Home » » พลเมืองจูหลิง

พลเมืองจูหลิง


ด้วยรักในชาติ ศาสน์ กษัตริย์

 เรื่องย่อ

จูหลิง ปงกันมูล หญิงสาวชาวพุทธจากเชียงราย ครูสอนศิลปะช่างฝัน ผู้เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ ความรักในแผ่นดินและเพื่อนมนุษย์ นอนจมกองเลือดท่ามกลางของเล่นที่ตกกระจายบนพื้นโรงเรียนอนุบาลประจำหมู่บ้านมุสลิมเล็กๆในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องโหดร้ายนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ วุฒิสมาชิกและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกเดินทางค้นหาคำตอบ ทั้งในภาคใต้ ในกรุงเทพ และขึ้นเหนือไปยังหมู่บ้านของพ่อแม่ครูจูหลิงที่เชียงราย ระหว่างทางเขาได้รับฟังความทุกข์จากคำเล่าของผู้สูญเสียทั้งที่เป็นชาวพุทธและชาวมุสลิม ซึ่งล้วนเป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น

ถึงแม้ว่าสิ่งที่ปรากฎนั้นเป็นเรื่องเศร้า และสารคดีเรื่องนี้ดูจะหาตอนจบที่สุขสันต์อย่างภาพยนตร์ที่สร้างมาจากนิยายไม่ได้ แต่จิตวิญญาณของคนไทยทุกคนใน “พลเมืองจูหลิง” ซึ่งสุดท้ายแล้วพร้อมเสมอที่จะให้อภัย คือความงดงามที่น่าพิศวง

“พลเมืองจูหลิง” ไม่ได้เป็นเพียงการสืบสวนเหตุการณ์ไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้เท่านั้น สารคดีไม่ธรรมดาเรื่องนี้ พาเราขึ้นเหนือล่องใต้ลงลึกเข้าไปในจิตวิญญาณของความเป็นไทย ซึ่งบางครั้ง อาจแปลกประหลาดเกินความคาดหมาย ตั้งแต่ฉากแรกที่ลานพระบรมรูปทรงม้า วันที่ 9 มิถุนายน 2549 ท่ามกลางพลเมืองที่จงรักภักดีและปลื้มปีติ ถึงฉากสุดท้าย ท่ามกลางฝูงชนที่กำลังเฉลิมฉลองรถถังและทหารที่ทำการรัฐประหาร 19 กันยายน โดยไม่ได้คาดหมาย การถ่ายทำ “พลเมืองจูหลิง” ได้กลายเป็นการบันทึกบรรยากาศของสี่เดือนสุดท้ายภายใต้รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เข้มข้นมากในอารมณ์และความรู้สึก

ความยาว: 222 นาที

ประวัติการฉาย

ปฐมทัศน์โลก: Toronto International Film Festival, 6 กันยายน 2551

ปฐมทัศน์ยุโรป: Berlin International Film Festival, กุมภาพันธ์ 2552

ปฐมทัศน์เอเชีย: Bangkok International Film Festival, กันยายน 2551

ฉายจำกัดโรงในไทย 12 สิงหาคมนี้ ที่โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอ แห่งเดียวเท่านั้น

เกี่ยวกับผู้กำกับ 1 – มานิต ศรีวานิชภูมิ

“1 ใน 100 ช่างภาพที่ดีที่สุดในโลก จากการคัดเลือกของสำนักพิมพ์ ไพดอน และ เจ้าของรางวัลกาชิกาวาจากประเทศญี่ปุ่น”

มานิต ศรีวานิชภูมิ เป็นทั้งศิลปินภาพถ่ายและนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ใช้งานถ่ายภาพและสื่อวีดิทัศน์ ในการสะท้อนความเป็นไปของการเมืองและสังคมไทย อย่างแสบสันต์และเฉียบคม

มานิตเป็นเจ้าของงานศิลปะภาพถ่ายชุด “PINK MAN” ซึ่งตั้งใจวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นกลางในสังคมแบบบริโภคนิยมในประเทศไทย เป็นตัวแทนของคนไทยในปัจจุบันที่ไม่แยแสต่อเหตุการณ์ความฉิบหายใดๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

ศิลปินผู้นี้เคยออกมาต่อต้านการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Beach รวมทั้งออกมาวิพากษ์แคมเปญ Amazing Thailand ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่า “เราพยายามรักษาประเทศไทย ด้วยการเอามันไปขายเสีย”

 

เกี่ยวกับผู้กำกับ 2 – อิ๋ง กาญจนะวณิชย์

สมานรัชฎ์ “อิ๋ง” กาญจนะวณิชย์ หรือ อิ๋ง เค (Ing K) เป็นนักเขียน นักเขียนบทภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ภาพยนตร์สารคดี และนักวิพากษ์เรื่องสิ่งแวดล้อม

สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เป็นบุตรของหม่อมราชวงศ์สมานสนิท สวัสดิวัตน์ กับศาสตราจารย์ ดร.รชฎ กาญจนะวณิชย์ วิศวกรอาวุโส อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมานรัชฎ์เป็นหลานตาของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ เสรีไทยสายอังกฤษ ศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนสาธิตจุฬา ไปศึกษาที่เวสต์แฮมตัน ประเทศอังกฤษตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น เมื่อ พ.ศ. 2516 และศึกษาต่อด้านจิตรกรรม ที่ West Surrey College of Art and Design เดินทางกลับประเทศไทย ทำงานเป็นอาสาสมัครของยูเอ็นช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่อรัญประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2522 จากนั้นไปทำงานเป็นนักข่าวเดอะเนชั่น เปิดบริษัทรับทำโฆษณา เขียนคอลัมน์ประจำในนิตยสารลลนาบันทึกการเดินทางท่องเที่ยว ในชื่อ “ข้างหลังโปสการ์ด” โดยใช้นามปากกา “หลานเสรีไทย”

งานเขียนในช่วงต่อมาของเธอ เริ่มวิพากษ์ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประกอบกับถูกปิดกั้น เธอจึงออกจากงานที่เนชั่น และสร้างภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรก เรื่อง “Thailand for Sales” (2534) ได้รับทุนจากสำนักข่าวบีบีซี โดยเธอเป็นผู้เขียนบท และบรรยาย กล่าวถึงผลกระทบจากธุรกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน และสิ่งแวดล้อม

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องที่สอง “Green Menace : The Untold Story of Golf” (2536) เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เธอเป็นผู้กำกับ และกำกับภาพ วิพากษ์ธุรกิจสนามกอล์ฟที่ กำลังบูมในขณะนั้น ว่ามีผลทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไร ภาพยนตร์ได้รับรางวัลภาพยนตร์สารคดีสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม Suffolk Film and Video Festival นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องถัดมา “Casino Cambodia” (2537) เป็นสารคดีวิพากษ์ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของอเมริกา ในประเทศกัมพูชาจากมุมมองของภาครัฐ

อิ๋ง กาญจนะวณิชย์ สร้างภาพยนตร์ ความยาว 2 ชั่วโมง ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 ม.ม. ในปี พ.ศ. 2539 เรื่อง “คนกราบหมา” (My Teacher Eats Biscuits) เป็นหนังตลกร้ายว่าด้วยลัทธิประหลาดที่ผู้คนพากันกราบไหว้หมา นำแสดงโดยกฤษดา สุโกศล และธาริณี เกรแฮม ภาพยนตร์มีกำหนดฉายในเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ ครั้งที่ 1 (Bangkok Film Festival) ปี พ.ศ. 2540 แต่ถูกขัดขวาง และภาพยนตร์ถูกระงับห้ามฉายในประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่าดูหมิ่นศาสนาพุทธ คนกราบหมา ได้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ ฮาวาย ลอสแอนเจลิส นิวยอร์ก

ในปี พ.ศ. 2542 ขณะที่กองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง The Beach เดินทางทางถ่ายทำที่หาดมาหยา จังหวัดกระบี่ เธอเป็นผู้หนึ่งที่เดินทางมาร่วมประท้วง การทำลายสภาพแวดล้อมในระหว่างถ่ายทำ ได้ถ่ายทำวิดีโอไว้เป็นหลักฐานเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ถูกข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่ และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

ปัจจุบันหันมาเป็นศิลปินวาดภาพ และเขียนหนังสือ ส่วนผลงานสารคดีเรื่องล่าสุดคือ “พลเมืองจูหลิง”

 ผลงาน

หนังสือ

– ช่างทำผมใจดี (2520)

– ข้างหลังโปสการ์ด (2527)

Protest / photogr (2546)

– นีโอ-ชาตินิยม : นิทรรศการศิลปการเมืองร่วมสมัย (2548)

ภาพยนตร์

Thailand for Sales (2534) เขียนบท

Green Menace : The Untold Story of Golf (2536) กำกับ, กำกับภาพ, เขียนบท

Casino Cambodia (2537) กำกับ, กำกับภาพ, เขียนบท

– คนกราบหมา – My Teacher Eats Biscuits (2540) กำกับ, กำกับภาพ, เขียนบท

พลเมืองจูหลิง (2551) ผลงานร่วมกับ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และมานิต ศรีวานิชภูมิ

Share this article :

แสดงความคิดเห็น