บทประพันธ์ ศรีบูพา (นามปากกาของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ )
กำกับโดย เชิด ทรงศรี
ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก
เรื่องย่อ: ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของศรีบูรพา เรื่องราวความรักต้องห้ามของนพพร ชายหนุ่มที่เดินทางไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น เขาได้พบกับคุณหญิงกีรติและสามีสูงวัยซึ่งเดินทางมาฮันนี่มูนที่ญี่ปุ่น หัวใจของนพพรเต็มไปด้วยความรักที่มีต่อคุณหญิงกีรติ เขาสาบานรักอันเป็นนิรันดร์ต่อหล่อน แต่หล่อนปรามเขาไว้ด้วยท่าที เมื่อถึงเวลาแยกจากกัน คุณหญิงกีรติมอบภาพวาดสถานที่แห่งหนึ่งแก่นพพร เป็นที่ที่ทั้งสองเคยไปเที่ยวร่วมกันครั้งอยู่ญี่ปุ่น แม้จะห่างกันแต่ทั้งสองก็ยังติดต่อกันผ่านจดหมาย ต่อมานพพรเลิกติดต่อเธอและทราบข่าวภายหลังว่าเธอล้มป่วย เขาจึงเดินทางไปหาเธอและพบเธอขณะกำลังรอความตาย คุณหญิงมีสุขในใจเมื่อตระหนักว่าเธอจะไม่ตายโดยปราศจากคนรักเคียงกาย
ภาพนั้นเขียนด้วยสีน้ำ มีชื่อ “ริมลำธาร” ปรากฏอยู่ที่มุมล่างด้านซ้าย ฝีมือเขียนอยู่ในระดับธรรมดาๆ แต่พอจะมอง เห็นเค้าโครงร่างของคน 2 คนนั่งเคียงคู่กันอยู่บนก้อนหินใต้ต้นไม้ริมลำธารที่บ่งบอกสถานที่ไว้ด้วยว่า “มิตาเกะ”
ใครหลายคน อาจจะรู้จัก “มิตาเกะ” ว่า เป็นชื่อภูเขาลูกหนึ่ง อยู่ที่ชานกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แต่มีเพียง 2 คน เท่านั้นที่จะรู้ว่า ภาพ “ริมลำธาร” มี “ข้างหลัง”….. “ข้างหลัง” อันเป็นอดีต-เป็น “ข้างหลังภาพ” แห่งความรักอัน ยิ่งใหญ่ บริสุทธิ์ งดงาม ในหัวใจของชายหญิงคู่หนึ่ง….
นพพร กับ ม.ร.ว.หญิงกีรติเขากับเธอ พบกันครั้งแรกที่สถานีรถไฟโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ.2480 ในขณะที่เขาอายุ 22 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยริคเคียว และเธออายุ 35 ปี มา “ฮันนิมูน”กับพระยาอธิการบดี ผู้เป็นสามีที่อยู่ในวัยเดียวกันกับพ่อ!
โดยที่เจ้าคุณอธิการบดีเป็นเพื่อนสนิทกับบิดาของนพพร เจ้าคุณจึงขอร้องให้นพพรมาช่วยเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวญี่ปุ่น
เจ้าคุณอยากให้คุณหญิงได้รับความสุขจากการมาเที่ยวญี่ปุ่น แต่ท่านก็แก่เกินกว่าจะไปไหนต่อไหนได้หลายแห่ง จึงขอร้องให้นพพรรับภาระพาคุณหญิงกีรติเที่ยวตามลำพัง
และนั่น…เป็นโอกาสให้นพพร เด็กหนุ่มที่ไม่เคยรู้จักความรักมาก่อน ได้อยู่ใกล้ชิดกับหญิง-แม้จะสูงวัยกว่า แต่เธอก็สวย สง่า กิริยาวาจาแช่มช้อยสมกับที่เป็นผู้ดีแท้ ยิ่งใกล้ชิด…ยิ่งนานวัน นพพรก็ยิ่งหลงรัก-เทอดทูนกีรติ เป็นรักครั้งแรก รักทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่าเธอมีชายอื่นเป็นเจ้าของ
นพพรไม่เข้าใจว่า ทำไมกีรติ ซึ่งสวยมาก สง่างามมาก ฉลาดล้ำลึก ฐานะเดิมก็ดีอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งไม่ได้ถูกใครบังคับ และไม่ได้รักเจ้าคุณด้วย จึงยอมแต่งงานกับชายชราวัยพ่อ
นพพรเฝ้าถามครั้งแล้วครั้งเล่า กีรติเลี่ยงที่จะตอบ จนกระทั่งถึงวันที่เขาพาเธอไปเที่ยว มิตาเกะ กีรติผู้วางตัวสง่างาม อยู่เนืองนิจ กลับกลายเป็นสาวน้อยผู้ร่าเริงอยู่ท่ามกลางแมกไม้และสายน้ำ
“ผมมีความหมายกับคุณหญิงบ้างไหมครับ?” นพพรถามกีรติ เมื่อหยุดนั่งพักที่โคนต้นซีดาร์ริมลำธาร
“ฉันถือเธอเป็นเพื่อนตายของฉันนพพร แล้วฉันก็มีเธอเป็นเพื่อนตายเพียงคนเดียวด้วย”
“ถ้าอย่างนั้น คุณหญิงไม่ควรปล่อยให้ผมตกอยู่ในความทุกข์ทรมาน”
“เธอทุกข์ทรมานเรื่องอะไรมิทราบ?”
“เรื่อง-อยากรู้ว่า-มีเหตุผลอะไร คุณหญิงจึงแต่งงานกับท่านเจ้าคุณ?”
….ความหลังที่เป็นความลับของกีรติจึงถูกเปิดเผย
ม.ร.ว.กีรติเป็นลูกเจ้า “เจ้า”ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นอยู่อย่างเป็นเจ้าเป็นนายจริงๆ เหมือน แยกโลกกันอยู่กับสามัญชน กีรติถูกท่านพ่อเลี้ยงแบบเลี้ยงนกน้อยแสนสวยไว้ในกรงทอง เพราะท่านพ่อเลี้ยงเธออย่าง หวงแหนโดยต้องการให้เป็นเจ้าหญิงสูงศักดิ์ จนไม่มีชายใดมีโอกาสเข้าถึง กีรติจึงไม่เคยมีชายใดรักและขอแต่งงาน ในขณะที่น้องสาวอีก 2 คนที่ไม่ได้สวยสง่าเท่าเธอ ได้แต่งงานกับคนรักไปทีละคน ในขณะที่กีรติเฝ้าคอย…
“นพพร ความรักเป็นพรอันประเสริฐ เป็นยอดปรารถนาของชีวิต ฉันก็เหมือนกับคนทั้งหลายที่ใฝ่ฝันอยากมีความรัก อยากแต่งงาน อยากมีลูก และอยากพบเห็นโลกภายนอก แต่ฉันยิ่งอยาก ฉันก็ยิ่งเพิ่มความเหงาให้กับตัวเอง อีกทั้งไม่มี วี่แววเลยว่า สิ่งที่ฉันอยากมีนั้น จะเป็นจริงขึ้นมาได้ ฉันต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวกับความเหงา ความเปล่าเปลี่ยว อ้างว้าง จนกระทั่งอายุสามสิบสี่ปี…”
เมื่อเจ้าคุณอธิการบดี พ่อม่ายเมียตาย ซึ่งเป็นคนดี มาสู่ขอกับท่านพ่อ กีรติจึงไม่เหลือทางเลือกอื่น “โธ่ ไม่น่าเลย คุณหญิงยังสาว ยังสวยอยู่มาก แม้กระทั่งเดี๋ยวนี้ คุณหญิงควรปฎิเสธการแต่งงาน รออีกหน่อยคุณหญิงก็จะพบ ความรักแน่ๆ”
นพพรระบายใจอย่างเคืองขุ่น เขารักคุณหญิง ถ้าคุณหญิงยังไม่แต่งงาน เขาคือคนที่รักเธอและจะแต่งงานกับเธอ
ความรัก ความหลง ความหึง เป็นไฟอารมณ์ที่ต่างแผดเผาหัวใจหนุ่มของนพพรให้เขากอดและจูบกีรติ ด้วยความ เข้าใจว่ากีรติคงรักเขาเช่นเดียวกับที่เขารักเธอแต่…ต่อจูบของนพพร กีรติผลักเขาออกห่างและเตือนสติ
“นพพร เธอไม่รู้ว่าเธอได้ทำอะไรลงไป”
……………………………………….
“คุณหญิงรักผมไหม?” นพพรถาม-ถามครั้งแล้วครั้งเล่า แต่กีรติไม่เคยตอบตรงคำถามเลย ส่วนนพพรยืนยัน…..
“ผมจะรักคุณหญิงตราบชั่วฟ้าดินสลาย” จนถึงวันจากกันที่ท่าเรือโกเบ
“คุณหญิงรักผมไหม?” ถามอีก กีรติร่ำไห้ เมื่อกล่าวคำลาจาก
“รีบไปเสียเถอะนพพร รีบไปเสีย อย่าให้ฉันขาดใจตายอยู่ตรงนี้เลย”
พ.ศ.2484 เจ้าคุณอธิการบดี เป็นวัณโรค เสียชีวิตกีรติจึงกลับเป็นโสดอีกครั้งหนึ่ง พ.ศ.2487 นพพรเดินทางกลับ จากประเทศญี่ปุ่น กีรติมอบภาพเขียน “ริมลำธาร”ให้ และถามว่า “จำได้ไหมว่าที่ไหน มีอะไรเกิดขึ้นที่นั่น?”
“ความรักของผมเกิดที่นั่น”
“ความรักของเรา นพพร”
ณ บัดนี้ กีรติเปิดหัวใจของเธอให้นพพรรับทราบโดยแน่ชัดแล้ว โอกาสที่นพพรจะแต่งงานกับกีรติก็มีแล้ว แต่…..
แต่ “ความรัก” จะบันดาลให้ ม.ร.ว.กีรติวัย 42 ปี กับ นพพร วัย 29 ปี ได้แต่งงานกัน – สมค่าแห่งความเป็น “พรอันประเสริฐ เป็นยอดปรารถนาของชีวิต” หรือ?
นักแสดง:
คารา พลสิทธิ์ – ม.ร.ว.กีรติ
ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ – นพพร
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา – พระยาอธิการบดี
วันชาติ ชุณห์ศรี – พันตรีพงศธร
ธิดา สิงห์จันทร์ – ปรีดิ์
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ – นายแพทย์วิชา
ปรีดา จุลละมณฑล – ท่านพ่อของกีรติ
พิราวรรณ ณ นคร – หม่อมแม่ของกีรติ
นวลปรางค์ ตรีชิต – คุณน้าของกีรติ
รศ.จำเริญลักษณ์ ธนะวังน้อย – แม่แย้ม
ผศ.วันชัย ธนะวังน้อย – พ่อของนพพร
วรรณษา ทองวิเศษ – สุธาร
อนูวรรณ ปรีญานนท์ – วิจารุ
พันธสัญญ์ อังคู่ธาร – อำนาจ
พิพัฒน์ เลิศสุทธิผล – เรื่องเดช
แสดงความคิดเห็น