กางเกงเล เสื้อกล้าม รองเท้าฟองน้ำ

หนังสือเล่มโปรด : ทุกเล่มของ โน้ส – อุดม แต้พานิช / ความใฝ่ฝันในอนาคต : อยากมีร้านขนมปังและเบเกอรี่เป็นของตัวเอง

ผลงานภาพยนตร์

2537 – บันทึกจากลูกผู้ชาย / 2538 – ขอเก็บหัวใจเธอไว้คนเดียว, สติแตก..สุดขั้วโลก, อุแว้…สวรรค์มหัศจรรย์ข้ามโลก / 2540 – 18 ฝนคนอันตราย / 2543 – อั้งยี่ ลูกผู้ชายพันธุ์มังกร

2545 – The Eyes – คนเห็นผี / 2550 – บ้านผีสิง, เพื่อน…กูรักมึงว่ะ

 

หมออุทิศ (คงเดช จาตุรันต์รัศมี) – คุณหมออนาคตไกล มีโอกาสได้รับทุนไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ แต่ติดว่าจดทะเบียนสมรสกับคุณนวล นางพยาบาล เกิดปัญหารักซ้ำซ้อน ทำให้หมออุทิศตัดสินใจก่อคดีสะเทือนขวัญที่เป็นตำนานเล่าขานจนทุกวันนี้

…ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียนบทมือรางวัล คือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อ คงเดช จาตุรันต์รัศมี แต่ คงเดช ถูกเจาะจงให้มาแสดงบท หมออุทิศโดยเฉพาะ เพราะบุคลิก หน้าตา ตรงตามที่ผู้กำกับฯ สรรหาเป๊ะ ๆ ชนิดที่เห็นหน้าแล้วต้องรับแสดงโดยไม่มีเงื่อนไข

“พี่อ๊อฟ – ผู้กำกับฯ ชวนมาเล่น ตอนแรกก็งง แกให้ไปหาออฟฟิศ พี่อ๊อฟบอกว่า ฉันน่ะ หาอยู่ตั้งนาน ต้องการนักแสดงหน้าตาอย่างนี้ ผมก็ปฏิเสธไม่ได้แล้ว ด้วยความที่ผมพักจากถ่ายหนังมาพักหนึ่งด้วย ก็ไปฟื้นฟูรำลึกบรรยากาศกองถ่ายเล่นหนังเขาก็จะได้อารมณ์นั้นด้วย

เวลาผมอ่านข่าวพิศวาสฆาตกรรมชู้สาวทำนองนี้ ผมรู้สึกดราม่ากับข่าวพวกนี้มาก คนรักกัน แต่ทำไมต้องลงเอยด้วยการฆ่ากัน เป็นความรักที่รุนแรง เสียใจก็รุนแรง ความไม่พอดีกันของแต่ละคน พอฟังเรื่อง บ้านผีสิง ก็เลยรู้สึกดีที่พี่อ๊อฟเขาทำในแง่มุมนี้ ทำไมคนรักกันถึงได้ทำร้ายกัน คนในข่าวเขาก็คนดี ๆ อย่างเรา ๆ นี่หละครับ”

คงเดช จาตุรันต์รัศมี – การศึกษา ปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง

ผลงาน เคยเป็นครู, เคยทำมิวสิควิดีโอ, ทำหนังสั้น, เป็นก็อปปี้ไรเตอร์, อ่านสปอตโฆษณา, ทำเพลง เป็น นักร้องนำวง 4 เต่าเธอ เพลง ใจสยิว ประกอบภาพยนตร์เรื่อง สยิว, ทำโฆษณา, เพลงประกอบภาพยนตร์ , เคยทำร้านอาหารด้วย ในที่สุดก็มาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เรื่อง “สยิว” ร่วมกับ เกียรติ ศงสนันทน์ เป็นเรื่องแรก

ผลงานกำกับ 2546-สยิว / 2548-เฉิ่ม

ผลงานเขียนบท 2550 Me Myself / 2549 หนูหิ่น เดอะมูฟวี่ / 2548 ต้มยำกุ้ง, เฉิ่ม / 2547-เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก / 2546 – สยิว

รางวัล ผู้กำกับยอดเยี่ยม ชมรมวิจารณ์บันเทิง “เฉิ่ม” ปี พ.ศ. 2549 / บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม “เฉิ่ม” ปี พ.ศ. 2549

ผลงานการแสดง พ.ศ. 2550 บ้านผีสิง

 

เชน (ณัฐวัฒน์ เปล่งศิริวัธน์) -โปรดิวเซอร์รายการ “รื้ออดีต” เพื่อนร่วมงานของชาลินี หน้าตาดี คอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ สนิทสนม ดูดีไปหมด จนน่าสงสัยว่า คิดอย่างไรกับชาลินี

…นักแสดงหนุ่มที่คุ้นหน้ากันจากละครโทรทัศน์ “บ้านผีสิง” เป็นภาพยนตร์จอใหญ่เรื่องแรก ประชันบทกับ ทราย เจริญปุระ เต็ม ๆ ทั้งเรื่อง

“บทนี้คล้าย ๆ ตัวเอง ชื่อเล่นก็ชื่อเชนเหมือนกัน เชนดูเป็นผู้ชายแบบใคร ๆ ก็ชอบ เป็นผู้ชายที่รู้ว่า ผู้หญิงต้องการอะไร ประมาณเชนก็เอาใจใส่ เอาใจช่วยเขาอยู่ตลอดเวลา ก็คล้าย ๆ ตัวเองนะครับ เป็นคนสบาย ๆ ไม่เรื่องมาก เหมือนไม่เอาใจ แต่คอยช่วยอยู่ข้าง ๆ ตลอดเวลา ดูดีไม่น่าเชื่อนะครับว่า ผู้ชายดี ๆ น่ารักแบบนี้จะมีอยู่จริง”

ณัฐวัฒน์ เปล่งศิริวัธน์ (เชน) / การศึกษา ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คณะบริหารธุรกิจ

ส่วนสูง 180 ซม. / น้ำหนัก 70 กก. / งานอดิเรก เล่นกีฬา / ของสะสม กางเกงยีนส์ โมเดล รถเต่า

ผลงานสร้างชื่อ ละคร ทะเลสาบสีเลือด, อภิมหึมามหาเศรษฐี, โฆษณา

ผลงานภาพยนตร์ ปี 2550 บ้านผีสิง

 

หมอวสันต์ (วรพจน์ นิ่มวิจิตร) -อาจารย์หมอชื่อดัง ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมที่ครึกโครมเขย่าเมือง ชาลินีพยายามขอสัมภาษณ์ รวมทั้งไปถ่ายทำที่บ้านพักของหมอวสันต์ ก่อนที่เธอจะพบเบาะแสที่เชื่อมโยงไปถึงคดีอื่น ๆ

“ตอนแรกที่อ๊อฟชวนมาเล่น ถามว่าคุณวรพจน์เล่นหนังให้ผมไหม หลังจากนั้น อ๊อฟโทรมาบอก อยากให้เล่นหนังให้จริง ๆ ผมก็บอกเล่นก็ได้ หลังจากตกลงรับปากแล้ว จึงมาคุยกันที่อาวองว่า หนังเกี่ยวกับอะไร บทเป็นอย่างไร รู้หลังจากที่รับปากไปแล้ว

พล็อตเรื่องน่าสนใจ ในแง่ของความบังเอิญ มีเซอร์ไพร์สนิด ๆ ลึกลับซับซ้อนเหมือนที่ตัวหนังกำลังจะบอก อาจจะเกี่ยวกับตัวบ้านก็ได้ แต่มันก็มีมูลความน่าสนใจ

อ๊อฟเห็นบุคลิกตรงอย่างที่หนังต้องการ จากวันที่อ๊อฟชวนจนถึงวันถ่ายหนัง ระยะเวลาอาทิตย์หนึ่งพอดี ยอมรับว่าหนักใจเลย เพราะไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง และจะทำได้หรือเปล่า ยังตอบไม่ได้ ไม่เคยมีประสบการณ์การแสดงมาก่อน ผู้กำกับ ฯ บอกอะไรก็ทำตามที่เค้าคิดให้ได้ทุกอย่าง คือ บุคลิกใกล้เคียงอยู่แล้ว อย่างที่ผู้กำกับฯ อยากได้ ตรงกับที่ผู้กำกับฯ มองภาพคุณหมอตัวจริงไว้ ผมเป็นคนไม่กลัวเรื่องอาถรรพ์พวกนี้ แต่ในแง่สถานที่กำหนดพฤติกรรมก็เชื่อว่า เป็นไปได้”

วรพจน์ นิ่มวิจิตร อายุ 43 ปี / การศึกษา ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ

ประสบการณ์ ทำงาน

– Marketing officer /EMI (Thailand) Co.,Ltd (Oct’90-Feb’94)

– Marketing officer /Warner Music (Thailand) Co.,Ltd (Mar’94 – Jul’96)

– General manager /Bakery Music International Co.Ltd.( (Aug’96-jun’ 97)

– Country manager /Warner/Chappell Music (Thailand) Ltd. ( Sep’97- May’01)

– RS Digital senior director / RS PLC (Nov’01 – ปัจจุบัน)

 

ผุสรัตน์ (วิบูลย์ศิริ คงพูล) -ภรรยาหมอวสันต์ หายสาบสูญไปอย่างน่าสงสัยว่า อาจจะเสียชีวิตแล้ว

อายุ 44 ปี / การศึกษา ปริญญาโท ภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี / ผลงาน โฆษณาโทรศัพท์มือถือ, ภาพยนตร์โฆษณาไทยประกันชีวิต

“พี่เคยแสดงภาพยนตร์โฆษณามา 2 เรื่อง รู้สึกท้าทาย พอมาฟังเรื่องตัวละครนี้ก็มีจุดแว่บหนึ่งขึ้นมาว่า ตัวละครนี้มันสวนทางกับบุคลิกเรา พี่เป็นคนเย็น ๆ โรแมนติก แต่ว่าถ้าเราเป็นนักแสดงก็ควรจะแสดงได้ทุกบทบาทจึงตัดสินใจรับเล่น ถ้าทำได้ก็อยากลองดู บุคลิก ตอนแรกได้ฟังมาว่า เป็นคนขี้เหนียว ปากร้าย มีความรู้สึกว่า ถ้าเราแสดงเป็นคนไม่ดี มันก็ไม่ใช่เพราะไม่มีใครไม่ดีไปหมด ตัวเราก็ไม่ค่อยมั่นใจด้วย แต่ได้พบตัวเองว่า เราน่าจะทำได้ตามที่ พี่อ๊อฟ – ผู้กำกับ ขอมา ฉากนี้ต้องเป็นแบบนี้ ๆๆ เราต้องทำให้ได้

ฉากที่น่ากลัว ก็ฉากที่ต้องแสดงเป็นผี หันมาเห็นน้องทราย มาเจอพี่ด้วย แล้วก็ฉากที่ทำเสียง ห้ามไม่ให้น้องทราย เข้ามาในบ้าน ถ่ายหนังเรื่องนี้สนุกดี โลเคชั่นน่ากลัว มันเก่ามาก ๆ บรรยากาศให้อารมณ์วังเวง น่ากลัวมาก ถ่ายตอนกลางคืนด้วย ถึงถ่ายกลางวันก็น่ากลัวอยู่ดี เราไม่ทราบว่า อาถรรพ์ มีจริงไหม อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่ตัวพี่ตอนเด็กก็เคยเจออะไรด้วยตัวเอง นอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล แล้วรู้สึกว่า มีคนมายืนปลายเตียง ถามว่า ทำไมนอนบนเตียงกู พี่ก็เฉย ๆ เป็นคนไม่ค่อยจะอะไร พี่ก็ไม่ตกอกตกใจ พี่จะทำบุญ ใส่บาตรให้ตลอด ก็น่าจะเป็นไปได้ เรื่องนี้มันก็มองได้ 2 ด้าน หรือคนที่ไม่เคยเจอจะมองว่า เราเห็นอะไรก็ไม่รู้ แต่ไม่เจอจะดีกว่าค่ะ”

 

จามจุรี (หว้า-ณัฏฐกันย์ ทยุตาจารุวิชญ์) – แฟนสาวของหมอเฉลิม อ่อนหวาน ใจดี แต่เมื่อต้องการจะเลิกรากับหมอเฉลิม กลับกลายเป็นโศกนาฏกรรม เพราะหมอเฉลิมไม่ยินยอม และลงมือในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด

อายุ 24 ปี / การศึกษา สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรม วิชาเอกภาพยนตร์ / ผลงาน ภาพยนตร์โฆษณา แบรนด์

“เริ่มจากหวั่นใจนิดหน่อย กลัวก็ไหว้พระ ถ่ายทำเสร็จก็ไปทำสังฆทานเลย เตรียมตัวโดยอ่านคดีทั้งหมด เรียนแอ็คติ้ง มีครูมาช่วยสอนเรื่องการแสดง คาแรคเตอร์ว่าประมาณไหน จะเป็นคนน่ารักอ่อนหวาน ใจดี นิสัยดี นับถือศาสนาคริสต์ มีเมตตา แล้วก็ได้คุยกับพี่คมสัน ตั้งแต่ตอนเรียนแอ็คติ้ง พี่เขาจะเหมือนโรคจิตมาก เราเจอครั้งแรก เขาให้ถามคำถามกัน กวน ๆ ก็ได้ เราก็แบบอยากรู้จริง ๆ เราเพิ่งเคยเจอ ก็ถามพี่คมสันว่า ‘พี่เป็นโรคจิตเปล่าคะ’ พี่เขาบอก ‘ไม่ใช่’ แต่อาจจะพี่คมสันเหมือนมาก จนเราดู ๆ ก็กลัวแล้ว

ยิ่งตัวเรา แต่งตัว แต่งหน้าเสร็จเราก็ไม่กล้ามองกระจกเหมือนกัน รู้สึกกลัวตัวเอง เทคมากที่สุดก็ฉากที่ทะเลาะกับหมอเฉลิม แต่ไม่ใช่เทคเพราะแอ็คติ้ง แต่มีปัญหาเรื่องเสียง อัดเสียงไม่ได้เลย ฉากที่หนัก ๆ ก็เป็นฉากที่ต้องคลานอยู่ในเลือด ไถลไปกับพื้น ไปกับกองเลือด ได้แผลมานิดหน่อย เรื่องอาถรรพ์สถานที่ มันอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ตัวหล้าไม่เจออะไรน่ากลัว เพราะไม่เคยลบหลู่”

Share this article :

แสดงความคิดเห็น