Home » » สลัดตาเดียวกับเด็ก 200 ตา

สลัดตาเดียวกับเด็ก 200 ตา

ว่ากันว่าวัยเยาว์คือจุดเริ่มต้นของจินตนาการอันไม่มีที่สิ้นสุด และที่พร้อมจะตื่นจากการหลับไหล เมื่อใดก็ตามที่ถูกจุดประกายขึ้น

ทันทีที่ได้ฟังเรื่องราวการผจญภัยในผืนทะเลอันกว้างไกลสุดขอบฟ้าของโจรสลัดตาเดียวแห่งอันดามันและพวกพ้องเพื่อออกตามค้นหาเกาะมหาสมบัติตามลายแทงปริศนาที่ได้รับสืบทอดมาจากต้นตระกูลโจรสลัด  กลุ่มเด็ก ๆ ทั้ง 9 คนซึ่งประกอบไปด้วย อุลตร้า(น้องฟลุท) เจ้าหนูจอมซนตัวจิ๋วที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่ม พี่สาวจอมแก่นอย่างปัด(น้องเกรซ ที่ซิ่งรถเอทีวีคันโตได้แจ๋วพอ ๆ กับการปั่นจักรยานวิบาก รวมไปถึงเหล่าสหายตัวน้อยที่ล้วนแต่อายุไม่เกิน12 ขวบเลยสักคนอย่าว่าแต่เจ้าหมูอ้วนออมสิน(น้องนนท์) ที่กินได้ทุกอย่างที่ขวางหน้า ฝาแฝดขี้เล่นอย่างพลับ(น้องอ้วน) แพรว (น้องโอริ) หรือจะเป็นฟลุ๊ค(น้องกัน) เด็กแว่นเจ้าแห่งไอเดีย, เจน (น้องลูกแก้ว) ลูกครึ่งไฮโซขาวีนประจำกลุ่ม รวมไปถึงไหม(ยีนส์) เด็กสาวชาวใต้ที่พูดไวยังกะปรอท และโจ้ น้องริฟฟ์) หนุ่มผิวเข้มจอมอึด ตัดสินใจเริ่มต้นการผจญภัยในรูปแบบของตนเองขึ้นด้วยการแอบลงเรือบดลำเล็ก ๆ ที่อยู่บนเรือสำราญที่แต่ละคนเดินทางมาฉลองคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่พร้อมครอบครัว ก่อนที่ทั้งเด็กและเรือจะถูกเกลียวคลื่นแห่งมหาสมุทรหอบซัดไปติดยังเกาะร้างที่ห่างไกลผู้คน โดยปราศจากทั้งอาวุธ เสบียง และ อุปกรณ์เครื่องมือช่วยชีวิตใดใด ทางเดียวที่จะเอาตัวรอดให้ได้บนเกาะแห่งนี้ก็คือ การที่ทุกคนต้องหันหน้ามาร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อเตรียมรับกับประสบการณ์การผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตอย่างที่รับรองว่ายังไม่เคยเกิดขึ้นกับเด็กคนไหนมาก่อน            

เมื่อกลุ่มคนที่เด็กต้องเผชิญหน้าคือ “สลัดตาเดียว (ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) และบรรดาพวกพ้องแห่งท้องทะเลอันดามัน” ซึ่งออกเดินทางล่องเรือเพื่อค้นขุมสมบัติตามลายแทงปริศนาที่ได้รับตกทอดมาจากปู่ทวดโจรสลัดแห่งอันดามันมายังเกาะแห่งนี้  เมื่อได้สัมผัสกับตัวตนจริง ๆ เด็ก ๆ กลับพบว่าเหล่าสลัดตาเดียวหาได้โหดร้ายอย่างที่คิดไม่ นอกจากจะใจดี แถมยังมีน้องสาวที่สวยและน่ารักอย่างพี่ดาว (นุ้ย เกศริน เอกธวัชกุล) ซึ่งเชี่ยวชาญการต่อสู้ทุกรูปแบบโดยไม่แพ้ผู้ชายตัวโต ๆ รับปากว่าจะพาเด็กๆทุกคนไปส่งคืนให้กับพ่อแม่ให้จงได้  แต่ในระหว่างที่ทั้งหมดกำลังล่องเรือโจรสลัดออยู่ในท้องทะเลอยู่นั้น กลับถูกซุ่มโจมตีโดยนิพนธ์(นิรุติ สาวสุดชาติ) หัวหน้ากลุ่มสลัดวายร้าย อดีตลูกน้องเก่าที่เคยหักหลังและแย่งชิงบุหงา (เอม เจษยา เวียงเกตุ) คนรักของสลัดตาเดียวไป ด้วยจำนวนคนและอาวุธที่น้อยกว่า ทำให้ข้าวของที่มีอยู่ในเรือทั้งหมดถูกยึดไป การเผชิญหน้ากับนิพนธ์ครั้งนี้ทำให้สลัดตาเดียวรู้ว่าอดีตคนรักของตนกำลังจะแต่งงานกับนิพนธ์

สลัดตาเดียวจึงตัดสินใจกอบกู้ศักดิ์ศรีในฐานะโจรสลัดตาเดียวแห่งท้องทะเลอันดามันขึ้นอีกครั้ง โดยผนึกกำลังร่วมกับบรรดาเด็ก ๆ ทั้ง 9 คน โดยเริ่มต้นจากการบุกถล่มเกาะสลัดวายร้ายเพื่อแย่งชิงอดีตคนรักกลับคืนมา และมุ่งหน้าสู่การเดินทางเพื่อค้นหา ถ้ำขุมทรัพย์ และเกาะมหาสมบัติของโจรสลัดในตำนาน พร้อมกับช่วยกันแก้ไขปริศนา ตามแผนที่ลายแทง    

แต่ดูเหมือนว่าทุกอย่างไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เมื่อทั้งหมดต้องเผชิญหน้ากับเหล่าสัตว์ยักษ์ในตำนานไม่ว่าจะเป็นเต่ายักษ์ ปูยักษ์ และปลาหมึกยักษ์ที่ไม่ยอมให้ใครรุกล้ำเข้ามาในอาณาเขตของถ้ำโจรสลัด เพื่อครอบครอบครองเหล่าขุมทรัพย์มหาสมบัติเป็นอันขาด

มาช่วยกันติดตามว่า สลัดตาเดียวจะสามารถค้นหาขุมทรัพย์ในตำนานได้หรือไม่ เหล่าเด็ก ๆ จะสามารถเอาตัวรอดกลับไปหาครอบครัวได้อย่างไร รวมไปถึงความลับบางอย่างที่ยังไม่มีใครรู้ แต่พร้อมที่จะรอการเปิดเผยและท้าพิสูจน์ในความมหัศจรรย์ที่จะเกิดขึ้นทุกโรงภาพยนตร์อย่างแน่นอน 6 มีนาคมนี้กับ ภาพยนตร์ผจญภัยแฟนตาซี “สลัดตาเดียวกับเด็ก200 ตา” 

นักแสดง:

ศรัณยู วงศ์กระจ่างกัปตันฤทธิ์ 
เกศริน เอกธวัชกุลดาว 
นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐปัด 

ใครเป็นใครใน “สลัดตาเดียวกับเด็ก200 ตา”              

กัปตันฤทธิ์ (สลัดตาเดียว) รับบทโดย ศรัณยู  วงษ์กระจ่าง ชายวัยกลางคนอายุ 45 ปี ลูกหลานโจรสลัดในตำนาน เป็นหัวหน้ากลุ่มโจรสลัดที่มีจิตใจดี ไม่รังแกคนที่อ่อนแอกว่าใช้ชีวิตอยู่ในท้องทะเลมานานนับ 10 ปี พร้อมพรรคพวกเพื่อเสาะหาขุมสมบัติตามตำนาน หลังจากถูกบุหงาคนรักทิ้งไปก็กลายเป็นโจรสลัดขี้เมา 

ดาว  รับบทโดย  เกศริน เอกธวัชกุล  (นุ้ย) – หญิงสาวอายุ 25 ปี น้องสาวของสลัดตาเดียว มีความสามารถทางการต่อสู้ คอยจัดการทุกอย่างให้พี่ชาย  แกร่ง ห้าว บู๊ สวยแบบธรรมชาติ ไม่เคยยอมใคร

กลุ่มเด็กทั้ง 9 คน

ปัด รับบทโดย ด.ญ. นวรัตน์  เตชะรัตนประเสริฐ  (น้องเกรซ) – สาวน้อยอายุ 11 ขวบ เป็นพี่สาวที่ต้องรับผิดชอบดูแลอุลตร้า น้องชายวัยกำลังซนแทนพ่อที่สนใจแต่การทำงาน ทำให้ปัดมีความคิดที่โตเกินวัยลึกๆแล้วชอบการผจญภัย มีความสามารถ       ในการขี่จักรยานและรถ ATV

อุลตร้า  รับบทโดย  ด.ช. รจนกร  อยู่หน้า  (น้องฟลุท) – น้องชายของปัด อายุ 6 ขวบ ตัวเล็ก กะทัดรัด หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู เป็นน้องเล็กสุดในกลุ่มผจญภัยครั้งนี้ ชอบซนตามประสาเด็ก มีจินตนาการกว้างไกล ขี้กลัวแต่ไม่ขี้ขลาด มีความอยากรู้อยากเห็น

ออมสิน  รับบทโดย  ด.ช. วัชรวิทย์  วิวัฒน์รัตน์  (น้องนนท์) – เด็กชายร่างท้วม ตัวกลม ตุ้ยนุ้ย สมชื่อ สิ่งเดียวที่ขาดไม่ได้ในชีวิตคือการกิน กินได้ในทุกสถานการณ์ ทะลึ่งทะเล้น ชอบผายลม เป็นคนมองโลกในแง่ดี

 เจน รับบทโดย ด.ญ. รักษิตา จีน เคสซีเนอร์  (น้องลูกแก้ว) – สาวเปรี้ยวไฮโซ อายุ 12 ปี ลูกครึ่ง ผิวขาว ผมยาว รักสวยรักงาม เอาแต่ใจตัวเอง ขี้หงุดหงิด ไม่ยอมคน เพราะถูกตามใจแต่เด็ก

พลับ รับบทโดย  ด.ญ. ชไมพร  โนมูร่า (น้องอ้วน) + แพรว  รับบทโดย  ด.ญ. สิรินทรา  โนมูร่า  (น้องโอริ) สองพี่น้องฝาแฝด อายุ 10 ขวบ ชอบอะไรเหมือน ๆ กัน เป็นเด็กช่างฝัน อารมณ์ดี คุยเก่ง เข้ากับคนง่าย ให้ทำอะไร ชอบเล่น ใครให้ทำอะไรทำได้หมด

ฟลุ๊ก รับบทโดย  ด.ช.อรรถพันธ์  พูลสวัสดิ์  (น้องกัน) เด็กชายอายุ 11 ขวบ โตในครอบครัวที่มีฐานะทางสังคม ตัวแทนของเด็กสังคมเมือง หน้าตาดี เป็นคนเดียวในกลุ่มที่ใส่แว่น ค่อนข้างไว้ตัว ชอบแสดงออกถึงความรอบรู้ และมองความคิดของเด็กวัยเดียวกันว่าไร้สาระ

โจ้  รับบทโดย  ด.ช. นิติพงษ์  ประดับสิริพรหม  (น้องริฟฟ์) – เด็กชาย อายุ 11 ขวบ เติบโตในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง เป็นเด็กที่พูดจาตรงไปตรงมา การที่ได้ล่องเรือพร้อมครอบครัวจากการชิงโชคถือว่าเป็นฝันที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก

ไหม  รับบทโดย  ด.ญ. คัทรินทร์  สนิทธิเวทย์  (น้องยีนส์) เด็กผู้หญิงอายุ 10 ขวบ ผิวคล้ำ ตากลม ไหมเป็นคนซื่อๆพูดสำเนียงใต้ พูดตรงตามประสาคนต่างจังหวัด นิสัยห้าว ๆ อยากแสดงออก และต้องการให้เพื่อนๆยอมรับความกล้าในตัวเธอ

บุหงา  รับบทโดย  เจษยา  เวียงเกตุ  (เอม) – หญิงสาวหน้าตาสะสวยอายุ 25 ปี  คนรักเก่าของกัปตันฤทธิ์ที่ละทิ้งความฝันในการร่วมเดินทางค้นหาขุมสมบัติตามตำนานของโจรสลัด หนีจากกัปตันฤทธิ์เพื่อไปอยู่กับนิพนธ์อดีตลูกน้องเก่าที่เคยหักหลังกัปตันฤทธิ์มาก่อน

นิพนธ์  รับบทโดย  นิรุติ  สาวสุดชาติ (รุติ) – ชายร่างใหญ่ สูงกำยำ อายุอานามราว ๆ 40 ปี อดีตลูกน้องและคู่ปรับคนสำคัญของกัปตันฤทธิ์ นิสัยขี้โกง นิยมความรุนแรง ชอบหักหลัง ไม่เพียงแย่งบุหงาคนรักของกัปตันฤทธิ์ แต่ยังคอยลักลอบและปล้นสินค้าของกัปตันฤทธิ์อยู่เสมอ

เปิดบันทึกงานสร้างแห่งการผจญภัยเหนือจินตนาการ กว่าจะมาเป็น “สลัดตาเดียวกับเด็ก 200 ตา”

เปิดบันทึกบทที่ 1: รื้อฟื้นวัยเยาว์ของ “ปื๊ดธนิตย์” ผสมผสานจินตนาการต่อยอดประสบการณ์การทำหนัง 23 เรื่องในรอบ 22 ปี สู่ภาพยนตร์ผจญภัยแฟนตาซีเต็มรูปแบบเรื่องแรกในชีวิตของผู้กำกับมือทอง

…เป็นที่ยอมรับกันว่าตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์ “ปื๊ด ธนิตย์ จิตนุกูล” เป็นทั้งผู้กำกับและโปรดิวเซอร์มือทองที่มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง มากถึง 23 เรื่องในรอบ 22ปี (ในฐานะผู้กำกับ 18 เรื่อง โดยเป็นเทเลพิคเจอร์ 1 เรื่อง) ผ่านงานกำกับมาแล้วทุกแนวทั้งตลก, ดราม่า, สยองขวัญ, โรแมนติก, แอ็คชั่น  ซึ่งล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บางระจัน” ภาพยนตร์แอ็คชั่นฟอร์มยักษ์ที่เขากำกับสามารถครองอันดับ 1 ภาพยนตร์ไทยที่กวาดรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย  ว่ากันว่าด้วยความสามารถเฉพาะตัวที่โดดเด่นในการรับมือกับภาพยนตร์ที่มีสเกลงานสร้างในระดับฟอร์มยักษ์ทำให้ชื่อของผู้กำกับปื๊ดธนิตย์เข้าไปมีส่วนสำคัญในภาพยนตร์อย่าง ขุนแผน , 102 ปิดกรุงเทพปล้น, กบฏท้าวศรีสุดาจัน ฯลฯ จนกระทั่งมาถึง “สลัดตาเดียวกับเด็ก 200ตา” ที่ว่ากันว่าเป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์ในแนวผจญภัยแฟนตาซีอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกในชีวิต โดยตั้งใจว่าจะทำหนังที่พ่อแม่สามารถจูงลูกจูงหลานมาดูด้วยกันได้

“ทำหนังเรื่องแรกตั้งแต่ปี 28 จนถึงวันนี้ จริงๆทำมาหมดแล้วทุกแนวทั้งแอ็คชั่น ตลก ความรัก มีผี มีผจญภัย ทำมาหมดแล้ว แต่มีอยู่แนวเดียวที่เรายังไม่เคยทำนั่นคือ หนังผจญภัยแฟนตาซีแบบเต็มรูปแบบที่มีกลุ่มคนดูชัดเจนว่าเราจะทำให้ดูได้ทั้งครอบครัว ทั้งเด็ก พ่อแม่ วัยรุ่น เป็นหนังใส ๆ ที่ว่าด้วยการผจญภัยที่มีตัวเอกเป็นเด็ก แต่ก็ยังขอมีการเติมจินตนาการเข้าไปให้เป็นการผจญภัยแบบสุด ๆไปเลย ด้วยการใส่สัตว์ที่มีขนาดใหญ่ยักษ์อย่าง เต่ายักษ์ ปูยักษ์ ปลาหมึกยักษ์ เป็นต้น ซึ่งมันก็เหมือนกับว่าในสมัยที่เราเป็นเด็กเอง เราก็เคยดูหนังจำพวกนี้ แต่เผอิญมันเป็นหนังฝรั่ง หนังญี่ปุ่นซึ่งมันก็คงเป็นอะไรที่ซ่อนอยู่ในตัวเราลึก ๆ ที่เรายังไม่มีโอกาสได้ทำมันออกมา ประสบการณ์ตอนแอบไปดูทีวีบ้านเพื่อนซึ่งเปิดแต่หนังพวกนี้อย่างหนังสัตว์ประหลาด หนังญี่ปุ่นอะไรที่มีเข้ามา หรือแม้แต่หนังกลางแปลงที่ฉายโดยบริษัทโอวัลตินที่เอาหนังเข้ามาฉายอย่างอภินิหารขนแกะทองคำ เราก็เห็นซี่โครงฟันดาบได้ (หนังของปรมาจารย์สต็อปโมชั่น RAY HARRYHAUSEN) ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจ ซึ่งมันคงฝังอยู่ในตัวเราโดยที่เราไม่รู้หรอก เพียงแต่เมื่อย้อนกลับไปดูหนังไทยในแนวทางนี้ที่ผ่านมาก็คงต้องบอกว่ามันยังมีน้อย จนถึงไม่มีเลย นั่นเป็นเพราะอาจจะด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ หรือเทคนิคที่จะมาตอบสนองจินตนาการเราได้ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมากในตอนที่ตัดสินใจจะหยิบเอาโปรเจ็คต์นี้ขึ้นมาทำ มันท้าทายเราในมุมที่ว่าด้วยบุคลิก คาแร็คเตอร์ ด้วยประสบการณ์ด้วยมุมมองการทำหนังของเราสามารถที่จะทำหนังผจญภัยของเด็กออกมาได้ไหม

…จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อ “เสี่ยเจียง” สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ หัวเรือใหญ่แห่งสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเชื่อมั่นในตัวผู้กำกับปื๊ดธนิตย์ที่ผ่านประสบการณ์ในการทำหนังมาทั้งชีวิตและผ่านงานกำกับภาพยนตร์ไทยฟอร์มยักษ์อย่าง บางระจัน, ขุนแผน, 102 ปิดกรุงเทพปล้น ฯลฯ มาแล้ว คงจะไม่เหนือบ่ากว่าแรงถ้าจะให้เขาเป็นผู้รับผิดชอบโปรเจ็คต์ภาพยนตร์ไทยผจญภัยแฟนตาซีเต็มรูปแบบสักเรื่องหนึ่ง

“วันหนึ่งเสี่ยก็ยื่นโอกาสมาให้เรา ว่าเออน่าสนใจนะ ถ้าจะมีหนังเกี่ยวกับเด็กสักเรื่องแล้วก็มีสัตว์ประหลาดตัวใหญ่ ๆ มันก็คงจะเป็นจุดที่ดึงดูดความสนใจได้ ซึ่งมองในแง่ของคนทำในตอนนั้นแล้ว เราเองก็ยังไม่เคยทำ และก็ดูจากเทคนิคและเงินที่เสี่ยให้มาแล้ว มันก็น่าจะเป็นไปได้ มันก็เลยเกิดเป็นคอนเซ็ปต์ของโปรเจ็คต์ ‘สลัดตาเดียวกับเด็ก200ตา’ ขึ้นมา หนังที่มีจุดประสงค์ชัดเจนคือเพื่อเน้นสร้างความบันเทิงอย่างเต็มที่ เรื่องราวการผจญภัยของเด็กๆกลุ่มหนึ่งที่ออกผจญภัยไปในเกาะ ๆ หนึ่งซึ่งตัวเกาะที่ว่านี่เองเป็นที่มาของการก่อให้เกิดเป็นเรื่องราวได้เยอะมาก โดยตัวเกาะที่ว่าเป็นเกาะมหาสมบัติ แล้วที่มาที่ไปของสมบัติมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วมันมาจากไหน มันก็จะถูกร้อยเรียงเกี่ยวข้องถึงตำนานสมบัติของโจรสลัด ที่นี้แล้วความเป็นไปได้ของโจรสลัดในประเทศไทย มันเกิดขึ้นแถบไหนได้บ้าง ที่เคยมีมา มันก็เลยไปเกี่ยวข้องกับทะเลอันดามันซึ่งมันจะถูกเชื่อมโยงและร้อยเรียงมาในตัวเรื่องที่ถูกผูกขึ้นโดยให้รายละเอียดของที่มาที่ไปและน้ำหนักของเรื่อง จากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่ง โดยมีความแฟนตาซีเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสัตว์ขนาดยักษ์ ปูยักษ์ ปลาหมึกยักษ์ เต่ายักษ์ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับโจทย์ที่ว่าก็น่าจะเป็นหนังที่สร้างออกมาได้สนุกเรื่องหนึ่ง เราเน้นที่ความสนุกสนานของหนังไม่ได้ทำให้แค่เด็กดู แต่ครอบครัว ผู้ใหญ่ วัยรุ่นก็ดูได้ “    

 

เปิดบันทึกบทที่ 2: สลัดตาเดียวแห่งอันดามัน ขุมทรัพย์ ถ้ำโจรสลัด  เกาะมหาสมบัติ กับการไขปริศนาลายแทงภาษาไทย อีกย่างก้าวของขนบหนังโจรสลัดสากลแบบไทย ๆ

…ด้วยความตั้งใจที่จะทำหนังโจรสลัดที่มีกลิ่นอายของความเป็นหนังไทย ภายใต้เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเมืองไทย  ทำให้ท้องทะเลแถบอันดามันที่ว่ากันว่าสวยที่สุดจนติดอันดับโลกถูกเลือกให้เป็นโลเกชั่นในการถ่ายทำ และยังถูกกำหนดให้เป็นถิ่นฐานซึ่งเป็นเส้นทางหลักสำคัญในการเดินเรือของสลัดตาเดียวและพวกพ้อง ในขณะที่โจทย์หนักตกอยู่ในมือผู้กำกับปื๊ดธนิตย์ และทีมเขียนบทที่จะต้องถ่ายทอดเรื่องราว ความเป็นมาของโจรสลัดตาเดียวที่จะปรากฎบนจอภาพยนตร์ ในขณะเดียวที่ยังคงบรรดาองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นขนบแนวทางและรูปแบบที่ชัดเจนของหนังโจรสลัด ที่ถูกยอมรับในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นชุดเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย หมวกของโจรสลัด บรรดาพวกพ้องของโจรสลัดไปจนถึงพาหนะที่เป็นเรือของโจรสลัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รวมไปถึงการออกเดินทางค้นหาเกาะมหาสมบัติ เรื่องราวการแก้ไขปริศนาลายแทงขุมทรัพย์ ถ้ำโจรสลัด และสัตว์ยักษ์ในตำนาน โดยผสมผสานกับเหตุการณ์และสถานการณ์ในการเดินเรื่องที่ปรับประยุกต์เข้ากับเหตุการณ์ที่ร่วมสมัยมากขึ้น

“ตอนที่ตัดสินใจจะทำหนังเกี่ยวกับโจรสลัด เราต้องมีการเคลียร์กันอย่างชัดเจนว่า รูปแบบของโจรสลัดที่เรากำลังพูดถึงนี้เป็นอย่างไร ถ้าหนังของเราไม่ได้เป็นเรื่องของกลุ่มเด็ก9 คนที่ฝ่ามิติย้อนเวลากลับไปเจอกับโจรสลัดในยุคโบราณแล้ว เราก็มีการตั้งคำถามว่า แล้วที่นี้เด็กๆจะไปเจอกับใครที่เรียกตัวเองว่าเป็นโจรสลัดได้ เราก็เลยคิดถึงพวกที่ขนของเถื่อนกลางทะเลลึก พวกน้ำมันเถื่อน พวกสินค้าเถื่อน ซึ่งเราก็เลยสมมติไปที่ตระกูลหนึ่งซึ่งเป็นตระกูลของโจรสลัดจริง ๆ ที่มีปู่ทวดเป็นโจรสลัด และมีการเก็บสมบัติไว้จริง แต่ด้วย ณ ปัจจุบันที่ด้วยวันเวลาที่มันผ่านมานานมากแล้ว จนพอมาถึงรุ่นเหลนซึ่งก็คือกัปตันฤทธิ์หรือสลัดตาเดียวที่เล่นโดยศรัณยู เป็นตัวละครที่เป็นพวก loser คนหนึ่ง พวกที่ติดอยู่กับความฝันลม ๆ แล้ง ๆ หลังจากออกทะเลมาเป็น สิบ ๆ ปี ก็ยังไม่เคยเห็นหรือเคยเจอขุมสมบัติที่ว่า นั่นเท่ากับว่าเราเอาเด็ก ณ ปัจจุบัน เชื่อมต่อกับคนยุคปัจจุบันนี้แหละ แต่เราเลือกเอาตำนานความฝันมาเชื่อมตรงกลางระหว่างเรื่องเล่าขานที่มันดูเหมือนจะจริงหรือไม่จริง ผู้ใหญ่อาจจะรู้สึกว่า เฮ้ยมันจะมีเหรอ เต่ายักษ์ ปลาหมึกยักษ์ แต่สำหรับในจินตนาการของเด็กแล้ว ถ้าเกิดเราสร้างที่มาที่ไปของเหตุการณ์ให้เห็นเป็นตัว ๆ เลย มันจะมีความรู้สึกว่ามันมีความเป็นหนังผจญภัยแฟนตาซีเต็ม ๆ อันนี้ถามว่าเราพยายามที่จะอ้างอิงที่มาของโจรสลัดเพื่อให้พ่อกับแม่หรือคนเป็นผู้ใหญ่ดูแล้วมีความเชื่อในที่มาที่ไปของตัวละครด้วย  แต่ขณะเดียวกันสำหรับกลุ่มเด็กที่จูงมือพ่อแม่เข้าไปดูหนังก็จะได้รับความสนุกสนานในส่วนของความเป็นหนังผจญภัยที่มีเหตุการณ์เหนือจินตนาการที่เราใส่เข้ามาให้มันมีการสอดคล้องกัน”

…แม้แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยอย่างการแก้ปริศนาลายแทงขุมทรัพย์ตามตำนานของโจรสลัดซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของตัวภาพยนตร์ที่ทางทีมเขียนบทเองนอกจากจะไม่มองข้ามแล้ว แต่ยังใช้ความเป็นไทยได้อย่างประโยชน์ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นจุดแข็งของหนังที่น่าชื่นชม และยังช่วยเป็นการตอกย้ำให้คอหนังสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของความเป็นหนังไทยที่มีขนบของความเป็นหนังโจรสลัดระดับสากล ซึ่งผู้กำกับปื๊ดธนิตย์เองไม่เพียงชอบใจแต่ยังยกเครดิตให้กับทีมเขียนบทของภาพยนตร์ที่สามารถสอดแทรกได้อย่างลงตัว

ในภาพยนตร์มีการพูดถึงการแก้ปริศนาลายแทงของสมบัติที่โจรสลัดจากรุ่นเก่าได้ทิ้งเอาไว้ โดยเราตีความว่าเนื่องจากหนังของเราเป็นหนังไทย ลายแทงของเราก็เลยต้องเป็นภาษาไทย เราจึงมีการหยิบยกเอาการละเล่นของไทยสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นมอญซ่อนผ้า หรือว่าคำที่มันเป็นคำปริศนา คำที่ให้มีความรู้สึกว่าเป็นการเล่นคำอย่างสูงเสียดฟ้าบางวันอ้าบางวันหุบ  ซึ่งมันมีความรู้สึกถึงความเป็นไทยได้แทนที่เราจะใช้สัญลักษณ์ทุกอย่างในลายแทงเราเป็นซึ่งอันนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องของความแปลกอีกอย่างหนึ่ง และถือว่าเป็นการท้าทายคนทำหนังระดับหนึ่งเลยว่า คนดูเขาจะเชื่อเราไหม หรืออย่างเช่นปริศนา มีรูอยู่ตรงข้างข้างๆมีขน ซึ่งข้อความเหล่านี้เป็นคำทายปริศนาที่สังคมไทยใช้อยู่ แล้วเราเอามาดัดแปลงมาเป็นปริศนาในลายแทง ซึ่งจริงๆแล้วหมายถึงปากถ้ำที่มีต้นไม้ปกคลุม หรืออย่างที่บอกว่า หุบ ๆ เท่ากระบอก ออกเท่ากระด้ง ซึ่งช่วงที่คนเขียนบทคิดขึ้นมา ขนาดเราเองเรายังมีความรู้สึกว่า เอ๊ะมันคืออะไรนะ เราก็ใช้คำปริศนาเหล่านี้ในลายแทงขุมทรัพย์ของสลัดตเดียวกับเด็ก200ตา”

เปิดบันทึกบทที่ 3:   ที่มาของเด็ก 200 ตา จากผู้สมัคร 4,000 คน เลือก 200 คน คัดเหลือ 8 คน ปรากฎการณ์การคัดเลือกนักแสดงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์หนังไทย

…เมื่อย้อนกลับไปในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ปี 2549 ได้เกิดปรากฎการณ์ครั้งสำคัญที่ถูกจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เมื่อมีการประกาศรับสมัครค้นหาเด็กจำนวน 100 คนเพื่อร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “สลัดตาเดียวกับเด็ก200ตา” โดยมีเพียง 8 คนที่จะได้รับบทบาทในฐานะนักแสดงนำร่วมกับ น้องเกรซ นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ เพื่อรับบทเด็ก 9 คนที่จะต้องออกผจญภัยในท้องทะเลร่วมกับสลัดตาเดียวซึ่งรับบทโดยนักแสดงชายระดับคุณภาพอย่าง ศรัณยู วงษ์กระจ่างที่และดาวน้องสาวนักบู๊ของสลัดตาเดียวซึ่งรับบทโดยนุ้ย เกศริน เอกธวัชกุล ผลปรากฏว่ามีเด็กจำนวนมากถึง 4,000 คนเข้ามาร่วมคัดเลือก ทำให้ทางทีมงานจะต้องเพิ่มวันคัดเลือกนักแสดงตามจำนวนผู้สมัครที่มีมากกว่าที่คิด เนื่องจากมีพ่อแม่ผู้ปกครองหอบลูกจูงหลานจากทั่วทุกภาคของประเทศเดินทางเข้ามาสมัครเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้อำนวยการสร้างอย่างเสี่ยเจียง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐตัดสินใจเพิ่มจำนวนเด็กที่เข้าฉากจากเดิม 100 คน (200 ตา) เป็น 200 คน (400ตา) โดยยังคงชื่อเดิมของภาพยนตร์ไว้ที่ “สลัดตาเดียวกับเด็ก200ตา” ขณะที่ผู้กำกับปื๊ดธนิตย์ที่เป็น 1 ในคณะกรรมการคัดเลือกนักแสดงด้วยตัวเองไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้รับความสนใจมากมายเป็นประวัติการณ์อย่างนี้

“ผมเชื่อว่าการ casting วันนั้นถือได้ว่าเป็นครั้งที่มโหฬารที่สุด  ตั้งแต่มีการทำหนังไทยกันมาเลยทีเดียว  จนทำให้เสี่ยเจียงตัดสินใจเพิ่มจำนวนเด็กที่จะรับจากเดิม 100 คน เป็น 200 คน บรรยากาศวันนั้นต้องบอกว่ามันทั้งเหนื่อยทั้งวุ่นวายแต่พอเห็นแล้วเราก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจ ความกระตือรือร้นของผู้ปกครองที่อยากให้เด็ก  ลูกหลาน แสดงออก เราเชื่อว่าถ้าเกิดเราไป cast ทั่วทุกภาค ปริมาณเด็กที่มาต้องมากกว่านี้เป็นสิบๆ เท่าเลยทีเดียว

ตลอดชีวิตที่ทำหนังมา ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันมีความหมาย มันจุดประกายว่าจริงๆแล้วการทำงานกับเด็กมันไม่ได้ไม่มีใครสนใจ กลับกันในปัจจุบันนี้สังคมเราให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้เด็กได้แสดงออกถึงความสามารถมากกว่าที่เราคิด ได้แข่งขัน งัดความสามารถพิเศษกันออกมา และพอถึงเวลาที่เราเอาเด็กสองร้อยคนไปเข้าฉากพร้อมกับผู้ปกครอง เราก็ได้รับความร่วมมือที่ดีมากๆ  วันนั้นทั้งวันทั้งจากที่เป็นนักแสดงจริงและนักแสดงจำเป็นก็คือบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องมาดูแลลูกหลานของตัวเอง  เป็นฉากที่ใหญ่ฉากหนึ่งเหนื่อยแต่ก็สดชื่นเพราะทุกคนต่างให้ความสำคัญกับงานของเราดีมากๆ  ทำให้เราได้ฟุตเทจเยอะมาก”

…โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กทั้ง 8 คนที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาไม่ว่าจะเป็นน้องฟลุท รจนกร  อยู่หน้า ที่มีอายุน้อยที่สุดเพียง6ขวบเท่านั้นแต่มีผลงานตั้งแต่อายุเพียง 2 ขวบหรือน้องลูกแก้ว รักษิตา จีน เคสซีเนอร์ ที่ผ่านทั้งงานละคร ภาพยนตร์ ถ่ายแบบและเดินแบบมาก่อนหน้า, น้องกัน อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์ที่มีผลงานละครมานับ 10 เรื่อง, น้องอ้วน  ชไมพร  โนมูร่า และโอริ สิรินทรา โนมูร่า 2นักแสดงฝาแฝดมากความสามารถที่ผ่านประสบการณ์งานพากย์เสียง เล่นละคร ถ่ายโฆษณามานับไม่ถ้วน ริฟฟ์ นิติพงษ์  ประดับสิริพรหม ที่เคยมีผลงานการแสดงละครและงานเพลงมาแล้ว น้องนนท์วัชรวิทย์  วิวัฒน์รัตน์ ที่เคยรับบทโหน่งชะชะช่าตอนเด็กในละครระเบิดเถิดเทิง ไปจนถึงหน้าใหม่ถอดด้ามแต่มากไปด้วยความสามารถอย่างน้องยีนส์ คัทรินทร์  สนิทธิเวทย์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วล้วนแต่เป็นนักแสดงเด็กที่มีความสามารถผ่านงานในวงการบันเทิงมาแล้วแทบทั้งสิ้นทั้งประสบการณ์โดยตรงทางด้านการแสดง ไม่ว่าจะเป็นงานละคร งานโฆษณา ถึงขนาดที่ว่าผู้กำกับปื๊ดซึ่งไม่เคยทำงานร่วมกับเด็กจำนวนเยอะอย่างนี้มาก่อนถึงกับการันตีและมั่นใจถึงความสามารถของทั้ง 9 คนและจับตาดูฝีไม้ลายมือของเด็ก ๆ เหล่านี้ให้ดี

“พอได้มาร่วมงานกันกับน้องๆทั้ง8-9คนแล้ว อยากให้ทุกคนจับตาดู ทุกคนล้วนเป็นมืออาชีพที่ไม่แพ้ผู้ใหญ่ตัวโต ๆ เลยทีเดียว และเราเชื่อว่าพวกเขาจะเป็นนักแสดงที่ดีต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน ตลอดระยะเวลาที่ทำงานด้วยการ สำหรับเราและทีมงาน ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์การทำงานที่คุ้มค่ามากๆเพราะเด็กทุกคนล้วนแล้วแต่น่ารัก และร่วมงานด้วยอย่างมีความสุขและที่สำคัญนักแสดงทุกคนทั้งเก่าและใหม่สามารถทำงานเข้าขากันได้อย่างกลมกลืนและลงตัวเลยทีเดียวไม่ว่าจะเป็นน้องเกรซ นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ และรุ่นใหญ่อย่างศรัณยู วงษ์กระจ่างและรุ่นใหม่อย่างนุ้ยเกศริน เอกธวัชกุล  เพราะต้องบอกว่าคงไม่บ่อยนักที่จะมีหนังไทยสักเรื่องที่ต้องใช้พลังในการทำงานสูงอย่างเรื่องนี้อีกแล้ว ความหินของโลเชกั่นที่ไม่ธรรมดาเลยไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กอายุ 6 ขวบหรือผู้ใหญ่ตัวโตๆก็ต้องเจอด้วยกัน ตั้งแต่นั่งเครื่องบิน ต้องเข้าไปในป่า ลงเรือ ฝ่าคลื่นทะเล เข้าถ้ำ ขึ้นเกาะ อยากให้ทุกคนได้เห็นแล้วจะรู้สึกเหมือนผมว่าดีใจที่ได้นักแสดงชุดนี้มาปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้”

เปิดบันทึกบทที่ 4 :   อุปสรรค 108 ประการ ทะเล   เกาะ  เด็ก เอฟเฟ็คต์  และปรากฏการณ์ธรรมชาติ

…ว่ากันว่าสัตว์ เด็ก เอฟเฟ็คต์ สลิง คือสิ่งต้องห้ามสำหรับการที่จะสร้างภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่งเนื่องจากว่าทุกสิ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้นล้วนอยู่นอกเหนือจากการควบคุมด้วยประการทั้งปวง แต่สำหรับ สลัดตาเดียวกับเด็ก 200 ตา มีอุปสรรคที่เพิ่มทวีคูณความยากของโปรเจ็คต์ให้กลายเป็นร้อย ๆ พัน ๆ เท่าเมื่อสิ่งที่ทีมงานจะต้องเผชิญนับตั้งแต่การที่ใช้โลเกชั่นในการถ่ายทำถึง 3 ภาคของประเทศด้วยกันตั้งแต่ภาคตะวันออกอย่าง อ.สัตหีบ   ภาคกลางอย่าง ถ้ำจอมพล จ.ราชบุรี ไปจนถึงผืนทะเลแถบอันดามันอย่างท้องทะเลแถบจังหวัดกระบี่ และ อ่าวกระโดงฉลาม จังหวัดตรัง รวมไปถึงการเผชิญกับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่กลายเป็นเงื่อนไขและข้อจำกัดสำคัญ อันนำมาซึ่งการวางมาตรการความปลอดภัยที่มีชีวิตของนักแสดงเด็ก 9 คนรวมไปถึงบรรดานักแสดง ทีมงานรวมแล้วเกือบ 100 ชีวิตเป็นเดิมพัน เมื่อทุกวันของการถ่ายทำคือความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทำบนเรือกลางมหาสมุทร

“ในตัวหนังเมื่อโจรสลัดได้พบเด็กแล้วเขาต้องพาเอาเด็กไปขึ้นบนเรือ เพื่อออกเดินทางผจญภัยกลางทะเลลึกด้วยกัน  เพราะฉะนั้นเมื่อตัวละครทุกตัวอยู่บนเรือ นั่นหมายความว่าการถ่ายทำกลางทะเล จะไม่ได้มีแค่เด็ก 9 คน แถมทีมงานอีก 30 ชีวิต ดาราอีก 20 กว่าคน รวมแล้วอยู่บนเรือลำนั้นร่วมๆ 100  ซึ่งเมื่อตื่นเช้าขึ้นมาจะต้องถ่ายทำบนเรือ ก็เริ่มจะซีเรียส เริ่มเครียดเลยว่า วันนี้จะมีพายุไหม จะมีลมแรงไหม แล้วเราจะได้ภาพสวยๆอย่างที่เราต้องการรึเปล่า มันรวมไปทั้งหมดเลย รวมทั้งงาน รวมทั้งชะตาชีวิตด้วยนะ เราจะรอดกลับมาปลอดภัยไหม แถมยังต้องเป็นแอ็คชั่นอีก แอ็คชั่นบนเรือด้วยนะ ซึ่งในกรณีนี้การที่มีเด็ก 9 คนเข้าฉาก ขณะที่เรากำลังถ่ายหนังอยู่บนเรือ สมาธิส่วนหนึ่งของเราจะสั่งการเลยว่าจะต้องหันไปรอบๆแทบ360 องศา คอยสังเกตเกือบตลอดเวลาเลย ว่าเด็กอยู่ครบไหม บางทีเราซีเรียส ถึงขั้นที่ว่าห้ามเด็กขึ้นมาเดินเล่นเพ่นพ่านบนกาบเรือเลยทีเดียว  เพราะถ้าร่วงตกลงไปชาตินี้ทั้งชาติก็ไม่สามารถทำลูกเขาขึ้นมาใหม่ให้หน้าเหมือนไม่ได้แน่ ๆ”

…จากโลเกชั่นบนเรือกลางทะเลลึก ไปจนถึงเกาะมหาสมบัติซึ่งเป็นที่ซ่อนของขุมทรัพย์ตามลายแทงปริศนาของโจรสลัดในตำนาน ซึ่งผู้กำกับเลือกใช้อ่าวกระโดงฉลาม จ. ตรัง เป็นโลเกชั่นหลักด้วยความงดงามของตัวเกาะและความยาวของตัวหาดที่ทอดยาวออกไปสุดลูกหูลูกตา ที่สลัดตาเดียวและพรรคพวกต้องเผชิญหน้ากับสัตว์ยักษ์ในตำนาน  เพียงทว่าทุกครั้งของการเดินทางมายังสถานที่ถ่ายทำซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะกลางทะเล นักแสดงและทีมงานจะต้องเดินทางโดยอาศัยเรือยางในการฝ่าคลื่นเข้าและออกจากตัวเกาะที่มีความสูงในระดับที่สามารถกลืนเรือที่ขนย้ายนักแสดงและอุปกรณ์สำหรับการถ่ายทำหายวับไปกับคลื่นที่ซัดโถมได้ทันที และเพื่อความสมจริงของภาพยนตร์ทีมงานตัดสินใจเลือกถ่ายทำในช่วงฤดูฝนที่คลื่นทะเลปั่นป่วนมากกว่าจะถ่ายทำในฤดูหนาวที่คลื่นทะเลจะสวยและสงบนิ่งมากกว่า

“เราเลือกโลเกชั่นอ่าวกระโดงฉลาม เพราะว่ามันเป็นอ่าวที่แบบว่าโลเกชั่นสวยจริง เพราะเรายังไม่เคยเห็นหนังที่ไปถ่ายบนเกาะที่มีฟีลลิ่งแบบนี้ แล้วช่วงเวลาที่เราไปถ่ายคือในช่วงหน้าฝน ซึ่งถ้าเกิดเราไปถ่ายในช่วงน้ำทะเลสวยในเดือนธันวา มันก็จะเป็นทะเลที่ราบเรียบ ซึ่งมันก็จะไม่ค่อยตรงกับเนื้อหาตามเรื่องของเรา เราก็เลยเลือกเอา mood มากกว่าที่จะเอาน้ำทะเลสวย แต่ในขณะเดียวกันก็จะเผชิญอุปสรรคที่ว่า เนื่องจากตัวสถานที่ที่เราถ่ายทำเป็นเกาะ ทุกครั้งที่เดินทางเข้าและออกจากเกาะ เราจะต้องฝ่าคลื่นออกไป ไปเจอน้ำทะเลนิ่ง แล้วเราถึงจะตีวกเข้าไปในหาดที่เป็นที่พักได้ ความเสี่ยงระดับนี้มีอยู่ทุกวันเลย และอันที่เสี่ยงหนักที่สุดก็คือเราต้องขนย้ายนักแสดงเด็ก 9 คนซึ่งมันมีอยู่วันแรกที่เราไม่มีเรือยาง มันมีเรือลำเล็กมาก ๆ อันนี้ก็คือเราถามคนที่ขับเรือ คนที่ที่เป็น security แล้วว่าคุณสามารถเอาเด็กอยู่ไหมถ้าเรือพลิก

เขาบอกว่าถ้าเด็กไม่เกิน 2คน โอ้โหนั่นเท่ากับว่าเราเสี่ยงถึง 5 ครั้งเลย เพราะว่าต้องเอาเด็กออกไปได้แค่ครั้งละ 2 คน สมมติว่าเรามีเรือยางลำเดียวนะ บรรทุกเด็กออกมา 9 คนได้คุณเสี่ยงครั้งเดียวเลยทั้งเข้าและออก แต่นี่เท่ากับว่าคุณเสี่ยง 5 ครั้งเลย และเสี่ยงทั้งเข้าและออก เดชะบุญที่คนขับเรือเราเก่งมากที่เรือเราไม่พลิกเลย ทั้ง ๆ ที่พอคลื่นขึ้นมาเรือลำนั้นหายไปเลย เราก็หะ! แต่แล้วจู่ ๆ ก็โผล่ขึ้นมา มันขนาดนั้นเลย ก็ขนาดพีอาร์ของสหมงคลฟิล์มตกเรือ นั่งเรือยางไปแล้วคลื่นซัดเรือหายไปทั้งลำ ซึ่งเป็นความระทึกตลอดการถ่ายทำที่โลเกชั่นนี้เลยทีเดียว”

…แต่นั้นยังไม่เท่ากับปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นนั่นคือการเผชิญหน้ากับอุปสรรคอย่างปรากฏการณ์ธรรมชาติของน้ำขึ้นน้ำลงที่ทำให้ทีมงานมีเวลาในการถ่ายทำเหลือเพียง 6 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้จำนวนวันที่ต้องถ่ายทำจากเดิมที่วางไว้ 7 คิวถูกเพิ่มขึ้นมาเป็น 10 คิวทันที ทำให้หลาย ๆ ครั้งในการถ่ายทำต้องตัดสินใจยกเลิกการถ่ายทำ เพราะเป็นการยากที่จะคำนวณได้ว่าระยะเวลาที่เหลืออยู่จะถ่ายทำได้ทันกับปริมาณของน้ำที่กำลังจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ นอกเหนือไปจากการกำกับเด็กแบบเต็ม ๆ ตัวครั้งแรกในชีวิตของปื๊ดธนิตย์ จิตนุกูล

ลองนึกภาพเด็ก 8-9 คนจะต้องมาอยู่รวมกันบนเกาะๆหนึ่ง นั่นคือเราก็ยังไม่เคยกำกับเด็กเต็มๆในหนังทั้งเรื่องมาก่อน และการรวมเด็กถึง 9 คนก็ไม่ต่างอะไรกับจับปูมาใส่กระด้ง และที่สำคัญคือภายใต้โลเกชั่นที่ไม่ธรรมดาด้วย เพราะมันคือเกาะ ที่นี้ไอ้ความที่มันต้องเป็น ทะเล เป็นเกาะก็เลยต้องมีอุปสรรคของเรื่องน้ำขึ้นน้ำลง แล้วน้ำทะเลเวลามันขึ้นลงที หาดที่เราเห็นยาว ๆ ทอดตัวสวย ๆ เนี่ยะ มันหายไปในพริบตาเลยทีเดียว เพราะน้ำทะเลจะปิดทางเข้าออกทันที ลองนึกภาพทีมงานและนักแสดงที่มีสภาพเหมือนติดเกาะจริงๆเลย เราต้องใช้วิธีการขนย้ายโดยเอาเรือที่สามารถโต้คลื่นได้ไปส่งกับข้าวกินในตอนที่น้ำขึ้น

จากที่เราคิดว่าเราควรจะมีเวลาทำงาน 12 ชั่วโมงมันก็จะเหลืออยู่ประมาณสัก 6 ชั่วโมง ครึ่ง ๆ เลย ซึ่งใน 6 ชั่วโมงนี้เราต้องขโมยเก็บเอาแบบที่ต้องให้ได้ปริมาณงานมากที่สุดเท่าที่เราจะพยายามได้ บางครั้งถ่ายๆอยู่ต้องยกเลิก โดยเราต้องค้างฟิล์มเอาไว้ เพราะว่าหาดเรามันไม่สมจริงแล้ว หาดเหลือเพียง 2-3 เมตร เราก็ถ่ายไม่ได้ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วมันต้องมีหาดยาวประมาณ 30-50 เมตร”

…นอกเหนือจากความสวยงามของตัวหาดที่ทอดยาวกว้างออกไปสุดลูกหูลูกตาแล้ว เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้กำกับปื๊ดยอมเลือกที่จะเผชิญกับอุปสรรคน้ำขึ้นน้ำลงของโลเกชั่นอ่าวกระโดงฉลาม มากกว่าการย้ายโลเกชั่นถ่ายทำ เพราะทุกซีนที่ถ่ายล้วนแล้วเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในการดำเนินเรื่องแทบทั้งสิ้น นับตั้งแต่การใช้ชีวิตบนเกาะของเด็กทั้ง 9 คนตอนต้นไปจนถึงการปะทะกันระหว่างกลุ่มสลัดตาเดียวและสลัดวายร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผชิญหน้ากับสัตว์ยักษ์ในตำนาน  นอกจากนี้ผู้กำกับปื๊ดยังอาศัยโลเกชั่นของอ่าวกระโดงเรือในการสร้างปริศนาลายแทงขุมทรัพย์ของสลัดตาเดียวด้วย รวมไปถึงการให้ความสำคัญของลักษณะของเกลียวคลื่นของน้ำทะเล ที่เชื่อว่าจะบ่งบอกถึงโลเกชั่นในการถ่ายทำที่ไม่สามารถใช้โลเกชั่นอื่นมาทดแทนได้

Share this article :

แสดงความคิดเห็น