Home » » ROOMMATE เพื่อนร่วมห้อง...ต้องแอบรัก?

ROOMMATE เพื่อนร่วมห้อง...ต้องแอบรัก?


รูมเมท เพื่อนร่วมห้อง. . .ต้องแอบรัก?

เรื่องย่อ
Roommate เพื่อนร่วมห้อง..ต้องแอบรัก? เพื่อนนักศึกษาที่เรียนอยู่เชียงใหม่ 4 คน รวมตัวกันเป็นสมาชิกวงดนตรี เดอะ รูมเมต ประกอบด้วย โน้ต (วิทวัส สิงห์ลำพอง) นักศึกษาปี 1 มือกีตาร์ฝีมือดี ผู้ชอบทำทุกอย่างที่ยากและสูงส่งยกเว้นเรื่องเรียน ป๊อป (อภัสนันท์ วรภิรมย์รักษ์) มือคีย์บอร์ดเพื่อนร่วมชั้นของโน้ต เป็นสาวห้าวจิตใจอ่อนไหว โม (มัฒธณิตาศ์ เศวตวิทยะธาดากุล) มือเบสรุ่นพี่ปี 3 เป็นสาวเปรี้ยวกล้าแสดงออก สุดท้ายคือ อี๊ด (ภูดิศ สุริยวงศ์) หัวหน้าวง มือกลองรุ่นเดียวกับ โม ผู้ชอบแกล้ง โม แทนการบอกรัก วง เดอะ รูมเมต มีกฎว่าสมาชิกในวงต้องมาอยู่ในบ้านเดียวกัน เพราะเชื่อว่าการใช้ชีวิตร่วมกันจะทำให้พวกเขารู้จักกันจนสนิทใจ และสามารถแบ่งปันความคิดความรู้สึกต่างๆ ได้ อันจะส่งผลให้มีผลงานดนตรีที่ดี พวกเขามีเป้าหมายร่วมกันว่า จะมีเพลงเป็นของตัวเอง และจะเปิดการแสดงสดบนดาดฟ้าบ้าน เดอะ รูมเมต ทัน

นักแสดง:

วิทวัส สิงห์ลำพอง…. โน้ต 
นีรนาท วิคตอเรีย โคทส์…. นุช 
อภัสนันท์ วรภิรมย์รักษ์…. ป๊อป 
มัฒธณิตาศ์ เศวตวิทยะธาดากุล…. โม 
ภูดิศ สุริยวงศ์…. อี๊ด 

If Music be the Food of Love, Play on (Twelfth Night-William Shakespeare)

…เรื่องราวของเพื่อนนักศึกษาที่เรียนอยู่เชียงใหม่ 4 คน พวกเขาเป็นสมาชิกวงดนตรี The Roommate ด้วยกัน ประกอบด้วย

โน้ต มือกีตาร์ ปี 1 ฝีมือดี ชอบทำทุกอย่างที่ ยากและสูงส่ง ยกเว้นเรื่องเรียน

ป๊อป คีย์บอร์ดเพื่อนร่วมชั้นของโน้ตที่ภายนอกดูเป็นสาวห้าว แต่ลึก ๆ จิตใจอ่อนไหว

โม มือเบสรุ่นพี่ปี3 สาวเปรี้ยวกล้าแสดงออก แต่อย่ามองมาก เดี๋ยวอาย

อี๊ด หัวหน้าวง มือกลองรุ่นเดียวกับโม ชอบแกล้งโมแทนการบอกรัก โมเลยไม่รู้ซักที ว่าไอ้ที่แกล้งน่ะ เพราะชอบแกล้ง หรือแกล้งชอบกันแน่

…วง The Roommate มีกฎว่า สมาชิกในวงต้องมาอยู่ร่วมกันในบ้าน Roommate เพราะพวกเขาเชื่อว่า การมาใช้ชีวิตเป็นรูมเมทในบ้านเดียวกัน จะทำให้พวกเขาได้รู้จักกันเป็นอย่างดี สนิทใจกัน และสามารถแชร์ความคิดและความรู้สึกต่างๆ ได้ อันจะส่งผลให้มีผลงานทางดนตรีที่ดี โดยพวกเขามีเป้าหมายที่ฝันร่วมกันว่า อยากมีเพลงเป็นของตัวเอง และพวกเขาจะเปิดคอนเสิร์ตบนดาดฟ้าบ้าน Roommate ทันทีที่เพลงเสร็จ

…ในขณะนั้น “พิงค์นครบาร์” ที่วง The Roommate เล่นประจำอยู่ มีปัญหาลูกค้ากำลังร่อยหรอลงทุกที เจ๊ใหญ่เจ้าของบาร์เลยสั่งว่าวงต้องมีนักร้องสาวคนใหม่เพื่อมาช่วยเรียกลูกค้า แต่โน๊ตไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะกลัวนักร้องใหม่จะเข้ากับพวกเขาไม่ได้ เลยแกล้งตั้งสเป๊คของนักร้องสาวของวงไว้ให้ยากและสูงส่ง คือ เสียงดี สูง สวย หมวย ขาว ขายาว หน้าลูกครึ่ง แต่จากนั้นไม่นานโน๊ตก็ได้พบสาวที่มีคุณสมบัติตรงกับ สเป๊คของเขาทุกอย่าง

…เธอคือ “แอน” เพื่อนเก่าของ ป๊อบ ซึ่งในตอนที่ทั้งคู่เรียนมัธยมปลายด้วยกัน แอนกับป๊อบเป็นเพื่อนที่สนิทกันเกินเพื่อน

…ทั้งบาร์และวงคึกคักขึ้นทันทีเมื่อได้แอนมาร่วมวงและร่วมใช้ชีวิตในบ้าน Roommate

…ในความคึกคักนั้น ก็มีความรักที่เป็นความลับในบ้าน Roommate แอบแฝงตัวอยู่ เพราะจริงๆ แล้วที่แอนมาเชียงใหม่เพราะ แอนต้องการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับป๊อปให้เหมือนเมื่อสมัยเรียนด้วยกัน แต่ป๊อปอยากให้เรื่องนั้นเป็นแค่อดีต ป๊อบไม่สามารถที่จะกลับไปคบกับแอนแบบนั้นได้อีกแล้ว เพราะป๊อบ เริ่มรู้ใจตัวเองว่า เธอรู้สึกกับโน้ตมากกว่าความเป็นเพื่อน แต่เธอก็ไม่สามารถบอกความรู้สึกนี้ให้โน้ตรู้ได้เลย เพราะ โน้ตได้แอบมาสารภาพกับเธอแล้วว่า โน้ตต้องการจีบแอน สาวที่ตรงสเปกเขาทุกอย่าง โดยที่โน๊ตไม่รู้ว่าความรู้สึกที่แอนมีต่อป๊อบนั้นจะทำให้แอนคิดกับโน้ตได้แค่คำว่า เพื่อน

…ความรักที่รักกันเป็นวงกลมนี้ ดูเหมือนจะมีบทสรุปที่ไม่มีใครจะสมหวังในความรักของตัวเองได้

…ยิ่งไปกว่านั้น ความรักที่เป็นความลับนี้ อาจสั่นคลอนความเป็นเพื่อนของชาว Roommate ได้ เพราะการเป็นรูมเมทกันและต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเดียวกันทั้งกลางวันและกลางคืนจะเป็นตัวเร่งให้ความลับนี้ ต้องเปิดเผยขึ้นมาสักวัน และเมื่อวันนั้นมาถึงไม่มีใครรู้เลยว่าความเป็นเพื่อนของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ความผูกพัน การเป็น Roommate และความฝันร่วมกันเรื่องเพลงของพวกเขาจะสามารถเกาะเกี่ยวมิตรภาพและคำว่าเพื่อนเอาไว้ได้หรือไม่

If Music be the Food of Love, Play on (Twelfth Night-William Shakespeare)


ทีมงาน

พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ (พี่ปุ๊ก) – โปรดิวเซอร์

ผลงาน

Producer + Director ไอ้ฟัก มะหมาสี่ขาครับ

Producer ไอ้ฟัก, กุมภาพันธ์, Ghost Game ล่าท้าผี, Coffin โลงต่อตาย, คริตกะจ๋า บ้าสุดสุด

Co-Produce สัตว์ประหลาด, แสงศตวรรษ

– เรื่อง Roommate เป็นโปรเจ็คต์หนังรักวัยรุ่น ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นอะไรที่เป็นกระแส เป็นอะไรที่ตามน้ำ เราก็เลยต้องคิดว่ามีอะไรในหนังรักเรื่องนี้ ที่จะทำให้คนดูรู้สึกว่าแตกต่างจากหนังรักเรื่องอื่นๆ อันนี้เป็นสิ่งแรกที่เป็นโจทย์ ที่ต้องเตรียมตัว พอได้โจทย์มาประมาณนี้ก็พยายามมองหา เริ่มจากดูเข้าไปในโปรเจ็คต์ พอดูปุ๊บก็ต้องเริ่มกันที่ตัวเรื่อง ก็ต้องให้เครดิตคุณปุ่น (ปิติ จตุรภัทร์) เพราะเป็นคนเริ่มโปรเจ็คต์นี้มากับทางบริษัทตั้งนานแล้ว เค้าก็มีพล็อตเรื่องที่น่าสนใจ เป็นความรักของคนที่เป็นรูมเมทกัน แล้วก็จะเป็นรักที่แตกต่างจากความรักที่เห็นได้ในหนังรักทั่วๆ ไปที่มักจะเป็นรักของคน 3 คนแบบสามเส้า แต่ความรักในเรื่องนี้เป็นรักแบบเป็นวงกลม คนที่ 1 รักคนที่ 2 คนที่ 2 ไปรักคนที่ 3 คนที่ 3 กลับมารักคนที่ 1 ความรักแบบนี้ดูเหมือนจะไม่มีใครเลยที่จะสมหวัง พอเรามองเห็นตรงจุดนี้ ในตัวโครงเรื่อง เราก็เห็นแล้วว่ามันมีความแตกต่างมันมีความเป็นตัวของตัวเอง จากนั้นก็เริ่มหาแนวทางการเล่าเรื่อง แนวทางการนำเสนอว่าจะเป็นยังไง เราก็คิดว่าน่าจะหาทีมที่ดูแล้วมีความสามารถและอยากคิดอะไรที่แตกต่างมารวมกัน

– เริ่มจากตัวผู้กำกับคือ “รัน” (กรัณย์ คุ้มอนุวงศ์) เค้าเคยมีอดีตที่มีประสบการณ์การเช่าบ้านอยู่กับเพื่อนๆ ทั้งชายและหญิงในสมัยทำกิจกรรมนักศึกษา เค้าก็จะรู้ว่าน่าจะทำให้อารมณ์รูมเมทออกมาประมาณไหน แล้วจะสมจริง อีกอย่างเราเคยร่วมงานกันมานานแล้วก็แน่ใจว่าเขาจะตอบโจทย์นี้ให้เราได้ เค้าเสนอว่าอยากให้หนังมี direction ที่เป็นหนังที่ไม่เน้นการเดินเรื่องโดย plot แต่จะเน้น mood สร้างอารมณ์จากลีลาของภาพและเสียงและเพลง เพียงแค่ให้อิสระกับนักแสดงที่จะคิดวิธีการแสดงเอง เพื่อให้ดูเหมือนไม่ได้พยายามแสดงอยากให้เป็นหนังที่ดูแล้วเชื่อได้ว่าเกิดขึ้นได้กับทุกคน

– นอกจากผู้กำกับแล้วก็มาถึงตากล้อง “เปีย” (ธีระวัฒน์ รุจินธรรม) เค้าเป็นตากล้องมีรางวัลการันตีและเคยเป็นผู้กำกับหนังมาแล้วล่าสุดก็เรื่อง “ปาฏิหาริย์รักต่างพันธุ์” การเป็นผู้กำกับมาแล้วทำให้เค้าสามารถเข้าใจที่จะใช้ภาพมาช่วยเสริม direction ของหนังได้ เค้าก็เสนอว่าให้ถ่ายแบบ handheld (แบกกล้องถ่าย) ทั้งเรื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับการแสดงที่ไม่ block นักแสดง ซึ่งการถ่ายแบบนี้จะทำให้กล้องสามารถไปแอบจับความรู้สึกของนักแสดงได้เป็นอย่างดีไม่ว่านักแสดงจะเคลื่อนไปทางไหนกล้องก็เคลื่อนไปรับได้ นอกจากนั้นการถ่ายแบบนี้ยังช่วยสร้าง look ที่แตกต่างของหนังรัก ที่เค้าบอกว่าเหมือนเป็นกะทิที่เอาไปตัดความหวานเลี่ยนที่เห็นอยู่ในหนังรักทั่วไป

– คนต่อมาก็ “บิ๊ก” production design โลเกชั่นที่เค้าเสนอคือบ้านที่อยู่กลางตลาด หนังรักทั่วไปที่ถ่ายเชียงใหม่บ้านตัวเอกมักจะอยู่ใน landscape สวยๆ ตามเนินเขาที่มีต้นไม้ครึ้มแต่ บิ๊กเลือกบ้านที่อยู่กลางตลาดและเป็นตลาดดอกไม้ที่ขายทั้งวันทั้งคืน เพราะเพื่อนกลุ่มนี้เป็นรูมเมทอยู่ด้วยกันตลอดทั้งกลางวันกลางคืน เราก็เห็นด้วย เพราะไม่ว่าเราจะถ่ายตอนไหนก็จะสามารถมีความสวยสดงดงามของดอกไม้มาอยู่ในหนังแบบไม่ต้องประดิษฐ์และดูสมจริง ซึ่งเขาก็มุหาจนได้ เป็นอันที่เราเห็นแล้ว เออถ้ามาทางนี้ดูแล้วแตกต่าง ดูแล้วไม่ซ้ำใคร ต้องบอกว่าเค้าหาบ้านได้อย่างดีมาก คือเป็นบ้านที่มีโครงสร้าง มีห้องเหมือนตึกแถว แต่มี space ที่ให้ชาวรูมเมทมาแชร์ชีวิตตาม lifestyle แต่ละคนได้ ชั้น 3 เป็นห้องนอน ชั้น 2 เป็นห้องนั่งเล่น ดาดฟ้าเป็นที่ที่คนจะไป hang ไปแอบส่วตัว ความรู้สึกเมื่อเข้าไปรวมๆ จะเหมือนอยู่บ้าน อยู่หอ อยู่ที่พักที่เป็นรูมเมทจริง

– อีกคนนึงเราก็ชวน “ป๊อป” Stylist ซึ่งเค้าเคยมาช่วยตอนทำโปรโมชั่น “ไอ้ฟัก” ก็คุยว่า concept เป็นไง เค้าก็บอกว่าถ้าแบบนี้ไม่อยากให้เป็นวัยรุ่นหวานแหวว เพราะมันเป็นนักดนตรี มันเรียนศิลปะ มันเรียนวรรณคดี ป๊อปใช้คำว่า “โมเดิร์น ฮิปปี้” ซึ่งมันฉีกจากหนังรักทั่วไปที่เด็กจะต้องแต่งตัวสวยสดใส เราก็รู้สึกว่ามันเข้ากันนะ ตั้งแต่ลีลาที่ผู้กำกับอยากจะให้หนังไม่ขยี้ เป็นหนังอารมณ์ เป็นหนังขาย mood ตัวตากล้องเสนอที่จะมา handheld เพื่อแอบจับตัวละคร ให้ตัวละครเล่นได้ฟรี โลเกชั่นที่อยู่บ้านหลังเดียวกันจริงๆ ไม่มีการแยกหลอกถ่าย นักแสดงจะ approach ได้อย่างดี และก็เป็นบรรยากาศในเชียงใหม่จริงๆ เดินลงมาเจอดอกไม้ ไม่ต้องประดิษฐ์ ไม่ต้องแอบสร้างสรรค์ขึ้นมา เพราะมันเป็นแบบนั้นจริงๆ แล้วก็รวมไปถึงเสื้อผ้า ที่ต้องเป็น โมเดิร์นฮิปปี้ พอมันรวมๆ กัน เราก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจ แล้วก็คิดว่ามันต้องเป็นหนังรักที่แตกต่าง

– แล้วก็โชคดีได้ “ครูเงาะ” :ซึ่งเป็นครูที่สอนการแสดงหนังวัยรุ่นมาหลาย ๆ เรื่อง เค้าก็มาละลายพฤติกรรมให้เด็กสนิทกัน และช่วยหาหาจุด Driveให้นักแสดง ชอบตรงที่ครูเงาะบอกว่าตัวละครของหนังเรื่องนี้มันเป็นจุด drive ของกันและกัน จุด drive ของบอลคือนุช จุด drive ของนุช คือ อลิซ จุด drive ของ อลิซ คือบอล รู้สึกว่าพอใจกับทีมมาก แม้แต่ตัว acting coach ก็มีแกนมีประเด็น เราเริ่มรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันไม่ใช่หนังรักวัยรุ่นลอยๆ หวานๆ ทำตามกระแสกันไปเรื่อยๆ พอประชุมก่อนเปิดกล้องเราก็เริ่มมั่นใจว่ามันจะเป็นหนังรักที่น่าสนใจ หนังรักที่แตกต่าง จากนั้นก็ work ในเรื่องของเพลง คุณกรัณย์เค้ามีความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก การเลือกเพลงแต่ละเพลงของเค้าก็จะมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับอารมณ์ตรงนั้น และเป็นเพลงที่เพราะทุกเพลง หนังรักเรื่องนี้มันเลยเป็นหนังที่วัยรุ่นสามารถเข้าถึงได้ ก็เลยมั่นใจในโปรเจ็คต์ Roommate ที่สร้างความต่างในลักษณะหนังรักวัยรุ่นในเมืองไทยได้หลายแง่มุม

– ในเรื่องการร้องเพลง เรามีการแคสตัวละครที่ต้องร้องเพลงโดยที่ไม่รู้ว่าร้องได้หรือไม่ ก็ยังคิดว่าถ้าไม่ได้ก็ lipsync แต่โชคดีตรงที่พอเค้าร้องแล้วทำได้ดี ก็คงต้องให้เครดิตน้องที่มีเสียงร้องที่ดี เข้าใจอารมณ์เพลง แต่ว่าเรายังต้องกล่าวถึงอีก 3 คนคือครูที่สอนร้อง แล้วก็ครูที่สอนวิธีร้องเพลง คือครูนิกที่มีฟ้า และครูอิน บูโดกันกับครูเต๋า ที่เคยคุมร้องนักร้องมีชื่อ การร้องก็ไปได้ดี และเราก็พอใจ ส่วนการร้องของอลิซจะเป็นการร้องในการโปรโมทไม่ได้มีอยู่ในเรื่อง

– ในหนังเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะดูภาพรวม โดยเริ่มจากหาความแตกต่างของหนัง การคัดเลือกทีมงาน และคัดเลือกนักแสดงที่พอมาผสมกันแล้วมีคุณภาพที่ดี ความเป็นนักแสดงหน้าใหม่ที่จะดึงดูดคนดูได้ แล้วก็ช่วยไกด์แนวทางในการทำให้แพคเกจนี้มีความแตกต่างในความใหม่ในหนังวัยรุ่น เพราะเราเชื่อว่าหนังรักหนังวัยรุ่นต้องมาเต็มกระบุงแน่ ๆ ในปีนี้ เราก็เลยต้องมีจุดหมายว่าจะต้องทำให้เป็นหนังรักที่แตกต่าง เพื่อให้คนดูรู้สึกว่าน่าดู อยากดู ไม่ซ้ำกับหนังรักที่ผ่านๆมา นั่นคือสิ่งที่เราต้องเข้าไปช่วย เมื่อเราเห็นแนวทางที่วางแล้วมันประสานกันได้ หน้าที่ต่อไปของโปรดิวเซอร์คือให้แต่ละคนได้ทำในสิ่งที่ตัวเองคิดได้เต็มที่ เท่าที่เราจะ support ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ สวัสดิการการทำงาน หลายๆ อย่าง เพื่อให้เกิดงานที่ดี

– การทำงานเริ่มมาจากดูที่ประเด็นเนื้อหาของภาพยนตร์จริงๆ อย่างที่บอกต้องให้เครดิตคุณปุ่น คือเค้าคิดแนวเรื่องมาแตกต่างอยู่แล้ว คือรักที่เป็นวงกลม พอได้โครงเรื่องที่แตกต่าง เราก็เลยหาแนวทางอื่นที่แตกต่าง ซึ่งมันคือจุดที่เราเอามาจากแกนเรื่อง ที่อยากให้ต่างเพราะในช่วงนั้นจะมีหนังแนวนี้ออกมาเยอะ เพราะฉะนั้นถ้าไม่แตกต่าง หนังรักที่ออกมาตามน้ำ ตามกระแสหนังรักเรื่องอื่นๆ ที่มีมา เราก็เลยต้องทำให้คนดูเกิดความรู้สึกว่าทำไมถึงต้องไปดูหนังรักเรื่องนี้ มันไม่เหมือนกับเรื่องที่ผ่านๆ มาหรือ? อันนี้ก็เลยต้องพยายามหา และเผอิญโชคดีที่มีอยู่ในโครงเรื่องแล้ว มันก็ approach เข้าไปใน direction ของผู้กำกับ approach เข้าไปในการถ่ายทำของตากล้อง approach เข้าไปได้ในลักษณะของ production design ซึ่งอย่างที่บอกหนังไม่ได้เน้นเรื่อง ให้ไปดูอารมณ์ ความรู้สึก ให้ไปฟังเพลงเพราะๆ ให้ดูการ handheld ของกล้อง ดูบ้านที่อยู่กลางตลาด การแต่งตัวที่ไม่ได้ดูกระจองอแง ออกเป็นโมเดิร์นฮิปปี้ บางคนดูแล้วไม่ใสปิ๊ง เพราะมันเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่มันคุกรุ่น อยู่ในใจของคนที่รักแล้วบอกไม่ได้ ในการที่เห็น approach ของกล้อง เสื้อผ้าหน้าผมที่มันไปด้วยกันแล้วเนี่ยก็เลยเห็นทิศทางในการกำกับภาพยนตร์ของคุณกรัณย์ที่จะเป็นหนังรักเรียบๆ ไม่เน้นการฟูมฟาย แต่ด้วยตัวพล็อตเรื่องที่แตกต่าง และแนวทางการ approach ของทีมงานแต่ละคน เราก็เชื่อมั่นว่ามันเป็นหนังที่น่าสนใจตั้งแต่ก่อนเปิดกล้อง แล้วก็พอได้มาดูของจริงในวันถ่ายทำ เริ่มตั้งแต่เจอบ้านก็รู้สึกว่าบ้านมันเป็นสวรรค์บ้านเช่า คือถ้าเราจบ ม.6 ไป ก็อยากจะมีบ้านแบบนี้อยู่กับเพื่อน คุณบิ๊กและทีมงานได้ทำให้เราเห็น เรารู้สึกว่าถ้าเราเป็นเด็กๆ มีบ้านอย่างนี้อยู่ มีมุมนึงไว้ซ้อมดนตรี มีมุมนึงไว้วาดรูป มีมุมส่วนตัวทำกิจกรรม ใครชอบฟังเพลงก็ฟังเพลง ใครชอบสงบ ปลูกต้นไม้ไป เราเห็นชีวิตในฝันของการมีบ้านเช่าที่สวยงาม มีบันไดเดินถึงกันได้ เราเริ่มรู้สึกว่าเค้าทำได้ดีจริงๆ

– แล้วก็เห็นวิธีถ่ายทำแบบ handheld ที่สามารถ cover มุมอื่นๆ ได้ ได้เห็นวิธี work กับตัวละครของคุณกรัณย์ที่จะ work กับน้องๆ ที่เป็นนักแสดงใหม่ ที่ให้เขาเข้าใจในบุคลิกของตัวละคร พอเค้าเข้าใจแล้วเค้าจะรู้สึกกับสิ่งที่เกิดขึ้น มันจะเป็นการกำกับนักแสดงที่ไม่ได้กำหนดว่าให้ทำแบบโน้นแบบนี้ มันเป็นวิธีการทำความเข้าใจให้นักแสดง การแสดงที่เห็นก็เลยดูเป็นธรรมชาติ ดูแล้วเชื่อว่าน้อง ๆ เค้ารู้สึกอย่างนั้น รู้สึกว่าเค้าแอบรักกัน อย่างตอนซ้อนมอเตอร์ไซค์ เราก็ดูแล้วรู้สึกว่าไอ้คนให้ซ้อนมันหลงรักคนซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ พอวันถ่ายจริง 10-20 คัทแรก เราก็มั่นใจได้เลยว่าแนวทางการ approach ไม่ผิดทาง การที่เปียตามตัวละครไปได้อย่างดี เห็นแง่มุมการแสดง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการถ่ายแบบนี้มันจะเปลือง แล้วยิ่งเรายืนยันว่าหนังเรื่องนี้ต้องถ่ายด้วยฟิล์ม เราจะไม่ไปตามกระแส HD เด็ดขาด เพราะหนังเรื่องนี้มันเป็นหนังที่ต้องการอารมณ์ความรู้สึก ถ้าถ่าย HD ภาพจะกระด้างสู้ฟิล์มไม่ได้ การApproach การถ่ายด้วยฟิล์มมันถูกวิธีแต่เปลืองเงิน เพราะต้องถ่ายเผื่อมุมและลีลาต่าง ๆ แต่เราเห็นว่ามันเหมาะสมสำหรับทางของหนัง ที่จะแอบเก็บความรู้สึกของตัวละครที่มันบอกรักไม่ได้ ที่มันแอบรัก เมื่อทำงานเรามี editor ตัดต่อวางเป็นไกด์ 2 วันเราก็กลับมาบอกทาง excecutive producer คือคุณพิชญ์ ได้เลยว่า มั่นใจว่าหนังรักเรื่องนี้แตกต่าง จะเป็นหนังที่ดีที่ทาง motif+ จะภูมิใจได้ เราคิดว่าเราได้ชิ้นงานที่ดีแน่ เน้นความสนุก เน้นให้เด็กไปดู ให้เห็นว่าหนังรักวัยรุ่นสามารถฉีกความจำเจได้ ในเรื่องความรักที่ให้แง่คิดว่าความเป็นเพื่อน กับการมีความรักในหมู่เพื่อน แนวทางที่เด็กจะรู้สึกและทำได้คืออะไร คงไม่ได้สรุปว่าอะไรดีหรือไม่ดี แต่เราจะพูดในเรื่องความรักในหมู่เพื่อนที่ถ้าเป็นเพื่อนในรูมเมท มันเป็นเรื่องต้องห้าม รักกันไม่ได้ แล้วถ้ามันเกิดขึ้นกับพวกคุณ ลองใช้หนังเรื่องนี้เป็นกระจกแล้วจะทำยังไงกับมัน

เรื่อง Roommate จะว่าไปมันก็เป็นพล็อตทั่วไป เรียกง่ายๆ ว่าเป็นรัก 3 มุม มีเรื่องราวอย่างนี้อยู่เยอะแล้ว ความน่าสนใจของมันเป็นอีกมุม ของคนที่อยู่ด้วยกัน การทำให้ต่างก็คือต้องทำให้เป็นหนังวัยรุ่น เด็ก 5 คนอยู่ด้วยกัน หาความเป็นวัยรุ่นอยู่ตรงไหน ควรเล่าเรื่องราวอยู่ตรงไหน หาแนวทางที่จะฉีกไปจากปกติ กลุ่มตัวละครก็ค่อนข้างแตกต่าง ต้องหาความรู้สึกที่แตกต่าง

– แนวทางการนำเสนอของเรื่อง Roommate มันจะไม่ใช่รักรุม แบบสองคนรุมรักคนคนเดียว แนวทางจะไม่ใช่แบบรักสามเส้า แต่มันคือ 1รัก2, 2รัก3, 3รัก1 แล้วอีกอย่างก็คือมันเป็นเรื่องของความรู้สึก มันเป็นเรื่องอารมณ์มากกว่า คือในเรื่องมันจะพูดถึงการรักเขา มันเกิดการไม่พูดคุยกัน เกิดจากการไม่กล้าแสดงออก เก็บความรู้สึก พอเก็บความรู้สึกมากๆ เข้า มันก็เกิดอาการเสียใจ น้อยใจขึ้นมา มันเป็นรักแบบโดมิโน่ แต่ต่างคนต่างไม่รู้กัน แล้วพอวันหนึ่งมันระเบิดขึ้นมา ซึ่งเป็นความรู้สึกที่คิดกันไปเอง ซึ่งโดยตัวพี่ พี่รู้สึกว่ามันต้องเกิดจากการยอมรับ แต่ด้วยความที่เรื่องมันเกิดกับวัยรุ่น มันระงับอารมณ์กันไม่ได้ มันก็เลยแตก ถ้าเพื่อนสนิทรักกันมาก แล้วมีความเข้าใจกันอย่างสูงก็จะไม่เกิดการทะเลาะกัน ในเรื่อง Roommate จะเหมือนเป็นไกด์ในเรื่องความเสียสละของเพื่อน อย่างในเรื่องจะเห็นจุดที่พี่นำเสนอคือผู้หญิงรักผู้ชาย ผู้ชายรักผู้หญิงอีกคน แต่สุดท้ายผู้หญิงอีกคนหนึ่งเสียสละให้ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง

– ใน Roommate มีความรักความผูกพันกันแบบเพื่อน เมื่อเพื่อนรักกัน วนเวียน ฟูมฟาย บทสรุปของการแตกกันมีคนเสียสละ อย่างในหนังสือปรัชญาชีวิตของ “คาริล ยิบราน” ที่บอกว่าความรักไม่ครอบครองความรัก ความรักที่ต้องเสียสละ ซึ่งในชีวิตจริงมันทำยาก ต้องเป็นรักที่ไม่ครอบครอง รักต้องยอม เหมือนเรารักต้นไม้ รักสัตว์ แต่ว่ามันเป็นสิ่งยึดอันหนึ่งที่เราจะไม่เสียใจ ถ้าเราไม้รู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของ เราก็จะไม่เสียใจ แต่มันอาจจะล้ำไป ซึ่งเด็กเนี่ยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นอารมณ์ ยิ่งปี 1 ปี 2 ปี 3 อย่างในเรื่อง พี่รู้สึกว่าพอไม่ได้ดั่งใจก็จะหนีปัญหา ตัดเพื่อน ตัดพี่ ซึ่งบางคนอาจจะรุนแรงกว่านี้ แต่ในเรื่องนี้มีความรักกันอยู่ 3 คนเป็นโดมิโน่ แต่ความรัก 3 คนที่เกิดปัญหากันทั้งหมดร้อยเรียงกันด้วยความเป็นรูมเมท ความเป็นวงดนตรีวงหนึ่งที่มีอุดมการณ์ร่วมกันมีจุดหมายเดียวกัน มีฝันเดียวกัน มันก็เลยยังกลับมาได้

– ในเรื่องเป็นการถ่ายทอดมุมประสบการณ์ที่พี่เคยเจอมามาถ่ายทอดให้เห็นเป็นรายละเอียดในเรื่องรูมเมท พี่รู้สึกว่าการเป็นเพื่อนกัน อยู่ด้วยกัน แล้วมีความรัก อย่างน้อยก็ต้องมีเรื่องความเสียสละอยู่บ้าง ไม่ใช่เอาแต่ใจ อย่างน้อยพี่ว่าเป็นผู้หญิงด้วยกันถึงจะไม่ใช่เพื่อนสนิทกัน หรืออยู่คนละฝ่าย ควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา สุดท้ายตัวละครในเรื่องเหมือนจะลงเอยด้วยดี แต่ก็ไม่ได้บอกว่าต่อไปอีก 3 เดือน 6 เดือน เค้าจะลงเอยต่อมั้ย ไม่มีใครบอกได้หรอก มันคือช่วงชีวิตนึงที่น่าจะทำความเข้าใจกับมัน แล้วก็ใช้ชีวิตกับมันอย่างมีคุณค่า ซึ่งทั้งหมดที่พูดมาจะคล้ายกับตอนที่พี่ทำคริตกับจ๋าว่าไม่ว่าใครจะเป็นอะไร เราก็ควรจะรักกัน ไม่มีใครผิด ไม่มีใครสมประกอบ ไม่มีใครเพอร์เฟ็กต์ แต่ถ้าอยู่กันด้วยความรักโลกมันจะสวย

– เป็นหนังที่เล่าด้วยภาพเยอะ เป็นหนังที่เน้น mood ความรู้สึกของการอยู่ร่วมกัน ด้วยความ approach วิธีเล่าให้เด็กเกินกว่าวัยนิดหน่อย เป็นเด็กที่ไม่เรียบร้อย กล้องก็จะไม่ตั้งขา ต้องแบกถ่าย แต่ว่าโดยตัวเนื้อภาพก็มีความคิด ความรู้สึกที่เราสัมผัสได้ ร่วมงานกับพี่เปีย เป็นเรื่องแรกที่ทำเต็มที่ ก็มีการคุยกันก่อน ต้องเห็นเหมือนกัน ต้องไปด้วยกัน กล้องกับการแสดงต้องไปด้วยกัน

– เรื่อง Roommate เป็นพล็อตที่เล็กและใกล้ตัวมาก มันจะไม่ใช่พล็อตแบบยอดมนุษย์ จุดจบของทั่วไปพระเอกนางเอก เพราะมันเป็นเรื่องแก๊งของเด็กที่เกิดขึ้นได้จริงๆ ดำเนินไปตามวิถีชีวิตปกติของวัยรุ่น มันเป็นความปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน

– ในเรื่องตัวแสดงตอนแรกมี 4 คน คนสุดท้ายเป็นแอน 4 คนแรก ด้วยพล็อต รู้สึกแก๊งแคส รูมเมท มันลงตัว มันธรรมดา ไม่ใช่ star รู้สึกว่ามันเข้าถึงตัวละครที่วางไว้ แต่ตัวแอน ต้องการความเป็น star มันเป็น dream girl ของวัยรุ่นก็เลยเลือกน้องมาทำในตรงนี้

– ถ้าจะพูดถึงการทำงานกับนักแสดงทั้ง 5 คน บอกได้เลยว่าไม่มีใครเรื่องมาก มีความรับผิดชอบดี ตรงต่อเวลา ตั้งใจ ซึ่งในการทำงานพี่จะเท้าความในหนัง แล้วเอาคาแรกเตอร์ในหนังมาเปรียบเทียบกับนักแสดง เพื่อทำให้ตัวน้องๆ เข้าใจมากขึ้น เหมือนมีคำถามล้อม ๆ โดยบอลกับอลิซค่อนข้างจะต้องงานหนักสุด ส่วนตัวน้องนุชที่เราเลือกมา เพราะด้วยความเป็นตัวของน้องเค้าเอง มันคือใช่ในคาแรกเตอร์ที่วางไว้ แต่น้องนุชจะติดเรื่องภาษาที่เข้าใจความหมายไม่ค่อยชัด ติดเรื่อง ไดอะล็อก แล้วก็ฉากเต้น ตอนแรกให้ทีมงานที่สนิทๆ มาเต้น แล้วก็ต้องเอาทั้งกองเต้นเป็นเพื่อน

– ส่วนการทำงานร่วมงานกับทีมงาน อย่างโปรดักชั่นดีไซน์ก็จะมี reference มาให้ดู แล้วก็เลือก จะช่วยเรื่องภาพ เสื้อผ้าก็โอเค โดยสีสันคุมโทน ตากล้อง รวมถึงนักแสดงก็พอเหมาะพอควร

– ส่วนในเรื่องการเตรียมตัวนักแสดงก็ได้ครูเงาะ มาติวให้น้องๆ คือเราจะเน้นว่านี่ไม่ใช่การแสดง แต่ให้น้อง ๆ รู้สึกกันเอง โดยอธิบายว่าต้องการให้เล่นในแง่ไหน แค่ไหน อาจจะมีการ workshop ในการแสดงอีกทีหนึ่ง เล่นด้วยความรู้สึกมากขึ้น แสดงน้อยแต่มาก เล่นนิดเดียว รู้สึกเยอะๆ เป็นตัวละครเยอะๆ เรื่องนี้ได้เล่าแบ็คกราวน์ของตัวละคร ซึ่งในตอนแรกๆ ก็มีแอบห่วงๆ เรื่องที่นักแสดงไม่สนิทกัน แต่ต้องมาเป็นรูมเมท มันต้องอยู่กันมาเป็นปีแล้ว มันเป็นโจทย์ที่ยาก แต่พี่ก็ได้บอลกับเอ็มมี่มาเป็นคนรวมเพื่อน เพราะบอลและเอ็มมี่จะเป็นคนเฮฮา ชวนเพื่อนคุยโน่นนี่

– นอกจากเรื่องการอยู่ร่วมกันแล้ว พี่ยังมีอีกเรื่องที่ต้องให้น้องๆ ทำก็คือการเรียนดนตรี เพราะในเรื่อง Roommate น้องๆ ทุกคนจะต้องเป็นนักดนตรีมืออาชีพ แต่ด้วยระยะเวลามันจำกัด พี่ก็เลือกที่จะให้เค้าเล่นได้ในสิ่งที่กำหนด ด้วยการเรียนพื้นฐาน เอ็มมี่ก็ให้หัดไล่สเกล พอมาอยู่ในพาร์ทเพลง พี่ก็กำหนดช่วง แต่ยากสุดต้องเป็นบอล เพราะต้องเล่นเป็นมืออาชีพ เล่นจนมือพอง แต่บอลก็อยากเล่นให้ได้

– ความจริงตอนแรกเลยพี่อยากไปถ่ายทำที่ทะเล แต่ไม่ค่อยมีมหาวิทยาลัยที่เป็นที่รู้จัก แต่ที่เชียงใหม่มี มหา’ลัย ที่จับต้องได้ และตอนที่ไปถ่ายก็เป็นหน้าหนาวพอดี ซึ่งขอบอกว่าเชียงใหม่เป็นเมืองโรแมนติก มีศิลปวัฒนธรรม เป็นเมืองผสมที่ดูดี มีความรู้สึกของการเป็นคนเมือง รู้สึก art & culture เหมาะกับการถ่ายหนังรัก มันมีเสน่ห์ แรก ๆ จริง ๆ แล้วในส่วนของบ้านรูมเมทคือ ทีมที่ไปดู location แทบจะถอดใจแล้ว เพราะหาบ้านไม่ได้ ก็เลยไปนั่งจิบน้ำชากัน ที่ร้านเวียงจุมออน แล้วก็เผอิญเห็นบ้านนี้ ก็เลยขอเข้าไปดู พอได้ข้าไปดูก็ยิ่งใช่ใหญ่เลย ข้อดีของบ้านรูมเมทนี้คือมันสามารถทำให้เห็นการแสดงที่ต่อเนื่อง มีบันไดเชื่อมต่อกันสวยงาม นักแสดงเคลื่อนที่ได้อย่างธรรมชาติ ทำให้ approach การแสดงสอดคล้องกับ approach ของกล้องด้วย หนังเรื่องนี้เล่นเหมือนจริง เล่นยาว 2-3 นาที เล่นเหมือนอยู่บ้าน ไม่มีคัททิ้ง มันเป็นหนัง lifestyle วัยรุ่นที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งตัวพี่เองก็เคยใช้ชีวิตรูมเมทร่วมกับเพื่อน ๆ ในการทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ละครเวทีมาแล้ว ก็ได้ข้อคิดของการเป็นรูมเมทนะ คือถ้าเรามีปัญหาแล้วไม่พูดกัน มันก็จะคาใจ แล้วเข้าหน้ากันไม่ติด มันเหมือนเราต้องมานั่งคุยกัน ต้องโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ปัญหาจริงๆ ที่เจอ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเงิน ก็ต้องมีการหางาน แล้วก็ต้องมีกฎกติกาในการใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งในหนังเรื่องนี้ก็เน้นเรื่องราวการใช้ชีวิตวัยรุ่น ที่เวลามีอะไรก็ต้องพูดกันตรงๆ หนังเรื่องนี้พี่จะเน้นอารมณ์เยอะ เพราะฉะนั้นจะต้องดูด้วยความรู้สึก บางตอนมันก็เกิดขึ้นแบบไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล แต่ไม่ใช่หนังที่ไม่มีเหตุผลเลยนะ มันก็มีเหตุผลในตัวของมันเอง

เดชเวท แก้วมณี (พี่เต๋า) – ควบคุมการร้องเพลง

ผลงาน คุมร้อง – มิสเตอร์ทีม มาช่า นูโว ปาล์มมี่ / คุมร้องน้องนุช รูมเมท และ น้องอลิซ รูมเมท

– ด้วยตัวของนุช เค้าเป็นคนที่มีคาแร็คเตอร์ของตัวเองอยู่แล้ว แต่ว่าน้องเค้ายังไม่รู้วิธีที่จะนำออกมาใช้ ขี้อาย เราก็เลยต้องทำตัวเป็นเพื่อนเค้าก่อน ให้เค้าไว้ใจเรา แล้วเค้าก็จะไม่เกร็ง จุดเด่นของน้องนุช น่าจะเป็นที่เป็นคนที่มีพลังเสียงดี แต่จะติดตรงเรื่องของภาษาไทยที่น้องเค้าจะไม่ค่อยเข้าใจ แต่ถ้าได้รับการพัฒนาน่าจะไปได้ดีเลยทีเดียว

– ส่วนน้องอลิซ ด้วยความที่ตัวเค้าเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง มีความหวาดระแวงอยู่ เราก็ต้องพยายามเข้าหาเค้า จุดดีของอลิซคือ เป็นคนที่มีเสียงเซ็กซี่ ออกไปทางน่ารัก เราก็เลยมีการนำเพลงที่น้องจะร้องมาปรับเมโลดี้บ้างแต่ไม่เยอะ เพื่อให้เค้ากับเสียงของเค้า ทำให้เค้ารู้สึกว่าร้องง่าย สบายๆ งานที่ได้ก็เลยออกมาดี

– ด้วยความที่ทั้งสองคนไม่ใช่นักร้องมืออาชีพ เค้าก็จะมีขีดความสามารถอยู่ในระดับนึงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวิธีการออกเสียง ซึ่งเราก็สามารถมองข้ามไป แต่เราก็จะได้รับความสดใส ความน่ารัก ไม่ช้ำกลับมา โดยข้อห้ามคือห้ามนำไปเปรียบกับนักร้องอาชีพ เราก็จะฟังเสียงร้องของน้องๆ ได้แบบสบายๆ ซึ่งบางอย่างเราไม่จำเป็นต้องทำตามแบบแผนเสมอไป เราให้น้องร้องในแบบที่คนอยากฟัง ถ้าได้ฟังดูจะเห็นมุมมองใหม่ๆ เราจะเห็นความเป็นตัวเค้า ความสดใส ฟังแล้วต้องยิ้มแน่นอน

 

เอกศิษฏ์ มีประเสริฐสกุล (พี่ป๊อป) – Stylist

– เคยทำเสื้อผ้า หน้าผม ให้หนังมาตั้งแต่ปี 37 รวมทั้งหมด ก็ 35 เรื่อง อาทิ สตรีเหล็ก 1 และ 2, 15 ค่ำเดือน 11, บางกอกแดนเจอรัส, 303 กลัว กล้า อาฆาต, แจ๋ว, วัยอลวน, สี่แพร่ง, โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต แล้วก็มาเรื่องนี้ Roommate ที่มาทำเรื่องนี้เพราะพี่เจอพี่ปุ๊กบ่อยๆ และเคยร่วมงานกันมาก่อน ตั้งแต่ตอนโปรโมทเรื่อง ไอ้ฟัก จากนั้นก็เจอกันที่ จีทีเอช ก็ได้ร่วมงานกันตลอด จนมาเรื่องนี้พี่เคยได้ยินเพลงแล้ว ก็บอกพี่ปุ๊กไปว่าเพลงเพราะนะ ในเมืองไทยไม่มีหนังเพลงมานานแล้ว พี่ปุ๊กเห็นพี่สนใจก็เลยเรียกให้มาทำเรื่องนี้ ตอนมาทำก็คิดหนักนะเพราะได้รับโจทย์มาจากพี่ปุ๊ก พี่ต้องตีโจทย์ให้แตก ต้องมองถึงที่มาของแต่ละคน เช่นตัวน้องอลิซ ที่มีที่มาของตัวเองว่าทำไมต้องมาอยู่ที่นี่ มีนิสัยแบบไหน เรียนเอกวิชาอะไร ผ่านอะไรมาบ้าง แล้วเราก็เอามาคิด ต้องหาสไตล์ใหม่ให้ ต้องเป็นผู้หญิงยังไงที่ผู้ชายไม่มอง

– ตอนทำงาน Roommate ก็มีพี่ปุ๊กซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์มาช่วยดูในเรื่องนี้ด้วย เราก็ทำงานแบบสนุก แล้วก็ได้แนวออกมาเป็นแนว ฮิปปี้โมเดิร์น มันเกิดส่วนผสมของแต่ละคาแร็คเตอร์มาอยู่ร่วมกัน มีการเติมกลิ่นอายของความเป็นเชียงใหม่เข้าไป เพราะพี่ป๊อปเคยไปถ่ายหนังมาบ่อย ก็ได้ไปเก็บเกี่ยวมาใช้กับงานชิ้นนี้ เพราะเรื่องมันเกิดที่นั่น พอดีพี่ก็มีเพื่อนเป็นดีไซเนอร์ที่นั่นด้วย ก็เลยหยิบยืมของมาใช้ในการแต่งตัวนักแสดง ก็จะเห็นว่าจะมีส่วนผสมของความเป็นล้านนาอยู่ด้วย อย่างเอ็มมี่ เป็นเด็กวิจิตรศิลป์ ก็เต็มที่ที่สุด มีเครื่องประดับเยอะสุด ส่วน นนน์ เป็นเด็กผู้ชายที่เรียนเกษตร เรียนเกี่ยวกันสัตวบาล เราก็จะเติมคาแร็คเตอร์ให้นนน์เป็นคนติดบ้าน มีความเป็นอาร์ต สไตล์การแต่งตัวเลยออกมาแบบนั้น

บอล กับอลิซ เรียน มนุษยศาสตร์ เอกวรรณคดี สไตล์การแต่งตัวก็ต้องมีการผสมอีกแบบ ให้มีความเป็นนักร้อง มีความเป็นศิลปินในตัวเองนิดหน่อย แต่ไม่เท่าเอ็มมี่กับนนน์ ส่วนคนสุดท้าย คนนี้ค่อนข้างเป็นตัวแปรแบบสวยงาม นั่นคือน้องนุช จะต้องมีความเป็นผู้หญิง เราก็เลยเติมความเป็นวินเทจเข้าไป

– ในเรื่องทรงผม เราก็คิดว่าต้องไม่มากเกินไป เพราะทุกคนเป็นนักศึกษาอยู่ คงไม่ได้มีเวลาเข้าร้านทำผมบ่อยมาก จะต้องเป็นอะไรที่รู้สึกว่าทำกันเองได้ ทรงมันก็เลยออกมาเป็นแบบที่เห็น

 

ธีรวัฒน์ รุจินธรรม (พี่เปีย) – กำกับภาพ

ผลงาน – ซุ้มมือปืน (ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์), 14 ตุลา คนล่าจันทร์ (รางวัลตุ๊กตาทอง), ขุนแผน (รางวัลตุ๊กตาทอง), หลวงพี่เท่ง 2, ท้าชน, นากปรก, ล่า-ท้า-ผี, 102 ปิดกรุงเทพปล้น, รักสยามเท่าฟ้า, ฝันหวานอายจูบ ตอน อาย

– การได้มาร่วมงานใน Roommate กับ ปุ๊ก พันธุ์ธัมม์ และ รัน ผู้กำกับ อาจจะเป็นเพราะรู้จักและเคยร่วมงานกันมาก่อนในหนังเรื่อง ล่า-ท้า-ผี ก่อนทำงานก็มีการพูดคุย ประชุมกับทีมงานกันก่อน ปุ๊กก็บอกว่าตัวหนังเป็นหนังรักวัยรุ่น เป็นรักของคนสามคน พาร์ทที่สองก็จะเป็นพาร์ทเกี่ยวกับดนตรี ด้วยความที่ทั้งโปรดิวเซอร์และผู้กำกับเป็นคนที่ open อยู่แล้ว เราก็เลยสามารถเสนิไปว่าเอาภาพเป็น Handheld เลยมั้ย มันจะได้เกิดความต่างจากหนังรักเรื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งอาจทำให้บางจังหวะแก้เลี่ยน สร้างสไตล์ให้หนัง ปล่อยให้นักแสดงเล่นไป ไม่ต้องมีการบล็อก แต่ว่าก็มี Direction ของมัน ตอนแรกเค้าก็ไม่กล้า กลัวออกมาไม่ดี เป็นหนังดาร์ก (Dark) ผมก็เลยลองถ่ายให้ดูเอามาเปรียบเทียบกับภาพจากหนังที่ถ่ายผ่านกล้องธรรมดา ซึ่งพอเค้าเห็นก็โอเค ให้ทำได้เต็มที่ แต่ก่อนถ่ายผมก็เสนอไปว่าถ้า Handheld ก็ต้องมีกฎว่าต้อง Handheld ทั้งเรื่อง เพื่อความเป็นแนวของหนังเรื่องนี้ ซึ่งก็อยากฝากให้ดู แล้วจะเห็นว่าเรื่อง Roommate เป็นหนังที่ฉีกไปจากเดิม เพราะการถ่าย Handheld ก็เหมือนกับกะทิเค็มๆ ที่นำไปใส่ในขนมหวานเพื่อแก้เลี่ยนให้กับคนดูได้ครับ

 

รสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ)- Acting Coach

– ผลงานที่ผ่านมาก็มีการสอน workshop นักแสดงก่อน แล้วก็มีออกกองตามงานบ้าง อาทินักแสดงจากเรื่อง แฟนฉัน, เพื่อนสนิท, แจ๋ว, Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย, บอดี้#ศพ19 ที่เคยผ่านคอหนังชาวไทยมาแล้ว

– และตอนนี้ก็มาสอนการแสดงให้กับนักแสดงเรื่อง Roommate เพราะพี่ปุ๊ก พันธุ์ธัมม์ และ พี่รัน (ผู้กำกับ) ติดต่อขอให้เรามาช่วยสอนน้องๆ ในเรื่องนี้ ตอนที่รู้ว่าเราต้องมาสอนน้องๆ ในเรื่อง Roommate ก็มีการเตรียมตัวโดยการอ่านบทตีความ แล้วจากนั้นก็ไปตีความกับนักแสดง เพื่อหาความต่างและคล้ายของตัวแสดงจะได้ปรับให้เข้ากับนักแสดงอีกทีหนึ่ง เพราะโดยหน้าที่ของเราก็คือหาให้เจอว่าตัวละครต้องการอะไร มีแรงจูงใจอะไรในชีวิตมัน ซึ่งบางคนจะมีหรือไม่มีก็ได้ อย่างเช่น นุชในเรื่องถูกขับเคลื่อนโดยป๊อป ป๊อปถูกขับเคลื่อนโดยโน้ต และโน้ตก็ถูกขับเคลื่อนโดยแอน ซึ่งแต่ละคนก็ต่างมีแรงผลักดันกันและกัน พอพบว่าแต่ละตัวละครมีแรงจูงใจอะไร เราก็เอาไปคุยกับน้องๆ นักแสดงว่าตัวละครน่าจะมีการแสดงออกมาเป็นแบบไหน ยังไง

– ในเรื่องการทำงานกับผู้กำกับก็ประทับใจเค้าตรงที่เค้าเป็นคนที่ใส่ใจในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เป็นคนมีความละเอียด ซึ่งต้องมีในผู้กำกับทุกคน แต่ว่าทางพี่รันเค้ามาจากทางสายละครเวที เค้าจะสามารถลงลึกมากกว่า ทุกขั้นตอนมีการตรวจเช็ค แต่ก็ให้เกียรติคนทำงาน คือเราสามารถที่จะเสนอ หรือ comment อะไรได้ พี่รันจะรับฟังและถ้าอันไหนดีเค้าก็เอาไปปรับแก้ให้

– ก็อยากจะบอกว่านักแสดงเรื่องนี้เป็นนักแสดงที่มีพัฒนาการ อย่างเวลาสอนบอลในเรื่องนี้ เราต้องกดลงมาให้บอลนิ่งขึ้น เพราะความสดใสร่าเริงมีมากกว่าสมัย Seasons Change ซึ่งในบทบาทของทั้งสองเรื่องก็ไม่ค่อยจะแตกต่างกันมาก แต่เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง และพัฒนาของบอลเยอะมาก ส่วนอลิซ เค้าเป็นเด็กที่ไว ตัวจริงไม่ห้าว เค้าสามารถเข้าใจ และปรับได้ไว เอ็มมี่ เป็นเด็กที่เข้าใจการแสดง แต่เป็นคนที่พูดเร็ว ก็ต้องมีการปรับเรื่องการพูด เพราะเอ็มมี่มีวิธีการพูดแบบเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ คงต้องเน้นการปรับคำพูด ต้องให้พูดให้ช้าลง พูดให้ครบ พูดให้เว่อร์ไปเลยในการฝึก แต่สำหรับเรื่องนี้มีเวลาในการฝึกน้อย เพราะจะติดปัญหาตรงที่คิวที่ไม่ตรงกัน คำพูดบางคำของเอ็มมี่ก็อาจจะฟังไม่ค่อยชัดเพราะความที่เค้าเป็นคนพูดเร็ว ส่วน นนน์ จะติดเรื่องของสมาธิ เค้าเป็นคนที่เข้าใจช้า แต่เป็นคนที่ตั้งใจมาก เค้าไม่พยายามเล่นจนเว่อร์ มีการสอนนนน์ว่าอันดับแรกต้องเข้าใจและสามารถมองเห็นภาพได้ก่อน ไม่ใช่ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง ต้องเข้าใจเป็นภาพ โดยให้ลองเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เห็นภาพ อธิบายให้เข้าใจ ก็จะต้องสอนให้เข้าใจในเรื่องของทฤษฎีก่อน แล้วจากนั้นนนน์ก็ทำได้ น้องนุช ตัวน้องมีธรรมชาติที่ดีอยู่แล้ว มีวิธีพูดที่ธรรมชาติ แต่เพราะความที่เป็นเด็ก จึงมีปัญหาเรื่องสมาธิ และขาดความมั่นใจ อย่างเรื่องร้องเพลง ก็ต้องบอกให้เอาสมาธิไปวางเอาไว้ที่ที่คุณต้องการปล่อยพลังไป เค้าถึงจะลดอาการเกร็งและทำได้

– ก็อยากจะบอกว่าหนังเรื่อง Roommateเป็นหนังไทยที่น่าดูเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อนรักเพื่อน ใครรักกัน แต่เป็นเรื่องการเติบโตของวัยรุ่น เป็น coming of age เพราะมันคือทฤษฎีของหนัง และเราจะได้เห็นความสวยงามของภาพด้วย รับรองว่าดูแล้วจะเห็นความเป็นตัวละครที่นักแสดงได้ถ่ายทอดออกมาแน่นอน

 

สิรนัท รัชชุศานติ (พี่บิ๊ก) – โปรดักชั่นดีไซน์

ผลงาน

ภาพยนตร์ – ล่า-ท้า-ผี

ภาพยนตร์ต่างประเทศ – Abnormal Beauty อ๊อกไซด์ แปง, Belly of the beach นำแสดงโดย สตีเฟ่น ซีกัล, James Bond 007-Tomorrow Never Die, Strealth

หนังโฆษณา – สไปรท์ ที่จีน ฝรั่งเศส, ระบบเครือข่ายโทรศัพท์อินโดจีน

– เริ่มงานตามโจทย์ที่ได้มา ตัว location ตามความต้องการครั้งแรก คืออยากเห็นความเป็นเชียงใหม่ อยากเห็นความแปลกของบ้านว่ามันสามารถเป็นที่อยู่ นักศึกษาที่รวมตัวกันเพื่อเล่นดนตรี และสามารถมีรายได้พอที่จะจ่ายได้ตามจริง ด้วยความที่เป็นนักดนตรีต้องใช้ชีวิตกลางคืนเยอะ ถ้าเลือกบ้านแถวตลาดดอกไม้ตลอด 24 ช.ม. ก็จะเห็นตลาดกลางคืนด้วย เพื่อเพิ่มบรรยากาศ เราก็เลยเลือกเอาบ้านแถวตลาดวโรรสเป็นบ้าน รูมเมท ซึ่งถ้าจะให้พูดถึงความแตกต่าง คิดว่ามันก็ไม่ค่อยแตกต่างจากบ้านหรือหอพักทั่วๆ ไปเท่าไหร่ แต่มันมีข้อดีตรงที่มีห้องส่วนตัว มีห้องซ้อมดนตรี และที่บ้านนี้พอดีมันมีโถงที่สามารถนำมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ มีดาดฟ้าที่สามารถใช้ซ้อมดนตรีได้จริง

– แรกๆ ที่เห็นบ้านนี้ก็รู้สึกเออมันจับต้องได้ เราก็เลยดีไซน์โดยการใช้แบ๊คกราวน์ตัวละครมาตกแต่ง อย่างในเรื่อง คนหนึ่งเรียนวิจิตรศิลป์ อีกคนเรียนเกษตร อีก 2 คน เป็นนักศึกษาวัยรุ่น โดยตัวบทเล่าเรื่องราวว่าเคยมีการเช่าของรูมเมทกลุ่มที่แล้ว ก็เลยดีไซน์ว่ามันเหมือนมีคนเคยอยู่อยู่แล้ว แต่ก่อนที่จะจัดการดำเนินการต่าง ๆ เราก็มีการคุยกับทีมงานคนอื่นๆ อย่างสไตล์ลิสท์ว่าเค้าดีไซน์ให้ออกมาแนวไหน อย่างในเรื่องบ้านนี้ต้องอยู่ร่วมกัน 4-5 คน ได้มีการนำเอาคาแร็คเตอร์ของแต่ละคนมาวางมาใส่ในดีไซน์ อย่างในเรื่องมีอยู่คนหนึ่งมาใหม่ ค่อนข้างมีฐานะ เพราะมาจากนอก ก็เพิ่มเติมดีไซน์เข้าไป มีการคุมธีมของมันอยู่ มีความเป็นฮิปปี้ตามที่สไตล์ลิสท์ต้องการด้วย

– ในการดีไซน์ธีมหลักคือ do it yourself หยิบจับอันไหนมาก็เป็นพร็อพ เป็นเฟอร์นิเจอร์ คือผมจะคิดเหมือนตอนที่ผมเรียนอยู่ว่าผมอยากได้โต๊ะเขียนแบบ แต่มันแพงเกินไป ก็มีการนำสิ่งของต่างๆ มา adapt ผมก็เอาประตูมาทำเป็นโต๊ะเขียนแบบ คือไม่จำแป็นต้องไปหาของที่มาจาก index เพราะผมเน้นที่ความเป็น reality จับต้องได้ อยากให้เห็นความเป็นวัยรุ่นที่เรานำเสนอที่จับต้องได้ แอบใส่ดีไซน์ของวัยรุ่นเข้าไป ให้คนดูหนังแล้วไม่เคอะเขินกับดีไซน์ท่ลงไป ดูแล้วกลมกลืน ดูเรื่ององค์ประกอบศิลป์ทั้งหมดให้กลมกลืน โดยก่อนที่จะดีไซน์อะไรต่างๆ ก็จะมีการเอาบทมานั่งตีความก่อน แล้วบอกว่ามีแนวทางแบบไหนดีที่ผู้กำกับเปิดกว้าง เราก็เลยดีไซน์กับทีมงาน แล้วก็เอาไปนำเสนอ ผู้กำกับก็โอเค เราก็ดำเนินการเลย

ทีมนักแสดง

วิทวัส สิงห์ลำพอง (บอล) รับบท “โน้ต” – มือกีตาร์ ปี 1 ฝีมือดี ชอบทำทุกอย่างที่ ยากและสูงส่ง ยกเว้นเรื่องเรียน

– ในเรื่องรับบท โน้ต เป็นนักศึกษาปี 1 วรรณคดีอังกฤษ แต่โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ไม่ชอบเรียน จะเป็นพวกที่ชอบนั่งหลับในห้อง แต่เผอิญมีเพื่อนร่วมวงดนตรีที่เรียนอยู่ห้องเดียวกันคอยให้ลอกเล็กเชอร์ ซีร็อกซ์เล็กเชอร์มา คอยติวให้ ก็เลยสบายๆ ก็เหมือนเป็นเด็กนักเรียนที่ขี้เกียจนิดหน่อย แต่ตัวโน้ตเค้ามีความเด่นตรงเป็นนักดนตรีที่มีความสามารถ เป็นนักกีต้าร์ขั้นเทพ นอกจากเล่นกีต้าร์เก่งแล้ว ตอนที่อยู่ในวงเนี่ยทุกคนก็คาดหวังว่าโน้ตจะแต่งเพลงแรกของวงให้ได้ เพราะตอนนี้ที่เล่นจะเอาเพลงเก่าๆ ของคนอื่นมาร้องใหม่ตามประสานักดนตรี วงดนตรีใหม่ และตอนนี้ความฝันของวงก็คืออยากจะมีเพลงสักเพลงเป็นของตัวเอง โน้ตก็รับภาระนั้น แต่ด้วยความที่โน้ตมีนิสัยอย่างนึงคือมีนิสัยที่คิดว่าสิ่งที่ “ใช่” เนี่ยจะต้องยุ่งยากซับซ้อน ต้องเท่ห์ ต้องเทพ มันก็เลยทำให้การแต่งเพลงไม่จบซักที ทั้งๆ ที่มันเริ่มต้นมีเมโลดี้ที่ดีแล้ว แต่โน้ตก็ยังรู้สึกว่ามันยังไม่ซับซ้อน มันยังไม่ฟังดูแล้วได้ถ้วย ได้เหรียญ เพราะฉะนั้นคาแร็คเตอร์ของโน้ตเนี่ยคือคนที่คิดว่าสิ่งที่ใช่จะต้องซับซ้อนและยุ่งยาก และไม่เคยมองหาอะไรง่ายๆ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นนักดนตรีที่เก่ง

– ในเรื่องคาแรกเตอร์ของโน้ต ก็คงจะคล้ายๆ กันกับบอลในมุมการเป็นนักเรียน เพราะบอลก็เป็นนักเรียนที่ไม่ค่อยเรียน โน้ตก็เป็นนักเรียนที่ไม่ค่อยเรียน แต่ต่างกันในมุมที่โน้ตเป็นนักดนตรี แต่บอลไม่ได้เป็นนักดนตรี เพราะฉะนั้นความต่างตรงนี้ ที่โน้ต เป็นนักดนตรีที่เก่งเนี่ย ทำให้บอลต้องฝึกหัดให้เล่นแล้วคนเชื่อ ซึ่งก็มีพี่ที่เป็นนักดนตรีอาชีพ ชื่อ ครูแอ๊ด มาสอนอยู่ 2-3 เดือน ก็พยายามจะแกะคอร์ด แกะไลน์โซโล่ที่มันจะต้องใช้ในหนังให้ได้ อันนี้มันเป็นสิ่งที่แตกต่างกับตัวเอง คือต้องพัฒนาความเป็นนักดนตรีให้ดูในหนังแล้วเชื่อ

– ก่อนเปิดกล้องก็มีการเรียนการแสดงกับครูเงาะ ซึ่งก็เป็นครูการแสดงเดิมที่เคยได้เรียนกันตอนที่บอลแสดงเรื่อง Seasons Change ก็คุ้นเคยกันไปแล้ว และครูเงาะก็มาปรับให้บอลเป็นคาแรกเตอร์นี้มากขึ้น ส่วนที่ workshop เยอะคงจะเป็นในเรื่องดนตรีที่พอรู้ตัวว่าต้องเล่นปุ๊ปก็ต้อง workshop ดนตรีเลย กับ “ครูแอ๊ด” ซึ่งเป็นมืออาชีพ ในการสอนพี่เค้าจะบอกว่าให้จับให้ท่าเหมือนจับคอร์ดถูกก็พอ แต่บอลก็อยากจะเล่นให้ได้จริงๆ มาเล่นแรกๆ มาจับเอาให้มันไม่บอดเนี่ย นิ้วมันก็จะเจ็บ ก็เลยอาจจะเสียเวลาไปหน่อย แต่จริงๆ แล้วมันก็แค่จับผิวๆ ก็ได้ แต่เรารู้สึกเหมือนมันไม่ feel ถ้าเราจับแล้วตีคอร์ดแล้วอะไรมันไม่ดังเนี่ย ก็เลยพยายามเล่นให้มันใกล้เคียงที่สุด นิ้วก็เจ็บระบมไปหมด แต่ก็ทำให้เรารู้สึกชอบกีต้าร์ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งหลังจากที่เรื่องที่แล้วเราฝึกกลอง เรื่องนี้เราได้มาฝึกกีต้าร์ ไม่รู้ว่าเรื่องต่อไปจะมีฝึกคีย์บอร์ดรึเปล่า อาจจะทำให้บอลเล่นดนตรีได้ทุกชนิดในการถ่ายหนัง

– เรื่อง Roommate เป็นหนังความรักที่เราไม่เคยเห็นในหนังเรื่องอื่น โดยเฉพาะหนังไทย มันเป็นเรื่องความรักที่ บอลไปรักนุช ซึ่งรับบท แอน และแอนไปชอบป๊อป แต่ป๊อปซึ่งเล่นคีย์บอร์ดเนี่ย รับบทโดย อลิซ กลับมาชอบ บอล มันเป็นความพัวพัน ที่ต้องหลบซ่อนในความรักแบบวนไปวนมา เป็นวงกลม ก็เป็นรักที่แตกต่าง แต่เมื่อต้องมาอยู่ในบ้านเดียวกัน เจอกัน 24 ชั่วโมง ความอึดอัด ความอะไร มันคงจะสนุกสนานดี เลยคิดว่าจุดที่รู้สึกคงเป็นเรื่องที่มันแตกต่าง ในความแตกต่างมันทำให้เรามีการแสดงที่น่าสนใจ บอลว่าหนังเรื่องนี้ทำให้เราได้รู้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน มันต้องมีการพูดคุยถ้อยทีถ้อยอาศัยกันครับ แล้วก็เหมือนกับว่าต้องใส่ใจในกันและกันให้มากขึ้นครับ

อภัสนันท์ วรภิรมย์รักษ์ (อลิซ) รับบท “ป๊อป” – คีย์บอร์ดเพื่อนร่วมชั้นของโน้ตที่ภายนอกดูเป็นสาวห้าว แต่ลึก ๆ จิตใจอ่อนไหว

– คาแร็คเตอร์ในเรื่องเป็น ป๊อป เป็นมือคีย์บอร์ดที่อยู่วงดนตรี รูมเมท ซึ่งมีสมาชิก 4 คน มี โน้ต เล่นกีต้าร์ ที่รับบทโดย บอล มี โม เล่น เบส รับบทโดย เอ็มมี่ มี พี่นนน์ ตีกลองในคาแร็คเตอร์เป็น อี๊ด เป็นเพื่อนกัน 4 คน อยู่บ้านเดียวกัน รวมวงกัน อลิซกับบอล ป๊อปกับโน้ตอยู่ปี 1 ส่วน โมกับอี๊ดอยู่ปี 3 แต่วงเค้ามีปัญหา เพิ่งเปลี่ยนนักดนตรีไป เค้าก็เผอิญไปเห็นป๊อปกับโน้ตเล่นดนตรีตอนงานเฟรชชี่เค้าก็เลยเลือกมา เราก็เลยได้เป็นนักดนตรีประจำวง แต่มีกฏของวงคือย้ายเข้ามาอยู่บ้านเดียวกัน เราก็เลยได้เข้ามาเป็นรูมเมทกัน ได้ใช้ชีวิตด้วยกัน

– ตัวป๊อป ในอดีตตอนอยู่ ม.5 ม.6 เป็นผู้หญิงที่ดูห้าวๆ ในหมู่เพื่อน ตัดผมสั้น แล้วก็เล่นกีต้าร์ก็ดู แต่พอมาอยู่มหา’ลัย อยู่ปี 1 เราเริ่มรู้สึกว่าจริงๆ เราก็เป็นผู้หญิงคนนึง ที่มีความรู้สึกแบบว่า..ชอบผู้ชาย ในเรื่องก็คือเราชอบ โน้ต แต่ก็ต้องเก็บความรู้สึก เพราะความรู้สึกที่รักเพื่อนเนี่ย เราในฐานะตัวป๊อปคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ ยิ่งความเป็นเพื่อนอย่างที่เป็นรูมเมทกันเนี่ย มันไม่ใช่แค่มาเรียนแล้วเจอกันไป แต่มันอยู่กัน 24 ชั่วโมง มันมีความเป็นวงดนตรี มันเหมือนว่าเป็นอะไรที่ยาก ถ้าเราตัดสินใจที่จะบอกเค้า ถ้าเราบอกว่าชอบเค้า แล้วเค้าไม่ชอบเรา มันอาจจะทำให้วงดนตรีนี้แตก มันอาจจะทำให้บ้านรูมเมทนี้ไม่มีต่อไป มันเลยเหมือนเป็นความลับที่ต้องเก็บเอาไว้ในใจ จนกระทั่งวันนึง มี แอน ซึ่งรับบทโดย น้องนุช ซึ่งในเรื่องเหมือนเป็นความรักของเราในวัย ม.5 ม.6 ที่เราก็ยังไม่รู้ว่าเราเป็นยังไง เค้าขึ้นมาเชียงใหม่ เค้าจะมาตามว่าทำไมเราไม่ติดต่อไป ที่เราไม่ติดต่อไป เพราะรู้สึกว่ามันควรจะจบได้แล้ว เราเปลี่ยนไปแล้ว เค้ามาทวงถามมันก็เลยยิ่งยุ่ง เพราะเรามีความลับที่บอกโน้ตไม่ได้ แล้วยังจะมีความลับกลัวว่าคนจะรู้ว่าเรามีความรู้สึกยังไงกับแอนในอดีต แล้วที่ยุ่งกว่านั้นคือโน้ตก็มารักแอน มาชอบแอน เพราะเป็นสาวในสเป๊คของโน้ตเลย เสียงดี สูง สวย หมวย ขาว ขายาว หน้าลูกครึ่ง โน้ตก็เลยจะจีบแอน ส่วนแอนก็มาทวงความสัมพันธ์กับป๊อป แต่ป๊อปกลับแอบรักโน้ต อันนี้คือคาแรกเตอร์ของป๊อปที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ ก็เป็นคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจ เคยอ่านบทก็เออเรื่องนี้น่าสนใจ พอเค้าเลือกมาเล่นก็เลยไม่รีรอ

– ในเรื่อง ตัวป๊อป ต้องเล่นคีย์บอร์ด เราก็ต้องมาเรียน กับพี่ที่เป็นมืออาชีพ เป็นครูสอนเปียโน สอนคีย์บอร์ด เวลาเรียนเค้าจะมีออฟฟิศที่เป็นเหมือนบ้านของหนังเรื่องนี้ เค้าก็จะนัดเราไปพร้อมกัน นัดครูไปพร้อมกัน แล้วก็เรียนพร้อมกัน แต่แยกเรียน ห้องนึงเรียนกีต้าร์ ห้องนึงเรียนคีย์บอร์ด ห้องนึงเรียนกลอง แล้วพอถึงจุดนึงเค้าก็ให้ลองเล่นรวมกันบ้าง

– ในเรื่องนี้ อลิซ ต้องร้องเพลงด้วย แต่ไม่ได้เป็นเพลงในหนังนะคะ เพราะเป็นเพลงประกอบ mv ที่บอกถึงคาแร็คเตอร์ของป๊อปค่ะ พอได้มาเล่นเรื่อง Roommate เหมือนทำให้เราเรียนรู้การที่จะค่อยๆ เติบโตค่ะ ค่อยๆ เรียนรู้ ทำความเข้าใจคนที่อยู่ร่วมกันกับเรา ว่าเค้ามีความต้องการยังไง เราต้องการอะไร ในบางเรื่องเราก็ต้องพูดแบบเปิดอกกันบ้าง ถ้าเก็บอะไรไว้ในใจแล้วมันอาจจะทำให้เราต้องเจ็บปวดคนเดียว ทั้งๆ ที่ถ้าเราบอกไปบางทีผลอาจจะออกมาแฮปปี้ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องใกล้ตัวเราค่ะ

 

นีรนาท วิคตอเรีย โคทส์ (น้องนุช) รับบท “แอน” – สมาชิกใหม่ของวงที่เข้ามาเป็นนักร้องสาว เพื่อนสนิทป๊อบ

-คาแร็คเตอร์ที่นุชได้รับในเรื่อง Roommate เป็น แอน แอนเป็นเพื่อนของป๊อป ซึ่งปัจจุบันนี้ ป๊อปไปเรียนที่เชียงใหม่ แต่แอนเรียนอยู่ต่างประเทศ แต่ว่าในวัยที่เป็นนักเรียน ม.ปลาย แอน กับ ป๊อป นี่สนิทกันในความรู้สึกที่มากกว่าเพื่อน แล้วพอแยกกันไปก็ดูเหมือนว่า ป๊อป ก็ไม่ยอมติดต่อแอนเท่าไหร่ พอดีว่าแอนว่างจากการเรียนภาษาอังกฤษก็เลยกลับมากรุงเทพ และขึ้นไปหาป๊อปที่เชียงใหม่ เพราะมีบ้านอาอยู่ที่นั่น ก็เลยจะไปถาม ป๊อปว่า โกรธอะไร เพราะเราเองก็ไม่รู้สาเหตุ ตอนที่เราเรียนจบก็ยังดีๆ กันอยู่จนไปเมืองนอกมันมีความเปลี่ยนแปลง ก็เลยกลับมา โดยคาแร็คเตอร์ของแอน ก็คือ มีเป้าหมายที่จะมารื้อฟื้นความสัมพันธ์กับป๊อป

– โดยคาแร็คเตอร์เลย คือเป็นคนที่ร้องเพลงได้ เพราะในสมัยเด็กๆ ก็จะมีป๊อปที่เล่นดนตรี ส่วนแอนก็จะร้องเพลง เป็นคู่เพื่อนสนิทที่สนิทกันมากกว่าเพื่อน แล้วอีกอันนึงที่ระบุไว้ในบทก็คือ เราเป็นสาวที่ตรงสเป็คกับโน้ตที่เล่นโดย พี่บอล คือเห็นเขาบอกว่า สเป็คของโน้ต คือ เสียงดี สูง สวย หมวย ขาว ขายาว หน้าลูกครึ่ง และจะต้องมาเป็นนักร้องของวง พอโน้ตเจอผู้หญิงที่ตรงสเป็คแบบนี้เขาก็ชอบ และพยายามที่จะจีบทันที ส่วนเราตั้งใจที่จะมารื้อฟื้นความสัมพันธ์กับป๊อป ส่วนป๊อปเมื่อแอนมาถึงแล้ว แอนกลับรู้สึกว่า ป๊อปเปลี่ยนไป แต่ไม่รู้ว่าเปลี่ยนเพราะอะไร จนท้ายๆ เรื่องเราถึงมารู้ว่า ป๊อป เปลี่ยนไปเพราะรักโน้ต เพราะฉะนั้นคาแร็คเตอร์ของแอน คือ เป็นคนที่ชอบป๊อป แต่ป๊อปไปแอบชอบโน้ต แต่โน้ต มาชอบเรา มันก็เลยเป็นรักแบบวงกลมที่ใสๆ เด็กๆ โดยตัวเราเอง พอถูกป๊อปปฏิเสธว่าไม่ได้คิดเหมือนเดิมแล้ว เราก็คิดว่าไม่ได้ซิ แต่ในขณะที่โน้ตมาจีบเรา เราก็รู้สึกดีนะได้ไปเที่ยวไหนมาไหน เป็นความรักของเด็กที่ยังไม่รู้ว่าความรักคืออะไร ตรงนี้ก็เป็นตัวที่แอนคิดว่า เออมันก็เป็นเหมือนเราที่ความรักเป็นอะไรที่ค้นหา และก็แอนคิดว่าเรื่องราวเป็นเรื่องที่คิดว่าใหม่ ไม่เคยเห็นในหนังเรื่องไหนๆจะแอบรักกันแบบนี้ แต่ในรักแบบนี้ก็ไม่ได้มีอะไรที่ดูแล้วน่าเกลียด มันเป็นแค่ความรู้สึกของคำว่าเพื่อน ก็เลยคิดว่าสนุกที่จะแสดงก็ไม่ได้เกินวัยของนุช และในเรื่องนุชก็ต้องเป็นนักร้อง แต่นุชไม่เคยร้องเพลงมาก่อน ก็ได้มาเรียนเพิ่มเติมกับกับ ครูนิคที่มีฟ้า เรียนอยู่ประมาณ 7 ชั่วโมง ไปเรียนอยู่ 4-5 วัน แล้วก็เข้าห้องอัดเลยก็ได้ครูอิน บูโดกันมาโค้ชในการร้องและก็มี ครูเต๋าที่มาช่วยโค้ชในการร้องได้เรียนเท่านั้นแล้วก็ร้องเลย และพี่เขาก็เอามาใช้จริงในหนังเลย

– การทำงานหนังกับการเป็นนางแบบมันก็แตกต่างกันนะ นุชว่าเป็นนางแบบเราก็เหมือนไม้แขวนเสื้อ เอาไว้โชว์ชุดสวยๆ ของดีไซน์เนอร์ แต่งานหนังมันเหมือนต้องเข้าไปเป็นตัวแทนของวัยรุ่นกลุ่มนึง แล้วก็แสดงออกมาให้ทุกคนเห็นค่ะ ก็ค่อนข้างต่างกันมาก ๆ พอนุชได้มาเล่นเรื่อง รูมเมท เรื่องนี้มันทำให้นุชเหมือนได้เรียนรู้ว่าการมีชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นเป็นยังไง มันเหมือนได้ใช้ชีวิตอิสระ แต่จริงๆ แล้วมันก็ยังมีข้อจำกัดในการเป็นเพื่อนร่วมบ้านด้วย คือมันต้องมีกฎกติกาในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน มันจะต้องทำยังไงไม่ให้ผิดใจกัน อะไรประมาณนี้ค่ะ

 

มัฒธณิตาศ์ เศวตวิทยะธาดากุล (เอ็มมี่) รับบท “แตงโม” – มือเบสรุ่นพี่ปี3 สาวเปรี้ยวกล้าแสดงออก แต่อย่ามองมาก เดี๋ยวอาย

– ในเรื่องรูมเมท รับบทเป็น “แตงโม” เป็นมือเบส เป็นคนที่ดูห้าว ค่อนข้างโวยวาย แต่จริงๆ แล้วเป็นผู้หญิงที่ต้องการ ความรัก อยากได้ความรักจากคนรอบข้าง เป็นคนค่อนข้างโรแมนติก มีความฝันว่าอยากนอนบนกองกุหลาบเหมือนเรื่อง American Beauty ก็มีพูดเกริ่น ๆ กับ “นนน์” ที่เล่นเป็น “อี๊ด” แต่เค้าก็แกล้งทำไม่รู้ คือในเรื่อง “แตงโม” เป็นรุ่นพี่ปี 3 รุ่นเดียวกับ อี๊ด ซึ่งเป็นหัวหน้าวงรูมเมทและเป็นมือกลอง พวกเราค่อนข้างสนิทกัน เพราะจะว่าไปเราเคยอยู่ในวงรูมเมทนี้มาแล้ว แต่ตอนนี้นักดนตรีที่เคยเล่นดนตรีกับพวกเราแยกทางกันไป พวกเราสองคนก็เลยรับหน้าที่ทำวงรูมเมทขึ้นใหม่ และกำลังตามหาลูกทีมที่จะมาเล่นดนตรีร่วมกัน จนได้พบ “โน้ต” รับบทโดย บอล Seasons Change เป็นมือกีต้าร์ และ “อลิซ” ที่รับบทเป็น “ป๊อป” เป็นมือคีย์บอร์ด เลยชวนให้มาอยู่วงเดียวกัน และให้ย้ายเข้ามาร่วมบ้านกัน เพราะกฏของวงรูมเมทคือทุกคนจะต้องย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านเดียวกัน แตงโม ในเรื่องจะเป็นเหมือนเจ๊ใหญ่ประจำบ้าน คอยดูแลความเรียบร้อย และในตอนหลังก็ได้สมาชิกเพิ่มมาอีกคน คือ “แอน” รับบทโดยน้องนุช ซึ่งเป็นนักร้องนำประจำวงรูมเมทของเรา

– ก่อนแสดงจริง ด้วยความที่พวกเราทั้ง 5 คน ยังไม่เคยร่วมงานกันมาก่อน พี่ๆ ทีมงานก็เลยส่งพวกเราไป workshop กับ “ครูเงาะ” ซึ่งเป็น Acting Coach ครูเงาะให้เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เพื่อทำความรู้จักสนิทสนมกันก่อนเปิดกล้อง มีการปูพื้นฐานให้พวกเรา เพื่อเป็นการละลายพฤติกรรม และทำให้พวกเราเข้าใจในบทบาทของตัวเองมากขึ้น ซึมซับตัวละครที่เรารับบทมากขึ้น ก็ใช้เวลาอยู่กับครูเงาะประมาณ 2 เดือนค่ะ

– ส่วนในเรื่องดนตรี ด้วยความที่แตงโมในเรื่องต้องเล่นเบส เอ็มมี่ก็มีการเรียนเบสตั้งแต่พื้นฐานเลย รวมไปถึงเพลงที่จะต้องเล่นทั้งหมดในเรื่อง ตอนเรียนดนตรีเริ่มแรกเค้าให้เรียนตั้งแต่การไล่คอร์ด ไล่โน้ต ฝึกสเกล ฝึกนิ้วตัวเอง แล้วก็จะมีเพลงมาให้ลองเล่น บางเพลงคอร์ดเร็วมาก ถ้าไม่ได้เรียนก็จะเล่นไม่ได้ ตอนที่ถ่ายเอ็มมี่รู้สึกว่าเพลงที่ยากน่าจะเป็นเพลง “เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม” เพราะเป็นเพลงเร็ว การจับคอร์ดก็ต้องเร็วตาม คือต้องมีการฝึกนิ้วดีๆ ไม่อย่างนั้นกดผิดคีย์ ดนตรีก็จะเพี้ยนค่ะ แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าค่อนข้างยากทุกเพลงเลย ก็ต้องพยายามฝึกและทำให้ดี เพราะในเรื่องเราเป็นเหมือนนักดนตรีอาชีพไปแล้ว ก็ต้องฝึกเล่นให้เนียนค่ะ

– ในการเล่นเรื่องรูมเมท ทำให้เอ็มรู้ว่าการที่เราจะเป็นรูมเมทกันจะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน แชร์กันได้ทุกเรื่อง เป็นคนที่เราปรึกษาได้ทุกอย่าง แต่สำหรับการเป็นรูมเมท ก็คงมีข้อห้ามเหมือนกัน นั่นคือเรื่องความรัก เพราะนั่นอาจจะทำให้เราเสียสิ่งดีๆ ที่เราเคยทำมาด้วยกันก็ได้ค่ะ

 

ภูดิศ สุริยวงศ์ (นนน์) รับบท “อี๊ด” – หัวหน้าวง มือกลองรุ่นเดียวกับโม ชอบแกล้งโมแทนการบอกรัก โมเลยไม่รู้ซักที ว่าไอ้ที่แกล้งน่ะ เพราะชอบแกล้ง หรือแกล้งชอบกันแน่

– ที่ได้เข้ามาเล่นเรื่องนี้คงเป็นเพราะพี่เค้าถูกชะตากับเรามั้งครับ เพราะเรื่องนี้ผมไม่ได้แคสติ้ง แต่ว่ามานั่งคุยกับพวกพี่ๆ เค้าประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วก็กลับ หลังจากนั้นประมาณ 2-3 วันพี่เค้าก็โทรมาให้เราไปเล่น ในเรื่องรับบทเป็น อี๊ด เป็นผู้ชายอารมณ์ดี เป็นรุ่นพี่ พี่ใหญ่ของวงดนตรี เดอะ รูมเมท เป็นหัวหน้าวง เป็นมือกลอง เรียนปศุสัตว์ คณะเกษตรที่เชียงใหม่ อี๊ดเป็นคนไม่ชอบอะไรซ้ำๆ ไม่ชอบเหมือนชาวบ้าน และเป็นคนที่ไม่ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง ในเรื่องจะอยู่บ้านรูมเมทร่วมกับโมที่เล่นโดยเอ็มมี่ ก็จะเล่นเหมือนแฟนกัน เป็นแฟนแบบที่ไม่ยอมรับว่าเป็นแฟน

– อี๊ดจะเป็นเหมือนพี่ใหญ่ในบ้าน แต่จริงๆ หน้าบ้านจริงๆ ก็เป็นโมที่เค้าจะเป็นเหมือนหัวหน้าตัวจริง เราก็เป็นหัวหน้าในนาม โม ก็จะคอยจ้ำจี้จ้ำไชให้ทำนี่ทำโน่นทำนั่น โมก็จะทำกับข้าวมาให้เรากิน เราก็จะบ่นว่าซ้ำว่ะ ทำเหมือนเดิมทุกวัน แต่ก็กินนะ กินหมดทุกวัน แต่ก็บ่นๆ นั่นคือลักษณะของอี๊ด หรือถ้าโมเค้าจะมีความฝันอยากได้ดอกไม้เหมือนผู้หญิงทั่วไป เราก็จะบอกว่าซ้ำ ทำไมต้องทำซ้ำ เราจะรู้สึกว่าซ้ำว่ะ เรารู้สึกว่าเฮ้ย มันต้องมีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ก็จะไปเข้าทาง โน้ต เพราะตัวของโน้ตที่บอลรับบทเนี่ยเป็นคนที่ชอบทำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ แต่งเพลงก็ต้องแต่งไม่เหมือนใคร ทั้งๆ ที่ เรารู้สึกว่ายากเกินเหตุ แต่เราก็รู้สึกว่า เออ…ไม่ซ้ำดี เราก็เลยชอบอะไรทำนองนี้ เราก็เลยจะมีความขัดแย้งกับโมอยู่นิด ๆ เพราะโมชอบอะไรแบบว่าง่ายๆ ใช่ๆ ดีแล้วซึ่งเราก็ต้องแบบว่า ไม่ได้ ต้องเทพๆ ต้องแปลกๆ

– และบุคลิกของอี๊ดอีกอันนึงก็คือขี้อาย จริงๆ ตัวเองรู้สึกชอบโม แต่ก็ไม่กล้าบอกเพราะรู้สึกมันจั๊กจี้ มันพูดไม่ได้ มันรู้สึกเหมือนเสแสร้ง รักไม่เห็นต้องพูดเลยว่ารัก คนเรามันก็รู้กันอยู่แล้วว่ารัก ถ้าจะบังคับให้เราพูดว่ารัก เราจะไม่พูด แต่จริงๆ อี๊ดก็ชอบโม แล้วก็รู้ว่าโมชอบแต่ทั้งคู่ก็ไม่บอกกัน เพราะกลัวจะเหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น แต่ว่าไม่มีในหนังนะครับ เป็นเหมือนที่พี่เค้าเล่ามาว่าเดิมวงนี้มี 4 คน เป็นเพื่อนปี 3 เหมือนกันหมด แต่ว่าอี๊ดกับโมยังอยู่ในวง แต่เพื่อนในวง 2 คน ผู้หญิงผู้ชายเนี่ยต้องออกจากวงไป เพราะว่าเกิดปัญหาเรื่องความรัก อยู่ต่อไม่ได้ พอเรามาถึงตรงนี้ เรามา develop ความรักกันขึ้นมา คงเป็นเหตุให้อี๊ดรู้สึกว่าการบอกรักเนี่ยเป็นเรื่องไม่จริงใจแล้วเนี่ย ยังรู้สึกว่าถ้าเปิดเผยความรู้สึกไป โม มันไม่รัก เดี๋ยววงก็จะแตกอีก เพราะความรู้สึกในความเป็นหัวหน้าวง มีความรับผิดชอบอยู่ เป็นเพื่อนเป็นรูมเมทเนี่ย ถ้าเรากับโมแตกคอกันอีก ความเป็นรูมเมทคงจบไป ก็อาจจะเป็นเรื่องที่เป็นปัญหา หรือเป็น conflict ในคาแรกเตอร์ของตัวอี๊ด แต่โมก็อาจจะไม่รู้ จนในที่สุดมันก็อาจจะเป็นปัญหาว่าทำไมไม่เคยยอมรับกันซักที ซึ่งมันคงจะล้อกับชีวิตของพวกน้องๆ ที่รักกันไปรักกันมาก็บอกกันไม่ได้ มันเหมือนเป็นเรื่องของคำว่ารูมเมท รักของรูมเมท มันเป็นรักที่ถ้าเผื่อใครบอกรักไป อาจจะต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ของเพื่อน หรือเมื่อไหร่ที่เผลอพูดอาจจะเสียเพื่อน

– ในเรื่องนี้นนน์เหมือนเป็นน้องใหม่ในการแสดงเลยครับ ก็ต้องมีการเทคคอร์สเรียนการแสดงกับครูเงาะ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกัน เพราะในเรื่องรูมเมท เราต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 คน ต้องสนิทกันมาก สามารถแชร์ทุกอย่างได้ และอีกอย่างหนึ่งที่ครูเงาะสอนก็คือให้ผมลองคิด ทำสมาธิ ให้สามารถเข้าใจ และบอกเล่าออกมาเป็นภาพให้ได้ ไม่ใช่ท่องแบบนกแก้วนกขุนทองครับ ก็มีอยู่ไดอะลอกนึงที่ติดมากๆ แต่ครูเงาะก็อธิบายจนสามารถพูดไดอะลอกนั้นได้ครับ

– เรื่องรูมเมทนี้ พอได้มาเล่นแล้วก็ทำให้รู้เลยว่า ชีวิตเด็กวัยรุ่นที่ได้ใช้ชีวิตอิสระ ได้ใช้ชีวิตกับเพื่อน ต้องตัดสินใจเอง ต้องรับผิดชอบตัวเอง ไม่มีใครมาเคี่ยวเข็ญ มีอิสระเสรีในการจะทำอะไร เมื่อไหร่ ตอนไหนก็ได้ โดยที่ไม่มีพ่อแม่มาห้าม ตี1 ตี 2 เราอาจจะอยากไปกินข้าวต้ม อยากไปแอบดูหนัง ไปเที่ยวผับ มันเป็นชีวิตรูมเมท เป็นชีวิตที่ต้องรับผิดชอบตัวเอง ต้องดูแลตัวเอง และนอกจากนั้นต้องดูแลเพื่อนๆ เพราะการเป็นรูมเมท มันไม่ใช่แค่เพื่อนเรียน มันเป็นเพื่อนอยู่ที่บ้าน มันเป็นเพื่อนที่เจอกันทั้งวันทั้งคืน มันกินข้าวหม้อเดียวกันจานเดียวกัน เราล้างจานให้มัน มันล้างจานให้เรา ฝากกันซักเสื้อผ้า ฝากกันตากเสื้อผ้า ผลัดกันล้างห้องน้ำ ผลัดกันล้างจาน มันเป็นชีวิตเหมือนหัดการเข้าอยู่สังคมเบื้องต้น บางทีเพื่อนเราถึงทีมันต้องล้างจานแต่มันไม่ล้าง ด้วยความเป็นเพื่อนเราก็ต้องไปล้างให้มัน หรือถ้าบางคนมันสกปรกมากๆ อย่างอี๊ดในเรื่องเนี่ย ก็ต้องทน แค่อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ รู้สึกชีวิตรูมเมท มันน่าจะเป็นชีวิตเหมือนกับการหัดใช้ชีวิตความเป็นผู้ใหญ่ในวัยที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ แต่ส่วนหนึ่งของการอยู่ร่วมกันเนี่ย ก็คือมันสอนให้เรารู้จักชีวิต ทั้งในแง่การเสียสละ นึกถึงผู้อื่น การมีวินัย รวมไปถึงการสอนที่จะทำให้เรารู้ว่าความรักกับความเป็นเพื่อนมันไปด้วยกันได้หรือไม่ แล้วเราควรจะปฏิบัติตัวยังไงครับ

 

 

Share this article :

แสดงความคิดเห็น