วัยอลวน 4 ตั้ม โอ๋ รีเทิร์น
คำโปรย : รุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ รุ่นไหน ก็อลวน
เนื้อเรื่องย่อ: 30ปีต่อมาของครอบครัวอลวน ตั้ม ทนายหนุ่มรุ่นใหญ่อายุ 50 ปี ที่หล่อเหลาเอาการอยู่ เป็นที่หมายปองของสาวๆทั้งหลาย และโอ๋ ภรรยาสาวสวย แม่บ้านที่แสนดี แต่ด้วยรอบเอวที่ขยายกว่าแต่ก่อน พร้อมกับใบตองลูกสาวที่โตเป็นสาวมหาวิทยาลัยปี 4 และหนามเตยลูกชายกำลังโตอยู่มัธยมปีที่6 แต่กลับรักสวยรักงามจนเกินเหตุ เป็นครอบครัวที่มีแต่ความอลวนกลับยิ่งเพิ่มความอลเวงขึ้นไปอีก เมื่อ พ่อตั้ม แม่โอ๋ และป้าอ้อพี่สาวของแม่โอ๋ เดินทางไปเพื่อวางแผนจัดงานวันเกิดให้กับใบตองลูกสาว แต่กลับไม่รู้ว่าลูกสาวสุดที่รักใบตองของพ่อตั้ม แม่โอ๋และป้าอ้อคนนี้แอบมีแฟน วิชาญเป็นหนุ่มผมยาวที่เรียนเป็นวิจิตรศิลป์อยู่ที่นั่นด้วย แล้วยังมีลูกชายอีกคนหนามเตยก็อยากจะประกาสว่าความจริงของตัวตนของเขาเองเป็นอะไร เรื่องราวความอลวนและอลเวงทวีคูณขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วครอบครัวอลวนนี้จะแก้ปัญหาพวกนี้ได้หรือไม่ ?
ตั้ม (ไพโรจน์ สังวริบุตร) อดีตหนุ่มน้อยหน้าคมกับโอ๋ (ลลนา สุลาวัลย์) สาวน้อยเจ้าแง่แสนงอนยังรักกันแนบแน่นไม่เปลี่ยน แปลงแต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือวัยและน้ำหนักตัวตั้มในวัยเฉียด 50 เป็นทนายหนุ่มใหญ่ที่ลักยิ้มและเขี้ยวเสน่ห์ยังเขย่าหัวใจสาวๆได้เสมอ ส่วนโอ๋กับรอบเอวที่เพิ่มพูนขึ้นหนึ่งเท่าตัวเป็นแม่บ้านที่น่ารักอบอุ่นของ ใบตองลูกสาวที่กำลังเรียนอยู่ชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเชียงใหม่กับหนามเตยลูกชาย ม. 6 ที่รักสวยรักงามจนน่าหวาดเสียว
วันหยุดสุดสัปดาห์นี้ตั้มและสมาชิกใน ครอบครัวพ่วงด้วย ป้าอ้อพี่สาวของโอ๋ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับตั้มมานานปีวางแผนขับรถขึ้นไป สร้างสุขสันต์วันเกิดให้ใบตองโดยที่ไม่รู้เลยว่าแม่ลูกสาวตัวน้อยของพ่อมี แฟนเป็นหนุ่มวิจิตรศิลป์ผมยาวอยู่ที่นั่นซ้ำร้ายเจ้าหนามเตยลูกแม่ก็ดันหมาย เอาวาระรวมญาตินี้เป็นวันเปิดเผยตัวตนเสียด้วย ตั้ม-โอ๋ จะผจญและเผชิญกับความรักลับๆของลูกๆได้ครึกครื้นเฮฮาขนาดไหนต้องตามไปให้ กำลังใจ เพราะพวกเขากลับมาแล้ว
นักแสดง:
ไพโรจน์ สังวริบุตร | …. ตั้ม | |
ลลนา สุลาวัลย์ | …. โอ๋ | |
จิระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา | …. ป้าอ้อ | |
คะนึงนิจ จักรสมิทธานนท์ | …. ใบตอง | |
วศิษฏ์ ผ่องโสภา | …. หนามเตย | |
รังสิต ศิรนานนท์ | …. วิชาญ |
เยาวลักษณ์ หลวงหม่อง
ซาบรีน่า คอนโซเล่
พจนีย์ อินทรมานนท์
จีรศักดิ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
ชัยรัตน์ เทียบเทียม
จารุณี บุญเสก
ธนาบดินทร์ ยงสืบชาติ
กำกับการแสดง
ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์
วันที่เข้าฉาย: 28 กรกฎาคม 2548
ที่มา : บริษัทผู้สร้าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ภาพยนตร์
บทวิจารณ์ส่งท้าย : วัยอลวน 4ผู้หญิงที่ชื่อแม่ ผู้ชายที่ชื่อพ่อ
เขียนโดย แม่(คุณ) Obilisk
ศุกร์, 12 สิงหาคม 2005
ด้วยความรู้สึกส่วนตัวที่มีความโทสะเป็นที่ตั้งมั่น ทำให้ตั้งใจแน่ ๆ ที่จะไม่เขียนบทวิจารณ์ใด ๆ เกี่ยวข้องกับหนัง “วัยอลวน 4 ตั้ม-โอ๋ รีเทิร์น” เพราะไปประสบเหตุการณ์ชุ่ย ๆ มั่ว ๆ หน้าโรงรอบสื่อของหนังเรื่องนี้ มานได้ยังไงกันคะคุณ เว็บ 2 เว็บ มีคนมือดี (?) เซ็นรับตั๋ว 4 ที่ไปซะแล้ว ไม่รู้ใครหน้าไหนมั่ว ใครคนไหนชุ่ย ทำเอาไม่สบอารมณ์อย่างรุนแรง ขอประณามถึงต้นเดือนตุลาค่ะ
ทั้งที่เจตนาตั้งแต่แรกคงเห็นได้ว่า เราลากเรื่องราวมาตั้งแต่ “วัยอลวน” ของ อาเปี๊ยก โปสเตอร์ จนมาถึง “ชื่นชุลมุน” และคงไม่เกินเลยถ้าจะรวมไปถึงสารพัดเรื่องราวที่เว็บนี้เอามาลง
ไม่ได้ประจานผลงานด้านการประชาสัมพันธ์อันเป็นเยี่ยมของเว็บค่ะ เพราะที่ทำมาก็ไม่เคยหวังอะไรตอบกลับมา ไม่ต้องชื่นชมนะคะขอร้อง
เหตุผลเดียวของหัวใจคือ เพราะการตกหลุมรักความเป็นคนแบบ “ตั้มและโอ๋” มาตั้งแต่ครั้งเป็น “วัยอลวน” ภาคแรกของอาเปี๊ยก โปสเตอร์ และอยากรู้เรื่องราวที่ผกก.หญิง (กล้า) จะถักทอสานต่อใน “วัยอลวน 4” ในมุมมองของ “แม่บ้าน” จากความรู้สึกของ “แม่” คนหนึ่ง
เมื่อตั้มและโอ๋ มีลูก ๆ อันเป็นผลิตผลจากการใช้ชีวิตบนความรักของคนทั้งคู่ ตั้มได้สรรพนามใหม่ว่า “พ่อ” ส่วนโอ๋ต้องสวมบทบาทที่มากขึ้นจากคำว่า “เมีย” เพิ่มมาเป็น “แม่” วันเวลากว่าที่สองคนจะได้ร่วมเรียงเคียงหมอนกันได้ ต่างฝ่าดงอุปสรรคทั้งปวงมาได้ ด้วยการเป็น อยู่ ทำ อย่างเหมาะอย่างควร พิสูจน์ความแน่วแน่ในความรักระหว่างกันกับคนรอบข้าง คนในครอบครัว จนชนะมาได้อย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรมตามวิถีชาวบ้าน
แม้จะอยู่บนความขัดแย้ง การปะทะกระทบของว่าที่พ่อตากับว่าที่ลูกเขย แต่คู่รักวัยรุ่นที่เป็นไอดอลของคนยุคนั้น ได้พิสูจน์ความรักวัยอลวนอยู่ภายใต้กรอบธรรมเนียมนิยมแห่งยุคสมัย และกรอบนี้ก็ไม่เคยตกรุ่น ล้าหลังแม้สักวันเดียว มันยังคงสำคัญที่จะ “วัด” และ “วาง” ตัวได้อย่างเหมาะเจาะทุกยุคไม่เสื่อมคลายและไม่เชย
เมื่อวางแผนกันจะไปเซอร์ไพรส์ลูกสาวถึงเชียงใหม่ แม่โอ๋ก็ตระเตรียมจัดแจงวุ่นกับการทำขนม ทำอาหารไปฝากลูกสาว แถมเผื่อแผ่แบ่งปันไปฝากเพื่อนหญิงของลูกสาวที่รับรู้มาตลอดว่าเป็นรูมเมท ทั้งโอ๋และตั้มเป็นพ่อแม่ที่เข้าถึงหัวใจลูกด้วยการเข้าใจภาษาที่ลูกพูด แฟชั่นลูก เพื่อนลูก พยายามเข้าถึงลูกด้วยการเป็นอย่างที่ลูกเป็น เป็นเพื่อนกับลูก ไม่ว่าตั้มจะคว้ากีตาร์มาโซโล่โชว์บรรดาเพื่อนของหนามเตย ด้วยเพลง ชูวับ ชูวับ หรือโอ๋ที่เปิดปากบอกว่า “แม่พร้อมจะรับฟังทุกอย่างที่ลูกจะพูด”
ฉันบันเทิงใจกับความเป็นหนังเรื่องนี้ แต่ไม่สามารถรับได้กับบทบาทของ “ความเป็นผู้หญิงที่ชื่อแม่ ผู้ชายที่ชื่อพ่อ”
“เป็นเพื่อน” “เข้าใจ” และ “ยอมรับ” นั่นคือ สิ่งที่สวมอยู่ในบทบาทความเป็นบุพการีเท่านั้น
เพราะเมื่อลูก ๆ ทั้งสองเปิดเผยความลับแห่งวัยคะนองลองผิด ลองดี ให้ได้รับรู้ พ่อและแม่ทำเพียงแค่ “เป็นเพื่อน” “เข้าใจ” และ “ยอมรับ” เท่านั้นเอง ทั้งที่มันกระทบผลต่ออนาคตของลูกอย่างบิดเบี้ยว
ฉันไม่ชอบใจ กับ ฉากค่ำคืนนั้น หลังจากเสร็จสิ้นงานเลี้ยงวันเกิด วันที่พ่อแม่ตั้งใจให้เป็นวันพิเศษ เพื่อลูกรัก ใบตองไหว้ลาพ่อ แม่ ป้า แล้วเดินจะกลับขึ้นที่พักตามหลังวิชาญไปต้อย ๆ
ความสำนึกผิดทำหน้าที่ของมันได้ดีที่สุดแค่หน้าละห้อย พ่อกับแม่ได้แค่ตามมองลูกสาวสุดที่รักแค่นั้น ไม่เอ่ยปากทักท้วงอะไร ต่างคนต่างบอกกันและกันให้ทำใจปลงรับสภาพ
แต่ถ้านั่นมันคือ การส่งตัวเจ้าสาวเข้าเรือนหอ ฝากฝังลูกสุดหวงให้ผู้ชายสักคนได้ดูแลเธอไปตลอดชีวิต ฉันคงซาบซึ้งกับความรักของพ่อแม่
การยอมยกชีวิตหนึ่งที่ประคบประหงมผ่านทางสายสะดือ ยกยื่นชีวิตให้คนแปลกหน้าอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ
แต่มองดูอีกทีดี ๆ เถอะค่ะ นั่นคุณกำลังยื่นส่งลูกสาวผู้กำลังอยู่ในวัยศึกษาหาวุฒิทางปัญญา คนสวยคนเดียว “ขึ้นห้อง” กับผู้ชายคนหนึ่ง คนที่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าอนาคตของเขาทั้งสองจะได้ “ครองเรือน” กันไหม
มันผิดประเด็นนะคะ เรื่องนี้
แล้วคิดอีกทีเถอะค่ะ ภาพตอนที่มองเห็นลูกแสดงละครบนเวที ต่อหน้าผู้คนหลายร้อยคน นาทีที่คับขัน ยามพ่ออย่างตั้มใช้ความเจนเวทีกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำหน้าที่ปกป้องหลังขาว ๆ ของลูก เจ้าหญิงน้อย ๆ ของพ่อ พิทักษ์ด้วยเกียรติของพ่อ ไม่ให้ลูกอับอาย ไม่ให้ผิวขาวนวลผ่องในพื้นที่สงวนหลุดออกมาให้เป็นเป้าล่อแหลมกับสายตาใคร แม้มันจะเป็นแค่แผ่นหลัง แต่มันก็เป็นทุกผืนพื้นตารางนิ้ว ที่พ่อแม่เคยคอยปัดป้องจากริ้นเหลือบไรยุง
คิดแล้วมองอีกทีเถอะค่ะ ไอ้หนุ่มหน้าหล่อ ที่ยืนรอจ่อจะ “ขึ้นห้อง” ด้วยกันนั้น เมื่อปิดประตูห้องนั้นลง ในสถานที่ ๆ ลับตาคุณ มันเทียบกันได้ไหม
“วัยอลวน” จนถึง “วัยอลวน 4” ผ่านลากเวลามา 30 ปี มันมากเกินพอที่จะเพิ่มประสบการณ์ทางความคิด การมองโลกให้กับตั้มและโอ๋ได้สั่งสอนลูก
หรืออย่างพื้น ๆ ที่สุด ทั้งสองเองก็ได้ใช้ช่วงเวลาหนึ่งของ “วัยอลวน” พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของความรักอย่าง “ไม่ทำร้ายหัวอกบุพการี” ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปรวดเร็วเหลือเกิน จนเราต้องปล่อยทุกอย่างไปตามคลื่นทางสังคมจนหมด เด็กคิดอะไร อยากเป็นอะไร อยากทำอะไร ทุกอย่างเสรี ไม่ต้องประคับประคองความเชี่ยวกรากของวัยอลวนไว้ในกรอบแล้วหรือไงนี่
ทำไมปล่อยปละให้ลูกที่รักปานดวงใจไหลตามไปกับความรู้สึกของวัยฮอร์โมนสะพรั่งอย่างนี้คะ
ทำไมเห็นมันเป็นเรื่องธรรมดาของโลกคะ แค่ทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วปล่อยมันไปตามอย่างที่เป็นมา
แค่ “ไม่เป็นไรลูก” แค่นี้หรือคะ
แสดงความคิดเห็น